19 พ.ย. 2021 เวลา 14:10 • ไลฟ์สไตล์
A$AP FERG : ศิลปินที่สะท้อนวัฒนธรรม 2 ล้อแห่งย่านฮาร์เล็มในนิวยอร์ก | MAIN STAND
"RIDE WITH THE MOB, ALHAMDULILLAH / CHECK IN WITH ME AND DO YOUR JOB / FERG IS THE NAME, BEN BALLER DID THE CHAIN / TOURNEAU FOR THE WATCH, PRESI PLAIN JANE"
"ซิ่งไปกับชาวแก๊ง ขอบคุณพระเจ้า / มาเจอกับพี่ ทำงานไปไอ้น้อง / เฟิร์กนี่แหละชื่อ เบน บอลเลอร์อยู่บนคอ นาฬิกาทอร์เนอร์อยู่บนข้อมือ ตัวเปล่า ๆ นี่แหละของจริง"
เนื้อเพลงตอนหนึ่งจากเพลง "Plain Jane" ของ "เอแซ็พ เฟิร์ก" (A$AP Ferg) ศิลปินฮิปฮอปชาวอเมริกัน ที่มีใจความหลักอยู่ที่การโชว์ของแบบที่ไม่ต้องโชว์เยอะสำคัญที่ทัศนคติ แสดงตัวตนออกมาได้อย่างชัดเจนถึงความเป็นแก๊งประจำถิ่นฮาร์เล็ม แห่งนิวยอร์ก ซิตี้
นอกจากเฟิร์กจะโด่งดังและแสดงตัวตนออกมาผ่านผลงานเพลงอย่างชัดเจน เขายังแบกวัฒนธรรมการปั่นจักรยานของย่านฮาร์เล็มไว้บนบ่าเพื่อพาไปให้โลกรู้จักอีกด้วย ถึงขนาดชอบโชว์การปั่นจักรยานในมิวสิกวิดีโอตัวเองหลาย ๆ ครั้ง รวมถึงเฟิร์กเองยังมีจักรยาน BMX รุ่นซิกเนเจอร์เป็นของตัวเองอีกต่างหาก
วัฒนธรรมการปั่นจักรยานในฮาร์เล็มสำคัญต่อ เอแซ็พ เฟิร์ก อย่างไร ?​ มาร่วมทำความรู้จักเขาให้มากขึ้นไปพร้อม ๆ กันไปกับ Main Stand
ALWAYS STRIVE AND PROSPER
คำถามแรกของหลาย ๆ คนที่ไม่ค่อยคุ้นหูกับดนตรีฮิปฮอป อาจจะมีคำถามว่า "เอแซ็พ ม็อบ คือใคร ?" แล้ว "เอแซ็พ เฟิร์ก เป็นคนเดียวกับ เอแซ็พ ม็อบ หรือไม่ ? เกี่ยวอะไรกับ เอแซ็พ ร็อคกี้ ที่กำลังเดทกับ ริฮานน่า หรือเปล่า ?"​ ก่อนที่จะงงไปมากกว่านี้ เราขออาสาเล่าให้ฟังกันแบบคร่าว ๆ เสียก่อน
หากให้อธิบายอย่างง่ายที่สุด "เอแซ็พ ม็อบ" (A$AP Mob) เป็นชื่อของกลุ่มศิลปินฮิปฮอปจากย่านฮาร์เล็ม นิวยอร์ก ซิตี้ ในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยสมาชิกหลายสิบคน ที่จะนำคำว่า "เอแซ็พ" ขึ้นมานำหน้าชื่อของตัวเอง อาทิ เอแซ็พ ร็อคกี้, เอแซ็พ เฟิร์ก หรือ เอแซ็พ แยมส์
Photo : hiphop-n-more.com
คำว่า เอแซ็พ เป็นตัวอักษรย่อของของคำในภาษาอังกฤษที่แปลได้หลายอย่าง แต่มักจะเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "As Soon As Possible" หรือ "ด่วนที่สุดเท่าที่จะทำได้" หรืออีกความหมายคือ "Always Strive And Prosper" ที่แปลความหมายได้ว่า "จงมุ่งมั่นและรุ่งเรืองอยู่เสมอ" และ ม็อบ (Mob) ก็คือกลุ่มคนหลายคนที่มารวมตัวกัน ในกรณีนี้มีความหมายคล้ายกับ แก๊ง (Gang) หรือ ครูว์ (Crew) เอแซ็พ ม็อบ จึงไม่ใช่กลุ่มของศิลปินที่มีแต่แร็ปเปอร์ แต่ยังรวมไปถึงโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ แฟชั่นดีไซน์เนอร์ ที่ทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนวงการฮิปฮอปในแบบของตนเองมาตั้งแต่ปี 2006
กลุ่มของพวกเขาก่อตั้งขึ้นโดย เอแซ็พ แยมส์ หนึ่งในสมาชิกผู้ล่วงลับที่เสียชีวิตไปในปี 2015 จากการใช้ยาเกินขนาด, เอแซ็พ บาริ, เอแซ็พ คาม และ เอแซ็พ อิลส์ แต่คนที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดได้แก่ เอแซ็พ เฟิร์ก แร็ปเปอร์ที่เข้ามาร่วมกลุ่มในปี 2008 และ เอแซ็พ ร็อคกี้ แร็ปเปอร์ที่เข้าร่วมกลุ่มในปี 2011
Photo : hiphopdx.com
ดนตรีของพวกเขาจะแตกต่างกันไปตามสไตล์ของตนเอง แต่ยังคงยืนพื้นด้วยแนวฮิปฮอปสไตล์แทรปเป็นหลัก โดดเด่นด้วยกลองและแพตเทิร์นของไฮแฮตที่ปนกันแบบซับซ้อน ผนวกกับเนื้อหาที่มักจะพูดถึงเรื่องการไขว่คว้าความสำเร็จและแสดงทัศนคติแบบผู้ชนะออกมาเสมอ อย่างหนึ่งในอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของ ร็อคกี้ ที่ชื่อ "At. Long. Last. ASAP" ที่ออกมาในปี 2015 จะมีการนำดนตรีแนวไซคีเดลิกเข้ามาผสม มีเพลงฮิตอย่าง L$D, Everyday และ Electric Body
ในขณะที่เฟิร์กจะค่อนข้างชัดเจนในความแทรปแบบเสมอต้นเสมอปลาย อัลบั้มเดบิวต์ของ เฟิร์ก ในปี 2013 มีชื่อว่า "Trap Lord" ก็เป็นอัลบั้มที่ได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวก ทั้งนี้เขายังตอกย้ำถึงแนวทางที่ชัดเจนในอัลบั้มต่อ ๆ ไป อย่าง "Still Striving" ในปี 2017 และ EP ที่ชื่อ "Floor Seats" ในปี 2019
Photo : genius.com
นอกจากภาคดนตรีที่หนักแน่น รู้หรือไม่ว่าพวกเขาเหล่านี้ โดยเฉพาะ เอแซ็พ เฟิร์ก ยังนำเสนอวัฒนธรรมการปั่นจักรยานแห่งย่านฮาร์เล็มในมหานครนิวยอร์กออกมาอย่างต่อเนื่องในผลงานของเขา ซึ่งนอกจากที่การปั่นจักรยานที่เป็นความชอบส่วนตัวของเฟิร์กแบบเข้าเส้นแล้ว มันยังเป็นภาพแทนที่สำคัญให้แก่ย่านฮาร์เล็มอีกด้วย
RIDE WITH THE MOB
จักรยาน BMX เป็นหนึ่งในกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกไม่แพ้สเกตบอร์ดหรือกีฬาเอ็กซ์ตรีมอื่น ๆ ถ้าหากฟิจิเป็นหนึ่งในสวรรค์ของนักเซิร์ฟฉันใด นิวยอร์ก ซิตี้ ก็อาจจะเป็นหนึ่งในสวรรค์ของนักปั่น BMX ฉันนั้น และสถานที่ที่มีการปั่นจักรยาน BMX มากที่สุดในเมืองนี้ ได้แก่ "ฮาร์เล็ม" (Harlem) ย่านหนึ่งในมหานครนิวยอร์กที่อยู่บนเกาะแมนฮัตตันตอนบน ที่ในอดีตเคยเป็นหมู่บ้านของชาวดัตช์ที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์
Photo : hypebeast.com
ชื่อ ฮาร์เล็ม เป็นชื่อที่ถูกตั้งตามชื่อหมู่บ้านในเนเธอร์แลนด์ และเต็มไปด้วยผู้อยู่อาศัยชาวยิวและอิตาเลียนจำนวนมากในศตวรรษที่ 19 หลังจากที่มีการอพยพย้ายถิ่นฐานมาสู่ดินแดนแห่งนี้ แต่ในศตวรรษที่ 20 เมื่อมีการอพยพของคนกลุ่มชาติพันธุ์แอฟริกัน-อเมริกันเข้ามามากขึ้น ทำให้ย่านนี้เต็มไปด้วยคนดำและยังเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีการเคลื่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มคนแอฟริกัน-อเมริกัน ที่เรียกว่า "ฮาร์เล็ม เรเนซองส์" (Harlem Renaissance)​ ราวทศวรรษ 1920s และ 1930s ทั้งในแง่ของดนตรี วรรณกรรม ศิลปะหรือแฟชั่น ฮาร์เล็มจึงเป็นหนึ่งในย่านที่รุ่มรวยวัฒนธรรมมาก ๆ ของนิวยอร์ก
แม้จะไม่มีปรากฏว่าการปั่นจักรยาน BMX กลายมาเป็นที่นิยมในย่านนี้ได้อย่างไร แต่จากคำบอกเล่าของ "ไนเจล ซิลเวสเตอร์" นักปั่นจักรยาน BMX อาชีพชาวอเมริกันในวิดีโอสัมภาษณ์จาก Complex ทำให้เราได้ทราบว่า จริง ๆ แล้ว จักรยาน มอเตอร์ไซค์ หรือพาหนะใดที่มีสองล้อ เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญในการดำรงชีวิตอยู่ในนิวยอร์ก ซิตี้ ด้วยความที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะอาศัยอยู่ในตึกแบบติด ๆ กัน การเดินทางโดยใช้จักรยานจึงมีความสะดวกคล่องตัวเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่สนุกเพราะวัยรุ่นส่วนใหญ่ยังได้ปั่นจักรยานสำรวจเมืองไปด้วย
ณ ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้และย่านบรองซ์ เป็นสองย่านที่มีการปั่นจักรยาน BMX มากที่สุดในนิวยอร์ก ซิตี้ ซึ่งการปั่นที่ว่านี้ไม่ใช่การปั่นธรรมดาแบบไปซื้อลูกอมที่ร้านชำแล้วปั่นกลับบ้าน แต่เป็นการปั่นจักรยานแบบเล่นท่าผาดโผนแบบที่นักสเกตบอร์ดชอบเล่น ไม่ว่าจะเป็นการกระโดด เหวี่ยงแฮนด์ ปั่นล้อเดียว จนกลายเป็นคอมมูนิตี้ของคนนิยม BMX เล็กๆ (ที่ไม่เล็กแล้ว) ขึ้นมา และกลายเป็นที่รู้จักผ่านการแชร์คลิปการเล่นท่าเท่ ๆ ในโซเชียลมีเดีย
Photo : www.espn.com
การปั่นจักรยาน BMX เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อเด็กชาย "แดโรลด์ ดูราร์ด บราวน์ เฟอร์กูสัน จูเนียร์" หรือ "เอแซ็พ เฟิร์ก" ในวัยเด็กก็เช่นเดียวกัน
"การปั่นจักรยาน BMX เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งฮาร์เล็ม ที่เรามักจะทำกันเป็นประจำคือการชวนเพื่อนแล้วก็แค่ออกไปปั่นมันด้วยกัน"
"มันเป็นตัวแทนของความเป็นอิสระ เราจะไปที่ไหนก็ได้ที่เราอยากไป"
เฟิร์กกล่าวกับ Hollywood Life เขาเป็นหนึ่งในสมาชิก เอแซ็พ ม็อบ ที่หลงใหลในการปั่นจักรยานมากที่สุด ในมิวสิกวิดีโอของเฟิร์กส่วนมาก มักจะปรากฏภาพของเขาและเพื่อน ๆ กำลังซิ่งอยู่ในเมืองกันอย่างสนุกสนานด้วยจักรยาน BMX ดูตัวอย่างได้จากมิวสิกวิดีโอ เพลง "Plain Jane"
ความรักต่อ BMX ของเฟิร์กยังไปเข้าตาแบรนด์จักรยานยี่ห้อ "เรดไลน์" (Redline) แบรนด์เก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1974 จนเขามีจักรยานรุ่นซิกเนเจอร์เป็นของตัวเองออกมา ในรุ่น "The RL 275" สิ่งนี้เปรียบเสมือนฝันที่เป็นจริงของเขา เพราะเขาเองก็ชอบจักรยานเรดไลน์มาตั้งแต่เด็ก จักรยานของเฟิร์กมีขนาดล้อ 27.5 นิ้ว ใส่ยาง 3 นิ้ว ที่เหมาะกับทั้งการปั่นบนคอนกรีตและดิน เฟรมทำมาจากอลูมิเนียมเคลือบสีเหลืองสด มีราคาเปิดตัวอยู่ที่ 799.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 26,000 บาท
เฟิร์กในฐานะนักปั่น ยังเป็นคนที่มีความสามารถหลากหลาย เขาสามารถเล่นท่าได้มากมาย ตั้งแต่การกระโดด การปั่นล้อเดียว ไม่ใช่แค่การปั่นเพื่อตามเทรนด์แต่อย่างใด
"เวลาที่คุณนึกถึงจักรยาน BMX ในฮาร์เล็ม คุณจะนึกถึงเรดไลน์ การร่วมงานกันครั้งนี้มันเป็นการร่วมงานที่ผมได้มีส่วนร่วมจริง ๆ และผมก็อินกับมันมาก ๆ ด้วย"
เพื่อเป็นการโปรโมตจักรยาน เฟิร์กยังออกมิวสิกวิดีโอเพลง "Floor Seats" มาในปี 2019 ที่เป็นการร่วมงานกันแบบพิเศษของเขากับเรดไลน์ มิวสิกวิดีโอตัวนี้กำกับโดย "วาเลนติน เปติท" ผู้กำกับชาวฝรั่งเศสที่ร่วมงานกับบริษัท HERC บริษัทครีเอทีฟจากประเทศเนเธอแลนด์ ผู้ร่วมงานกันทั้งสองต่างก็เห็นพ้องกันว่า ควรดึงจุดแข็งที่สุดของวัฒนธรรมนี้ออกมาใช้ ซึ่งนั่นก็คือการปั่นจักรยานในย่านฮาร์เล็มนั่นเอง เพื่อความเรียลที่สุด
เปติท กล่าวกับ Branding.news ว่า
"ผมพยายามที่จะพาผู้คนไปสำรวจวัฒนธรรมในละแวกที่อยู่อาศัยของเฟิร์ก ให้ผู้คนได้ดื่มด่ำไปกับไลฟ์สไตล์ของเขา ผมมองว่านักปั่นเหล่านี้เป็นเหมือนฝูงหมาป่า พวกเขาครองอาณาเขตของตัวเอง แต่ในกรณีนี้ฮีโร่ตัวจริงก็คือฮาร์เล็ม ตัวตนของฮาร์เล็มที่ถูกพูดผ่านอาคาร ผู้คน ร้านค้า รถยนต์ คือมันแทบจะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลย"
รับชมได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ไม่ใช่แค่เฟิร์กที่หลงใหลในการปั่นจักรยาน เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า ย่านฮาร์เล็มเป็นหนึ่งในย่านที่มีการปั่น BMX มากที่สุดในนิวยอร์ก วัฒนธรรมการปั่นที่แข็งแกร่งยังคงอยู่คู่นิวยอกร์กมาจนถึงทุกวันนี้และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ
HARLEM REPRESENTS
การปั่นจักรยาน BMX ในนิวยอร์ก ซิตี้ ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป เหมือนกับการเล่นสเกตบอร์ดในที่สาธารณะบางที่ กีฬาเอ็กซ์ตรีมเหล่านี้เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมแบบสตรีทก็จริง แต่ในทางกลับกันมันก็สามารถสร้างความรำคาญให้แก่ใครหลาย ๆ คนได้เช่นกัน เช่นเดียวกับการใช้มอเตอร์ไซค์ในบางพื้นที่ของนิวยอร์ก
บ่อยครั้งที่การปั่นจักรยานในฮาร์เล็มถูกมองว่าเป็นการก่อกวน ถึงขนาดมีการร้องเรียนด้วยการแจ้งตำรวจ "สกอต ชาร์นาส" หนึ่งในทนายความที่เคยว่าความให้กับนักปั่นเหล่านี้ เคยออกมาให้สัมภาษณ์กับ Vice ครั้งหนึ่งถึงปัจจัยที่ทำให้นักปั่นโดนมองว่าทำตัวไม่ดี
Photo : www.sugarcayne.com
"มันมีการปล่อยผ่านกันบ้าง แต่ส่วนใหญ่มันก็คือกฎทั่วไปนี่แหละ จะมีกฎหมายอยู่ฉบับหนึ่งที่บังคับให้นักปั่นปั่นจักรยานไปตามเลน หากมีเลนให้ใช้ ซึ่งห้ามแซงรถ ห้ามแซงคน แล้วก็ห้ามแซงนักปั่นด้วยกันเองด้วย พอกฎหมายระบุไว้แบบนี้ ลองนึกภาพว่ามีนักปั่นประมาณ 50 คน ปั่นจักรยานพร้อม ๆ กันสิ แค่นี้ก็ผิดกฎหมายแล้ว"
การซิ่งไปด้วยจักรยานในย่านฮาร์เล็มเป็นเรื่องใหญ่ได้ขนาดนี้ เพราะย่านนี้เป็นย่านที่มีคนปั่นจักรยานกันเยอะจริง ๆ ทั้งหมดประกอบไปด้วยคนมากหน้าหลายตาที่สามารถจะเป็นใครก็ได้ ตราบใดที่คุณชื่นชอบ BMX ความน่าสนใจคือไม่มีใครเป็นคนเซ็ตเทรนด์ดังกล่าวไว้แบบตายตัว ใครที่ผ่านมาเห็นแล้วอยากปั่นด้วยก็แค่หยิบจักรยานของตนเองออกมาแล้วก็ปั่นตามกันไปเท่านั้นเอง
"กลุ่มคนพวกนี้ก็แค่กลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ที่มารวมตัวกัน มีทั้งพนักงานดูแลรถไฟใต้ดิน เด็กแก๊ง คนละติน ทุกคนมาปั่นด้วยกันทั้งนั้น ที่นี่อยู่กันแบบพี่น้องเลย"
"โมฮัมเหม็ด ทราวัลลี่" หนึ่งในนักปั่นแห่งย่านฮาร์เล็ม กล่าวกับ Vice
อาจเป็นเพราะค่านิยมที่ถูกส่งต่อกันมาไม่ว่าจะจากใครก็ตาม แต่การปั่นจักรยานในฮาร์เล็มก็เติบโตมากยิ่งขึ้น ถึงขนาดมีการจัดทัวร์ปั่นจักรยาน (ที่ไม่ใช่จักรยาน BMX) เพื่อการชมเมืองที่มีชื่อว่า "I BIKE HARLEM" ขึ้นมาเพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศของย่านนี้อย่างใกล้ชิดที่สุด
Photo : ibikeharlem.com
วัฒนธรรมการปั่นจักรยานจึงผูกติดอยู่กับฮาร์เล็มไปโดยปริยาย เสมือนของดีประจำตำบล แบบข้าวหลามหนองมนแห่งชลบุรี จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่หากเฟิร์กจะหลงใหลในการปั่นจักรยานได้ขนาดนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่หล่อหลอมเขาขึ้นมาจนกลายเป็นตัวตนของเขา และสิ่งที่เขาอยากจะนำเสนอออกไปเหมือนกับที่แร็ปเปอร์หลาย ๆ คนชอบทำกัน
นอกเหนือไปกว่านั้นสิ่งนี้ยิ่งทำให้เฟิร์กและศิลปินฮิปฮอปบางคนแตกต่างออกไป เวลาที่เราได้เห็นพวกเขาสร้างผลงานด้วยใจรักจริง ๆ เหมือนกับ แฟรงก์ โอเชียน ที่ชอบรถ หรือ สนูป ด็อกก์ ที่ชอบกัญชา
อะไรก็ตามที่พวกเขาเสนอออกมามันเป็นเพราะความผูกพัน และนั่นมักจะเป็นผลงานที่จริงใจและมีคุณภาพเสมอ
บทความโดย ณัฐพล ทองประดู่
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา