24 พ.ย. 2021 เวลา 04:33 • ข่าวรอบโลก
สรุปข่าวย้อนหลังประจำสัปดาห์
เมื่อวันพุธที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (U.S. Department of Defense) ได้เผยแพร่รายงาน “พัฒนาการด้านการทหาร และ ความมั่นคงของประเทศจีน ประจำปี 2021 (Military and Security Developments Involving the People’s Republic of China 2021)” โดยเอกสารของรายงานฉบับบนี้ มีทั้งหมด 192 หน้า ประกอบไปด้วย ข้อมูลยุทธศาสตร์ชาติของจีน (China's national strategy) เป้าหมายนโยบายการต่างประเทศ (Foreign policy goals) แผนเศรษฐกิจ (Economic plans) พัฒนาการด้านการทหาร (Military Development)
“รายงานดังกล่าวเป็นการประเมินที่มีต่อความท้าทายอันสูงสุดของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และ แผนภูมิความทันสมัยของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA: People's Liberation Army) ตลอดปี 2020” เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมกล่าว
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา “รายงานฉบับนี้ ยังรวมถึง ขีดความสามารถการโจมตีร่วมของกองทัพจีน ความสามารถการโจมตีระยะไกลอย่างแม่นยำในทุกมิติ ความสามารถด้านอวกาศอันซับซ้อน ที่เพิ่มมากขึ้น ความสามารถการต่อต้านด้านอวกาศ และความสามารถทางไซเบอร์ ตลอดจนการเร่งเสริมกำลังอำนาจนิวเคลียร์ของกองทัพจีน”
การเปิดเผยที่สำคัญในรายงานนี้ คือ ความก้าวหน้าด้านนิวเคลียร์ของจีน รวมถึงการเร่งเสริมกำลังอำนาจนิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว ที่อาจทำให้จีนมีหัวรบนิวเคลียร์ มากถึง 700 หัวรบ ภายในปี 2027
“การเร่งเสริมกำลังอำนาจนิวเคลียร์ของกองทัพจีน อาจทำให้ ประเทศจีน มีหัวรบนิวเคลียร์ มากถึง 700 หัวรบ ภายในปี 2027 และ รายงานระบุว่าจีนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มหัวรบอย่างน้อย เป็น 1,000 หัวรบ ภายในปี 2030 ซึ่งเร็วกว่าที่ทางเราคาดการณ์ไว้ จากรายงานเมื่อปี 2020” เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมกล่าว
รายงานยังเผยให้เห็นด้วยว่า จีนอาจติดอาวุธนิวเคลียร์ให้แก่สามเหล่าทัพไปแล้วก็ได้ ทั้ง การปล่อยขีปนาวุธจากทางอากาศ ทางภาคพื้นดิน และทางทะเล
รายงานระบุ “จีนอาจติดตั้ง นิวเคลียร์ให้แก่สามเหล่าทัพ ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถทางนิวเคลียร์ ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง และปรับปรุงขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ ทั้งทางภาคพื้นดิน และ ทางทะเล”
สิ่งใหม่ในรายงานฉบบันี้ คือ ความพยายามการวิจัยทางเคมีและชีวภาพของกองทัพจีน รายงานกล่าวว่า จีนได้มีส่วนร่วมพัฒนาอาวุธชีวภาพด้วยจุดประสงค์ซ่อนเร้น และ ก่อให้เกิดความกังวลต่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาอาวุธชีวภาพและสารพิษกับ อนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี
รายงานสรุปว่า จีนยังคงมีความชัดเจนในความทะเยอทะยานที่จะแข่งขันกับประเทศมหาอำนาจทางการทหารระดับโลก เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหม กล่าว
"ความสามารถและแนวความคิดที่พัฒนาขึ้นของกองทัพจีน ยังคงเสริมความสามารถในการต่อสู้ และ เอาชนะสงคราม เพื่อใช้วลีของตนเอง ต่อต้านสิ่งที่ประเทศจีนเรียกว่าเป็น 'ศัตรูที่แข็งแกร่ง' - อีกวลีหนึ่งที่ปรากฏในสื่อของพวกเขา”
“และแน่นอนว่า 'ศัตรูที่แข็งแกร่ง' น่าจะเป็นคำสละสลวยสำหรับสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน” เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหม กล่าวย้ำ
ตามรายงานระบุ ความพยายามของจีนส่วนใหญ่ พยายามที่จะเทียบเท่าความแข็งแกร่งของ 'ศัตรูที่แข็งแกร่ง' โดยโยงถึงความพยายามการปรับปรุงและปฏิรูปภายในกองทัพจีนให้ทันสมัย ความพยายามเหล่านั้น ยังรวมถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องในการบรรลุ “การใช้เครื่องจักร (Mechanization)” ในรายงานระบุว่า เป็นความพยายามของกองทัพจีนในการปรับปรุงอาวุธและอุปกรณ์ให้ทันสมัยเพื่อเชื่อมต่อเครือข่าย “ระบบของระบบ (systems of systems)”ได้ และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับ สงครามข้อมูลข่าวสาร (Informatized Warfare) กับ สงครามอัจฉริยะ (Intelligentized Warfare) โดยให้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
“จีนกำลังพยายามสร้างฐานทัพในต่างแดนมากขึ้น เพื่อวางแผนและคงอำนาจทางการทหารไว้ในระยะทางที่ไกลขึ้น เรากำลังพูดถึง ไม่ใช่แค่เพียงภูมิภาคใกล้เคียง หรือ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเท่านั้น แต่ทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและทั่วโลกด้วย” เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหม กล่าว
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า กองทัพของจีนพยายามปรับปรุงขีดความสามารถของตนให้ทันสมัยและปรับปรุงความชำนาญในทุกมิติของสงคราม ในฐานะกองกำลังร่วม (Joint Force) ที่สามารถการปฏิบัติการทางบก ทางอากาศ และทางทะเลได้ ตามที่ปรากฏบนสื่อของกองทัพจีน เช่นเดียวกับ ปฏิบัติการบนอวกาศ ปฏิบัติการการต่อต้านอวกาศ ปฏิบัติการณ์สงครามอิเล็กทรอนิกส์ และการปฏิบัติการทางไซเบอร์
(จบเนื้อหาข่าว)
เนื่องจาก รายงานเนื้อหาฉบับเต็ม มีถึง 192 หน้า จึงไม่อาจสามารถนำหยิบมาแปลได้หมด ผมจึงเลือกนำเนื้อหาที่น่าสนใจบางส่วน มาแปลให้ผู้อ่านได้อ่านกันไปพลางๆก่อน ส่วนใครที่อยากรายงานเนื้อหาฉบับเต็มด้วยตัวเอง สามารถอ่านได้ตามลิ้งค์ที่ผมแนบมา
รายงาน Military and Security Developments Involving the People’s Republic of China 2021 เอกสารฉบับเต็ม
เนื้อหาที่ผมเลือกหยิบมาแปล มาจาก หน้า 132 -136
ปฏิบัติการสร้างอิทธิพลของประเทศจีน (THE PRC’S INFLUENCE OPERATIONS)
ประเด็นสำคัญ
• จีนได้แผ่ขยายสร้างอิทธิพล โดยพุ่งเป้าไปที่ สถาบันส่งเสริมวัฒนธรรม องค์กรสื่อ วงการธุรกิจ สถาบันการศึกษา นโยบายของประเทศสหรัฐอเมริกา และ ประเทศอื่นๆ และ องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามยุทธศาสตร์ของจีน
• พรรคคอมมิวนิสต์จีน (Chinese Communist Party : CCP) พยายามที่จะกำหนดเงื่อนไข ต่อสถาบันทางการเมือง ทั้ง ภายใน ภายนอกประเทศ และ ระดับพหุภาคี ตลอดจน ความคิดเห็นของสาธารณชนให้ยอมรับรัฐบาลปักกิ่ง และ ขจัดอุปสรรคที่ขวางทาง
• ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน อาจคิดว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบเปิด รวมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา อาจสั่นคลอนต่อ ปฏิบัติการสร้างอิทธิพลของประเทศจีน มากกว่ารัฐบาลของประเทศอื่น
• กองทัพจีนได้เน้นย้ำถึงการพัฒนาแนวคิด " สามสงคราม (Three Warfares)" ประกอบด้วย สงครามจิตวิทยา (Psychological Warfare) สงครามความคิดเห็นของสาธารณชน (Public Opinion Warfare) และสงครามกฎหมาย (Legal Warfare) การวางแผนปฏิบัติการดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2003 กองทัพจีนมีแนวโน้มที่จะพัฒนาความสามารถการสร้างอิทธิพลทางด้าน Digital ต่อไป โดยผสานเข้ากับ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เพื่อยกระดับการรับ-ส่งข้อมูล ระดับสูง
ตั้งแต่ ปี 2003 เป็นต้นมา กองทัพจีนได้พัฒนาแนวคิด " สามสงคราม (Three Warfares)" เพื่อลดทอนกำลังฝ่ายตรงข้าม และ สร้างอิทธิพลต่อความคิดเห็นของสาธารณชนทั้งภายใน และ ภายนอกประเทศในช่วงความขัดแย้ง
1. สงครามจิตวิทยา(Psychological Warfare) ได้ใช้ การโฆษณาชวนเชื่อ การหลอกลวง การคุกคาม และการบีบบังคับ ขู่เข็น เพื่อส่งผลต่อการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม ขณะที่ดำเนินการต่อต้านปฏิบัติการทางจิตวิทยาของฝ่ายตรงข้ามไปในตัว
2. สงครามความคิดเห็นของสาธารณชน (Public Opinion Warfare) ได้เผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชน เพื่อชี้นำ และ โน้มน้าวความคิดเห็นของประชาชน ให้ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนภายในประเทศและนานาชาติ
3. สงครามกฎหมาย (Legal Warfare) ได้ใช้กฎหมายภายในประเทศ และ กฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้รับแรงสนับสนุนจากนานาชาติ การจัดการตอบโต้ปฏิกิริยาทางการเมือง และ ครอบงำประชาชนกลุ่มเป้าหมาย
จีนมองโลกไซเบอร์ (Cyber Domain) ว่าแพลตฟอร์มที่มอบโอกาสให้ปฏิบัติการสร้างอิทธิพลของจีน และ กองทัพจีน มีแนวโน้มที่จะใช้อิทธิพลทางดิจิทัลเพื่อสนับสนุนแนวคิด " สามสงคราม (Three Warfares)" ทั้งหมด และบ่อนทำลายการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้ามในช่วงเวลาไม่แน่นอน หรือ ช่วงเวลาความขัดแย้ง
สอดคล้องกับยุทธศาสตร์นี้ จีนได้ดำเนินการปฏิบัติการสร้างอิทธิพลเพื่อบรรลุเป้าหมายโดยสะดวก ตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงและยุทธศาสตร์ทางทหาร โดยพุ่งเป้าไปที่ สถาบันส่งเสริมวัฒนธรรม องค์กรสื่อ วงการธุรกิจ สถาบันการศึกษา นโยบายของประเทศสหรัฐอเมริกา และ ประเทศอื่นๆ และ องค์กรระหว่างประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์จีน (Chinese Communist Party : CCP) พยายามที่จะกำหนดเงื่อนไข ต่อสถาบันทางการเมืองทั้งภายใน ภายนอกประเทศ และ ระดับพหุภาคี ตลอดจน ความคิดเห็นของสาธารณชนให้ยอมรับแนวคิดของรัฐบาลปักกิ่ง อาทิเช่น หลักการจีนเดียว (One China Principle) ยุทธศาสตร์ OBOR (One Belt One Road) การควบคุมทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเหนือเขตเกาะฮ่องกง เรื่องอาณาเขตทะเลจีนใต้ (South China Sea territorial) และ การอ้างสิทธิทางทะเล (Maritime Claims)
ปฏิบัติการสร้างอิทธิพลของจีนได้รับการประสานงานในระดับสูงจากหน่วยงานต่างๆ อาทิเช่น หน่วยงาน United Front Work Department เป็นหน่วยงานสร้างอิทธิพลของจีนในต่างแดน หน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda Department) และ กระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ (Ministry of State Security : MSS)
รากฐานที่สำคัญของยุทธศาสตร์ของจีน นั้น ยังรวมถึง การดึงดูด ชาวจีนในต่างแดน (Overseas PRC citizens) หรือ ชาวจีนที่เป็นพลเมืองของประเทศอื่น (Chinese citizens of other countries) ให้ก้าวหน้าตามวัตถุประสงค์ของพรรคผ่านการใช้ ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) บางครั้งจีนได้ใช้การขู่เข็ญบีบบังคับ หรือ Black Mail ต่อชาวจีนโพ้นทะเลให้ปฏิบัติการสร้างอิทธิพลแทนในฐานะตัวแทนของจีน อาทิเช่น การข่มขู่ชาวอุยกูร์ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ โดยการจองจำครอบครัวของพวกเขา หน่วยงานข่าวกรองของจีนมักจะอำนวยความสะดวกสำหรับปฏิบัติการณ์เหล่านี้
นอกจากนี้ จีนยังมุ่งเป้าไปที่ ชาวจีนที่เป็นพลเมืองของประเทศอื่น เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างชาติ โครงการ “Thousand Talents Program” มุ่งเป้าไปที่ คนที่มีเชื้อสายจีน (Chinese Descent) หรือ ชาวจีนที่เพิ่งอพยพไปยังประเทศอื่น (Recent PRC emigrants) ที่รับเลือกเข้ามา ตามที่จีนเล็งเห็นว่ามีความจำเป็นต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และงานเทคนิค โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
นอกจากนี้ จีนยังใช้ประโยชน์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ คลังความคิด และ ควบคุมสื่อ เพื่อส่งเสริมผลักดัน ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ต่อประโยชน์ด้านความมั่นคงของรัฐบาลปักกิ่ง ตัวอย่างเช่น นักเรียน นักศึกษาจีนในต่างประเทศ ถูกใช้ให้เผยแพร่ รายงานของพรรค ขื่อรายงาน “Party’s 134 OFFICE OF THE SECRETARY OF DEFENSE Annual Report to Congress: Military and Security Developments Involving the People’s Republic of China” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ เรื่องทิเบต (Tibet) และ ดาไลลามะ (Dalai Lama)
สมาคมนักศึกษาและนักวิชาการจีน (Chinese Students and Scholars Associations (CSSA)) และสถาบันขงจื้อ (Confucius Institutes) ได้จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนอำนาจของจีน และ ร้องเรียนเรื่องต่างๆ ตลอดจน จัดกิจกรรมการประท้วงต่อต้านสถาบันการศึกษาที่ดำเนินกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับหลักการของรัฐบาลปักกิ่ง
เดือนธันวาคม ปี 2020 สำนักข่าว Xinhua (Xinhua News Agency) ซึ่งเป็นสื่อกระบอกเสียงของรัฐที่ใหญ่ที่สุดและควบคุมโดยรัฐบาลจีน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (U.S. Department of Justice) ที่ให้ลงทะเบียนพนักงานสัญชาติสหรัฐฯของสำนักข่าว ให้เป็นตัวแทนต่างประเทศ (Foreign Agents) ภายใต้กฎหมายการขึ้นทะเบียนตัวแทนต่างประเทศ (Foreign Agents Registration Act (FARA) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วย ต้องเปิดเผยความสัมพันธ์ระหว่างตัวแทนต่างประเทศ
การดำเนินการสร้างอิทธิพลของจีนในต่างแดน มุ่งเน้นไปที่การจัดตั้ง และ ดำรงอิทธิพลด้วยฝ่ายอำนาจตัวแทนภายในรัฐบาลต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายที่จีนมองว่าเป็นการอำนวยความสะดวกต่อผลประโยชน์ของฝ่ายตน แม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งได้ประกาศจุดยืนว่า ไม่แทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศ ก็ตาม การแพร่อิทธิพลผ่านทางการทูตของจีน มุ่งเน้นไปที่การสร้างสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้มีอิทธิพลหรือผู้มีอำนาจ การให้ความช่วยเหลือ และ เน้นความร่วมมือแบบได้ประโยชน์สองฝ่ายแบบ “Win Win cooperation” ผ่านทางการค้าและการทูต แนวทางนี้สามารถทำให้จีนมอบสำเร็จขนาดเล็กต่อประเทศหุ้นส่วนในต่างแดนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมักจะแลกกับท่าทางที่ดูเหมือนเป็นสัญลักษณ์ที่สนับสนุนเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของจีนในระยะยาว บางประเทศได้เริ่มดำเนินนโยบายตอบสนองตามอิทธิพลของจีน รวมทั้ง สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์
จีนได้ใช้ การประชุมร่วม และ องค์กรระดับพหุภาคี เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆในการเจรจาระดับทวิภาคีกับประเทศต่างๆ เพื่อขยายอิทธิพลด้านการป้องกันประเทศ ความร่วมมือด้านความมั่นคง เสริมสร้างอิทธิพลทางการเมือง และ จำกัดการแทรกแซงจากภายนอก จีนได้ส่งสารแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า จีนเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญบนเวทีโลก โดยผ่านองค์กร และ การประชุมร่วมต่างๆ อาทิ เช่น กลุ่มเศรษฐกิจ BRICS (Brazil, Russia, India, China, and South Africa) องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization: SCO) สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations : ASEAN) การประชุมร่วม FOCAC (Forum on China Africa Cooperation) การประชุมร่วม China–Arab States Cooperation Forum และ การประชุมร่วม Belt and Road Forum
กองทัพจีนพยายามที่จะใช้ ปฏิบัติการอิทธิพลทางดิจิทัล ทั้งแบบปฏิบัติการที่เปิดเผย และ แอบแฝง ผ่านอินเตอร์เน็ต และ แพลตฟอร์ม Social Media ในยามสงบและยามสงคราม ช่วงระหว่างความขัดแย้ง จีนสามารถใช้อิทธิพลทางดิจิทัลบ่อนทำลาย ขวัญกำลังใจของศัตรู และสร้างความสับสนหรือหลอกลวงผู้มีอำนาจตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม
ตั้งแต่ ปี 2009 เป็นต้นมา กองทัพจีนได้ตระหนักรู้ และ เข้าใจ ถึงการใช้อินเตอร์เน็ต และ Social Media ของสหรัฐอเมริกาเพื่อบ่อนทำลายพรรคคอมมิวนิสต์จีนในประเทศจีน เพื่อเป็นการตอบโต้ กองทัพจีน ได้ทำการวิจัย ศึกษาค้นคว้า เพื่อดำเนินการปฏิบัติการสร้างอิทธิพลทางด้านดิจิทัล (Digital Influence Operations) และเรียนรู้จากประเทศอื่น โดยส่งคณะผู้แทนไปยังประเทศต่างๆ เช่น รัสเซีย อิสราเอล เบลารุส และเยอรมนี เพื่อศึกษาวิธีใช้ Social Media สำหรับปฏิบัติการสร้างอิทธิพลทางทหาร (Military Influence Operations)
กองทัพจีนได้มีบัญชี Social Media หลายบัญชีที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ที่ใช้สำหรับเผยแพร่ข่าวสาร บัญชี Social Media เหล่านี้พบได้เฉพาะบนแพลตฟอร์ม Social Media ของประเทศจีนเท่านั้น และ มีส่วนน้อยไปปรากฏบนแพลตฟอร์ม Social Media ของต่างประเทศ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางการกองทัพจีน ได้มีการพูดถึง การสร้างบัญชีของกองทัพจีนบน Twitter และ บัญชี Social Media ของชาติตะวันตกอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตามความนิยมของแอปพลิเคชัน สื่อโซเซียลมีเดียของจีนเพิ่มมากขึ้น ด้วยกลุ่มผู้ใช้งานชาวตะวันตก ความต้องการบัญชี Social Media ของกองทัพจีนบนแพลตฟอร์ม Social Media ดังเดิมของชาติตะวันตกอาจลดลง
กองทัพจีนยังคงดำเนินปฏิบัติการสร้างอิทธิพลทางด้านดิจิทัลอย่างแอบแฝงบนสื่อ Social Media เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ต่อการทำสงครามความคิดเห็นของสาธารณชน (Public Opinion Warfare) นักวิเคราะห์ของกองทัพจีนกำลังศึกษาวิธีใช้บัญชี Social Media แบบแอบแฝง ต่อกลุ่มเป้าหมายเพื่ออิทธิพลทางการเมือง และ ทหารเหล่าสนับสนุนยุทธศาสตร์ของจีน (PLA Strategic Support Force : PLASSF) อาจดำเนินการโฆษณาแคมเปญทาง Social Media ที่แอบแฝง เพื่อสนับสนุนผู้สมัครเลือกตั้งที่สนับสนุน โปร-สาธารณรัฐประชาชนจีน และ พยายามบิดเบือนผลการเลือกตั้งของไต้หวัน ปี 2018
กองทัพจีนมีแนวโน้มที่จะพัฒนาความสามารถสร้างอิทธิพลทางดิจิทัลต่อไป โดยผสานเข้ากับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เพื่อยกระดับการรับ-ส่งข้อมูล ระดับสูง กองทัพจีนได้แสดงความสนใจต่อการวิจัยความต้องการทางเทคโนโลยีสำหรับการสร้างหน้าปลอม หรือ Deepfake ในปี 2019 บุคลากรของกอทัพจีน ได้รับการฝึกอบรมการใช้ AI algorithms เพื่อสร้างเนื้อหา (Content) อัตโนมัติ และ ประสานงานสร้างอิทธิพลโน้มน้าวต่างๆ ผ่านบัญชีปลอมต่างๆ
อำนาจนิยมทางดิจิทัลของจีน (China’s Digital Authoritarianism)
จีนได้แสวงหาแสวงหาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อควบคุม และ ทำลายฝ่ายตรงข้ามทั้งภายในและภายนอกประเทศ เทคโนโลยีเหล่านี้ประกอบด้วยเครื่องมือสำหรับ การตรวจตราและการเฝ้าระวังทางดิจิทัล การเซ็นเซอร์ การควบคุมข้อมูล ถูกใช้โดย องค์กรของรัฐโดยตรง หรือ ผ่านแรงกดดันต่อหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนทางอ้อม ผู้นำจีนได้พยายามใช้ประโยชน์จากอำนาจนิยมทางดิจิทัลเพื่อทำให้แน่ใจว่าระบอบการปกครองจะคงอยู่ต่อไป และ ทำลายคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบอบประชาธิปไตยที่เชื่อมั่นใน อินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้าง และ เสรี แต่มันขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมอินเทอร์เน็ตที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดของจีน
ประเทศจีนได้เพิ่มขนาดและขอบเขตของอำนาจนิยมทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความเป็นผู้นำของประเทศจีนได้เป็นที่พุดถึงอย่างมาก เกี่ยวกับ ศูนย์กลางของอินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวันและอันตรายจากวาทกรรมที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ
การกล่าวสุนทรพจน์ ปี 2013 สี จิ้นผิงได้ให้ความสำคัญกับการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีในประเทศจีน ที่สามารถควบคุมได้โดยรัฐบาลจีน แทนที่บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ นอกจากนี้ จีนยังส่งออกเครื่องมือ และ เทคนิคต่างๆ สำหรับอำนาจทางดิจิทัลของประเทศตนไปยังประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน และ สนับสนุนเวทีระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศต่างๆ รักษา “อธิปไตยทางอินเตอร์เน็ต (Sovereign Internets)” ที่มีการเซ็นเซอร์และการสอดส่องประชาชนอย่างกว้างขวาง
จีนมีแนวโน้มยังคงสนับสนุน “อธิปไตยบนโลกไซเบอร์ (Cyber Sovereignty)” ต่อไป และพยายามให้การควบคุมสื่อภายในประเทศชอบธรรมด้วยกฎหมาย โดยความพยายามสร้างอิทธิพลระดับพหุภาคีต่อองค์กรสหประชาชาติ (United Nations) ให้หนุนหลังรัฐบาลปักกิ่ง (บางครั้งก็เป็นรัสเซีย) เพื่อสนับสนุนแนวทางโดยให้รัฐเป็นศูนย์กลาง (State-Centric Approach) (แนวทางนี้เทียบได้กับ แนวทางสนับสนุนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายของสหรัฐฯ) ต่อการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตทั่วโลก
จีนในทวีปอาร์ติก (PRC in the Arctic)
ประเทศจีนได้เพิ่มกิจกรรมและการมีส่วนร่วมในภูมิภาคทวีปอาร์กติก ตั้งแต่ได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ในสภาอาร์กติก (Arctic Council) ปี 2013 เดือนพฤษภาคม 2019 จีนได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Arctic Circle China ที่เซี่ยงไฮ้ และ ทางการจีนได้เน้นย้ำถึงความสนใจของรัฐบาลปักกิ่ง ในการขยายความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ตามเส้นทางสายไหมขั้วโลก (Polar Silk Road) เดือน มกราคม 2018 จีนได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์อาร์กติกฉบับแรกที่ส่งเสริม "เส้นทางสายไหมขั้วโลก" และประกาศให้จีนเป็น “รัฐใกล้ทวีปอาร์กติก (Near-Arctic State)”
ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้บ่งบอกความสนใจของรัฐบาลปักกิ่งในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและสายสื่อสารใต้ทะเลที่ทวีปอาร์กติก ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของเรือตัดน้ำแข็ง (Icebreaker Vessels) และ สถานีวิจัยของจีน ในการดำเนินการ ระหว่างการประชุม Arctic Circle China ปี 2019 ทางการจีนได้เน้นย้ำถึงบทบาทความสำคัญของจีนในการปกป้องสิ่งแวดล้อมในทวีปอาร์กติก
จีนได้ดูแลสถานีวิจัยพลเรือนที่ประเทศไอซ์แลนด์และนอร์เวย์ และ ใช้งานเรือตัดวิจัยน้ำแข็ง 1 ลำที่ต่อในประเทศยูเครน ชื่อว่า “Xue Long” ได้กลายเป็นเรือสำรวจลำแรกที่สำรวจเส้นทาง “Northwest Passage” ของประเทศแคนาดาในปี 2017 เดือน กันยายน ปี 2019 เรือ Xue Long เสร็จสิ้นการสำรวจแถบอาร์กติกครั้งที่ 10 ที่มุ่งเน้นไปที่การวิจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของทวีปอาร์กติก
ปี 2018 รัฐบาลปักกิ่งได้เปิดตัว เรือตัดวิจัยน้ำแข็งลำที่ 2 ชื่อว่า “Xue Long 2” ที่สามารถทำลายน้ำแข็งได้หนาถึง 1.5 เมตร เมื่อเทียบกับ Xue Long ลำแรก สามารถทำลายน้ำแข็งได้หนาสูงสุดแค่ 1.2 เมตร นอกจากนี้เรือ Xue Long 2 ยังเป็นเรือวิจัยขั้วโลกลำแรกใน โลกที่สามารถทำลายน้ำแข็งได้ในขณะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือข้างหลัง
เดือนกันยายน ปี 2020 เรือ Xue Long 2 เสร็จสิ้นภารกิจการสำรวจแถบอาร์กติกครั้งที่ 11 โดยนักวิจัยได้ศึกษาระบบนิเวศน์และมลพิษแบบใหม่ในน่านน้ำอาร์กติก
เดือนพฤศจิกายน ปี 2020 เรือ Xue Long 2 ได้ลงมือสำรวจแถบแอนตาร์กติกครั้งที่ 37 สถานที่ที่นักวิจัยวางแผนดำเนินการศึกษาอุทกวิทยา อุตุนิยมวิทยา และสิ่งแวดล้อม และตรวจสอบมลพิษแบบใหม่ๆ เช่น ไมโครพลาสติกและขยะที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรแอนตาร์กติก
การมีส่วนร่วมที่มากขึ้นของจีนในแถบอาร์กติก ได้สร้างโอกาสใหม่สำหรับความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับจีน เดือนเมษายน ปี 2019 จีนกับรัสเซียได้สร้าง ศูนย์วิจัยอาร์กติก จีน-รัสเซีย (Sino-Russian Arctic Research Center) จีนกับรัสเซียวางแผนใช้ศูนย์วิจัยแห่งนี้เพื่อดำเนินการสำรวจร่วมกันเพื่อค้นหาเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดของเส้นทางทะเลเหนือ (Northern Sea Route : NSR) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจถูกจำกัดเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 การบังคับใช้กฎหมายสหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อปี 2012 ต่อมา ปี 2019 รัสเซียได้ผ่านกฎหมายควบคุมเส้นทางเดินเรือตามเส้นทางทะเลเหนือ กำหนดให้เรือรบต่างชาติต้องแจ้งทางรัสเซียก่อน 45 วัน เพื่อแสดงถึงความตั้งใจที่จะผ่านแดน และ รัสเซียมีสิทธิที่จะปฏิเสธการผ่านแดนนั้น โดยการส่งเครื่องบินรบขึ้นฟ้าไปควบคุมพื้นที่บริเวณนั้น
หากจีนปฏิบัติตามกฎดังกล่าว ความสามารถการเดินเรือของกองทัพเรือจีนจะถูกจำกัดในบริเวณใกล้เคียงกับเส้นทางทะเลเหนือได้ในอนาคต นอกเหนือจากความขัดแย้งทวิภาคีที่อาจเกิดขึ้นแล้ว จีนและรัสเซียยังสนับสนุนความร่วมมือเพิ่มเติมในเชิงพาณิชย์ การพัฒนาพลังงาน และ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการ Yamal LNG ทางตอนเหนือและตอนกลางของไซบีเรีย และ โรงงานก๊าซธรรมชาติ LNG 2 เป็นโรงงานก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 2 ตามข้อตกลงที่รัสเซียกับจีนลงนามร่วมกันเมื่อปี 2018
ความเห็น (Opinion)
จากที่อ่านจากเอกสารรายงานตรงส่วนนี้ จะสังเกตได้ว่า สหรัฐอเมริกาก็จับตามองจีนอย่างใกล้ชิด ขณะที่จีนกำลังแผ่ขยายสร้างอิทธิพลของประเทศตัวเองออกไป ไม่แค่เพียงเพียงอิทธิพลทางการทหารและความมั่นคงของจีนเท่านั้น ยังรวมไปถึงแผ่ขยายสร้างอิทธิพลด้านอื่นๆ โดยผ่านทางการทูต ทางการค้า ความช่วยเหลือ การลงทุนโครงการต่างๆ การเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรความร่วมระหว่างประเทศในเรื่องต่างๆ การเข้าไปมีอิทธิพลทางโลกไซเบอร์ เป็นต้น ท่ามกลางโรคระบาดที่ยังคงดำเนินอยู่ เอกสารรายงานฉบับนี้ ได้สะท้อนถึงมุมมองของประเทศหนึ่งที่มีต่ออีกประเทศหนึ่งได้เป็นอย่างดี ข้อมูลของรายงานฉบับนี้ นำไปใช้ประโยชน์เป็นข้อมูลประกอบได้เพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายรับมือกับการแผ่ขยายของชาติมหาอำนาจทั้งหลายได้อย่างเหมาะสม
สุดท้ายนี้ ถ้าแปลผิดพลาด หรือ ตกหล่นข้อมูลอะไร ขอ อภัยมา ณ ที่นี้ด้วย...
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก...
อ่านบทความนี้ บน Facebook
ติดตามบน Blockdit
ติดตามบน Facebook
หนังสือ รายงาน “พัฒนาการด้านการทหาร และ ความมั่นคงของประเทศจีน ประจำปี 2021 (Military and Security Developments Involving the People’s Republic of China 2021)”
หนังสือ รายงาน “พัฒนาการด้านการทหาร และ ความมั่นคงของประเทศจีน ประจำปี 2021 (Military and Security Developments Involving the People’s Republic of China 2021)”
เนื้อหาภายในหนังสือรายงาน
เนื้อหาภายในหนังสือรายงาน
โฆษณา