21 พ.ย. 2021 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา Intel และ AMD จากพันธมิตร สู่ คู่แข่งตลอดกาล
1
รู้หรือไม่ว่า Intel และ AMD เจ้าตลาดหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ หรือ CPU เคยเป็นพันธมิตรกันมาก่อน โดยในช่วงแรกนั้น Intel ได้แบ่งปันเทคโนโลยีการผลิต CPU ให้กับ AMD และทั้งคู่ก็ได้ผลิต CPU ร่วมกันอยู่ระยะหนึ่ง
แต่สุดท้ายทั้ง 2 บริษัทก็ได้กลายเป็นคู่แข่งกันจนถึงปัจจุบัน และทั้งคู่ยังคงครอบครองส่วนแบ่งการตลาดผู้ผลิต CPU ของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรวมกัน เกือบทั้งโลก
แล้วอะไรกันที่ทำให้ความเป็นพันธมิตรของทั้งคู่ กลายมาเป็นคู่แข่ง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
จริง ๆ แล้ว ผู้ก่อตั้งของ Intel และ AMD นั้น ต่างก็แยกตัวออกมาจากบริษัทเดียวกัน
นั่นก็คือ “Fairchild Semiconductor” บริษัทผู้บุกเบิกเทคโนโลยีแผงวงจรรวมและส่วนประกอบคอมพิวเตอร์
2
โดย Intel ก่อตั้งขึ้นในปี 1968 โดยวิศวกรของ Fairchild Semiconductor 2 คน
คือ Gordon Moore และ Robert Noyce
3
ในขณะที่อีกเพียงปีเดียวหลังจากนั้น AMD ก็ได้ถูกก่อตั้งขึ้น
โดยอดีตพนักงานและกลุ่มผู้บริหารของ Fairchild Semiconductor เช่นเดียวกัน
ในช่วงเริ่มแรก ก็ต้องบอกว่าทั้ง Intel และ AMD ยังไม่ได้เป็นผู้ผลิตหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด
1
จนกระทั่งในปี 1971 Intel ก็ได้คิดค้นหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ขึ้นได้สำเร็จ
ซึ่งในเวลาต่อมา เรารู้จักนวัตกรรมนี้ ในชื่อ “CPU”
1
แต่ ณ เวลานั้น ในตลาดยังคงมีแต่คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ไม่ได้มีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือโน้ตบุ๊ก จึงทำให้ CPU ของ Intel ถูกนำไปใช้กับเครื่องคิดเลข ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ล้ำสมัยแห่งยุค
แต่ในเวลาต่อมา Intel ก็ได้โฟกัสไปที่การผลิตและพัฒนา CPU ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กทั้ง Altair Computer และ Apple I ได้ถูกจัดจำหน่ายในตลาด รวมไปถึง IBM ยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ในเวลานั้น ได้เข้ามาลงสู่สนามคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กไล่ ๆ กัน
2
ซึ่งตอนนั้นเอง ที่เราได้เริ่มมีชื่อเรียกคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก
ซึ่งก็มีจุดเริ่มต้นมาจาก IBM ที่ได้เรียกมันว่า Personal Computer หรือ “PC”
1
แต่ด้วยความที่ยังไม่มั่นใจว่า PC จะประสบความสำเร็จหรือไม่
IBM จึงเลือกวิธีการจ้างผลิต แทนที่จะลงทุนผลิตเองในเริ่มแรก
จึงได้มีการติดต่อ Microsoft ให้มาเขียนระบบปฏิบัติการให้และออกมาเป็นระบบปฏิบัติการ DOS
ในขณะที่ หน่วยประมวลผล ก็ได้เลือกที่จะใช้ของ Intel ซึ่งเป็นผู้นำในตลาด
1
ในเวลานั้น IBM เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีตลาดอยู่ทั่วโลก แต่สำหรับ Intel
แม้จะเป็นผู้นำในตลาดหน่วยประมวลผล แต่ธุรกิจยังมีขนาดเล็กมาก
IBM จึงมีความกังวลว่ากำลังการผลิตของ Intel อาจจะไม่สามารถรองรับกับยอดขาย PC ของบริษัท
2
นั่นจึงทำให้ IBM ได้ตั้งเงื่อนไขว่า Intel จะต้องหาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นมาอีกราย รวมถึงต้องให้สิทธิและเทคโนโลยีในการผลิต CPU ร่วมกันเพื่อส่งมอบให้ IBM
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ Intel ที่ไม่อยากพลาดสัญญามูลค่ามหาศาลจาก IBM จึงต้องหาพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมผลิต
Intel จึงได้ยื่นข้อเสนอให้กับ AMD เนื่องจากมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ใกล้เคียงกันและตัวผู้ก่อตั้งรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยอยู่ Fairchild Semiconductor ทำให้ Intel ไว้วางใจ AMD มากกว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรม
2
ซึ่งแน่นอนว่า AMD ก็ตอบตกลงและร่วมมือกับ Intel ในการผลิต CPU ให้กับคอมพิวเตอร์ของ IBM
หลังจากนั้นมา คอมพิวเตอร์ PC ของ IBM ประสบความสำเร็จอย่างมาก พร้อม ๆ กับการเติบโตของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตของ Intel และ AMD
2
ทำให้ในเวลาต่อมา Intel ก็ได้เติบโตและขยายธุรกิจจนมีกำลังการผลิตมากเพียงพอ
ที่จะรองรับความต้องการ CPU ของ IBM ได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องพึ่งพา AMD แล้ว
แต่ในช่วงเดียวกันนั้นเอง AMD กลับเริ่มผลิต CPU และจัดจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่า Intel ให้กับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายอื่น ๆ อย่างเช่น Compaq ซึ่งนับเป็นการตัดราคาขาย CPU ของ Intel โดยตรง
Intel จึงมีความต้องการที่จะยกเลิกสัญญาเดิมเพื่อเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวให้กับ IBM และยึดเอาสิทธิในเทคโนโลยีที่ตนเป็นผู้คิดค้นกลับคืนมาจาก AMD ทั้งหมด
2
พอเรื่องเป็นแบบนี้ AMD จึงคัดค้านการยกเลิกสัญญาและได้ฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้สิทธิคุ้มครองเนื่องจากกล่าวว่า Intel ละเมิดสัญญาและกรณีนี้เข้าข่ายว่า Intel จะเป็นผู้ผูกขาดเทคโนโลยี
3
บทสรุปความขัดแย้งในครั้งนั้น ศาลก็ได้ตัดสินเป็นประโยชน์ต่อ AMD เนื่องจากต้องการให้มีการแข่งขันกัน มากกว่าจะให้ Intel ผูกขาดตลาดแต่เพียงรายเดียว
และแม้ว่า Intel จะยื่นอุทธรณ์แล้ว แต่กระบวนการพิจารณาก็กินระยะเวลานาน ทำให้ในระหว่างนี้ AMD ก็ยังผลิต CPU ด้วยเทคโนโลยีที่ Intel เป็นผู้คิดค้นขึ้นต่อไปได้
3
ส่งผลให้ Intel ต้องพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต CPU ของตัวเองให้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นและจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีใหม่ ด้วยการเพิ่มหน่วยความจำขนาดเล็กเข้าไปในระบบของ CPU หรือที่เรียกว่า Cache
และอีกเทคโนโลยีหนึ่งคือ Floating Point Unit หรือ FPU ซึ่งช่วยในการคำนวณตัวเลขที่ซับซ้อน
ทำให้ CPU ของ Intel สามารถใช้งานโปรแกรมทางวิศวกรรมที่ซับซ้อน หรือคำนวณภาพและเกมสามมิติ
1
และด้วยการจดสิทธิบัตรใหม่นี้เอง ทำให้ Intel ไม่ต้องแบ่งปันเทคโนโลยีการผลิต CPU รุ่นใหม่ให้กับ AMD เพราะคำสั่งศาลเดิมมีผลเฉพาะกับเทคโนโลยีรูปแบบเก่า แต่ไม่มีผลกับ CPU รุ่นใหม่ ที่จะมี Cache และ FPU ติดตั้งเข้าไปด้วย
2
หลังจากนั้น Intel ก็มีเทคโนโลยีอีกหลายตัว ที่ถูกเพิ่มเข้าไปใน CPU ทำให้ Intel นำหน้า AMD มาโดยตลอด
2
โดยเฉพาะการเปิดตัวสัญลักษณ์ “Intel Inside” ในปี 1991 ซึ่งเป็นสติกเกอร์ที่จะแปะติดอยู่บนเคสคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กทุกเครื่องที่ใช้หน่วยประมวลผลของ Intel
1
ซึ่งกลยุทธ์นี้มีจุดเริ่มต้นมาจาก Andrew Grove สมาชิกคนที่ 3 ที่ลาออกมาจาก Fairchild Semiconductor ที่ได้ไอเดียว่าเขาอยากจะสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ให้กับผู้คนทั่วไปได้รู้จัก Intel มากขึ้น
เพราะในอดีต ลูกค้าของ Intel มีแต่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ในตลาด
หากทำให้ผู้บริโภครายย่อยรู้ว่าคอมพิวเตอร์ของพวกเขามี CPU ของ Intel เป็นส่วนประกอบ
ในระยะยาว มันก็จะสร้างความน่าเชื่อถือและการรับรู้ต่อแบรนด์ได้ ไม่มากก็น้อย
1
ซึ่งในช่วงนั้น ประสิทธิภาพของ Intel เหนือกว่า AMD อย่างเห็นได้ชัด การใส่ Intel Inside เข้าไปก็จะยิ่งทำให้คอมพิวเตอร์ดูมีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปโดยปริยาย
3
ด้วยความสำเร็จของทั้งเทคโนโลยีและการสร้างแบรนด์ของ Intel บริษัทแห่งนี้ จึงกลายเป็นเจ้าตลาดหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ ทำให้ Intel กินส่วนแบ่งในตลาดมากถึง 70% ถึง 80% มาโดยตลอด
3
และแม้ว่า AMD จะพยายามพัฒนามากแค่ไหน แต่ก็ดูเหมือนว่าจะตามหลัง Intel อยู่ตลอดเวลา
และมาถึงจุดวิกฤติของ AMD จากการเปิดตัว CPU ตระกูล AMD Bulldozer ในช่วงปี 2011
1
AMD Bulldozer เป็น CPU ที่มีการออกแบบระบบการทำงานร่วมกันภายในที่ผิดพลาด
ทำให้ CPU ใช้พลังงานมากกว่ารุ่นอื่น ๆ และปล่อยความร้อนออกมาปริมาณมาก ซึ่งเรื่องนี้ก็กลายเป็นชื่อเสียงในด้านแย่ ๆ ที่ติดตัว AMD มาโดยตลอด
ปัญหาการกินไฟและความร้อนสูงส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊ก
ทำให้ผู้ผลิตโน้ตบุ๊กในตลาด ต่างพากันไปใช้ Intel
1
และ Intel ก็ได้อาศัยความผิดพลาดของ AMD ในการสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเอง ด้วยการโปรโมตว่า CPU ของ Intel กินไฟน้อยกว่า และเย็นกว่า
1
ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาด CPU ของ AMD ที่
มีสัดส่วนประมาณ 25% ในปี 2011 ปรับตัวลดลงเหลือเพียง 18% ในปี 2016
1
AMD ต้องหันมาปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต CPU ของตัวเองใหม่เพื่อที่จะยังคงอยู่ในตลาด CPU ต่อไปได้ จนในปี 2017 AMD ก็ได้เปิดตัว CPU รุ่นใหม่ในตระกูล “Ryzen” ที่มาพร้อมกับสถาปัตยกรรมแบบใหม่ที่มีชื่อว่า Zen
3
AMD Ryzen ถือว่าเป็น CPU ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ Intel และสามารถแก้ปัญหาเก่า ๆ ที่เกิดขึ้นจาก CPU ตระกูล Bulldozer ทั้งเรื่องการกินไฟและความร้อน
7
ประกอบกับเทคโนโลยีของ Intel ก็เริ่มไม่มีลูกเล่นใหม่ ๆ และการปรับลดขนาดทรานซิสเตอร์ของ Intel ที่มีการปรับลดลงมาและนำหน้า AMD มาโดยตลอด แต่กลับมาหยุดชะงักที่ 14 นาโนเมตร
1
ในขณะที่ AMD กลับสามารถปรับลดได้ถึง 7 นาโนเมตรได้ก่อน Intel
ซึ่งถึงแม้ว่าในแง่ของประสิทธิภาพการทำงานของ CPU จะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
แต่ในมุมของผู้บริโภคแล้ว ประเด็นนี้เป็นสัญญาณว่า CPU ของ AMD ไม่ได้ตามหลัง Intel อีกต่อไป..
2
ทำให้ในปัจจุบัน ส่วนแบ่งตลาด CPU ของ AMD ก็เพิ่มกลับมาอยู่ในระดับที่สูงถึง 40% ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี
1
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของเจ้าแห่งชิปคอมพิวเตอร์ทั้ง 2 ราย ดูเหมือนจะยิ่งดุเดือดมากขึ้น
1
เมื่อ Intel ได้ปรับกลยุทธ์บริษัทใหม่ ทั้งการเปลี่ยนตัว CEO ของบริษัทในปี 2021
มีการเปลี่ยนจากผลิตชิปของตัวเองเท่านั้น ไปเป็นรับจ้างผลิตให้แบรนด์อื่นเหมือน TSMC ที่ผลิตให้ Apple
3
รวมถึงการรุกเข้าสู่ตลาดการ์ดจอ ซึ่งแต่เดิมมีเจ้าตลาดอยู่แล้วคือ NVIDIA และ AMD
2
ก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าจากพันธมิตรทางธุรกิจของ Intel และ AMD ในวันนั้น
จะกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้ง 2 บริษัท ยังคงแข่งขันกันอย่างทุกวันนี้
2
และจากเมกะเทรนด์ที่กำลังจะมาอย่าง “Metaverse” ที่เกี่ยวข้องกับทั้งนวัตกรรมการประมวลผลและกราฟิกโดยตรง
1
เราก็น่าจะสรุปได้ว่า
ทั้ง Intel และ AMD จะเป็น 2 ตัวละครสำคัญในด้านการประมวลผลคอมพิวเตอร์
ทั้งในโลกจริง และโลกเสมือนที่กำลังจะใหญ่ขึ้น ในอนาคต..
1
References
โฆษณา