19 พ.ย. 2021 เวลา 15:49 • ครอบครัว & เด็ก
วินัยการเงินเริ่มตั้งแต่ประถม
ในที่สุด ช่วงที่น่าตื่นเต้นและเป็นที่รอคอยที่สุดของผมก็มาถึง
.....จุดเริ่มต้นของการให้เงินค่าขนม.....
วัยประถมคือ ช่วงวัยที่น่าเหมาะสมที่สุดที่จะเริ่มให้เด็กได้รับผิดชอบเงินค่าขนม ที่ได้มาจากการช่วยงาน
โชคดีมากที่รร.ที่บ้านเราเลือก ห้ามไม่ให้เด็กพกเงินมารร. แต่ใช้ระบบฝากเงินในบัตรนร. และให้เด็กจัดการเงินตัวเองโดยไม่ต้องถือเงินจริง จะว่าไปก็คล้ายระบบเอทีเอ็ม
แต่ในเมื่อตอนนี้เรามาเจอโควิด ความตื่นเต้นที่จะได้ลองระบบนี้เมื่อลูกได้ขึ้นประถมหนึ่งก็เป็นอันต้องหยุดเอาไว้ชั่วคราว
ถ้าเป็นแบบนี้ เราคงต้องเริ่มต้นเองจากที่บ้าน โดยแม่หนึ่งวางแผนให้ลูกชายรู้จักวินัยทางการเงินเป็น 2 ขั้น
1. เงินค่าช่วยงาน ซึ่งเป็นขั้นแรก หลังจากลูกชายได้มีหน้าที่ประจำ เป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคลที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอแบบไม่ได้รับค่าตอบแทน นั่นคือ การเก็บที่นอนผ้าห่ม การเก็บจานข้าว และการแยกผ้าของตัวเองและน้องหลังซัก ( 3 งานนี้ ไม่ได้ตังค์นะจ้ะ)
เมื่อทำได้ดีเป็นกิจวัตร ผมจึงมีข้อเสนอใหม่ โดยการให้ทำงานบ้านอื่นนอกหน้าที่ เช่น กวาดห้อง ดูดฝุ่นห้อง หรือ ช่วยตากผ้า ซึ่งจะได้ค่าตอบแทนงานละ 5 บาท ในเงื่อนไขว่า ต้องทำได้ดีมีประสิทธิภาพเท่านั้น
2. เงินประจำเดือน คือเงินที่ให้เพื่อให้เขาได้ซื้อของที่อยากได้ เช่น ขนมหรือเครื่องเขียน หนังสือ ของเล่น ฯลฯ ที่แม่ไม่ได้ซื้อให้ อีก 50 บาทต่อเดือน โดยให้ตั้งแต่ต้นเดือน และจะใช้เมื่อไรและเท่าไรในวงเงินนี้ก็ได้
อิสระภาพในการเก็บ-จ่ายเงิน จะทำให้เราได้รู้ว่า ลูกเราที่แท้ทรูนั้นเป็นคนอย่างไร ระหว่าง
a. คนงก เก็บแต่เงิน จนไม่รู้จักให้รางวัลตัวเอง
หรือเรียกว่า พวกไม่รู้จักหาความสุขในชีวิต
b. ใช้จ่ายเก่งและขาดการยับยั้ง หรือที่เรียกว่า พวกสุขระยะสั้น สุขชั่วครั้งชั่วคราว
c. คนที่อดทนและรอคอยเก่ง หรือที่เรียกว่า พวกรู้จักสุข ใช้ชีวิตเป็น
ในขณะที่เราได้รู้จักลูกของเราว่าเป็นคนแบบไหน และสามารถสร้างบทเรียนที่จะช่วยปรับสมดุลย์ในการใช้เงินหรือการเห็นค่าเงินให้ลงตัวได้ ลูกเองก็จะได้พบประสบการณ์ทางอารมณ์แบบที่เขาไม่เคยเจอมาก่อนเมื่อเกิดการใช้จ่ายเงินในแบบของตนเอง เช่น
- เสียดาย: เมื่อเขาใช้เงินไปก่อนกับสิ่งที่ไร้ค่าแทนที่จะเก็บไว้ซื้อสิ่งที่อยากได้มากกว่า
- สำเร็จ: การได้รอจนได้สิ่งที่ชอบ เมื่อรอคอยต่ออีกนิดแล้วเก็บเงินจนครบ พอที่จะซื้อของที่อยากได้สุดๆ มานาน
-เจ็บปวด: เมื่อเงินหาย หรือ นับเงินทอนผิด จนทำให้เสียเงินไปฟรีๆ ซึ่งเป็นบทเรียนราคาแพงที่ใช้เงินไม่กี่สิบบาทเพื่อทำให้เขารู้ว่า การคิดเลขนั้นคือสิ่งที่สำคัญกับชีวิตมากเท่าใด
เมื่อได้จับเงิน ได้วางแผนการใช้เงิน การบังคับขู่เข็นให้เรียนเลข จะเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องทำอีกต่อไป
แน่นอนว่า การให้เงินค่าขนม จะต้องไม่แคล้วมีปัญหาตามมา แต่เอาไว้เจอหน้างานก่อน แล้วจะมาเล่าให้ฟังกันต่อเน้อ
โฆษณา