23 พ.ย. 2021 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
“Schadenfreude” ⁣ผิดไหมที่มีความสุขเมื่อเห็นคนอื่นทุกข์?
1
เราต่างรู้กันดีว่า ความรู้สึกของมนุษย์เป็นสิ่งที่เรายากจะควบคุม.. เคยไหม เห็นคนอื่นเจอเรื่องร้ายๆ เช่น ลื่นพื้น ทำไอศกรีมตกพื้น แล้วเราก็แอบยิ้มหรือแอบพึงพอใจอยู่ลึกๆ แม้แต่การที่เราชอบซุบซิบกับเพื่อนของเราเกี่ยวกับข่าวหรือเรื่องลับๆ ของดาราดังหรือผู้ที่มีชื่อเสียง ถึงสิ่งที่เราทำจะดูผิดและไม่สมควรทำ แต่นี่คืออาการปกติหนึ่งของมนุษย์ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Schadenfreude”
Schadenfreude คืออะไร
Schadenfreude (ชา-เดิน-ฟรอย-เดอ) คือความสุข ความรื่นเริงที่มาจากการรับรู้หรือพบเห็นปัญหา ความล้มเหลว หรือความอัปยศของผู้อื่น มาจากการยืมคำภาษาเยอรมันคือ “Schaden” ที่แปลว่า เสียหายหรือทำลาย และ “Freude” หมายถึง ความสุข
1
บางครั้งอาจมีการใช้คำอังกฤษว่า “Epicaricacy” ซึ่งหมายถึงความปลื้มปีติหรือมีความสุขบนความโชคร้ายของคนอื่น คำนี้มีรากศัพท์จากภาษากรีกโบราณซึ่งประกอบไปด้วย “Epi” หมายถึง บน (Upon) “Kharis” แปลว่า ความสุข (Joy) และ “Kakos” คือความชั่วร้ายหรือปีศาจ (Evil)
Schadenfreude เกิดจากอะไร
Schadenfreude นั้นคล้ายคลึงกับสิ่งที่นักจิตวิทยา Roy F. Baumeister และ Brad J. Bushman เรียกว่า “ความขัดแย้งอันเป็นพื้นฐานที่สุดในจิตใจมนุษย์” ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างความหุนหันพลันแล่นด้านความเห็นแก่ตัว (Selfish Impulses) และการควบคุมตัวเอง (Self-control)
“พวกเราล้วนแต่มีความโหดร้ายหลบซ่อนอยู่ในใจ” นี่คือประโยคจาก Cheryl Strayed ที่เขียนไว้ในคอลัมน์ Dear Sugar ในเว็บไซต์ The Rumpus และเธอให้ความเห็นในมุมมองของเธอที่มีต่อมนุษย์ว่า “พวกเราล้วนอยากเป็นผู้ที่ถูกเลือก ถูกรัก และถูกเชิดชู”
นอกจากนี้ยังมีการทดลองอื่นที่เกี่ยวข้องกับ Schadenfreude กับการทดลองชื่อ “Empathic Neural Responses Are Modulated By The Perceived Fairness Of Others” โดยนักจิตวิทยาชาวเยอรมันชื่อว่า Tania Singer และเพื่อนร่วมงานของเธอที่ University College London
พวกเขาได้ทำการทดลองโดยใช้คลื่นแม่เหล็กตรวจจับปฏิกิริยาในสมองของผู้ทดลอง ซึ่งพวกเขาตั้งใจจะศึกษาตัวแปรที่ส่งผลต่อระดับความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) โดยวัดได้จากกิจกรรมในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวด ที่จะแสดงผลผ่านภาพสแกนสมองเมื่อเห็นผู้อื่นกำลังเจ็บปวด
Singer ให้ผู้ทดลองดูคนเล่นเกม 2 คลิป คลิปแรกคือคนที่เล่นแบบโกง (Bad People) และคลิปสองเป็นคนที่เล่นตามกฎ (Good People) จากนั้นให้ผู้ทดลองดูคลิปที่คนเหล่านั้นถูกกระแสไฟฟ้าช็อตที่มือจนเกิดความเจ็บปวด และเมื่อดูปฏิกิริยาของสมองผ่านภาพสแกน ผลปรากฏว่า สมองของผู้ทดลองนั้นแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อกลุ่ม Good People ที่กำลังเจ็บปวด
แต่เมื่อ Bad People ได้รับความเจ็บปวด มีเพียงผู้ทำการทดลองหญิงเท่านั้นที่ยังคงเห็นอกเห็นใจพวกเขา ในขณะที่ผู้ทดลองชายไม่ใช่แค่ไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจ แต่สมองส่วน Reward Center ได้แสดงปฏิกิริยาซึ่งแปลได้ว่า “พวกนั้นสมควรโดนแล้ว!” ดังนั้น Schadenfreude ถือได้ว่าเป็นปฏิกิริยาที่ปกติของสมองมนุษย์ แม้จะมีความจำเพาะในแต่ละเพศ แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้สมองเราตัดสินผลลัพธ์ของการกระทำจากสิ่งที่เราเห็น
Schadenfreude ในชีวิตประจำวันของเรา
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การที่ดาราหรือผู้มีชื่อเสียงต่างๆ ถูกนิตยสารนำเรื่องของพวกเขามาซุบซิบ นายแพทย์ Smith และ Katie Boucher ได้ทำการวิเคราะห์นิตยสาร National Enquirer เป็นเวลา 10 สัปดาห์ พวกเขาพบว่า “ยิ่งดารามีชื่อเสียงมากเท่าไหร่ บทความต่างๆ ก็ยิ่งสนใจเรื่องโชคร้ายของพวกเขามากขึ้นเท่านั้น”
อธิบายได้สั้นๆ ว่าเมื่อเราอยู่ในช่วง Schadenfreude เราจะยิ่งพึงพอใจมากขึ้นเมื่อเห็นคนมีชื่อเสียงเหล่านั้นกำลังทำลายภาพลักษณ์ตัวเอง แต่การจะเกิด Schadenfreude ได้นั้นต้องอยู่ใต้ 3 เงื่อนไขนี้
1
- เราได้ประโยชน์จาก Schadenfreude เช่น เราสบายใจมากขึ้นเพราะมีคนโชคร้ายกว่าเรา
- คนๆ นั้นสมควรเจอเรื่องโชคร้าย เช่น ทำผิดกฎหมายแล้วโดนตำรวจจับ
- เรื่องโชคร้ายนั้นเกิดขึ้นกับคนที่เรารู้สึกอิจฉา
ดังนั้น หากดาราหรือผู้มีชื่อเสียงที่ถูกพูดถึงเป็นคนที่เราชื่นชอบ เราจะไม่เกิดความรู้สึก Schadenfreude ขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยของ Benoît Monin นักจิตวิทยาทางสังคมจาก Stanford ที่ชี้ให้เห็นว่า ชาวมังสวิรัติสามารถทำให้ผู้ที่กินทั้งพืชทั้งเนื้อสัตว์รู้สึกราวกับโดนตัดสินว่าด้อยค่าทางศีลธรรม โดยนายแพทย์ Smith ได้เพิ่มเติมว่า “ชาวมังสวิรัติไม่จำเป็นต้องพูดออกมา แค่พวกเขามีตัวตนอยู่ก็ทำให้คนที่กินเนื้อสัตว์รู้สึกเคืองใจแล้ว”
แต่การค้นพบสิ่งที่คล้ายกับความเสแสร้ง (Hypocrisy) ในสมองของผู้ที่นึกว่าตนอยู่สูงกว่าสามารถลดความเคืองใจนี้ลงได้ ดังนั้นเมื่อคนที่รักเนื้อสเต็กเห็นภาพคนที่เป็นมังสวิรัติกินเนื้อคำโตจะมีอาการ Schadenfreude ในรูปแบบ “เราไม่ได้ต่ำต้อยในแบบที่เราถูกทำให้เชื่อ เราเพียงแค่มีจุดยืนด้านศีลธรรมที่ตรงข้ามกันเท่านั้น”
ทั้งนี้ Schadenfreude เป็นอารมณ์ด้านลบที่เกิดจากความอิจฉาและการมองเห็นคุณค่าตัวเองต่ำ (Low Self-esteem) ดังนั้นการปล่อยให้ตัวเราจมอยู่กับความรู้สึกด้านลบนานๆ อาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า เราจึงควรหมั่นให้กำลังใจตัวเองผ่านการชื่นชมตัวเองหรือเปลี่ยนมุมมองโดยนำเส้นทางของผู้ที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับชีวิตเรา
แต่อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ Smith ก็ได้ให้ความเห็นว่า เราไม่ควรมองว่า Schadenfreude เป็นสิ่งชั่วร้ายเสียทั้งหมด เพราะบางครั้งเราควรเปิดโอกาสให้ด้านมืดของเราได้ทำตามใจบ้าง ดีกว่าไปปฏิเสธการมีอยู่ของด้านมืด และตราบที่ Schadenfreude เป็นเพียงสิ่งเล็กๆ อยู่ในใจของเรา สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มความรู้สึกว่า ชีวิตเรามีคุณค่า (Self-worth) และทำให้เราระลึกอยู่เสมอว่า “แม้ชีวิตใครบางคนจะน่าอิจฉาเท่าไหน แต่เขาก็เหมือนพวกเราที่อาจใช้ชีวิตผิดพลาดกันได้”
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- เมื่อ Self-Esteem ต่ำ นี่คือ 4 สิ่งที่ควรทำเพื่อย้ำถึง ‘คุณค่าในตัวเอง’: https://bit.ly/3kWit0L
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
โฆษณา