24 ธ.ค. 2021 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
สำรวจเส้นทางเดินทัพรวบรวมไพร่พลเพื่อกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อครั้งสิ้นกรุงศรีอยุธยา
โดย ศรีศักร วัลลิโภดมและ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
แผนที่เปรียบเทียบการเดินทางเส้นทางใหม่และเก่าของพระเจ้าตากสิน
เส้นทางการเดินทัพของสมเด็จพระเจ้าตากในพงศาวดาร
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อครั้งยังเป็นพระยาตาก หรือพระยาวชิรปราการ ตัดสินใจตีฝ่าวงล้อมทัพพม่าออกจากพระนครศรีอยุธยาในระหว่างสงครามครั้งสุดท้ายเพื่อไปทางด่านเมืองนครนายกและเลียบชายดงศรีมหาโพธิเข้าสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง แล้วมุ่งสู่หัวเมืองชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ในช่วงก่อนพระนครสูญเสียต่อทัพพม่าราว ๓ เดือน และเป็นการกระทำเพื่อสะสมผู้คนและจัดทัพเตรียมเสบียงเพื่อย้อนกลับไปกู้บ้านเมืองอีกครั้ง
จากการสำรวจข้อมูลพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ รวมทั้งเอกสารและรายงานการศึกษาตลอดจนบทความ พบว่า นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้สร้างสมมติฐานแนวทางการเดินทัพของพระยาตากเพื่อรวบรวมไพร่พล โดยการเดินทางในแต่ละระยะสามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ ช่วงตามลำดับคือ
๑. จากกรุงศรีอยุธยาสู่ชายเขตแดนต่อเมืองนครนายก
๒. จากนครนายกผ่านด่านกบแจะและชายดง ศรีมหาโพธิ สู้รบกลางทุ่งใกล้ลำน้ำท่ากระดานกับทัพพม่าที่ตั้งค่ายอยู่บริเวณปากน้ำเจ้าโล้ ที่บางคล้า แล้วเดินทางเข้าเส้นทางแม่น้ำบางปะกงและปากน้ำเจ้าโล้ที่บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
๓. จากฉะเชิงเทรามุ่งสู่พัทยา นาจอมเทียน สัตหีบ และแขวงเมืองระยอง
๔. หาพันธมิตรที่บางปลาสร้อยหรือเมืองชลบุรี แล้วมุ่งสู่เมืองจันทบูรและตราด
แต่เมื่อคณะศึกษาได้ลองออกสำรวจและพิจารณาความเป็นไปได้ในสภาพภูมิประเทศ พร้อมข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีต่างๆ ในระยะรายทางที่ระบุแล้วกลับพบว่ามีข้อมูลความน่าจะเป็นที่แตกต่างไปจากการสันนิษฐานแต่เดิมอยู่มาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับทางเขตเมืองระยอง
ศาลเจ้าแม่โพธิ์สาวหาญ
๑. จากกรุงศรีอยุธยาสู่ชายแดนเขตต่อเมืองนครนายก
จากการศึกษาพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ ได้แก่ ฉบับจันทนุมาศ (เจิม) และฉบับบริติช มิวเซียม ระบุว่า หลังฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา พระยาตากและกลุ่มคนจำนวนหนึ่งได้มุ่งหน้าไปทางตะวันออก โดยเดินทางไปตั้งหลักที่ค่ายวัดพิชัย (ปัจจุบัน คือ วัดพิชัยสงคราม)บริเวณนอกกำแพงเมือง
คาดการณ์ว่า การเดินทางเพื่อหนีทัพพม่าครั้งแรก พระยาตากคงตั้งใจเพียงฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าเพื่อเอาตัวรอดจากพระนครไปก่อน ทิศทางที่นำกำลังพลออกไปคือ ทางตะวันออกของพระนครศรีอยุธยา และทางหัวเมืองทางฝั่งตะวันออก
นั่นหมายความว่า จากค่ายวัดพิชัย พระยาตากเดินทางไปยังบ้านหันตรา ต่อด้วยบ้านธนู ระยะห่าง ๓ กิโลเมตร พม่ายกทัพเร่งมาทันจึงเกิดการสู้รบขึ้น โดยมีหลักฐานจากเรื่องเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ทุ่งชายเคืองและคลองชนะ ชาวบ้านในบริเวณนี้มีตำนานเล่ากันถึงสถานที่สู้รบกับกองกำลังพม่าและตีแตกไม่ได้จึงถอยทัพกลับไป
ต่อมาเดินทางไปยังบ้านสามบัณฑิต ซึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางทุ่งพระอุทัยในเวลาสองยามเศษ ในพระราชพงศาวดารบรรยายว่า เมื่อมองกลับไปเห็นแสงไฟไหม้กรุงอย่างชัดเจน แล้วจึงให้ทัพหยุดพักที่นี่
จากนั้นเดินทางต่อไปบ้านโพสังหาร หรือบ้านโพสาวหาญ ที่อยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยาไปทางตะวันออกราว ๒๐ กิโลเมตร พม่าส่งกองทัพติดตามมาอีกจึงได้รบกันจนพม่าแตกพ่ายไป ปัจจุบัน ชาวบ้านสร้างศาลเจ้าแม่โพสาวหาญทั้งสองคนไว้กราบไหว้ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาที่ ต.โพสาวหาญ อีกด้วย
พระยาตากเดินทัพต่อไป แล้วจึงหยุดพักแรมที่ บ้านพรานนก จากนั้นให้ทหารออกไปลาดตระเวน และพบว่า ทัพพม่ายกมาจากทางบางคาง หรือเมืองปราจีนเก่า ซึ่งจากการสำรวจบริเวณนี้พบว่ามีร่องรอยของซากศาสนสถานกลางทุ่ง และสถานที่ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นทุ่งโพสังหาร หรือโพสาวหาญ ชาวบ้านในพื้นที่ทั้งเด็ก วัยรุ่นและผู้ใหญ่สามารถชี้จุดบริเวณที่เชื่อว่าเป็นสถานที่สู้รบกันได้ทุกคน ถือเป็นความทรงจำตกทอดสืบต่อกันมาอย่างชัดเจน
แม่น้ำปราจีนบุรีหรือแม่น้ำบางประกง
๒. จากนครนายกเดินทางสู่ลำน้ำปราจีนบุรี จากบริเวณบ้านพรานนกซึ่งเป็นทุ่งกว้างและเป็นรอยต่อระหว่างท้องทุ่งในเขต อ.อุทัย ทัพพระยาตากเลียบเขาผ่านบ้านนาเริ่ง สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นพื้นที่บริเวณ อ.บ้านนา แต่เดิมชื่อ อ.ท่าช้าง เพราะบริเวณนี้มีวัดโรงช้าง หรือบ้านโรงช้างซึ่งเคยเป็นชุมชนโพนช้าง เพื่อจับช้างป่าตามแถบเทือกเขาดงพญาเย็น ตามพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า “ขุนชำนาญไพรสน” นายกองช้างที่นี่นำช้างมอบให้พระยาตาก ๖ ช้าง
จากนั้น เดินทางไปตามเส้นทางที่มุ่งไปยังเมืองปราจีนบุรีเก่าที่อยู่ริมแม่น้ำปราจีน ข้ามแม่น้ำปราจีนที่ “ด่านกบแจะ” ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำปราจีนบุรีฝั่งเหนือ แล้วเดินทางเลียบชายดงศรีมหาโพธิ ผ่านบ้านคู้ลำพัน ซึ่งมีเส้นทางน้ำคู้ลำพันไหลจากบริเวณที่สูงในอาณาบริเวณของเขตเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่ปัจจุบันเรียกว่า “เมืองศรีมโหสถ”
บริเวณนี้มีชุมชนสำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ บริเวณต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์ พระยาตากอาจพักทัพแล้วคงชั่งใจว่าจะเดินทางต่อไปทางลำน้ำบางปะกงเพื่อออกปากน้ำไปยังบางปลาสร้อย อันเป็นเมืองที่เป็นจุดเริ่มต้นของบ้านเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือไม่ เพราะคงมีทัพพม่าหรือกรมการเมืองที่เข้ากับทางฝ่ายพม่าควบคุมอยู่
โดยตั้งกลุ่มทัพรอกลุ่ม “พระเชียงเงิน” ที่ไปลาดตระเวน และพบว่ามีทัพพม่ากองทัพใหญ่ตั้งทัพอยู่ที่ปากน้ำเจ้าโล้ หรือโจ้โล้ บางคล้า เมืองฉะเชิงเทรา ทัพพม่าตามมาทันและตั้งทัพอยู่ที่บ้านท่าข้าม จึงรบใหญ่กันอีกครั้งหนึ่งในบริเวณทุ่งใกล้ลำน้ำท่ากระดาน ซึ่งเป็นลำน้ำที่ไหลมารวมกับแม่น้ำปราจีนบุรี หรือแม่น้ำบางปะกงที่ปากน้ำโจ้โล้นั่นเอง
แต่ในปัจจุบันนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ฉะเชิงเทราจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่าเจดีย์ที่ปากน้ำโจ้โล้ คือสิ่งก่อสร้างที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินสร้างภายหลังขึ้นครองราชย์แล้ว เพราะสามารถสืบค้นประวัติศาสตร์ภายในท้องถิ่นได้ว่า เจดีย์สร้างขึ้นราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยคหบดีท้องถิ่นนั่นเอง เจดีย์ที่ปากน้ำโจ้โล้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เคยมีศาลเจ้าจีนและมีการสร้างเจดีย์ในภายหลัง ซึ่งเป็นปกติของสถานที่เช่นบริเวณปากน้ำที่สบกันและเกิดเป็นชุมชนโดยเฉพาะบริเวณนี้ก็มีผู้คนเชื้อสายจีนอยู่มาก
ดังนั้น จึงน่าจะเป็นไปได้ว่าพระยาตากไม่ได้นำกองกำลังมารบกับทัพพม่าบริเวณปากน้ำนี้ แต่เป็นการรบใกล้ลำน้ำท่ากระดานในท้องทุ่งที่ลุ่มกว้างใหญ่ ซึ่งปัจจุบันน่าจะอยู่บริเวณเขต อ.พนมสารคาม และ อ.บ้านซ่อง ต่อเนื่องกับชุมชนบริเวณท่าขนุนนั่นเอง
การรบที่บริเวณทุ่งระหว่างทางปากน้ำโจ้โล้และลำน้ำท่ากระดานครั้งนี้เป็นศึกหนักครั้งหนึ่งหลังออกจากกรุงศรีอยุธยามาแล้ว จากนั้นจึงเดินทางมุ่งไปยังบ้านหัวทองหลาง บ้านตะพานทอง และสำนักหนองน้ำ ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ในเขตภายในบริเวณลุ่มน้ำท่าลาดในเขตเมืองพนมสารคามในเวลาต่อมา บริเวณนี้ติดต่อกับเขตที่สูงและป่าเขาทางของต้นน้ำแควระบม-สียัด ซึ่งมีต้นน้ำมาจากทางป่าเขาอ่างฤาไน ที่อยู่ในรอยต่อระหว่าง จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.จันทบุรีในปัจจุบัน
การวิเคราะห์ที่ใช้ข้อมูลจากพงศาวดารฉบับต่างๆ รวมทั้งฉบับบริติชมิวเซียม และฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ต่างบันทึกไว้ในทิศทางเดียวกันว่า เจ้าตากมุ่งหน้าสู่บางปลาสร้อย ซึ่งอยู่บริเวณเมืองชลบุรีในปัจจุบัน
แต่จากการสำรวจพบว่า พระยาตากไม่น่าเดินทางไปยังบางปลาสร้อยซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการเดินทางต่อไปยังคลองสำโรง เพื่อต่อไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาและกรุงศรีอยุธยา เพราะบริเวณนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่กองทัพพม่าต้องควบคุมอย่างใกล้ชิด ดังเห็นได้จากการมีกองทัพชุดหนึ่งที่มีจำนวนไพร่พลไม่น้อยตั้งเฝ้าระวังอยู่ที่บริเวณปากน้ำโจ้โล้ เพื่อควบคุมการคมนาคมสำคัญทางฝั่งตะวันออก และคงมีทัพพม่าตั้งเป็นระยะในบริเวณลำน้ำบางปะกงตลอดจนบางปลาสร้อยที่เป็นปากน้ำสำคัญ และสามารถควบคุมเจ้าเมือง หรือผู้คนสำคัญทางฝ่ายบางปลาสร้อยไว้ได้ทั้งหมด ดังปรากฏชื่อ “นายทองอยู่ นกเล็ก” ที่พระยาตากต้องนำกำลังไปปราบในเวลาต่อมา
รูปศาลทหารพระเจ้าตาก
๓. ข้อเสนอเส้นทางใหม่ หลังรบกับพม่าแถบลุ่มน้ำท่ากระดาน แล้วจึงใช้เส้นทางโบราณเดินทางสู่พนัสนิคม
ตามพระราชพงศาวดารนั้นกล่าวว่า หลังจากพระยาตากยกกำลังพลไปยังบ้านทองหลาง ตะพานทอง บางปลาสร้อย(เมืองชลบุรี) บริเวณใกล้ปากแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญแล้ว จึงเดินทางมาถึงบ้านนาเกลือ พบนายกล่ำและสู้รบจนนายกล่ำยอมสวามิภักดิ์ แล้วไปถึงพัทยา(ในเอกสารที่เก่ากว่าเขียนว่า “ถึงทัพ” มิได้เขียนว่า “พัทยา”) รุ่งขึ้นไปยังนาจอมเทียนและ “ทัพไก่เตี้ย” และ “สัตหีบ” “หินโด่ง” “น้ำเก่า” แล้วผู้รั้งเมืองระยองและกรมการเมืองจึงชวนกันมารับ ซึ่งแต่ละแห่งบันทึกไว้ว่าใช้เวลาเดินทางเพียงหนึ่งวันเท่านั้น
แต่งานศึกษานี้ไม่เชื่อว่ากองกำลังของพระยาตากเดินทางผ่านไปยังเมืองบางปลาสร้อย พัทยา นาจอมเทียนและสัตหีบแต่อย่างใด
เหตุผลเพราะทีมสำรวจพบว่าบริเวณเส้นทางดังกล่าวข้างต้นเป็นเส้นทางห่างไกล ใช้เวลาเดินทางมาก และไม่มีเมืองหรือชุมชนสำคัญใดๆ ตั้งอยู่รายทาง อีกทั้งบริเวณเมืองบางปลาสร้อยซึ่งอยู่บริเวณ “ท่าข้าม” ยังเป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่กองทัพพม่าไม่น่าพลาดที่จะตั้งกองกำลังควบคุม บริเวณนี้จึงเป็นจุดที่กองกำลังของพระยาตากที่เพิ่งรบกับพม่าครั้งใหญ่ควรหลีกเลี่ยง
และหากตีความตามเนื้อหาในพระราชพงศาวดารแล้ว เจ้าเมืองหรือผู้รั้งเมืองบางปลาสร้อย เช่น นายทองอยู่ นกเล็ก ก็เข้ากับฝ่ายกองกำลังพม่าไปแล้ว ดังเห็นได้จากการที่พระยาตากต้องเตรียมการ เพื่อปราบกลุ่มนายทองอยู่ นกเล็ก ในครั้งที่เดินทางไปยังเมืองระยองแล้ว และจับประหารในครั้งเดินทางด้วยทัพเรือกลับไปกู้กรุงศรีอยุธยา
ดังนั้น ข้อมูลที่บันทึกไว้อาจยังไม่ได้สำรวจในด้านภูมิประเทศท้องถิ่น เพราะพื้นที่ดังกล่าวห่างไกล ผู้คนเบาบางเพราะอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลที่ไม่อยู่ในเส้นทางเดินทางบกที่มีลำน้ำเชื่อมต่อภายในแผ่นดิน แม้แต่การเดินทางจากชลบุรีมายังเมืองระยองเมื่อไม่นานมานี้ก็ไม่เดินทางวกเข้าไปเลียบชายฝั่งบริเวณพัทยา นาจอมเทียน สัตหีบมายังบ้านฉางแต่อย่างใด
ในขณะเดียวกัน บริเวณเส้นทางภายในทางตะวันออกของแม่น้ำบางปะกงมายังลุ่มน้ำท่ากระดานและลุ่มน้ำพานทองมีผู้คนตั้งถิ่นฐานกันอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยทวารวดี คือ “เมืองพระรถ” (เมืองพนัสนิคมในเวลาต่อมา) เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ห่างปากน้ำบางปะกงราว ๒๕ กิโลเมตร และอยู่ในเขตลุ่มน้ำพานทองซึ่งอยู่ในพื้นที่ภายใน ซึ่งสะดวกแก่การเดินทางข้ามทุ่งและข้ามลำน้ำท่ากระดานมายังแถบนี้ และน่าจะปลอดจากกองทัพพม่าพอสมควร เพราะในพระราชพงศาวดารเองก็ระบุถึงการเดินทางมายัง บ้านหัวทองหลาง บ้านตะพานทอง และสำนักหนองน้ำ ซึ่งนักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานว่าอยู่บริเวณ “บ้านหัวสำโรง” อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ในปัจจุบัน ที่เป็นชุมชนเก่ามีร่องรอยสืบเนื่องในสมัยกรุงศรีอยุธยาและมีผู้อยู่อาศัยมีเชื้อสายในกลุ่มชาติพันธุ์เขมร ตั้งห่างจากลำน้ำพานทองไม่เกิน ๘ กิโลเมตร
หลังจากเวลาผ่านไปราว ๗ เดือนแล้ว ทัพพระยาตากน่าจะเดินทางตามลำน้ำพานทองจากชุมชนแถบพนัสนิคมขึ้นมาตามลำน้ำพานทอง และเข้าสู่พื้นที่ภายในบริเวณ อ.บ่อทอง ที่มีเมืองโบราณสมัยทวารวดีขนาดเล็กคือ “เมืองพญาเร่” ตั้งอยู่
จากการสำรวจพบว่า มีศาลที่ชาวบ้านเชื่อว่าเคยเป็นทหารเอกของพระยาตาก ชื่อว่า “เจ้าพ่อเขากา” ซึ่งต่อสู้บริเวณสนามรบในแถบทุ่งริมลำน้ำท่ากระดาน ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นทหารของพระยาตาก เมื่อกองทัพตั้งค่ายอยู่ที่ “บ้านท่าคาน” เจ้าพ่อเขากาป่วยและเสียชีวิตลงที่บ้านท่าคานจึงสร้างศาลไว้ใกล้กับที่ฝังศพ ต่อมาชาวบ้านท่าคานก็ร่วมกันจัดงานเซ่นไหว้พร้อมกันในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ รวมเป็นประเพณีเผาข้าวหลามของชาวพวนที่อพยพเข้ามาในภายหลัง อีกทั้งยังบนโดยใช้เหล้า ยาสูบ หัวหมูเป็นของเซ่น
หลังจากมีการสร้างเขื่อนสียัดทำให้น้ำท่วมบ้านท่าคาน จึงมีการสร้างศาลเจ้าพ่อเขากาไว้ที่สันเขื่อนสียัดใหม่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อ.ท่าตะเกียบ ศาลในปัจจุบันมีอิทธิพลความเป็นจีนปรากฏอยู่ชัดเจน ซึ่งก็มักปรากฏที่ศาลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากสินฯ อยู่เสมอ อาจจะมีข้อยกเว้นที่บริเวณศาลของเฒ่าพรานนกและศาลเจ้าแม่โพสาวหาญที่ อ.อุทัย จ.อยุธยา ที่ไม่มีสัญลักษณ์ในรูปแบบของจีนอยู่เลย เพราะเรื่องราวนั้นเป็นเรื่องของคนท้องถิ่นแถบนั้นมากกว่า
นอกจากนี้ที่ อ.บ่อทอง ซึ่งอยู่ติดต่อกับบริเวณลุ่มน้ำระบบและสียัดใน อ.ท่าตะเกียบ อันเป็นที่ตั้งของบ้านท่าคาน ถือเป็นเส้นทางเดินทัพที่ได้รับการสันนิษฐานใหม่นั้นก็ยังพบว่า ชาวบ้านมีความเชื่อเกี่ยวกับ “เจ้าพ่อพญาเร่” ว่าเป็นทหารของพระยาตากที่เดินทัพผ่านในบริเวณนี้ โดยเล่ากันว่า เจ้าพ่อพญาเร่นั้นเคยเป็นคนเขมรบนทางเมืองศรีษะเกษ เมื่อรบและตายลงจึงกลายเป็นผู้พิทักษ์ [Gardian spirit] ของเมืองในปัจจุบัน และสร้างเรื่องราวให้สัมพันธ์กับ “บ้านอมพนม” ที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับบ่อทอง ศาลเจ้าพ่อพญาเร่อยู่ในบริเวณโรงเรียนอนุบาลบ่อทองในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ติดกับเชิงเนินที่สูงซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณพญาเร่
จากบริเวณเมืองพญาเร่ หากเดินทางตัดลงทางใต้ผ่านช่องเขาเตี้ยๆ ซึ่งแนวเขานี้มีความสูงราว ๓๐๐-๔๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลผ่านลงสู่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ในปัจจุบันนี้ และเดินทางสู่ต้นน้ำคลองใหญ่ที่ อ.ปลวกแดง ในปัจจุบันลำน้ำนี้ผ่านเข้าสู่ที่ราบลุ่มลำน้ำคลองใหญ่ หรือที่ราบลุ่มน้ำระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดใหญ่ที่มีชุมชนหมู่บ้านตั้งอยู่จำนวนไม่น้อย และเป็นชุมชนที่อยู่ภายในแผ่นดินของบ้านเมืองชายฝั่งทะเล ที่มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ใกล้บริเวณปากแม่น้ำที่เรียกว่า "เมืองระยอง"
อย่างไรก็ตาม ในพระราชพงศาวดารไม่ได้กล่าวถึงการเดินทัพผ่านทางแถบ อ.บ้านค่าย แต่อย่างใด แต่กลับใช้เส้นทางนาจอมเทียนและสัตหีบที่สันนิษฐานกันว่าน่าจะตัดขึ้นเข้ามาทาง อ.บ้านฉาง ซึ่งแม้แต่ความทรงจำของผู้คนในปัจจุบันก็จะจำได้ว่า ไม่ใช้เส้นทางจากสัตหีบผ่านทางบ้านฉางจนเข้าเมืองระยองแต่อย่างใด เพราะจะใช้เส้นทางจากนาจอมเทียนตัดตรงมาทางระยองโดยไม่จำเป็นต้องผ่านสัตหีบหรือทุ่งไก่เตี้ย และไม่มีเหตุผลใดจะเป็นการเดินทางเพื่อเสียเวลาในการเดินทางเลียบริมฝั่งทะเลดังแนวทางที่พระราชพงศาวดารกล่าวถึง นอกเสียจากเป็นเส้นทางเดินเรือทะเลเลียบชายฝั่ง ซึ่งเป็นเส้นทางขากลับไปกู้กรุงศรีอยุธยาของพระเจ้าตากฯ
ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า ทัพพระยาตากยึดเมืองระยองได้ ตั้งค่ายพักอยู่บริเวณ “วัดลุ่ม” ตั้งค่ายพักที่วัดลุ่มหรือวัดลุ่มมหาชัยชุมพล อ.เมือง จ.ระยอง บริเวณวัดลุ่มฯ อยู่ในบริเวณที่ลุ่มนอกย่านการค้าริมน้ำที่น่าจะเป็นตัวเมืองระยองเดิม ซึ่งอยู่เข้ามาจากปากน้ำระยองที่ออกสู่ชายฝั่งทะเลตามความคดเคี้ยวของลำน้ำใกล้ชายฝั่งราว ๕-๖ กิโลเมตร นอกจากบริเวณวัดลุ่มฯ ซึ่งเป็นวัดประจำเมืองชายฝั่งที่ระยองแล้ว ยังมีวัดป่าประดู่ซึ่งยังคงมีศาสนสถานที่นิยมสร้างแบบสมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย คือพระพุทธรูปปางลิไลยก์และพระนอนขนาดใหญ่ ซึ่งประดิษฐานแตกต่างไปจากพระนอนหรือปางไสยาสน์ที่อื่นๆ คือ ตะแคงขวามิได้ตะแคงด้านซ้าย นอกจากนั้นคงเป็นศาลเจ้าจีนขนาดใหญ่ที่มีทั้งศาลเจ้าแม่ทับทิมและเจ้าปุ้นเถ้ากงเถ้าม่าที่เป็นของคนจีนเชื้อสายไหหลำและชาวจีนแต้จิ๋ว
พระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อเดินทัพออกจากวัดพิชัย กรุงศรีอยุธยาแล้ว ๒๓ วัน ในเวลาเพียงไม่ถึงเดือนก็สามารถยึดเมืองระยองและรวบรวมกำลังพลได้จำนวนหนึ่ง และเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์พายุหมุนจนบิดต้นตาลเป็นเกลียวโดยไม่คลายตัว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ตาลขด” พระยาตากรวมทั้งฝ่ายทหารทั้งหลายและพลพรรคจึงยกพระยาตากเป็น “เจ้าตาก” ภายในวัดยังมีต้นสะตือใหญ่ต้นหนึ่งที่ชาวบ้านเชื่อว่าเคยเป็นที่เจ้าตากผูกช้างทรง ซึ่งการบรรยายในช่วงนี้เป็นการนำเสนอภาพของความมีบุญญาธิการอันสืบเนื่องต่อไปจะได้เป็นผู้นำการกู้กรุงฯ และพระมหากษัตริย์ในภายหน้า
การประกาศตนเป็น “เจ้าตาก” หรือ “พระเจ้าตาก” นั้น ก็เพราะน่าจะทราบสถานการณ์ในช่วงก่อนเสียกรุงฯ เล็กน้อยได้เป็นอย่างดี การตั้งตนเองเป็นเจ้า ทำให้กองกำลังไพร่พลของเจ้าตากแตกต่างไปจากกองกำลังที่เป็นชุมโจรทั่วไปที่คงมีอยู่มากในช่วงเวลานั้น แม้แต่เจ้าเมืองหรือผู้ปกครองหัวเมืองทางฝ่ายตะวันออกก็ยังเป็นกองกำลังของคนท้องถิ่นเท่านั้น
การสถาปนาตนเองเป็นผู้นำของรัฐที่ล่มสลายไปแล้วจึงเกิดขึ้นที่เมืองระยอง อันเป็นเมืองที่มีผู้คนประชากรอยู่มาก และมีรากฐานของบ้านเมืองที่ตั้งมั่นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาอย่างชัดเจน พระเจ้าตากคงรวบรวมผู้คนได้จำนวนมากจากเมืองระยองนี่เอง
เจ้าตากมีดำริให้คนไปเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองจันทบูรให้ออกมายอมอ่อนน้อมแต่พระยาจันทบูรผัดผ่อนเรื่อยมา แต่ในระหว่างรอพระยาจันทบูรยอมอ่อนน้อม พวกขุนราม หมื่นซ่อง และนายทองอยู่ นกเล็กที่แตกหนีไปก็แอบเข้ามาลักฝูงสัตว์ เช่น โค กระบือ ช้างม้าไปตลอดเวลา เจ้าตากจึงรวมกำลังพลต่างๆ ที่หนีไปอยู่ตามป่าดงกลับเข้ามาอยู่เมืองระยองเป็นจำนวนมาก แล้วตั้งทัพรอคำตอบจากพระยาจันทบูรอยู่ที่เมืองระยอง รวมแล้วท่านใช้ฐานเมืองระยองเป็นค่ายที่พักเพื่อรวบรวมไพร่พลอยู่ถึง ๔ เดือน
ความสำคัญของชุมชนลุ่มแม่น้ำระยอง
ต้นน้ำคลองใหญ่หรือแม่น้ำระยอง เกิดจากลำน้ำหลายสายและหลายทิศทางจากแนวเขาที่สูงทางเขตชลบุรีและฉะเชิงเทรา
- ด้านตะวันตกมีลำคลองดอกกรายและลำน้ำสายอื่นๆ จากทาง อ.ปลวกแดง
- ด้านเหนือมีคลองหนองปลาไหล คลองหนองอ้ายรื่น คลองหมามุ่ย คลองป่าหวาย ฯลฯ
- ด้านตะวันออกมีลำน้ำสายสั้นๆ หลายสายจากแนวเขาตะเคียนงาม
ทั้งหมดนี้ไหลมารวมเป็นแนวลำน้ำคลองใหญ่หรือแม่น้ำระยอง ซึ่งไหลผ่าน อ.บ้านค่าย และ อ.เมืองระยองในปัจจุบันไปออกทะเลที่ปากน้ำระยอง
ลำน้ำสายสำคัญของเมืองระยองสายนี้ ทำให้เกิดพื้นที่ราบลุ่มกว้างและลำน้ำสายต่างๆ สร้างเป็นพื้นที่แอ่งปลูกข้าวและมีการทำสวนที่พัฒนาจนกลายเป็นสวนในเชิงพาณิชย์ในเวลาต่อมา ทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีการตั้งชุมชนจำนวนมาก มีชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อต่อเรือและทำผลผลิตจากทะเล กลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายแลกเปลี่ยน
อ.บ้านค่าย อำเภอหนึ่งในเมืองระยองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเดินทางของกองทัพพระเจ้าตากมีชื่อเดิมว่า อ.ไผ่ล้อม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อช่วงรัชกาลที่ ๖ ส่วนสาเหตุไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องเล่าของคนท้องถิ่น เพราะภายหลังมีการสร้างพระราชานุสาวรีย์หรือศาลโดยคนในท้องถิ่น
วัดบ้านค่าย หนึ่งในสถานที่สำคัญ ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า เคยมีศานสถานใหญ่โตแต่ถูกรื้อไปแล้วเช่น โบสถ์ขนาดใหญ่ พระเจดีย์ราย ๓ องค์ มีสระน้ำขนาดใหญ่ภายในวัด ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของวัดมีแนวคันดินยาวระยะทาง ๑ กิโลเมตรขึ้นไป ลักษณะเป็นสันสูงและกว้าง คนต่างสันนิษฐานกันว่าเป็น “ค่าย” ตามชื่อบ้านค่าย หรือ “ถนนโบราณ” ซึ่งลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็น “ทำนบ” สำหรับชักน้ำสู่ทุ่งข้าวกว้างใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของคลองใหญ่ที่มีแนวเทือกเขา และพื้นที่สูงซึ่งต่อเนื่องจากเขต อ.เขาชะเมา จ.จันทบุรี
ภายในวัดยังพบโบราณวัตถุที่สำคัญ เป็นชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายในสมัยอยุธยา ซึ่งน่าจะมีอายุตั้งแต่ช่วงต้นกรุงฯ ศิลปะแบบอู่ทอง พระพุทธรูปมีพระพักต์กลมมนและแนวสันหน้าแข้งยังไม่ปรากฏที่เรียกว่าแข้งคม พบพระพุทธรูปยืนปางรำพึงหรือประทานอภัย ซึ่งไม่เคยพบการแกะสลักพระพุทธรูปหินทรายในรูปแบบเช่นนี้ แต่จะนิยมทำพระพุทธรูปปางดังกล่าวจากการหล่อโลหะสำริด เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบ “ใบเสมา” ที่ทำจากหินทราย มีลวดลายประดับแตกต่างไปจากที่เคยพบจากที่อื่นๆ สันนิษฐานว่า น่าจะมีอายุสมัยรุ่นเดียวกับการสร้างพระพุทธรูปชุดที่กล่าวมาแล้ว บางชิ้นที่สำคัญมีลวดลายคล้ายลายแบบจีนประดับอยู่ด้วย ซึ่งถือว่าชุดใบเสมาที่วัดบ้านค่ายนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นเป็นลักษณะแบบท้องถิ่น
บริเวณใกล้กับวัดบ้านค่าย พบว่ามีการตั้งศาลหลักเมืองให้กับ “เจ้าแม่หลักเมืองบ้านค่าย” ซึ่งถือว่าแตกต่างจากที่อื่นๆ เพราะเป็นหลักเมืองที่เป็นเพศหญิง ส่วนใหญ่ความเป็นหลักเมืองมักแสดงออกเป็นเพศชาย ซึ่งมีหน้าที่ในการเพื่อการรักษาคุ้มครองมากกว่า อีกทั้งหลักเมืองของเมืองใหญ่ในเขตภูมิภาคตะวันออกปัจจุบันนี้ก็ถูกแปรสภาพกลายเป็นศาลเจ้าจีนไปแทบทั้งหมดแล้ว
ร่องรอยจากศาลแสดงถึงความเก่าแก่ของชุมชนบริเวณวัดบ้านค่ายและเมืองในเขตบ้านค่าย เพราะกลุ่มคนชาติพันธุ์ “ชอง” นั้น เคยอยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ภายในของภูมิภาคตะวันออกมาก่อนที่จะเคลื่อนย้ายไปอยู่ในเขตป่าและภูเขาลึกภายในแถบ อ.เขาชะเมา หรือแก่งหางแมว จ.จันทบุรีในปัจจุบัน และเป็นกลุ่มที่นับถือผู้นำฝ่ายหญิง ดังเช่นที่ปรากฏจากเรื่อง “เจ้าแม่กาไว” ตำนานเจ้าแม่ผู้คุ้มครองเมืองพะเนียดที่เชิงเขาสระบาป จ.จันทบุรี
นอกจากนี้ บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำระยองเหนือวัดบ้านค่าย มีลำน้ำที่เรียกว่าฉนวน ซึ่งเป็นแนวลำน้ำขนาดเล็กต่อกับหนองน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่าหนองน้ำขาว ที่มาของชื่อชาวบ้านเล่าต่อๆ กันมาว่า เพราะกองทัพของพระเจ้าตากได้หยุดพักที่นี้ แวะพักหุงหาอาหารและหุงข้าวโดยเทน้ำข้าวลงในหนองจนน้ำกลายเป็นสีขาว ซึ่งการเล่าที่มาสืบทอดกันเช่นนี้ถือว่ามีความผูกพันที่สร้างขึ้นโดยธรรมชาติจากตำนานการเดินทัพ และพักทัพในบริเวณบ้านค่ายของทัพพระเจ้าตากที่เดินทางจากทางบ้านเมืองภายในมากทีเดียว และเป็นบันทึกความทรงจำที่อยู่นอกเหนือเส้นทางในพระราชพงศาวดารที่ใช้วิเคราะห์กันอยู่ในทุกวันนี้อย่างเด่นชัด
นอกจากวัดบ้านค่ายแล้ว ยังมีวัดอื่นๆ อีก เช่น วัดบ้านเก่าที่อยู่ริมแม่น้ำระยอง วัดตาขัน วัดนาตาขวัญ วัดแลงและบ้านแลง วัดตะพงใน วัดทับมา เป็นต้น ทุกวัดล้วนมีรูปแบบของศาสนสถานคล้ายคลึงกัน ประกอบด้วย มีโบสถ์ขนาดย่อมๆ หลังคาที่เรียกว่าพาไลพาดคลุมอยู่ด้านหน้า หอไตรกลางน้ำ เจดีย์แบบย่อมุมหรือบางแห่งเป็นพระปรางค์ขนาดเล็กๆ ที่มีฐานแบบย่อมุม เช่นที่วัดแลง รูปแบบทางศิลปกรรมเหล่านี้ล้วนสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลางจนถึงตอนปลาย แต่ดูมีเอกลักษณ์โดดเด่นที่เป็นรูปแบบเฉพาะแบบเมืองระยอง เพราะไม่พบรูปแบบที่ชัดเจนเช่นนี้ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ เช่น บางปะกง จันทบุรี หรือที่เมืองตราด อาจจะเรียกได้ว่าเป็นศิลปกรรมเนื่องในพระพุทธศาสนาที่เป็นวัดแบบ “เมืองระยอง” ได้เลยทีเดียว
ทั้งจำนวนศาสนสถาน การตั้งถิ่นฐานของชุมชนที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น และเป็นพื้นที่แห่งเดียวในภูมิภาคตะวันออกของหัวเมืองชายฝั่งทะเลที่มีการตั้งถิ่นฐานบ้านช่องอยู่อย่างหนาแน่น และที่สำคัญไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของทัพพม่าที่เข้ายึดครองกรุงศรีอยุธยาเวลานั้น ทำให้ทัพของพระยาตากลงหลักปักฐานตั้งมั่นอยู่บริเวณตัวเมืองที่ อ.บ้านค่ายในปัจจุบัน
เดินทัพเข้ายึดเมืองระยองที่ปากน้ำตั้งทัพอยู่ที่วัดลุ่มมหาชัยชุมพล แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็น “เจ้าตาก” เพื่อควบคุมกำลังไพร่พล สะสมกองกำลัง เรือรบ และเสบียงอาหาร และน่าจะใช้เมืองระยองเป็นฐานกลางในการควบคุมหัวเมืองชายทะเลตะวันออกนี้ไว้ในช่วงรอเวลาหน้าฝนให้ผ่านพ้นและรวบรวมสรรพกำลังดังที่กล่าวไปแล้วอยู่ที่นี่ไม่ต่ำกว่า ๔-๕ เดือนหลังรอนแรมหนีทัพใหญ่ของพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยามา
การข้ามลำน้ำประแสที่บ้านทะเลน้อย
ช่วงที่อยู่เมืองระยอง พระเจ้าตากได้จัดตั้งที่พักทัพเพื่อรวบรวบรวมไพร่พล ชาวบ้านและชาวเมืองรวมทั้งข้าหลวงเดิมผู้แตกพ่ายหนีจากกรุงศรีอยุธยา กองกำลังต่างๆ รวมทั้งจัดเตรียมต่อเรือเพื่อเดินทางเลียบชายฝั่งทะเลกลับไปยังกรุงศรีอยุธยา เพื่อกอบกู้บ้านเมืองอีกครั้งหนึ่ง
ในพระราชพงศาวดารระบุว่า หลังจากยึดเมืองระยองสำเร็จ พระเจ้าตากเดินทางต่อไปยังเมืองบางปลาสร้อย(ปัจจุบันคือ จ.ชลบุรี)เพื่อปราบปราบก๊กนายทองอยู่ จากนั้นเดินทางต่อไปยังหัวเมืองใหญ่ที่เมืองจันทบูร ช่วงนี้ถือเป็นการปราบหาพันธมิตรรวมทั้งกำลังพล และขยายกำลังทัพเพื่อกลับไปกู้บ้านเมือง ข้อมูลตรงนี้แสดงให้เห็นว่ากองทัพพม่าไม่ได้ตั้งกองกำลังเพื่อควบคุมหัวเมืองทางภูมิภาคตะวันออก ยกเว้นเมืองบางปลาสร้อยและท่าข้ามเพราะเป็นพื้นที่ที่เดินทางสะดวก เข้าสู่ปากน้ำเจ้าพระยาและกรุงศรีอยุธยา
พระเจ้าตากเดินทางจากวัดลุ่มเมืองระยองผ่านไปยังเมืองแกลงระยะทางราวประมาณ ๓๕ กิโลเมตร และจากเมืองแกลงไปยังริมน้ำประแส บริเวณบ้านทะเลน้อยประมาณ ๒๕ กิโลเมตร เพื่อข้ามลำน้ำใหญ่ที่ประแส
เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมและการเดินทางของชาวบ้านท้องถิ่น การข้ามลำน้ำประแสคนท้องถิ่นจะคำนึงถึงช่วงเวลาน้ำขึ้น น้ำลง และจุดข้าม พระเจ้าตากข้ามลำน้ำประแสบริเวณท่าบนและท่าล่าง บริเวณนี้หากน้ำลงหรือน้ำแห้งจะเห็นเป็นชายหาดทรายพื้นดินแน่นกว่าบริเวณป่าชายเลนอื่นๆ ซึ่งแถบนี้เรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่ากรอกตากสิน คำว่ากรอก หมายถึง พื้นที่ซึ่งมีความกว้างเว้าเข้าไป ภายในกรอกตากสินมีเนินดินที่เป็นสันทรายขนาดใหญ่และมีชุมชนเก่าที่มีเศษภาชนะดินเผาหลงเหลืออยู่และมีการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มอยู่บนสันทรายกว้างริมลำน้ำประแส ในดงยางใหญ่ล้อมรอบด้วยท้องทุ่งนาที่กลายเป็นสวนและนากุ้งเสียมาก
ที่บ้านทะเลน้อยมีวัดเนินสระหรือวัดราชบัลลังก์ พ.ศ. ๒๔๖๐ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อดำรงสมณศักดิ์พระสุคุณคุณาภรณ์ ผู้อำนวยการศึกษามณฑลจันทบุรี ได้มาที่วัดแห่งนี้และฟังเรื่องเล่าของพระเจ้าตากโดยคนท้องถิ่นเล่าว่า ที่วัดมีพระแท่นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นแท่นที่ประทับที่ทำโดยช่างชั้นสูงที่ผสมผสานกับศิลปะจีนชัดเจน จึงได้นำไปเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และยังคงเก็บรักษามาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้ที่วัดราชบัลลังก์ยังมีโบสถ์เก่าที่เป็นรูปแบบเช่นเดียวกับเมืองระยอง คือ มีขนาดย่อมๆ และมีพาไลด้านหน้า เล่ากันว่าเคยสร้างจากไม้ก่อนที่จะมาสร้างโดยการก่ออิฐถือปูน และใช้ลวดลายปูนปั้นที่มีอิทธิศิลปะจีนอย่างชัดเจน และมีใบเสมาที่ทำจากหินชนวนและมีลวดลายคล้ายคลึงกันน่าจะเป็นของที่ทำขึ้นในสมัยอยุธยาซึ่งแตกต่างไปจากวัดเก่าที่เมืองระยองซึ่งเป็นใบเสมาหินทราย
วัดราชบัลลังก์ยังมีความสำคัญในฐานะเป็นวัดของเจ้าคณะแขวง ที่มีพระสงฆ์สำคัญผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ถึง ๔ รูป นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุสิ่งของสำคัญ เช่น ตู้พระไตรปิฎก ผืนเสื่อพระราชทาน พระพุทธรูปสานจากหวายที่มีการพอกปูนลงรักปิดทอง เป็นต้น
วัดราชบัลลังก์
บริเวณบ้านทะเลน้อย มีเส้นทางเดินทางที่ชาวบ้านใช้กันเป็นประจำเพื่อจะไปเมืองจันทบูร คือเดินทางผ่านท่าช้างข้าม เพื่อข้ามลำน้ำพังราดซึ่งไม่ได้กว้างเท่ากับลำน้ำประแส แล้วผ่านไปยังวัดหนองไซ วัดโขดหอย ไปยังวัดสนามชัย
ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็น่าจะเดินทัพกองกำลังเพื่อเข้าตีเมืองจันทบูร โดยข้ามลำน้ำประแสบริเวณนี้และเดินทางไปยังแถบทุ่งสนามชัยและวัดสนามชัยในเส้นทางดังกล่าวเช่นกัน
 
ยึดเมืองจันทบูรและเมืองตราด
เมื่อข้ามแม่น้ำประแสซึ่งกว้างใหญ่กว่าลำน้ำสายอื่น เส้นทางที่ชาวบ้านยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน ผ่านบริเวณที่เรียกว่า “ท่าช้างข้าม” หรือ “บ้านช้างข้าม” ในปัจจุบันเพื่อข้ามลำน้ำพังราดที่ลำน้ำไม่ได้กว้างใหญ่เท่ากับลำน้ำประแส ผ่านย่านวัดหนองไซ และวัดโขดหอย เพื่อไปยังวัดสนามชัยหรือทุ่งสนามชัย
บริเวณเหล่านี้อยู่ในระนาบของการเดินทางข้ามทุ่งและข้ามลำน้ำไม่ไกลชายฝั่งทะเล และมีชุมชนเก่าตั้งอยู่เป็นระยะๆ ตามรายทาง เส้นทางสายนี้ชาวบ้านเล่าว่าเป็นที่นิยมสำหรับการเดินทางไปยังเมืองจันทบูรหรือชุมชนอื่นๆ ทางตะวันออก โดยไม่ต้องใช้เรือเดินทางทะเลและที่สำคัญไม่ได้ใช้เส้นทางที่ผ่านป่าฝ่าดงในแนวทางด้านเหนือ ชุมชนด้านเหนือขึ้นไปมักอยู่ตามเส้นทางสัญจรทางน้ำและเป็นย่านศูนย์กลางติดต่อกับลำน้ำหลายสายและสามารถเดินทางผ่านไปยังพื้นที่ชุมชนภายในที่มักเรียกชื่อนำหน้าชุมชนว่า “สำนัก” ชุมชนย่านตลาดริมน้ำที่สำคัญเช่น “สามย่าน” เป็นตลาดเก่าของเมืองแกลงแห่งหนึ่งที่มีคนเชื้อสายจีนทำการค้าตั้งแต่เป็นชุมทางน้ำจนถึงชุมทางบกเมื่อมีการตัดถนนสุขุมวิทผ่าน
ดังนั้นตามเรื่องเล่าหรือตำนานท้องถิ่นที่มีชื่อใกล้เคียงกับเหตุการณ์ในการยกกองกำลังเข้าไปตีเมืองจันทบูรของเจ้าตากในระยะนั้นมีชื่อว่า “บ้านกองดิน” ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำพังราดและเหนือระนาบเส้นทางเดินทางเก่าไปมาก ที่ผูกกับเรื่องเล่าดังกล่าวจนกลายเป็น “กองดินปืน” น่าจะมีการเขียนและสร้างเรื่องเล่าให้คล้อยตามกับเรื่องราวในการเดินทัพของเจ้าตากโดยคนท้องถิ่นในเวลาต่อมา จนมีการสร้างวัดและอนุสรณ์สถานจากผู้ศรัทธาจนกลายเป็นอนุสรณ์สถานสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ที่ใหญ่โตอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออก
บริเวณวัดสนามไชยนี้อยู่ในวงล้อมของภูเขาขนาดย่อมๆ และเป็นทุ่งนาอันอุดมสมบูรณ์ โดยมีเนินดินขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่ประทับพักแรมของเจ้าตาก ก่อนเดินทางโดยใช้ “ช่องเขาตะอุก” “คอเขาตอม่อ” ตัดผ่าน “ห้วยขโมง” “ลำน้ำโตนด” ซึ่งต่อมาจากปากน้ำแขมหนู เดินทางไปยังแถบชุมชน “ท่าใหม่” และ “เขาพลอยแหวน” และ “บางกะจะ” ซึ่งเป็นบริเวณที่มีชุมชนเก่าแก่ทั้งไทยและจีน เพราะเป็นจุดที่มีการทำพลอยมาตั้งแต่โบราณและมีการทำสวนพริกไทยมาแต่เดิม บริเวณนี้เป็นย่านชุมชนชาวจีนเก่าของเมืองจันทบูร
การเข้าตีเมืองจันทบูร ตามพระราชพงศาวดารอาจจะถือว่าเป็นด่านสุดท้ายที่ยากลำบากอย่างยิ่งของทัพเจ้าตากซึ่งมีฐานกองทัพอยู่ ณ เมืองระยอง เพราะจากการเปรียบเปรยว่า “ให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงเสียให้สิ้น เพราะจะไม่มีการกลับมาอีก” ซึ่งหมายถึงความมุ่งมั่นในการเข้าตีเมืองจันทบูรที่เป็นเมืองมีคูน้ำคันดิน และอยู่ในชัยภูมิที่ได้เปรียบบนที่เนินสูงกว่าบริเวณโดยรอบ ปัจจุบันเมืองจันทบูรเก่าอยู่ริมลำน้ำท่าช้าง อันเป็นสาขาของลำน้ำจันทบูร ในบริเวณค่ายตากสิน หน่วยนาวิกโยธินของกองทัพเรือ และเปิดให้ผู้ศรัทธาและผู้ที่ต้องการศึกษาความรู้เข้าเยี่ยมชม
เจ้าตากพร้อมกองกำลังพลพรรคทั้งมวลบุกเข้าโจมตีเมืองจันทบูรทุกด้านในดึกคืนนั้น และยึดเมืองจันทบูรได้ ส่วนพระยาจันทบูรพาลูกเมียหนีลงเรือเดินทะเลเลียบชายฝั่งไปยังเมืองพุทไธมาศ หรือบันทายมาศ หรือเมืองฮ่าเตียนในประเทศเวียดนามปัจจุบัน ซึ่งยังคงเป็นอิสระอยู่เพราะเป็นหัวเมืองชายทะเล โดยมีเจ้าเมืองเป็นชาวจีนเชื้อสายกวางตุ้งตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาคือ พระยาราชาเศรษฐีญวน ซึ่งเป็นบุตรชายของมักกั๋ว มีศาลเจ้าใหญ่อยู่ที่เมืองฮ่าเตียนในปัจจุบัน และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญสำหรับบ้านเมืองชายฝั่งทะเลช่วงเปลี่ยนผ่านบ้านเมืองในภูมิภาคนี้
หลังจากเดินทัพเข้าตีเมืองจันทบูรแล้ว ช่วงนั้นฤดูมรสุมฝนตกหนักไปทั่วภูมิภาคตะวันออก จึงพักอยู่ที่เมืองจันทบูรเพื่อต่อเรือไว้เป็นเรือโดยสารและเรือรบมุ่งกลับไปกู้กรุงศรีอยุธยา โดยสันนิษฐานไว้ว่าน่าจะต่อไว้ราว ๑๐๐ กว่าลำ และเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๒๓ พบว่ามีซากเรือไม้จมอยู่ชายตลิ่งจำนวนหลายลำ จึงสันนิษฐานว่าเป็นสถานที่หนึ่งที่เป็นอู่ต่อเรือ ซ่อมเรือของเจ้าตาก ที่บริเวณปากแม่น้ำจันทบูรที่เรียกกันว่า “อู่ต่อเรือพระเจ้าตากเสม็ดงาม”
มีตำนานความเชื่อเรื่องพระเจ้าตากในท้องถิ่น มีการสร้างเป็นศาลขนาดเล็กๆ และร่องรอยแนวคันดินที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นแนวค่ายของพระเจ้าตากในบริเวณบ้านเสม็ดงามก่อนที่จะพบหลักฐานการมีสถานที่ต่อเรือสำเภาจีน หรืออู่ต่อเรือเก่าดังกล่าว
ที่เมืองตราด แม้จะไม่มีการกล่าวถึงรายละเอียดในพระราชพงศาวดารมากนัก กล่าวแต่เพียงว่า “เจ้าตากได้เคลื่อนทัพไปยังเมืองตราด พวกกรมการและราษฎรเกิดความเกรงกลัวต่างพากันมาอ่อนน้อมโดยดี ที่ปากน้ำเมืองตราดมีเรือสำเภาจีนมาทอดทุ่นอยู่หลายลำ เจ้าตากได้เรียกนายเรือมาพบ แต่พวกจีนขัดขืนต่อสู้ เจ้าตากจึงนำกองเรือไปล้อมสำเภาจีนเหล่านั้น ได้ทำการต่อสู้กันอยู่ประมาณครึ่งวัน ก็ยึดสำเภาจีนไว้ได้หมด ได้ทรัพย์สินสิ่งของมาเป็นจำนวนมาก”
ที่เมืองตราดมีตำนานเล่ากันว่า เจ้าตากมาตั้งทัพอยู่ที่วัดโบสถ์หรือวัดโยธานิมิตในปัจจุบัน โดยให้กำลังพลขนมูลดินจนกลายเป็นวัดเกิดขึ้น แต่เมื่อดูตามหลักฐานศาสนสถานและศิลปกรรมที่ปรากฏในวัดโยธานิมิตพบว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ก่อสร้างช่วงหลังโดยเฉพาะในช่วงรัชกาลที่ ๓ ลงมา ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับรูปแบบวิหารซึ่งมีลักษณะการสร้างวิหารขนาดใหญ่แบบล้านนาหรือล้านช้างอย่างเห็นได้ชัด
หลังจากตีเมืองจันทบูรแล้วจึงยึดเอากองเรือของพ่อค้าจีนที่ปากน้ำเมืองตราด ก่อนจะรอช่วงเวลาให้พร้อมสรรพ แล้วจึงกลับไปกู้บ้านกู้เมืองที่กรุงศรีอยุธยา โดยใช้เส้นทางเดินเรือเลียบชายฝั่ง ซึ่งต้องผ่านทั้งสัตหีบ เกาะคราม เกาะสีชัง นาเกลือ บางปลาสร้อย ไปยังปากแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นทางการกู้ชาติของเจ้าตากใช้เวลาราว ๗ เดือน นับแต่สิ้นกรุงศรีอยุธยา
โฆษณา