23 พ.ย. 2021 เวลา 03:58 • การศึกษา
ทำความรู้จักกับ CIA EXAM
อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 23 พ.ย. 64
สวัสดีทุกท่านค่ะ เชื่อว่าทุกท่านที่คลิกเข้ามาอ่านบทความนี้ คงจะมีแผนที่ในใจอยู่แล้ว ว่าสนใจจะเข้าทดสอบความรู้ในด้านการตรวจสอบภายในโดยเฉพาะ เพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง อย่างแน่นอน บทความนี้จึงขอรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเพื่อประกอบการตัดสินใจและตรวจสอบความพร้อมก่อนที่ทุกท่านจะสมัครสอบกันค่ะ
1
1. สอบผ่านได้รับวุฒิบัตร ต้องผ่านด่านแบบทดสอบเรื่องใด และคะแนนเท่าไรจึงจะผ่านการทดสอบ
>> เนื้อหาที่ใช้ในการทดสอบ
ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ทาง IIA ได้มีการเปลี่ยนแปลงขอบเขตเนื้อหาการสอบใน Part ต่างๆ โดยยังแบ่งเป็น 3 Part เช่นเดิม (ขอไม่พูดถึงเวอร์ชั่นก่อนหน้านั้นที่จะมี 4 Partนะคะ) แต่มีรายละเอียดแตกต่างไป ดังนี้
CIA ส่วนที่1- สาระสำคัญของการตรวจสอบภายใน (Essentials of Internal Auditing)
CIA ส่วนที่2- การปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน (Practice of Internal Auditing)
CIA ส่วนที่3 - ความรู้ทางธุรกิจสำหรับการตรวจสอบ (Business Knowledge for Internal Auditing)
หลักสูตรในการสอบ CIA ฉบับปรับปรุงล่าสุดนี้ จะมีการระบุระดับความรู้ของแต่ละหัวข้อของการสอบ ว่ามีความคาดหวังอยู่ในระดับใด ซึ่งแบ่งได้เป็นสองระดับ คือ ระดับ BASIC คือมีความเข้าในในระดับพื้นฐานของแนวคิดหรือกระบวนการต่างๆ และ ระดับ Proficient คือมีความสามารถในการประยุกต์ รวมถึงวิเคราะห์ และ/หรือรวมองค์ประกอบของเนื้อหาเข้าด้วยกันเพื่อสร้างข้อสรุปและข้อเสนอแนะได้ ซึ่งจุดนี้ ถือว่าเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการเตรียมตัวสอบให้ชัดเจนมากขึ้น
>> คะแนนการสอบผ่าน
คะแนนดิบของผลการสอบแต่ละส่วน ที่ผู้สอบตอบได้ถูกต้อง จะถูกนำมาปรับค่า (scaled) ให้เป็นคะแนนที่อยู่ในช่วง 250 - 750
ผู้ที่ได้คะแนนหลังถูกปรับค่าที่ 600 คะแนนขึ้นไป ถือว่าสอบผ่าน
2. ความเข้าใจองค์รวมที่ควรมีก่อนสมัครสอบ
• มีความรู้ที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับกรอบการปฏิบัติงานวิชาชีพตรวจสอบภายในที่เป็นสากล (IPPF) และแสดงให้เห็นถึงการใช้งานที่เหมาะสม
• สามารถปฏิบัติงานตรวจสอบที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลสำหรับการปฏิบัติงานวิชาชีพการตรวจสอบภายในของ IIA
• สามารถที่จะประยุกต์ใช้เครื่องมือและเทคนิคในการประเมินความเสี่ยงและวิธีการควบคุมได้ และแสดงให้เห็นถึงความรู้เกี่ยวกับการกำกับดูแลองค์กร
• ประยุกต์ใช้ความรู้ ในทางธุรกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการบริหารจัดการที่จำเป็นสำหรับการตรวจสอบภายใน
3. ลักษณะของแบบทดสอบ จำนวนข้อ/ระยะเวลา/ภาษา
>> ข้อสอบ CIA EXAM เวอร์ชั่นล่าสุด คือ ปี 2019 รองรับภาษาได้หลายภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อสอบ CIA นี้จะมีฉบับภาษาไทยให้เลือกด้วยเช่นกัน
>> ลักษณะข้อสอบ เป็นข้อสอบแบบปรนัย 4 ตัวเลือก ตัวอย่างเช่น
>> จำนวนข้อ/ระยะเวลาการสอบแต่ละ Part (CIA Exam Syllabus)
Part1 - 125 questions I 2.5 hours (150 minutes)
Part2 - 100 questions I 2.0 hours (120 minutes)
Part3 - 100 questions I 2.0 hours (120 minutes)
4. จะเข้าสอบ CIA Exam ได้ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
ผู้สมัครสอบต้องมีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งดังต่อไปนี้
1) บุคคลทั่วไป จำนวนปีประสบการณ์ที่ต้องการจะขึ้นอยู่กับระดับการศึกษาที่จบ
>> หากจบการศึกษาระดับป. ตรี ต้องมีประสบการณ์ทำงานด้านตรวจสอบภายในหรืองานที่เกี่ยวข้อง เช่น การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน การสอบบัญชี ฯลฯ อย่างน้อย 2 ปี
>> หากเป็นผู้จบการศึกษาในระดับป.โทหรือสูงกว่า ต้องมีประสบการณ์ อย่างน้อย 1 ปี
>> หากจบการศึกษาในระดับอนุปริญญา จะต้องมีประสบการณ์ อย่างน้อย 5 ปี
>> หากจบการศึกษาต่ำกว่าระดับอนุปริญญา จะต้องมีประสบการณ์ อย่างน้อย 7 ปี
2) นักศึกษาเต็มเวลาที่กำลังศึกษาอยู่ในปีสุดท้าย ในสาขาใดก็ได้ หรือต้องลงทะเบียนเรียนมาแล้ว 12 เทอม
3) อาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาและทำหน้าที่สอนอยู่ในปัจจุบัน
5. ช่องทางการสมัครสอบในประเทศไทย
สามารถสมัครสอบได้ทั้งปี ไม่มีตารางกำหนดการสอบที่ตายตัว โดยสมัครผ่านเว็บไซต์ สมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย www.theiiat.or.th
เมื่อสมัครที่ระบบ CCMS เรียบร้อยแล้ว ให้ส่งเอกสารการสมัครพร้อมหลักฐานการชำระเงินไปที่อีเมล academic@theiiat.or.th (แนะนำให้อีเมลหรือโทรศัพท์สอบถามอัตราแลกเปลี่ยนก่อนการชำระเงินนะคะ)
6. อัตราค่าธรรมเนียมการสอบ
อัตราค่าธรรมเนียมการสอบ มี 1 สิ่งจำเป็น + 2 ส่วน
1 สิ่งจำเป็น คือ ค่าสมาชิก สตท. (Membership) ส่วนนี้ ถือเป็นสิ่งจำเป็นสิ่งแรกที่จะต้องดำเนินการ โดยสามารถติดต่อขอสมัครกับ สตท. ได้เลยค่ะ สิทธิประโยชน์ของสมาชิก เช่น ได้รับวารสารรายไตรมาส ส่วนลดค่าอบรมสัมมนา เป็นต้น แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือเราจะสามารถเข้าไปดาวน์โหลดไฟล์ Standard Supplemental Guidance (Practice Guides) ต่างๆ ที่จะเปิดสิทธิให้ดาวน์โหลดได้เฉพาะสมาชิกของสมาคมเท่านั้น ได้อีกด้วย
สำหรับสมาชิกสามัญ มีให้เลือก 3 เรท คือ
- รายปี 1,070 บาท
- ราย 5 ปี 4,280 บาท
- สมาชิกตลอดชีพ 16,050 บาท
 
2 ส่วนต่อมา ที่จะกล่าวถึงไม่ได้เลยคือ
1) ค่าแรกเข้า (Exam Application Fee) จ่ายเพียงคร้้งแรกที่สมัครสอบเท่านั้น ราคาสมาชิก อยู่ที่ราวๆ 3,680 บาท ($115)
2) ค่าสอบ จะแตกต่างออกไปในแต่ละ Part ดังนี้
เห็นค่าธรรมเนียมการสอบสูงแบบนี้แล้ว คงจะทำให้ความมุ่งมั่นตั้งใจเราเพิ่มทวีคูนเลยจริงมั้ยคะ กว่าจะผ่านสัก Part เงินในกระเป๋าหมดหายไปเกือบเกลี้ยงแล้ว
 
เท่านั้นยังไม่พอ ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงกำหนดการหรือยกเลิกการสอบ หรือขอขยายเวลาสอบ ใดๆ ก็จะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอีกส่วนด้วย ดังนั้นการสมัครสอบแต่ละครั้ง จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องวางแผนให้ดี เพื่อลดโอกาสเกิดกรณีต้องขอเปลี่ยนแปลงการสอบต่างๆ จะช่วยประหยัดได้มากค่ะ
7. ข้อกำหนดการสอบ อายุของผลการทดสอบแต่ละ Part (สำคัญมากๆ)
ข้อนี้สำคัญมากๆ ในการวางแผนสมัครสอบแต่ละ Part เพื่อให้ผลสอบใน Part ใดๆ ที่ผ่านการทดสอบแล้ว ยังคง valid และใช้รวมกับผลการสอบใน Part อื่นๆได้
กล่าวคือ โปรแกรมการสอบวุฒิบัตรนี้ สำหรับผู้ที่สมัครสอบ หลังวันที่ 1 กันยายน 2562 เป็นต้นมา จะมีระยะเวลาตลอดโปรแกรมทั้งสิ้น เพียง 3 ปี แต่สามารถขอต่ออายุได้ 1 ปี ตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งต่างจากโปรแกรมเดิม ที่กำหนดระยะเวลาไว้ที่ 4 ปี นั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับข้อมูลเบื้องต้นก่อนตัดสินใจสอบ CIA EXAM มีรายละเอียดยิบย่อยค่อนข้างเยอะที่ต้องให้ความสนใจและใส่ใจเป็นอย่างมาก ซึ่งจุดนี้ถือเป็นคุณลักษณะพื้นฐานที่ผู้ตรวจสอบภายในควรมี คือความระมัดระวังรอบคอบ ช่างสังเกต และมีการวิเคราะห์วางแผนที่ดี หากผ่านจุดนี้ไปได้ ประกอบกับความมุ่งมั่นตั้งใจฝึกฝนทำโจทย์ ข้อสอบเก่าๆ ที่ตรงจุดมากพอ การได้วุฒิบัตรนี้มาครอบครองคงไม่ไกลเกินเอื้อมค่ะ เป็นกำลังใจให้ทุกๆท่านนะคะ
โฆษณา