21 พ.ย. 2021 เวลา 05:33 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ผู้หลงรัก Fundamental Truth กับ Quantum เปลี่ยนโลก
จากเด็กฟิสิกส์โอลิมปิกวิชาการ สู่ดอกเตอร์ Quantum Computing ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ กับความฝันผลักดันประเทศไทยสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีใหม่ กับโอกาสใหม่ทางเทคโนโลยีที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนและทุกประเทศอย่างเท่าเทียม กับเทคโนโลยีควอนตัม ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก
1
ดร.จิรวัฒน์ เป็นเด็กนักเรียนทุนรัฐบาลที่ไปเรียนต่อทางด้านฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ จากนั้นได้มาศึกษาต่อปริญญาเอกทางด้าน Quantum Computing ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติประเทศสิงคโปร์หรือ NUS ตอนนี้มาทำควอนตัม สตาร์ตอัพ
ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ควอนตัม เทคโนโลยี ฟาวเดชั่น (ประเทศไทย) จำกัดหรือ QFTF กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ตนหลงรักฟิสิกส์มาตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมปลาย เพราะพบว่าฟิสิกส์เป็น Fundamental Truth ทำให้ตัวเองมุ่งมั่นตั้งใจเรียนในสิ่งที่ตัวเองรักมาตลอดจากมัธยมปลายจนจบระดับปริญญาเอก
2
“ตัวเองอาจจะโชคดีกว่าเด็กหลาย ๆ คนที่รู้ว่าชอบอะไรตั้งแต่ม.ปลาย เพราะตอนนั้นเรียนวิชาอื่นตกหมด อย่างวิชาชีววิทยาเรียนตกไป 2-3 รอบ ทั้ง ๆ ที่ข้อสอบเดียวกัน รู้สึกว่าเรียนแล้วไม่เข้าใจ ตัวเองจะรู้สึกมีคำถามทำไมในหัวตลอดเวลา เช่น เมื่ออาจารย์สอนเรื่องพืชสามารถสังเคราะห์แสงได้ เพราะว่ามีคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) เราก็จะมีคำถามว่าทำไมคลอโรฟิลล์ถึงสังเคราะห์แสงได้ แบบว่าในหัวจะลงรายละเอียดและจะถามลึกลงไปเรื่อย ๆ สุดท้ายจะพบว่าหลาย ๆ วิชาให้คำตอบไม่ได้ เพราะอาจจะต้องใช้ความรู้ที่มากกว่าม.ปลาย”
2
เขาบอกว่า ตอนนั้นส่วนตัวแค่รู้สึกเรียนไม่สุดเวลาเรียนวิชาอื่น ๆ แต่ขณะที่เรียนฟิสิกส์จะรู้สึกสุด ทั้งนี้เพราะวิชาฟิสิกส์ คือ ความจริงพื้นฐาน หรือ Fundamental Truth อะไรที่เคยตั้งคำถาม จะมีจุดสิ้นสุดของคำว่าทำไม อย่างเช่น ทำไมฟ้าผ่า ทำไมฟ้าร้อง ทำไมลมพัด สุดท้ายจะไปจบที่สมการ F=MA ที่เรียนฟิสิกส์ในตอนม.ปลาย และนั่นคือจุดเริ่มต้น…
จากเริ่มหลงรักสู่ลุ่มหลงและทุ่มเท ดร.จิรวัฒน์ เปลี่ยนความรักในฟิสิกส์ออกมาเป็นความสามารถเชิงประจักษ์ด้วยการเข้าแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (International Physics Olympiad – IPhO) ซึ่งเป็นการแข่งขันเกี่ยวกับวิชาฟิสิกส์ประจำปี เป็นหนึ่งในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา
1
เขาการก้าวเข้าสู่ฟิสิกส์โอลิมปิกด้วยความอยากรู้ว่าฟิสิกส์ที่ตัวเองชอบนั้นสามารถแข่งขันได้ถึงขั้นไหน เขาเป็นที่ 1 ของห้อง และเขาพยายามเพิ่มขึ้นจนเป็นอันดับต้น ๆ ของโรงเรียน เขาต้องการไปต่อในระดับประเทศ ซึ่งตัวฟิสิกส์โอลิมปิกวิชาการ คือ คำตอบ
3
การเป็นเด็กฟิสิกส์โอลิมปิก สร้างความมั่นใจให้กับเขาอย่างมาก เด็กม.ปลายจากมุกดาหารไต่เต้าจากอันดับท้าย ๆ จนมาถึงระดับจังหวัด จากนั้นก็มาถึงระดับประเทศได้ เมื่อถึงจุดนี้เขาคิดว่าทำไมเขาจะไปให้ถึงระดับโลกไม่ได้
2
เขาบอกว่า ความเชื่อในศักยภาพตัวเอง เป็นความสำคัญอันดับแรก ๆ ในการปักหมุดหมายและเป็นพลังให้ก้าวเดิน ซึ่งสำคัญกว่าความรู้หรือเทคนิควิชาการต่าง ๆ ที่ได้จากการเรียนเลย (ไม่ใช่การเรียนไม่สำคัญ)
ระหว่างที่ได้ทุนไปเรียนปริญญาตรี ดร.จิรวัฒน์ ตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบให้กับตัวเองตลอดเวลาว่า ความรู้ทางด้านฟิสิกส์ของเขาจะสามารถสร้างผลกระทบให้กับประเทศได้อย่างไรบ้าง พอเรียนปริญญาเอกเขาจึงเรียนหลายสาขาทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ เครือข่ายการสื่อสาร และควอนตัม คอมพิวติ้ง
3
ที่ตอนนั้นคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นเรื่องที่คนในประเทศไทยยังไม่ค่อยรู้เรื่องกันมากนัก ประกอบกับประเทศสิงคโปร์มีควอนตัม เทคโนโลยีที่เป็นอันดับต้น ๆของโลก เลยที่คิดว่าอยู่อังกฤษมานาน 5-6 ปี กลับมาอยู่ใกล้ๆประเทศไทยดีกว่า เรียกว่ามาเริ่มสนใจควอนตัม คอมพิวติ้งลังจากที่เข้าเรียนปริญญาเอกแล้ว
1
บทบาทฟิสิกส์กับการขับเคลื่อนประเทศ
จากนี้ไปจะเป็นการแข่งขันกันด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เทคโนโลยีจะเป็นความมั่นคงของประเทศ ประเทศไหนไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองอาจจะเรียกว่าถูกเป็นเมืองขึ้นทางเทคโนโลยี
2
“ทุกวันนี้เราอาจจะเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นมือถือ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ รถไฟฟ้าทุกอย่างถ้ามองรอบตัวแทบจะไม่มีเทคโนโลยีของประเทศไทยเลย”
เทคโนโลยีมีรากฐานมาจากวิทยาศาสตร์ และฟิสิกส์จะเป็น Fundamental Truth ของทุกศาสตร์ การเริ่มต้นด้วย Fundamental Truth มีความสำคัญ เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก ประเทศไทยจะวิ่งตามปลายน้ำของเทคโนโลยีอย่างเดียว จะไม่สามารถตามได้ทัน แต่หากประเทศไทยหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็น Fudamental Truth ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนหรือเปลี่ยนช้ามากอย่างวิชาฟิสิกส์ ประเทศไทยจะมีโอกาสไม่เพียงแต่ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นทางเทคโนโลยีแต่มีโอกาสเป็นผู้ที่ยืนแถวหน้าประเทศหนึ่งได้
2
เทคโนโลยีควอนตัมตั้งอยู่บานรากฐานของความรู้ที่คิดมาแล้วเป็นร้อยปี (กฎของนิวตันคิดมา 300-400 ปี) เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจ Fundamental Truth จะทำให้ประเทศไทยสามารถตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาได้ดีมากขึ้น และขั้นถัดไปจะสามารถนำมาประยุกต์เป็นบางสิ่งอย่างเพื่อเป็นประโยชน์ต่อคน สังคมหรือประเทศได้
1
สำหรับ Quantum Computing เป็นเทคโนโลยีที่มาจากความรู้หนึ่งในวิชาฟิสิกส์
ทั้งนี้ วิชาฟิสิกส์แบ่งความรู้ออกเป็น 3 อย่าง คือ ฟิสิกส์ดั้งเดิม (Classical Physics) คือจะเป็น F=MA เทคโนโลยีที่เห็นวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ เครื่องบิน และไฟฟ้า ล้วนมาจากความรู้ฟิสิกส์ดั้งเดิม
ความรู้อีกศาสตร์หนึ่ง คือ ความรู้สัมพันธภาพ ที่ไอน์สไตน์ค้นพบ ความรู้ฟิสิกส์จะเกี่ยวข้องกับสิ่งใหญ่หรืออะไรที่มีมวลมาก ๆ เช่น หลุมดำ เกี่ยวข้องกับเวลายืดหดได้เหมือนในหนังอินเตอร์สเตลลาร์ ซึ่งความรู้ตรงนั้นนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริง ๆ อย่าง GPS ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็มาจากทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตล์ และควอนตัม ฟิสิกส์ เอาไว้ศึกษาสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “อะตอม”
2
ในโลกของควอนตัม ฟิสิกส์ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าตัวอะตอมทำตัวแปลก ๆ เหมือนอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น อะตอมสามารถอยู่หลายที่ได้ในเวลาเดียวกัน สามารถทะลุผ่านกำแพงได้เลยโดยที่ไม่ต้องกระโดดข้าม อะตอมที่อยู่ไกลมาก ๆ สามารถสื่อสารกันได้โดยที่ไม่มีการส่งสัญญาณ
2
“เป็นเรื่องแปลกมากแต่เป็นเรื่องจริงที่ทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์กันมาแล้วเป็นร้อยปี เทคโนโลยีที่มาจากควอนตัม ฟิสิกส์ มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโซล่าเซลล์ เครื่องสแกนสมอง (MRI) ทรานซิสเตอร์ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ หรือทัชสกรีน เวลาเอานิ้วมือไปแตะหน้าจอไอโฟน อิเล็กตรอนที่อยู่บนนิ้วมือเราจะกระโดดทะลุผ่านกำแพงเข้าไปที่เครื่องได้”
2
ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีควอนตัมมีการใช้แค่เพียงส่วนหนึ่ง แต่จากนี้ไปจะมีการนำเอาคุณสมบัติแปลก ๆ จะมีการนำเทคโนโลยีควอนตัมมาใช้ทำให้เกิดเทคโนโลยีการคำนวณแบบใหม่แบบเต็มศักยภาพ ซึ่งจะทำให้คอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า ควอนตัม คอมพิวเตอร์ ประมวลผลงานบางอย่างได้เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมาก ๆ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต้องบอกว่าไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้
3
“ถ้าเราเปรียบเทียบคอมพิวเตอร์วันนี้กับคอมพิวเตอร์เมื่อสิบปีที่แล้ว คอมพิวเตอร์ในวันนี้ทำให้เกิดสมาร์ทโฟน ทำให้เกิด Grab เกิด Facebook หรือ Meta เช่นเดียวกัน ควอนตัม คอมพิวติ้งจะทำให้เทคโนโลยีล้ำหน้าขึ้นไปอีก อาจจะมาต้องมานั่งจินตนาการกันอีก ธุรกิจต่าง ๆ ต้องมานั่งเตรียมการว่าจะเกิดธุรกิจอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นในอนาคต”
1
ประเทศไทยมีโอกาสสู่ผู้นำเทคโนโลยีอาเซียน
“สำหรับประเทศไทยในแง่ระดับของการใช้งานควอนตัม คอมพิวติ้ง อยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับหลาย ๆ ประเทศ เพราะทุกประเทศอาจจะยังงุนงงว่ามันจะเกิดธุรกิจอะไรใหม่ ๆ อีก ซึ่งตรงนี้เป็นโอกาสของประเทศไทย ถ้าเราเคลื่อนที่ได้เร็ว เราหาได้ก่อน เราอาจจะเป็นผู้นำทางด้านควอนตัม เทคโนโลยี ใน Southest Asia ก็เป็นไปได้”
แต่แง่ของงานวิจัยของควอนตัม ดร.จิรวัฒน์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าต่างประเทศพัฒนามากกว่าประเทศไทยเยอะมาก อาทิ ประเทศจีนมีการลงทุนทำวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีควอนตัม จำนวน 3 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่ามหาศาล สิงคโปร์ลงทุนด้านควอนตัมหลายพันล้านบาทเป็นเวลา 10 กว่าปีมาเล้ว ฝั่งยูโรปเองมีการตั้งเป็น Quantum Flagship ของทวีปยุโรป ในอีกสิบปีข้างหน้าเค้าจะเน้นควอนตัม เทคโนโลยี สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยุคโดนัล ทรัมป์ จนมาถึงโจ ไบเดนมีการออกพ.ร.บ.ด้านควอนตัม คอมพิวติ้ง
1
ประเทศไทยอยู่ในช่วงแรกเริ่มในส่วนของวิชาการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ตั้งโครงการ Quantum Flagship (แผนงานสร้างโอกาสและความสามารถในการเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีควอนตัม) ขึ้นมาเป็นเวลาสองปีแล้ว ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ดี
1
“ถ้าเรามองเทคโนโลยีส่วนใหญ่รอบตัว คือ สิงคโปร์ เกาหลี และญี่ปุ่น ถ้ามองย้อนกลับไป 30-50 ปีสมัยนั้นประเทศเหล่านี้ไม่ได้ต่างจากประเทศไทยมาก ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำเทคโนโลยีในเกม (เทคโนโลยีควอนตัม) นี้ได้ ที่ผ่านมาจะเห็นนักเรียนทุนไทยไปติดมหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ ของโลกไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยคอร์เนล และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ความสามารถของคนไทยเราไม่แพ้ที่อื่น เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ได้สนใจเรื่อง Fundamental Truth มากเพียงพอ ที่ผ่านมาเรามีงานวิจัยแต่ไม่ได้นำมาต่อยอดทำให้เกิดการใช้งานจริงได้ทำให้เราต้องวิ่งตามคนอื่นอย่างเดียว”
1
หลายอุตสาหกรรมทั่วโลกเริ่มใช้เทคโนโลยีควอนตัม
อย่างไรก็ตามในขณะนี้ทั่วโลกเริ่มนำเทคโนโลยีควอนตัมมาใช้ โดยกลุ่มการเงินและธนาคารต่าง ๆ ทั่วโลกได้ผลิตและเปิดตัวโปรแกรมด้วยควอนตัมไม่ว่าจะเป็นโกลด์แมน แชคส์ HSBC DBS กลุ่มธนาคารบาร์เคลย์ เป็นต้น
“ส่วนของประเทศไทยตอนนี้มีธนาคารกสิกรไทยที่ขณะนี้ทำงานอยู่กับเราน่าจะประกาศผลการใช้งานได้ในช่วงปลายปีนี้”
นอกจากภาคการเงินแล้วอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ หรือ smart grid ต้องเอามารองรับการเติบโตของการใช้พลังงานทางเลือก อนาคตการใช้พลังงานในอีก10-20 ปีข้างหน้า จะแตกต่างจาก 10-20 ปีที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง เพราะว่าทุกคนสามารถที่จะผลิตไฟฟ้าขายได้ ไม่ใช่เป็นผู้ซื้ออย่างเดียว
การเพิ่มขึ้นของรถไฟฟ้าที่เป็นเสมือนแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การบริหารจัดการไฟฟ้ายากมากขึ้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกมองว่าควอนตัม คอมพิวติ้ง จะเป็น Key ที่ทำให้เกิดการบริหารจัดการพลังงานในรูปแบบใหม่
อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เองตื่นตัวมาก และประเมินกันว่าควอนตัมจะมีผลกระทบค่อนข้างสูง อาทิ แอร์บัส และ BMW มีการจัด Quantum Computing Hackathon ยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมยาที่เชื่อว่า Quantum Computing จะสามารถสร้างแบบจำลองการผลิตยาได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับการนำเทคโนโลยีควอนตัม คอมพิวติ้ง เข้ามาใช้จะเป็นแบบค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน ไม่ใช่เปลี่ยนแบบหน้ามือหลังมือ ตอนนี้สามารถใช้ได้แล้วและใช้ได้ฟรี อย่างเว็บไซต์ของ IBM เปิดให้ใช้ควอนตัม คอมพิวติ้งบนคลาวด์ได้ฟรี
ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าควอนตัม คอมพิวติ้ง เหล่านี้จะใหญ่และเสถียรขึ้นเรื่อย ๆ ภาคธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ต้องวางแผนล่วงหน้ากัน ณ ตอนนี้แล้ว ถ้ารอมันมาก่อนแล้วค่อยคิดอันนี้คิดว่าอาจจะตามหลังและธุรกิจอาจจะถูกดิสรัปท์
ทั้งนี้ ดร.จิราวัฒน์ กล่าวว่า ทุกครั้งที่นำเอาความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มาทำให้เกิดเทคโนโลยีจะเกิดผลกระทบครั้งใหญ่เสมอ ตัวอย่างเช่น เรื่องของ DNA การนำ DNA เข้ามาใช้ทำให้เกิดเทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรม มีความรู้เรื่องไฟฟ้ทำให้เกิดหลอดไฟและเกิดระบบไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
1
การเอากฎการเคลื่อนที่ของนิวตันมาใช้ ทำให้เกิดยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การนำเอาความรู้นิวเคลียร์ซึ่งมาจากทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ ทำให้เกิดอาวุธนิวเคลียร์ เกิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือว่าเรื่องควอนตัมที่เกี่ยวข้องกับโซลาร์เซลล์ก็ทำให้เกิดวิธีการใหม่ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า เพราะฉะนั้น เรื่องควอนตัม คอมพิวติ้ง จะเป็นการนำความรู้ควอนตัม 100% มาใช้งานก็จะเกิดผลกระทบครั้งใหญ่ไม่แพ้ก่อนหน้านี้
กำลังคนสำคัญและจะขาดแคลน
สิ่งที่น่าเป็นห่วงและสำคัญมาก คือ ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จะเกิดการขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโลโนยีควอนตัมทั่วโลก
“เรากำลังเข้าสู่ยุคที่ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านควอนตัม เทคโนโลยี ต้องบอกว่าคนที่จะเข้าใจเทคโนโลยีตัวนี้แบบลึกซึ้งปัจจุบันมีเฉพาะกลุ่มที่จบปริญญาเอกเท่านั้นซึ่งถือว่าน้อยมาก ทั่วโลกโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ อาทิ IBM มีโครงการต่าง ๆ เพื่อผลิตกำลังคนทางด้านนี้ให้รวดเร็วขึ้น จะมีคอร์สที่เริ่มสอนควอนตัมตั้งแต่ม.ปลายโดยที่อาจจะไม่ต้องเรียนฟิสิกส์ที่แอดวานซ์มาก่อน”
สำหรับประเทศไทย บริษัท ควอนตัมเทคโนโลยีฟาวเดชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ QFTF กำลังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งเพื่อจัดเตรียมกำลังคนทางด้านนี้ อาทิ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ที่จังหวัดเชียงใหม่ และร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
นอกจากนี้ QFTF ร่วมทำงานกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายที่ มีลักษณะเป็นการร่วมกันพัฒนา (co-development) ซึ่งบริษัทเอกชนเหล่นั้นจะได้ความรู้ด้านควอนตัมบางอย่างไปด้วย ตรงนี้สำคัญเพราะสุดท้ายแล้วองค์กรต่าง ๆ ควรจะมีคนที่มีความรู้ด้านควอนตัมอยู่ในองค์กรเอง ไม่ใช่อาศัยการเอาท์ซอร์สอย่างเดียว
“ทีมงานของเราเป็นกลุ่มเครือข่ายของนักเรียนทุนรัฐบาลที่ทำงานวิจัยด้านนี้ ทั้งเครือข่ายมีประมาณ 100 กว่าคน ไม่เยอะถ้าเทียบกับจำนวนโปรแกรมเมอร์ที่มีอยู่ในประเทศไทย แต่ว่าไม่น้อยจนเกินไปที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวม เราพยายามที่จะดึงดูดนักวิจัยคอมพิวเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยทางด้านวิศวะ หรือศาสตร์อื่น ๆ เข้ามาเรียนรู้ด้านควอนตัมมากขึ้น”
ดร.จิรวัฒน์ กล่าวว่า Quantum Computing จะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม และอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ของประเทศ ซึ่งภาครัฐและเอกชนไทยจะต้องเตรียมตัวเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
“ในระดับนโยบายเรื่องการศึกษา ถ้าเรามองอนาคตเทคโนโลยีในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนไป บางครั้งโลกที่เราคิดกับโลกของความเป็นจริงในตอนนั้นอาจจะคนละโลกแล้วก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นนโยบายต้องมองทะลุและชัดเจน” ดร.จิรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
Instagram:
LINE TODAY: TheStoryThailand
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
โฆษณา