22 พ.ย. 2021 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Metaverse Ecosystem ประกอบด้วยอะไรบ้าง
ช่วงที่ผ่านมา Metaverse กลายเป็นเทรนด์ที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจโลกของ Metaverse มากขึ้น วันนี้เทรนด์มีซี่จะพาไปดูระบบนิเวศ (Ecosystem) ของ Metaverse ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง และจะพาไปดูตัวอย่างผู้ให้บริการในแต่ละระดับของระบบนิเวศกัน
ระบบนิเวศของ Metaverse ประกอบขึ้นจากองค์ประกอบ 7 ชั้น (Layer) ด้วยกัน เริ่มจาก
1. ประสบการณ์ (Experience) ที่เราได้รับจากสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง การซื้อสินค้า การเรียน ฯลฯ โดย Metaverse จะช่วยเติมเต็มประสบการณ์ที่แต่ก่อนไม่ได้รับการตอบสนองในโลกจริง เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ เช่นเวลาไปคอนเสิร์ต แน่นอนว่าถ้าเราไม่ได้ซื้อบัตรเข้าชมในที่นั่งที่ดีที่สุด เราก็ต้องไปอยู่ในโซนที่เห็นนักร้องได้ยาก แต่ไม่ใช่กับ Metaverse... เพราะใน Metaverse นั้น เราสามารถเข้าชมคอนเสิร์ตบนโลกเสมือนในที่นั่งที่ดีที่สุดได้ ตัวอย่างของผู้ให้บริการในระดับนี้ มักเป็นค่ายเกมต่าง ๆ อย่าง VALVE, Ubisoft, EA และ miHoYo ฯลฯ หรือแพลทฟอร์ม Social Media อย่าง Facebook, Line, Youtube, Twitter และ Twitch
2. การค้นพบ (Discovery) หรือระบบที่เป็นตัวนำเสนอให้คนได้พบเจอประสบการณ์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของ Inbound หรือคนเข้าไปหาเอง (คนสู่คอมพิวเตอร์) เช่น Search Engine อย่าง Google, Bing และ Yahoo Application ฯลฯ แพลตฟอร์มร้านค้า (Stores) อย่าง Steam, Appstore, Epic Game Store และ Google Play Store ฯลฯ หรือสื่อที่ไม่ต้องซื้อ (Earned Media) ที่เกิดจากการบอกต่อ รวมถึงการไลก์ การแชร์ การคอมเมนท์ ในส่วนของ Outbound ที่เป็นจากคอมพิวเตอร์มาสู่คน จะอยู่ในรูปแบบของโฆษณาที่ขึ้นในเว็บไซต์ การแจ้งเตือน (Notification) หรือ Spam ในอีเมล์ต่าง ๆ อย่างประกาศงานใน LinkedIn
3. เศรษฐกิจของผู้สร้าง (Creator Economy) หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ผู้สร้างใช้ในการสร้างประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเว็บไซต์ โปรแกรม หรือแพลทฟอร์มต่าง ๆ ผ่านโปรแกรม ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเนื่องจากความสะดวก เพราะผู้สร้างไม่จำเป็นต้องรู้วิธีการเขียนโค้ด (Coding) ก็สามารถสร้างเว็บไซต์ หรือแบบ 3 มิติได้ ตัวอย่างของผู้ให้บริการที่ทุกคนน่าจะรู้จักดีก็คือ Adobe, Shopify และ Wix
4. การคำนวนเชิงพื้นที่ (Spatial Computing) ที่ใช้สำหรับการจำลองพื้นที่หรือข้อมูลในโลกจริงลงบนโลกเสมือน หรือในทางกลับกัน เราสามารถนำพื้นที่บนโลกเสมือนออกมาอยู่บนโลกจริงได้ เพื่อข้อมูลและประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างในชั้นนี้จะอยู่ในรูปแบบของซอฟต์แวร์ต่าง ๆ อย่าง 3D Engines เช่น Unreal และ Unity ที่ใช้สำหรับการสร้างพื้นที่ 3 มิติและอนิเมชั่นต่างๆ, ซอฟต์แวร์สำหรับจำลองพื้นที่ทั้งบนโลกจริงและโลกเสมือน เช่น NVIDIA Omniverse ที่เราได้นำเสนอไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรือจะเป็น Niantic Planet-Scale AR นอกจากนี้ยังรวมไปถึงระบบตรวจจับเสียงและท่าทาง (Voice Recognition) การแลกเปลี่ยนข้อมูลชีวพื้นฐานของมนุษย์ (Biometrics) กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เรามักจะเห็นใน Smartwatch อีกด้วย
5. ระบบไร้ตัวกลาง (Decentralization) อันเป็นอุดมคติของ Metaverse นั้นจะเป็นที่ๆ ทุกคนไม่ต้องขออนุญาตว่าจะทำอะไร (Permissionless) ซึ่งปัจจุบัน หลาย ๆ แพลทฟอร์มยังจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของแพลทฟอร์มในการเข้าไปสู่แพลทฟอร์มนั้น ๆ หรือกระทำการอันใด
ยกตัวอย่างเช่นการที่ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันบน iOS ต้องขออนุญาต Apple ในการผลิตแอปพลิเคชันสำหรับ iPhone เพื่อวางขายใน Appstore หรือการที่ผู้ใช้ Play Station 4 ต้องดาวน์โหลดเกมจาก Play Station Store ซึ่งการที่ต้องขออนุญาตนั้นเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับนักพัฒนา เพราะต้องเสียส่วนแบ่งต่าง ๆ ไปให้กับเจ้าของแพลทฟอร์ม เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องทำให้ระบบนั้นเป็นระบบที่ไร้ตัวกลาง เพื่อเพิ่มการแข่งขันและลดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งสำหรับผู้ใช้และนักพัฒนา ตัวอย่างระบบไร้คนกลางในปัจจุบันที่เราได้ยินบ่อยนั้น มักจะเป็นเงินสกุลดิจิทัล (Cryptocurrency) อย่าง Ethereum, Polkadot และ Enjin
6. ตัวเชื่อมระหว่างคนและโลกเสมือน (Human Interface) หรือฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ที่เราใช้ในการเชื่อมเข้าสู่ Metaverse อย่างสมาร์ทโฟนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Apple, Samsung และ Huawei อุปกรณ์ Gaming Console อย่าง Play Station, Xbox และ Nintendo Switch หรือแว่นตา VR Oculus ฯลฯ
7. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่เป็นพื้นฐานในการเชื่อมโยงอุปกรณ์ของเราเข้าสู่เครือข่าย ตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ที่อยู่ในรูปแบบของชิป Semiconductors และส่วนประกอบต่าง ๆ โดยตัวอย่างของผู้ผลิตในกลุ่มนี้เช่น NVIDIA, AMD, Apple และ Samsung การให้บริการอินเตอร์เน็ตในระดับสากลก็จะมีผู้ให้บริการอย่าง T Mobile, Starlink และ Verizon หรือในไทยอย่าง AIS, DTAC และ True นอกจากนี้โครงสร้างพื้นฐานยังรวมถึงระบบเก็บข้อมูลบนคลาวด์ อย่าง Google Cloud, iCloud และ Cloudflare
จะเห็นได้ว่าระบบนิเวศของ Metaverse นั้นจำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) อย่างบริการทางอินเตอร์เน็ตเพื่อเชื่อมต่อเราเข้าสู่ Metaverse รวมถึงฮาร์ดแวร์ที่เป็นส่วนประกอบให้กับอุปกรณ์ที่จะเชื่อมต่อผู้ใช้เข้าสู่โลก Metaverse (Human Interface) เพื่อให้ระบบนิเวศนั้นเหมาะสม ซึ่งในโลก Metaverse ต้องทำให้เป็นโลกที่ปราศจากตัวกลาง (Decentralization) เพื่อการแข่งขัน และความหลากหลายของเนื้อหา โดยการสร้างโลก Metaverse จำเป็นต้องอาศัย Spatial Computing ในการสร้างโลกขึ้นมา เพื่อให้ผู้สร้างสามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ (Creator Economy) ลงบนโลกนั้นได้ ซึ่งการนำเสนอประสบการณ์ (Experience) ให้กับผู้ใช้ได้นั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยการค้นพบ (Discovery) ด้วย และทั้งหมดนี้ก็คือระบบนิเวศทั้งหมดของ Metaverse ที่นำมาฝากกันในวันนี้ครับ
╔═══════════╗
ท่านที่สนใจรับการอัปเดตเทรนด์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ขอเชิญชวนเข้าร่วม Facebook Group: Trends Community เพื่อร่วมแบ่งปันเทรนด์ใหม่ๆ ในแต่ละอุตสาหกรรม ร่วมออกไอเดีย และแสดงความคิดเห็นร่วมกันว่าเทรนด์ใดที่เหมาะกับลูกค้าคนไทย และเทรนด์ใดจะเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในอนาคต?
╚═══════════╝
.
Trendmizi คลังเทรนด์ออนไลน์เพื่อการพัฒนาแบรนด์และธุรกิจ โดยศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซ็ปต์แห่งอนาคต Baramizi Lab
#Trendmizi
#คลังเทรนด์ออนไลน์
#trend
รูป: Jon Radoff
โฆษณา