18 พ.ย. 2021 เวลา 06:38 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“อยากมีเงินใช้ตอนเกษียณ ต้องออมทันที
ถ้าเริ่มช้า แปลว่าเรากำลังทิ้งเงินมหาศาล”
3 พลังสร้างเงินออมก้อนโต
โดย คุณวิโรจน์ ตั้งเจริญ
รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บลจ.กรุงไทยฯ
การที่เราจะใช้ชีวิตเกษียณได้อย่างมีความสุข มีปัจจัยหลักอยู่ 2 อย่างคือ “สุขภาพ” และ “การเงิน” ซึ่งหลายคนทราบดีว่า ถ้าเราอยากมีสุขภาพดี ก็ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และทำจิตใจให้แจ่มใส
เรื่องการเงินก็เช่นเดียวกันครับ ไม่ว่าใครก็อยากเตรียมเงินให้เพียงพอ เกษียณไปแล้วดูแลตัวเองได้ ไม่เป็นภาระลูกหลาน
แต่คนส่วนใหญ่มักทำไม่สำเร็จ เพราะติดกับดักความคิด โดยไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่าง “รายจ่ายที่จำเป็น” กับ “รายจ่ายที่เกิดจากความเคยชิน” หลายคนคิดว่า การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยคือการให้รางวัลชีวิต ซึ่งถ้านานๆ ครั้งก็พอได้นะครับ
1
แต่ปัญหาคือ...เรามักจะให้รางวัลชีวิตทุกวินาที โดยหาข้ออ้างให้ตัวเองเสมอ
1
เพราะนั่นเป็นเพียงความสุขชั่วคราว แต่กลับทำลายแผนการเงินในระยะยาว โดยเสี่ยงดวงกับความหวังข้างหน้า ว่าเราจะมีเงินพอใช้ในวันเกษียณ ...ซึ่งมันอาจไม่เกิดขึ้น
วันนี้ คุณวิโรจน์ ตั้งเจริญ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงาน ธุรกิจเครือข่ายธนาคาร บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จึงอยากชวนทุกคนมาปฏิวัติตัวเอง ลุกขึ้นมาตั้งเป้าหมายในอนาคต วางแผนการเงินเพื่อเกษียณอย่างจริงจัง ด้วยหลักการ “Retirement Planning” โดยคำนวณหาเงิน 3 ส่วน ดังนี้
[1.เราต้องใช้เงินในวัยเกษียณ ทั้งหมดเท่าไหร่?]
อันดับแรก คนที่ประสบความสำเร็จในการวางแผนการเงิน เป็นเพราะตั้งเป้าหมายชัดเจน ซึ่งคำว่า “เป้าหมาย” กับ “ความฝัน” นั้นแตกต่างกันตรงที่ความชัดเจนและจริงจัง เราต้องตั้งเป้าหมาย แล้วอุทิศทุกหยาดเหงื่อแรงงานเพื่อเป้าหมายนั้น
ซึ่งคนไทยส่วนมาก รู้ว่าความฝันของตัวเองคืออะไร แต่ไม่รู้ว่ามันต้องใช้เงินมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นจึงยังขาดเป้าหมายครับ
ตัวอย่างของการตั้งเป้าหมาย
“อยากมีเงินใช้หลังเกษียณ เดือนละ 15,000 บาท”
นั่นแปลว่าเราต้องเตรียมเงินไว้ประมาณ 4 ล้านบาท จึงจะเพียงพอต่องบประมาณดังกล่าว แต่อย่าลืมว่าทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการตั้งเป้าหมายแค่มีเงินใช้เดือนละ 15,000 บาท อาจจะยังไม่เพียงพอ
ถ้าอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น มีเงินใช้สบายๆ หลังเกษียณ เดือนละ 50,000 บาท นั่นแปลว่าเราต้องเตรียมเงินไว้ประมาณ 13 ล้านบาท
สูตรคำนวณง่ายๆ ว่าเราควรจะเตรียมเงินหลังเกษียณไว้เท่าไหร่
เงินก้อนที่ต้องมี ณ วันเกษียณ = ค่าใช้จ่ายต่อเดือน x 12 x จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่
เช่น ทุกวันนี้เรามีรายจ่ายเดือนละ 20,000 บาท หรือ 240,000 ต่อปี
หลังเกษียณ (อายุ 60) คาดว่าจะมีชีวิตอยู่อีก 30 ปี
เงินก้อนที่เราต้องมี ณ วันเกษียณ คำนวณแบบเบื้องต้น = 240,000 x 30 = 7,200,000 บาท
[2.ตอนนี้เรามีเงินก้อนนั้นอยู่เท่าไหร่?]
ต่อมาก็ถึงขั้นตอนสำรวจตัวเองครับ ว่าตอนนี้เรามีเงินออมเพื่อเกษียณก้อนนั้นอยู่เท่าไหร่แล้ว? โดยสำรวจจากการออม-การลงทุนที่มีอยู่ และอย่าลืมตรวจสอบสวัสดิการต่างๆ ด้วย ทั้งจากภาครัฐ และจากบริษัทที่ทำงาน เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ ฯลฯ ดูว่ารวมกันทั้งหมดแล้วเราจะมีเงินตอนเกษียณเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้หาตัวเลขในข้อที่ 3 ต่อไปครับ
[3.เรายังต้องหาเงินเพิ่มอีกเท่าไหร่?]
ถ้าพบว่า เงินออมและลงทุน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ นั้น เพียงพอต่อแผนเกษียณของเราแล้ว ก็สามารถใช้ชีวิตปัจจุบันได้อย่างเต็มที่ ไร้กังวล แต่ถ้ามันยังขาดอยู่อีกมาก เราก็จะต้องเติมให้เต็มด้วย “3 พลังมหัศจรรย์ในการสร้างเงินออมก้อนโต” ดังนี้
1
👉 เงินออมเล็กๆ แต่ละงวด ยิ่งมากยิ่งดี
เรียกได้ว่า “การออม” คือพลังขั้นพื้นฐานของทุกสิ่ง ยิ่งออมได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ควรตัดค่าใช้จ่ายที่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย และบั่นทอนสุขภาพออกไป ซึ่งปริมาณในการออมคือปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้
👉 อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่องวด ยิ่งเยอะยิ่งดี
นี่คือสิ่งที่ทุกคนอยากได้ ยิ่งอัตราผลตอบแทนสูงมากๆ ก็ยิ่งดี แต่อย่าลืมว่าทุกคนไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้เท่ากัน เพราะแต่ละคนมีเงื่อนไขต่างกัน สิ่งที่ต้องทำคือต้องหาอัตราผลตอบแทนที่เหมาะกับ “ช่วงเวลาของชีวิต” และ “ความสามารถในการรับความเสี่ยง” ของเรา แล้วพยายามหาผลตอบแทนให้ได้สูงที่สุดในกรอบนี้ ซึ่งเราสามารถเลือกจัดสรรการลงทุน ตามผลตอบแทนแบบต่างๆ ได้เอง
👉 จำนวนงวดที่ต้องออมต่อเนื่อง ยิ่งนานยิ่งดี
หลายคนพลาดโอกาสจากการทิ้งเวลา เพราะเมื่อเวลาผ่านไปแล้วไม่สามารถเรียกคืนมาได้ ถ้าเราเริ่มต้นเร็ว ก็จะมีเวลาให้เงินทำงานได้มากกว่าคนอื่น
โดยในที่นี้ คุณวิโรจน์ได้ยกตัวอย่างสมมติว่า เด็กอายุ 20 ปี ที่รู้ตัวและตั้งเป้าหมายได้ทัน เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลิกใช้จ่ายจากความเคยชิน จนมีเงินออมเดือนละ 1,000 บาท
ถ้าใช้เวลา 40 ปี ในการลงทุนที่ได้ผลตอบแทน 10% ก็จะสามารถสร้างเงินได้ 5.3 ล้านบาท
แต่ถ้าเด็กคนนี้ทิ้งโอกาสไป 10 ปี ระยะเวลาที่จะให้เงินทำงานก็น้อยลง เหลือ 30 ปี
จากเงิน 5.3 ล้านบาท ในการลงทุนที่ได้ผลตอบแทน 10% เท่ากัน ผลลัพธ์เงินจะลดเหลือเพียงแค่ 1.9 ล้านบาทเท่านั้น!!
หรือถ้ายิ่งรู้ตัวช้า มีเวลาออมและลงทุนเพียง 20 ปีก่อนเกษียณ การจะมีเงินก้อนทะลุ 5 ล้านบาทนั้น ก็จะต้องออมเพิ่มจากเดือนละ 1,000 เป็น 10,000 บาท ซึ่งนั่นแปลว่าเราต้องควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างหนัก ต้องลดความสุขในปัจจุบันลงอีก
ดังนั้นวันนี้เรารู้ตัวแล้ว จงเริ่มลงมือทำ อย่าทิ้งโอกาสสำคัญนี้ไป ถ้าเราไม่เริ่มทันที นั่นแปลว่าเรากำลังทิ้งเงินมหาศาล
สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ว่า ถ้าเราอยากมีเงินใช้อย่างสุขสบายตอนเกษียณ ต้องตั้งเป้าหมายแล้วลงมือทำทันที ด้วยการเพิ่มรายได้หลายๆ ทาง ลดรายจ่าย-ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อย่าเน้นการสร้างความสุขในปัจจุบันมากเกินไป แล้วเราจะมีเงินมาลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ นับตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป
แค่เปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด เราก็สามารถพลิกชีวิตในอนาคตได้แล้วครับ
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
โฆษณา