17 พ.ย. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Electronic Arts (EA): บริษัทผู้เป็นทั้งพระเอกและตัวร้ายแห่งวงการเกม
ท่ามกลางวิกฤติน้ำมันราคาแพงในช่วงต้นทศวรรษ 1980 กลับได้เกิดบริษัทเกมยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกา ที่จะกลายมาเป็นทั้งพระเอกและผู้ร้ายแห่งวงการเกม บริษัทเกมที่เรากำลังพูดถึงนี้ก็คือ Electronic Art หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ EA
📌 ช่วงตั้งไข่ของบริษัท
ย้อนกลับไปในปี 1982 William M. Hawkins ที่ในขณะนั้นทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัท Apple ที่พึ่งได้เข้า IPO ไม่นาน ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต เมื่อเขาเลือกที่จะลาออก เพื่อมาเปิดบริษัทของตัวเองตามคำแนะนำของ Don Valentine แห่ง “Sequoia Capital” ที่กลายมาเป็นผู้สนับสนุนสถานที่ดำเนินการบริษัทใหม่นี้ต่อมา โดยชื่อแรกของบริษัทถูกตั้งว่า “Amazin’ Software” ก่อนที่หลังจากนั้นไม่นานจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “Electronic Arts (EA)” ที่ถูกใช้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน
William M. Hawkins
ในช่วงเริ่มแรก ทางบริษัทไม่ได้ทำพัฒนาเกมด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่เหมือนที่เราเห็นในปัจจุบัน อันที่จริง ทางบริษัทมักจะหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายให้กับนักพัฒนาภายนอกบริษัทมากกว่า อย่างไรก็ดี ปัญหาการทำงานกับนักพัฒนาภายนอกก็เริ่มก่อตัวให้เห็น เมื่อทางนักพัฒนาเกมภายนอกบริษัท ไม่สามารถทำงานตอบสนองความต้องการของบริษัทได้ ทาง EA ก็เลยที่จะพัฒนาเกมของตัวเองมากขึ้น และก็ได้ปล่อย “Skate or Die!” ออกมาในปี 1987 ถือเป็นเกมแรกที่ถูกพัฒนาภายในบริษัทเอง
“Skate or Die!” ออกจำหน่ายมาในปี 1987
📌 ความสำเร็จที่ถาโถม จนกลายเป็นพระเอกในวงการเกม
ในยุคต่อมาถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองของ EA อย่างแท้จริง หลังจากการเข้ามารับตำแหน่ง CEO ของ Larry Probst ในปี 1991 พวกเขาได้รับรางวัลและการยกย่องมากมาย เช่น
ในปี 1995 ที่ทาง European Computer Trade Show ได้มอบรางวัลผู้จัดจำหน่ายซอฟแวร์ที่ดีที่สุดแห่งปี (Best software publisher of the year) ให้กับทาง EA
หรือในปี 1997 ที่ “Next Generation” ได้ระบุว่า EA เป็นบริษัทเดียวที่สามารถทำกำไรจากวิดีโอเกมได้อย่างต่อเนื่องในช่วงห้าปีหลัง
ความสำเร็จในช่วงนี้ทำให้บริษัทเติบโตอย่างมาก และได้ทำการสร้างบริษัทแม่ใหม่ที่ Redwood Shores ใน California ซึ่งก็เป็นที่ตั้งของบริษัทแม่มาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อมองเจาะลึกลงไป ความสำเร็จของ EA ในช่วงนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เกิดจากการพัฒนาเกมที่เป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ มากมาย โดยเฉพาะเกมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกีฬา เช่น เกม Madden NFL (อเมริกาฟุตบอล), FIFA (ฟุตบอล), NBA Live (บาสเกตบอล) และ Tiger Woods (กอล์ฟ) เป็นต้น
โดยจุดเด่นของเกมกีฬาของ EA คือ การที่พวกเขาได้พัฒนาเกมเหล่านี้ออกมาเป็นเฟรนไชส์ที่มีภาคต่อพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สร้างรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ทาง EA ยังมักจะทำสัญญากับเหล่าองค์กรที่ดูแลการแข่งขันกีฬาต่างๆ ทำให้พวกเขามีสิทธิในการใช้ชื่อของผู้เล่นหรือสโมสรในเกมแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ค่ายเกมอื่นไม่สามารถแข่งขันในเรื่องความสมจริงนี้ได้
นอกจากเกมกีฬาที่เป็นจุดขายของ EA ก็ยังมีเกมอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงอีก เช่น Need For Speed, Battlefield, Plant vs Zombies, Dead Space แต่ที่โด่งดังและสร้างรายได้ให้กับ EA อย่างเป็นกอบกำที่สุดก็คือ “The Sims” ที่เป็นเกมจำลองการใช้ชีวิตของผู้คนให้อยู่ในโลกของเกม
โดย The Sims ถือได้ว่าเป็นซีรี่ย์เกมคอมพิวเตอร์ที่สร้างรายได้มากที่สุดซีรี่ย์หนึ่งตลอดกาล โดยมีรายงานจากทาง EA ว่า เกมภาคล่าสุดของซีรี่ย์อย่าง “The Sims 4” มีผู้เล่นมากถึง 20 ล้านคนทั่วโลก และรวมรายได้ของทั้งเฟรนไชส์ The Sims สร้างรายได้ให้กับ EA ไปมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว
📌 จากพระเอกกลายเป็นผู้ร้าย
จากเรื่องราวที่เล่ามาตั้งแต่ต้น EA ก็ดูเหมือนว่า หนังเรื่องนี้ควรจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง EA เป็นพระเอกของเรื่องที่ฟันฝ่าก่อร่างสร้างตัวจากช่วงเวลาวิกฤติ แต่แล้วในช่วงประมาณปี 2010 EA ก็เริ่มเจอกับข่าวในเชิงลบ
เริ่มต้นจากข่าวการใช้งานแรงงานอย่างหนัก 7 วันต่อสัปดาห์ ไล่มาจนถึงการถูกฟ้องร้องในคดีผูกขาดการค้า ที่ EA ไปทำสัญญากับ NFL ผู้ซึ่งดูแลลีกอเมริกาฟุตบอลของสหรัฐ ว่านี่เป็นการปิดโอกาสทางการแข่งขัน
นอกจากนี้ ยังมีข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับการกว้านซื้อบริษัทผู้พัฒนาเกมขนาดเล็ก เพียงเพราะว่า ต้องการลิขสิทธิ์เกมที่พวกเขาทำเท่านั้น แต่ไม่ได้ใส่ใจในบุคลากรที่มีความสามารถ และก็จะทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานขององค์กรเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง จนทำให้คุณภาพเกมที่ออกมาเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ
ข่าวในเชิงลบเหล่านี้ แปรเปลี่ยนมาเป็น รางวัลบริษัทยอดแย่ในอเมริกา (Worst Company in America) จาก “Consumerist” ในปี 2012 เอาชนะหลายบริษัทที่มันจะมีข่าวเชิงลบทั้ง AT&T และ Walmart
โดยรางวัลนี้จัดขึ้นผ่านการโหวตจากผู้บริโภค โดยมีขึ้นหลังจากความไม่พอใจต่อเกม Mass Effect 3 ที่ออกมาสร้างความผิดหวังกับแฟนๆ การได้รางวัลว่ายากแล้ว แต่การรักษารางวัลเอาไว้อาจยากกว่า (แต่รางวัลนี้ EA อาจจะไม่อยากได้) ปีต่อมา EA ก็ยังถูกจัดเป็นบริษัทยอดแย่ของอเมริกาอีกครั้ง เป็นบริษัทแรกที่สามารถครองตำแหน่งนี้ได้สองสมัยซ้อน
แต่ข่าวเชิงลบที่แย่ที่สุดของ EA เกิดขึ้นหลังจากนั้น ในปี 2017 ต่างหาก เมื่อ EA ถูกวิพากษ์จากการหากำไรเกินควรจากเกม Star Wars Battlefront II ที่มีการหาเงินผ่านการสุ่มของจากการเติมเงินเข้าไปในเกม และนำมาซึ่งคอมเมนต์ในตำนานในเว็บบอร์ดต่างชาติอย่าง Reddit ที่ ณ ปัจจุบันก็ยังเป็นคอมเมนต์ที่ถูกกด “ดิสไลค์” มากที่สุดตลอดกาลของ Reddit อยู่ เมื่อทาง EA ได้เข้าไปตอบผู้วิพากษ์เกมว่า ที่ต้องใช้เวลานานในการเล่น (หากไม่ได้เติมเงินซื้อของในเกม) ก็เพราะอยากให้ผู้เล่นรู้สึกภูมิใจกับของที่ได้มา
คอมเมนต์ในตำนานจาก EA ที่ถูกดิสไลค์มากที่สุดตลอดกาลใน Reddit
และในปีต่อมา เมื่อการเปิดตัว Battlefield V ต่ำกว่าเป้าหมายซ้ำเข้าไปกับข่าวร้ายต่างๆ ที่ผ่านมา ก็ทำให้ราคาหุ้นของ EA ตกลงอย่างมากกว่า 13.3% ส่วนหนึ่งมาจากความคาดหวังว่าเกมจะมีการพัฒนาระบบเกมแบบ “Battle Royale” ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนั้น แต่ก็ไม่มีอยู่ในเกม
ทำให้ช่วงนี้เรียกได้ว่า เป็นช่วงที่ EA กลายเป็นผู้ร้ายของวงการเกมอย่างแท้จริง
📌 การปรับตัวเข้าสู่วงการเกมยุคใหม่
แต่หลังจากเหตุการณ์ตกต่ำของราคาหุ้น EAก็ได้ทำการเซอร์ไพรส์ผู้บริโภคเมื่อพวกเขาได้ทำการเปิดตัวเกม Apex Legend ที่เป็นเกมรูปแบบ Battle Royale อย่างที่ผู้เล่นเรียกหา ทำสถิติมีผู้เล่นมากกว่า 25 ล้านคนภายในหนึ่งสัปดาห์แรก ทำลายสถิติของเกมคู่แข่งอย่าง Fortnite ที่เคยทำไว้ที่ 10 ล้านคนในสองสัปดาห์แรกอย่างราบคาบ ทำให้ราคาหุ้นดีดกลับมา 9.6%
Apex Legends เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเข้ามากอบกู้สถานการณ์ของ EA
นอกจากนี้ในปี 2019 EA ได้ประกาศนำเกมของตัวเองกลับเข้าไปขายในบริการของบริษัทคู่แข่งอย่าง Valve ที่แพลตฟอร์มการขายเกมออนไลน์ชื่อดังอย่าง “Steam” ที่ว่าเป็นการตัดสินใจที่สร้างความประหลาดใจให้ผู้บริโภคไม่น้อย เนื่องจากก่อนหน้านี้ EA ยืนกรานที่จะขายเกมของตัวเองในแพลตฟอร์ตที่บริษัทเจ้าของเท่านั้นอย่าง Origin แต่การตัดสินใจครั้งนี้ ก็เป็นนัยยะที่สะท้อนการปรับตัวของบริษัทในยุคใหม่มากขึ้น
และบริษัทก็ยังมีแผนที่จะปรับตัวเข้าสู่ตลาดเกมมือถือมากขึ้นด้วย จากการเข้าไปซื้อ Glu Mobile ที่มีการประมาณมูลค่าว่าสูงถึง 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
แล้วในช่วงโควิดที่ผ่านมาที่เป็นช่วงเวลายากลำบากกับธุรกิจจำนวนมาก ทาง EA กลับมีรายได้สุทธิในปี 2020 มากถึง 3,039 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลเนื่องมาจากความต้องการหากิจกรรมที่สามารถทำที่บ้านได้ ทำให้ราคาหุ้นของ EA สามารถกลับมาแตะที่ระดับสูงสุดอีกครั้ง ตั้งแต่มีข่าวเชิงลบในปี 2018 ที่ราคามากกว่า 140 ดอลลาร์สหรัฐ
หุ้นของบริษัท EA ที่ฟื้นตัวกลับมาจากข่าวเชิงลบในช่วงปี 2018
เรื่องของบริษัท Electronic Arts เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก ที่แสดงให้เห็นว่า วิกฤติที่จะส่งผลต่อบริษัทได้ไม่ใช่แค่วิกฤติที่เกิดจากเศรษฐกิจมหภาคเท่านั้น แต่หลายครั้งมันก็เกิดขึ้นมาจากการบริหารงานและการวางแผนในบริษัทเอง ยิ่งในยุคที่ข่าวสารข้อมูลแพร่ออกไปได้อย่างรวดเร็วในปัจจุบัน บริษัทที่เป็นพระเอกอยู่ดีๆ ก็อาจจะกลายเป็นผู้ร้ายได้ภายในชั่วข้ามคืน
#EA #ElectronicArts #Business
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Reference :
โฆษณา