Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนแมน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
22 พ.ย. 2021 เวลา 04:49 • ธุรกิจ
สรุปเรื่อง M&A การควบรวมกิจการ คืออะไร? ครบจบในโพสต์เดียว
ยุคสมัยนี้ การแข่งขันในโลกธุรกิจ ทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าอดีตอย่างมาก
หลายบริษัทเจอความท้าทายต่าง ๆ
ทั้งเศรษฐกิจที่ผันผวน และการเพิ่มขึ้นของคู่แข่งในอุตสาหกรรม
บริษัทจำนวนไม่น้อย จึงเลือกที่จะใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า Mergers and Acquisitions หรือ “M&A” เพื่อความอยู่รอด หรือแม้แต่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจตนเอง
M&A คืออะไร และมีความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน มากแค่ไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
4
M&A ย่อมาจาก 2 คำ คือ “Mergers and Acquisitions”
โดย Mergers นั้นหมายถึง การที่บริษัทตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไป ทำการควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน
เป็นผลให้ทั้งบริษัทเหล่านั้น ถูกยุบรวมและเหลือเพียงแค่บริษัทใหม่เกิดขึ้น และบริษัทเดิมทั้งสอง (หรือมากกว่า 2) ก็จะเป็นเจ้าของบริษัทใหม่ร่วมกัน
ซึ่งตัวอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็คือ การควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต จนกลายมาเป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB
ส่วนคำว่า Acquisitions นั้นหมายถึง การที่บริษัทหนึ่งเข้าไปซื้อกิจการของอีกบริษัทหนึ่ง
กรณีแรกคือ Share Acquisition คือผู้ที่เข้ามาซื้อ
จะได้หุ้นของบริษัทที่ถูกซื้ออาจจะบางส่วนหรือทั้งหมด
ซึ่งผู้ซื้อจะได้มาซึ่งสิทธิ์ในการออกเสียงในการประชุม หรือพูดง่าย ๆ ว่ามีสิทธิ์ควบคุมการตัดสินใจของกิจการที่ถูกซื้อ อย่างเช่น การเข้าซื้อหุ้น INTUCH ของ GULF
อีกกรณีคือ ผู้ซื้อจะได้มาซึ่งทรัพย์สิน, หน่วยธุรกิจบางส่วนหรือทั้งหมด ของกิจการที่ถูกซื้อ ซึ่งกรณีนี้เราเรียกว่า Asset Acquisition หรือ Business Acquisition
ซึ่งตัวอย่างที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ก็เช่น กรณีที่ MAKRO รับโอนกิจการทั้งหมดของ LOTUS แล้วออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับเจ้าของเดิมที่เป็นบริษัทในเครือซีพี เพื่อชำระเป็นค่าโอนกิจการ
1
ทีนี้ลองมาดูกันว่ามีเหตุผลสำคัญอะไรบ้าง ที่ทำให้บริษัทส่วนใหญ่นิยมหยิบกลยุทธ์ M&A มาใช้
- เสริมการเติบโตให้กับบริษัท
เมื่อธุรกิจของบริษัทเติบโตมาถึงจุดหนึ่ง การที่จะผลักดันให้ธุรกิจเติบโตมากขึ้นถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เช่น หากธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมที่ขนาดตลาดเริ่มไม่เติบโตแล้ว การจะขยายส่วนแบ่งตลาดอาจทำได้ลำบาก
กรณีนี้บริษัท ก็จะต้องพึ่งการเข้าไปควบรวมกิจการคู่แข่งที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันนั้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ทันที โดยไม่ต้องไปเสียเวลาลงทุนพัฒนาสินค้า ทดลองตลาด หรือจ้างพนักงานเพิ่ม
1
หรือแม้แต่ถ้าธุรกิจเดิมของบริษัทนั้นเริ่มอิ่มตัว การเข้าไปควบรวมกิจการกับบริษัทอื่นที่อยู่ในธุรกิจใหม่ ก็สามารถสร้างการเติบโตจากภายนอกกิจการ หรือ Inorganic Growth ได้เช่นกัน
- เพิ่มอำนาจ และผลประโยชน์ร่วมทางธุรกิจ ให้กับบริษัท
เมื่อบริษัทมีการควบรวมกิจการกันเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้เพิ่มอำนาจและผลประโยชน์ทางธุรกิจได้ เพราะบริษัทที่ควบรวมสามารถใช้ทรัพยากร รวมไปถึงจุดแข็งของแต่ละบริษัทร่วมกัน ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานโดยรวมให้ลดลงอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น การควบรวมกันของธุรกิจค้าปลีก
ที่สามารถเพิ่มอำนาจซื้อและต่อรองกับซัปพลายเออร์ จนอาจได้รับส่วนลด และช่วยให้เกิดการประหยัดต่อขนาด ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง
- เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ
สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป มีหลายบริษัทที่ปรับตัวไม่ทัน ต้องประสบปัญหา บางบริษัทขาดสภาพคล่อง เข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก หรือบริษัทที่กำลังประสบปัญหา
ดังนั้น เราจึงเห็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนสูงพยายามเข้าไปควบรวมกิจการกับบริษัทขนาดเล็กหลายแห่งที่ยังมีโอกาสเติบโตในอนาคต แต่กำลังประสบปัญหาอยู่
ซึ่งการควบรวมกับธุรกิจขนาดใหญ่ จะทำให้ธุรกิจขนาดเล็กหรือธุรกิจที่กำลังประสบปัญหานั้นมีโอกาสอยู่รอดสูงขึ้น
และหากมองในมุมของ รูปแบบการควบรวม เราก็สามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบหลัก ๆ คือ
1. การควบรวมกิจการแบบแนวนอน (Horizontal Integration)
เป็นการควบรวมกิจการที่ทำธุรกิจเหมือนกัน หรืออยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งผลประโยชน์จากการควบรวมแบบนี้คือ เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)
จากการที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มส่วนแบ่งตลาด ลดคู่แข่ง รวมไปถึงการเกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจเพิ่มขึ้น และเพื่อให้เกิดจากการแชร์เทคโนโลยี ทรัพยากร และบุคลากรร่วมกัน
ตัวอย่างดีลแบบนี้ ก็เช่น The Walt Disney ที่มีส่วนธุรกิจผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์รายใหญ่ ได้เข้าซื้อกิจการของ 21st Century Fox สตูดิโอผลิตภาพยนตร์ชื่อดัง ด้วยมูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านบาท ในปี 2019
2. การควบรวมกิจการแบบแนวตั้ง (Vertical Integration)
เป็นการควบรวมของธุรกิจที่มีห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เดียวกัน เพื่อลดต้นทุนการผลิต และจัดการกระบวนการผลิตได้ง่ายขึ้น
เช่น ในปี 2012 Google ได้เข้าซื้อกิจการของ Motorola Mobility ที่แยกตัวออกมาจาก Motorola และเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาสมาร์ตโฟน Android ด้วยมูลค่ากว่า 406,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามดีลนี้ของ Google ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เพราะตลาดโทรศัพท์มือถือมีการแข่งขันกันที่รุนแรง
3. การควบรวมกิจการที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน (Conglomerate Integration)
เป็นการควบรวมของธุรกิจที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง
ทั้งนี้เพื่อ สร้างการเติบโตจากธุรกิจใหม่ รวมไปถึงความต้องการที่จะกระจายความเสี่ยงเพื่อไม่ให้กิจการมีรายได้หลักมาจากธุรกิจเดิมเท่านั้น
ตัวอย่างของบริษัทที่เกิดจาก Conglomerate Integration เช่น กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือ TCC Group ของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี
ที่มีการควบรวมกิจการต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องมาอยู่ในเครือมากมาย เช่น ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ ประกัน การเงิน และธุรกิจการเกษตร
ทั้งหมดนี้ก็คือ สรุปกลยุทธ์ M&A
ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในทางธุรกิจ ที่ทำให้เราเข้าใจว่า
เรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจที่ผ่านมา มันจะเกี่ยวข้องกับเรื่อง M&A ในหลายเรื่อง
และในอนาคต เราก็จะได้เห็นการ M&A ของธุรกิจต่าง ๆ อยู่เป็นระยะ ตราบใดที่บนโลกนี้ยังมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย แนวคิดทุนนิยม..
References
●
https://www.investopedia.com/ask/answers/why-do-companies-merge-or-acquire-other-companies/
●
https://www.set.or.th/th/market/files/mna/Final_MnA.pdf
●
https://www.investopedia.com/ask/answers/051315/what-difference-between-horizontal-integration-and-vertical-integration.asp
●
https://www.npr.org/2019/03/20/705009029/disney-officially-owns-21st-century-fox
●
https://en.wikipedia.org/wiki/Motorola_Mobility
●
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_largest_mergers_and_acquisitions
การควบรวมกิจการ
dtac
true
26 บันทึก
31
37
26
31
37
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย