20 พ.ย. 2021 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
อายุเท่านี้ควรมีอะไรบ้าง? ความสำเร็จกำหนดได้จริงไหม เมื่อชีวิตคนเราไม่เหมือนกัน
1
“ปีหน้าก็อายุ 25 ควรมีบ้านหรือมีรถก่อนดีคะ แล้วเงินเดือนเท่านี้น้อยไปไหม?”
“ผมอายุ 30 แล้ว ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีรถขับ ดูเป็นผู้ชายที่ไม่มีอนาคตหรือเปล่า?”
1
ก่อนที่เราจะตอบว่าอายุเท่าไรควรมีอะไร เราอาจต้องย้อนกลับมาถามตัวเองก่อนว่า หากเรามีทุกอย่างตามที่ตัวชี้วัดทั้งหลายเหล่านี้กำหนดไว้ จะทำให้เราประสบความสำเร็จ และค้นพบความสุขที่แท้จริงได้จริงหรือ?
ในทางตรงกันข้าม แนวคิดความสำเร็จตามแต่ละช่วงอายุอาจทำให้เราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานของสังคมที่ใครเป็นคนสร้างไว้ก็ไม่รู้ หรือไปยึดติดกับความสำเร็จของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว นำไปสู่การกดดันตัวเองให้ก้าวให้ทันคนอื่น ด้วยความคิดที่ว่า “เราต้องมี” หรือ “เราต้องเหนือกว่า” โดยหารู้ไม่ว่าตัวชี้วัดเหล่านี้อาจไม่ใช่นิยามความสำเร็จและความสุขที่แท้จริงที่เราปรารถนา เพราะเราทุกคนล้วนต่างกันออกไป ไม่มีใครเหมือนกันและอยู่ในจุดเดียวกันแบบ 100% แสดงให้เห็นว่า มาตรฐานและนิยามความสำเร็จจึงเป็นของใครของมัน และไม่สามารถเอามาเทียบกันได้อย่างแน่นอน
2
หยุดเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น เพราะความต่างทำให้เราเป็นเราในวันนี้
ความต่างอย่างแรกคือ “ต้นทุนชีวิตของคนเราไม่เท่ากัน” บางคนเกิดมาในครอบครัวที่มีพร้อมทุกอย่าง สามารถสนับสนุนความต้องการได้อย่างเต็มที่ มีโอกาสทางสังคมมากมาย ไม่มีภาระอะไรที่ต้องรับผิดชอบ ในขณะที่บางคนเกิดมาในครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำ ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้เท่าที่ควร มีภาระมากมายที่ต้องแบกรับ ทำให้ต้องขวนขวายเพื่อสิ่งที่ปรารถนามากกว่าปกติหลายเท่าตัว อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าคนกลุ่มแรกไม่มีความพยายามและไม่ต้องทำอะไรเลยแต่อย่างใด เพียงแต่พื้นฐานของคนเราที่ต่างกัน ย่อมทำให้สิ่งที่เป็นอยู่ทั้งในปัจจุบันหรืออนาคตไม่มีทางเหมือนกันได้อย่างแน่นอน และไม่สามารถเอามาวัดกันได้ว่าใครดีกว่ากันหรือใครดีที่สุดด้วยเช่นกัน
4
ต่อมาคือ “นิยามของความสำเร็จและความสุขของแต่ละคนต่างกัน” การมีเงินจำนวน 1 ล้านบาท ไม่ใช่เครื่องยืนยันความสำเร็จในชีวิตของทุกคน การมีบ้านหรือรถยนต์เป็นของตัวเองในช่วงวัย 30 ก็อาจจะไม่ใช่ความปรารถนาของใครหลายคนด้วยเช่นกัน นั่นเพราะเราต่างมีนิยามความสุขและความสำเร็จในแบบของเราเอง จำนวนเงินในบัญชี หน้าที่การงานที่มั่นคง ฐานะทางสังคม และอีกมากมาย ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของเรา ที่สร้างและออกแบบเอง ไม่ใช่มาตรฐานของคนอื่นเพียงเพราะใครๆ ก็ทำกัน
1
สิ่งสุดท้ายแต่อาจไม่ท้ายสุด Kim Rando นักเขียนชาวเกาหลีใต้ เคยเขียนไว้ในหนังสือ "เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด" ไว้ว่า “ดอกไม้แต่ละชนิดผลิบานในฤดูกาลของมันเอง” เป็นที่ทราบกันดีว่าดอกไม้มีหลายชนิดหลายพันธุ์ แต่ละชนิดก็ต่างมีคุณสมบัติที่โดดเด่นแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น ในด้านการเจริญเติบโต บางชนิดโตเร็วโดยไม่ต้องบำรุง อยู่ได้ด้วยตัวเอง บางชนิดโตช้าและต้องหมั่นดูแลรักษา บางชนิดผลิดอกสวยงามตลอดทั้งปี ทนทานทุกสภาพอากาศ อยู่ได้ทุกสภาพแวดล้อม ในขณะที่ บางชนิดต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะผลิดอก ออกผล ต้องได้รับการดูแลอย่างดี ใส่ปุ๋ย พรวนดินอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น การต้องเลือกว่าดอกไม้ชนิดไหนดีที่สุดก็คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกชนิดล้วนมีข้อดีและข้อด้อยต่างกันออกไปตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น
5
และในชีวิตความเป็นจริงก็เช่นกัน บางคนประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย บางคนเริ่มตั้งตัวได้ตอนช่วงวัยกลางคน และบางคนต้องเฝ้าอดทน รอแล้วรอเล่า กว่าจะพบกับสิ่งที่เรียกว่าความสุขที่แท้จริงก็ช่วงบั้นปลายชีวิต นั่นเป็นเพราะชีวิตของคนเรามีช่วงเวลาที่เติบโตไม่เท่ากัน แล้วทำไมเราจะต้องดื้อรั้นและกดดันตัวเองว่าอยากจะเฉิดฉายทั้งๆ ที่มันอาจยังไม่ถึงช่วงเวลาเติบโตของเรา อายุเท่ากันแต่จุดสูงสุดในช่วงชีวิตของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกันเสมอไป เพราะดอกไม้ในชีวิตของคนเรา มีช่วงเวลาที่ผลิบานต่างกันออกไป...
3
นิยามความสุขและความสำเร็จต้องมาจากมาตรฐานเรา ไม่ใช่คนอื่น
“หญิงคนหนึ่งในวัย 30 ที่มีหน้าที่การงานธรรมดา ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเป็นชิ้นเป็นอัน มีเพียงสัตว์เลี้ยงตัวโปรด และต้นไม้นับสิบต้นในห้องเช่าแคบๆ ก็มีความสุขได้”
2
“ชายคนหนึ่งในวัย 30 กำลังเติบโตในหน้าที่การงาน สนุกกับงานที่ท้าทายความสามารถอยู่ตลอดเวลา ได้รับคำชมเชยจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน แม้จะแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับงาน งาน และงาน แต่เขากลับมีความสุขและไม่เบื่อกับสิ่งที่เป็นอยู่เลย”
เมื่อตัวชี้วัดความสำเร็จของแต่ละช่วงอายุ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ล้วนไม่มีความจำเป็นกับเราทั้งสิ้น เพราะทุกคนเกิดมาก็แตกต่างกันแล้ว อีกทั้ง ตัวชี้วัดเหล่านี้ไม่สามารถนำมาเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าหากเรามีทุกอย่างตามที่กำหนดไว้ทุกช่วงวัยแล้ว มันจะทำให้เราพบเจอกับความสุขที่แท้จริงได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางสิ่งที่เราต้องรู้และต้องมีไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุเท่าไร เพราะการรู้และการมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้อาจนำเราไปสู่นิยามของความสุขและความสำเร็จในชีวิตที่เราเป็นผู้กำหนดเองได้อย่างแน่นอน สิ่งเหล่านี้ได้แก่
2
• การมีความคิดเป็นของตัวเอง รู้ว่าตัวเองชอบไม่ชอบอะไร
• การได้เป็นเราในแบบที่เราเป็น ไม่ต้องฝืน และกดดันตัวเองจนเกินไป
• การตระหนักรู้ว่าความสุขที่แท้จริงของเราคืออะไร วาดฝันอนาคตไว้อย่างไร
• การมีนิยามความสำเร็จในแบบของเราที่มาจากมาตรฐานเรา ไม่ใช่คนอื่น
• การรักตัวเองให้มากๆ
• การตระหนักรู้ถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของเรา
5
นอกจากนี้ ความคิดของคนเราเปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่ว่าจะเพราะเติบโตขึ้น ประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น มีบทเรียนจากความผิดพลาด ความล้มเหลว หรืออะไรก็ตาม วันนี้กับวันพรุ่งนี้เราอาจคิดไม่เหมือนเดิม นิยามความสำเร็จและความสุขของเราอาจต่างไปจากเดิม เพราะเราได้เรียนรู้ เข้าใจชีวิต และเข้าใจตัวเองมากขึ้นนั่นเอง เพราะสุดท้ายแล้ว ตัวเอกของเรื่องและผู้ที่กำหนดทุกอย่างก็คือ “ตัวเรา” ไม่ใช่ใครที่ไหน การเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น ไม่ได้ทำให้อะไรมันดีขึ้น ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกแพ้หรือรู้สึกชนะ เพราะมันไม่สามารถเทียบกันได้ตั้งแต่แรก ทุกคนล้วนมีความแตกต่าง แค่เกิดมาก็ไม่เหมือนกันแล้ว ดังนั้น มาตรฐานเราไปใช้กับคนอื่นไม่ได้ และมาตรฐานคนอื่นก็มาใช้กับเราไม่ได้เช่นกัน
6
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- แด่…ช่วงเวลาที่สุกงอม เพราะชีวิตไม่ต้องรีบก็ประสบความสำเร็จได้: https://bit.ly/3HxRAKq
1
อ้างอิง
- Kim Rando (2012), เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด
- เนื้อหาบางส่วนถอดมาจาก 5 Minutes Podcast EP.1001 มีความเห็นอย่างไรต่อการชี้วัดความสำเร็จในแต่ละช่วงอายุ?: https://spoti.fi/3FkpSP5
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration
โฆษณา