23 พ.ย. 2021 เวลา 10:44 • การศึกษา
‘Perserverance’ คือชื่อของหุ่นยนต์โรเวอร์สำรวจผิวดาวเคราะห์ที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา ออกเดินทางจากโลกเมื่อเวลา 18.50 น. ของวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ตามเวลาประเทศไทย โดยจรวด Atlas V ของ ULA ใช้เวลา 7 เดือน ผ่านระยะทาง 470 ล้านกิโลเมตร และบัดนี้ยานก็ได้มาถึงจุดหมายปลายทางนั่นคือดาวอังคาร
Perseverance ได้เข้าสู่ขั้นตอนที่เสี่ยงอันตรายที่สุด นั่นคือการลงจอด โดยนับจากอดีตที่ผ่านมา มียานสำรวจดาวอังคารเพียง 8 ลำเท่านั้นที่ลงจอดสำเร็จ อันได้แก่ ยานไวกิ้ง 1 ไวกิ้ง 2 ในปี 1976 ยานพาธ์ไฟเดอร์ ในปี 1997 ยานสปริตและยานออพพอทูนิที ในปี 2004 ยานฟีนิกซ์ ในปี 2008 ยานคิวริออซิที ในปี 2012 และสุดท้ายคือยานอินไซต์ ในปี 2018)
ลำดับเวลาในแต่ละขั้นตอนการลงจอดด้านล่างนี้ เป็น​มาตรฐาน​เวลาของประเทศไทย
เวลา 03.38 น. ส่วนของ Cruise Stage ที่ประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์ รวมทั้งถังเชื้อเพลิงที่ใช้ระหว่างเดินทางจากโลกมาตลอดเวลาเกือบ 7 เดือน จะแยกตัวออกไป
เวลา 03.48 น. ยานเริ่มเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร ด้วยความเร็ว 19,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เวลา 03.49 น. เกราะกันความร้อนด้านใต้ยานต้องพบกับความร้อนสูงถึง 1,300°C จากการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร จากนี้ยานจะเริ่มชะลอความเร็วลง
เวลา 03.52 น. ระบบ Range Trigger Technology​ ได้สั่งให้กางร่มชูชีพขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง​ 21 เมตร ภายใน 0.6 วินาที เพื่อชะลอความเร็ว หลังจากนั้นอีก 20 วินาที เกราะ​กันความร้อนด้านใต้ของยานแยกตัวออกไป เพื่อให้เรดาร์ใต้ยานเริ่มทำงาน และเปิดใช้ระบบ Terrain-Relative Navigation ในการมองหาและเลือกตำแหน่งลงจอดที่ปลอดภัยที่สุด
เวลา 03.54 น. ณ ความสูง 2.1 กิโลเมตร เกราะด้านหลังของยานแยกตัวออกไปกับร่มชูชีพ พร้อมๆ กับที่ยานติดเครื่องยนต์เจ็ต Descent Stage ที่ตัว Sky Crane เพื่อชะลอความเร็วเป็นครั้งสุดท้าย ระหว่างนี้ Sky Crane จะค่อยๆ หย่อนตัวโรเวอร์ลงไปที่ผิวดาวด้วยสลิงไนลอน
เวลา 03.55 น. โรเวอร์​ Perserverance ลงแตะผิวดาวอังคารด้วยความเร็วเท่าคนเดินถนน คือ 2.7​ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อล้อแตะพื้น ส่วนของ Sky Crane ก็จะปลดสลิงออกและบินห่างออกไป
Perseverance ลงจอดบริเวณหลุมอุกกาบาต Jezero ความกว้าง 45 กิโลเมตร ซึ่งเ​ค​ยเป็นทะเลสาบ​ที่มีทางน้ำไหลเข้าออกเมื่อราว 3,500 ล้านปีที่แล้ว
นักวิทยาศาสตร์​คาดว่า จุดที่มีน้ำไหลเข้าน่าจะเคยเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์มาก่อนจะเหือดแห้งลงในทุกวันนี้ และมีความ​เป็นไปได้​สูงมากว่าอาจจะได้พบร่องรอยของจุลชีพโบราณ เป็นที่มาของภารกิจหลักของยานโรเวอร์กึ่งหุ่นยนต์ Perseverance นั่นคือการสำรวจร่องรอยชีวิตด้วยวิธีการขุดเจาะและเก็บตัวอย่างดินและหิน เพื่อวิเคราะห์ด้วยอุ​ปกรณ์พิเศษ​ที่ติดตั้งไปกับยาน นอกจากนี้ก็จะมีการรวบรวมดินและหินบางส่วนใส่ไว้ในแคปซูล แล้วนำไปวางไว้ตามจุดนัดหมายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เพื่อรอยานอวกาศรุ่นหลังเดินทางมาบรรทุกแคปซูลตัวอย่างเหล่านี้ แล้วส่งกลับมาวิเคราห์ะที่ห้องแล็บบนโลกเราต่อไป
อีกเรื่องราวที่จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สำรวจอวกาศคือเรื่องของเสียง โดยยาน Perseverance จะเป็นยานสำรวจอวกาศลำแรกที่จะทำให้มนุษย์ได้ยินเสียงต่างๆ บนดาวอังคาร โดยยานได้รับการติดตั้งไมโครโฟนสองตัวบริเวณกล้อง SuperCam (ก่อนหน้านี้เคยมียานสองลำที่มีไมโครโฟน ลำแรกคือ มาร์ส โพลาร์ แลนเดอร์ ที่ลงจอดไม่สำเร็จ อีกลำคือยานฟินิกซ์ที่ลงจอดสำเร็จแต่ทีมงานไม่ได้เปิดใช้ไมโครโฟน) การได้ยินเสียงบนดาวอังคารนอกจากเป็นการเปิดสัมผัสใหม่ในการสำรวจดาวเคราะห์แล้ว ยังเอื้อประโยชน์ให้กับงานเก็บตัวอย่างดินของ Perseverance ด้วย
Perseverance
โฆษณา