24 พ.ย. 2021 เวลา 08:08 • กีฬา
ทำดีได้แต่ไม่เด่น : มิติการทำงานของผู้ช่วย (ยอด) โค้ชยากแค่ไหน ? | MAIN STAND
ผู้ช่วยผู้จัดการทีม ความหมายของตำแหน่งนี้ คงไม่พ้นนิยามของคำว่า "ผู้ช่วย" อันแปลว่าคนที่คอยให้ความช่วยเหลือ
ผู้จัดการทีมเหล่านี้บางคนอาจมีมันสมองอันปราดเปรื่องหรือประสบการณ์อย่างโชกโชนในระดับโลกมาแล้ว ผู้ช่วยผู้จัดการทีมจะต้องรับผิดชอบงานส่วนไหน อย่างไร และท้าทายมากน้อยเพียงใดกัน
Main Stand ขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับภาระงานของบุคคลในตำแหน่งมือขวา ว่าในแต่ละวันพวกเขานั้นทำอะไรกันบ้าง และหากวันหนึ่งที่จะต้องก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งแห่งสโมสร ผู้ช่วยเหล่านี้มีความพร้อมมากน้อยขนาดไหน
บุคคลเบื้องหลังที่สำคัญ
ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทีม มักเป็นจุดที่ถูกให้ความสำคัญน้อยกว่านายใหญ่อยู่เสมอ ผู้จัดการทีมจะเป็นผู้ที่ได้รับแสงไฟในสปอตไลต์และเป็นที่จดจำได้ในวงกว้างมากกว่า
เทียบให้เห็นภาพแบบง่ายดาย คือคุณสามารถลิสต์รายชื่อผู้จัดการทีมพรีเมียร์ลีก หรือทั้ง 5 ลีกยอดนิยมในทวีปยุโรปมาได้หลายคน แต่เมื่อลองนึกถึงเหล่าผู้ช่วยของพวกเขาแล้ว อาจมีเพียงแค่หยิบมือเท่านั้นที่อยู่ในความทรงจำของเรา
1
แม้แต่เกมฟุตบอลยอดฮิต ยังตั้งชื่อเป็น Football Manager โดยไม่มีตัวแฟรนไชส์อย่าง Football Assistant Manager ออกมาให้ลองเล่น หรือสามารถเลือกเริ่มเกมในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการทีมได้เลยด้วยซ้ำ
นอกจากเป็นคนรับทำในสิ่งที่ผู้จัดการทีมไม่ทำ เช่น บางคนไม่ได้สันทัดในการนำทีมฝึกซ้อม ออกคำสั่งข้างสนาม หรือตามประสานงานกับเจ้าหน้าที่ส่วนต่าง ๆ แล้ว ยังมีส่วนไหนอีกบ้าง ที่เหล่าผู้ช่วยเหล่านี้ต้องคอยมารับช่วงต่อกัน ?
ไมค์ ฟีแลน ชายผู้เป็นมือขวาให้กับยอดกุนซืออย่าง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา เคยออกมาเปิดเผยถึงภาระงานของเจ้าตัวในรั้ว โอลด์ แทรฟฟอร์ด ไว้ว่า "ไม่ว่าคุณจะทำอะไร มันย่อมมีแรงกดดัน ความตึงเครียด และเสียงวิจารณ์รายล้อมอยู่แล้ว ดังนั้นคุณจะต้องมั่นใจเมื่อเดินนำผู้เล่นลงสู่สนามซ้อม"
"พวกเขา (นักเตะ) จะต้องฟังคุณ และคุณจะต้องสื่อสารไอเดียต่าง ๆ ออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อให้พวกเขาเชื่อใจ ถ้าทำไม่ได้ พวกนักเตะจะปิดการรับฟังของตนลง ดังนั้นมันสำคัญมากที่คุณต้องคอยผลักดันให้ตัวเองและผู้เล่นทำงานอย่างหนัก และคอยเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ในเกมที่ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา"
"ความท้าทายในระดับผมคือการถ่ายทอดข้อมูลให้กับผู้เล่น เพื่อให้พวกเขาสามารถรับสาส์นดังกล่าวได้ … ทำให้นักฟุตบอลเข้าใจว่าจะต้องเล่นอย่างไร หน้าที่ของคุณคือการเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ มาประกอบขึ้นรูปเป็นจิ๊กซอว์ที่ดีขึ้น คุณต้องปล่อยให้พวกเขาเติบโต ลองสิ่งใหม่ และรู้จักรอคอย"
นอกจากหน้าที่ในสนามซ้อมแล้ว ฟีแลน ยังมีส่วนสำคัญในด้านการซื้อขาย ตั้งแต่เป็นผู้แนะนำ แฮร์รี่ แมคไกวร์ จนสโมสรสามารถปิดดีลมาได้สำเร็จ รวมทั้งบินไปดูฟอร์มของ บรูโน่ แฟร์นันด์ส ถึง โปรตุเกส ก่อนที่จะเซ็นสัญญาจอมทัพรายนี้มาร่วมทีม
แต่ก็ไม่ใช่ผู้ช่วยผู้จัดการทีมทุกคนจะมีขอบเขตการรับผิดชอบที่เหมือนกันเสมอไป นั่นเพราะเมื่อเหล่าเฮดโค้ชต้องเลือกมือขวามาอยู่ข้างกาย พวกเขาจำต้องหาคนที่พร้อมมาเติมเต็มส่วนที่ไม่เชี่ยวชาญให้ได้
ยกตัวอย่างเมื่อครั้ง โชเซ่ มูรินโญ่ รับงานที่ เชลซี ในคำรบแรก บิ๊กบอสรายนี้ต้องการคนที่เข้าถึงประวัติศาสตร์ของสโมสร รู้จักเหล่าดาวรุ่ง และพร้อมประสานงานกับคนที่เกี่ยวข้องได้เมื่อจำเป็น ทำให้ สตีฟ คลาร์ก อดีตผู้เล่นและเฮดโค้ชทีมเยาวชนของสิงโตน้ำเงินครามกลายมาเป็นตัวเลือกที่ใช่อย่างไร้ข้อสงสัย
ด้าน สตีเว่น เจอร์ราร์ด กุนซือป้ายแดงของ แอสตัน วิลล่า ได้เลือกสองผู้ช่วยผู้จัดการทีมที่เคยร่วมงานกันตั้งแต่สมัยคุม เรนเจอร์ส ตามติดมาด้วย นั่นคือ ไมเคิล บีล ผู้ดูแลด้านการฝึกซ้อม ประสานงานกับนักวิเคราะห์ และคอยแลกเปลี่ยนไอเดียกับกุนซือวัย 41 ปีเป็นหลัก โดยมี แกรี่ แมคอัลลิสเตอร์ อดีตรุ่นพี่ร่วมทีมของเขา ที่มีประสบการณ์อย่างโชกโชนทั้งสมัยเป็นผู้เล่นและทีมโค้ช มาดำรงตำแหน่งเป็นเหมือนพี่ใหญ่ให้กับนักเตะของทีม และมีหน้าที่หลักในการประสานงานระหว่างผู้เล่นกับทีมโค้ช
แต่การเป็นเพียงแค่เบอร์สองในทีม อาจไม่ใช่สิ่งที่เหล่าผู้ช่วยเหล่านี้สะดวกใจที่จะอยู่ไปตลอดกาล จึงไม่แปลกที่เราได้เห็นหลายคนพยายามก้าวกระโดดขึ้นมารับงานเฮดโค้ช เมื่อครั้งเก็บเลเวลและประสบการณ์ได้มากเพียงพอแล้ว
ที่หนึ่งไม่ไหว
มิเกล อาร์เตต้า อาจถูกจดจำในฐานะ "วอล์เปเปอร์ของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า" จากการรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทีมที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก่อนเจ้าตัวจะออกมารับงานเป็นเฮดโค้ชของสโมสรเก่าอย่าง อาร์เซน่อล ตั้งแต่ปลายปี 2019
"มันไม่สำคัญหรอกว่าคนอื่นจะมองผมแบบไหน มันสำคัญแค่ว่านักเตะมองผมอย่างไร พวกเขาเชื่อมั่นว่าเรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง หลังจากนั้นผมคิดว่าเวลาจะค่อย ๆ เลือนภาพจำเก่าออกไป" คือคำที่เจ้าตัวกล่าวในงานแถลงข่าว เมื่อคราวเปิดตัวเป็นกุนซือคนใหม่ของทัพปืนใหญ่ แทนที่ตำแหน่งของ อูไน เอเมรี่ ที่โดนปลดไปก่อนหน้านั้น
แม้จะผ่านช่วงมรสุมหรือจุดเสี่ยงโดนปลดจากตำแหน่งมาบ้าง แต่ผลงานที่ผ่านมาของ อาร์เตต้า ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าประทับใจพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อนำไปเทียบกับสิ่งที่เหล่าอดีตผู้ช่วยคนอื่นเคยเผชิญกันมาก่อน
เป๊ป ลินเดอร์ส มือขวาคนปัจจุบันของ เยอร์เกน คล็อปป์ เคยอำลาหงส์แดงไปลองวิชาเป็นผู้จัดการทีมของ เอ็นอีซี ไนจ์เมเก้น (NEC Nijmegen) เมื่อช่วงต้นปี 2018 แต่ก็ดำรงตำแหน่งได้เพียง 5 เดือน เพราะไม่อาจพาทีมไปสู่ตำแหน่งการเลื่อนชั้นได้สำเร็จ จนเจ้าตัวกลับมาเป็นผู้ช่วยที่แอนฟิลด์อีกครั้ง และได้รับโอกาสให้คุมทีมระหว่างลงแข่งรายการ คาราบาว คัพ อยู่ในปัจจุบัน
รุย ฟาเรีย ผู้ช่วยคู่บุญของ โชเซ่ มูรินโญ่ มานานกว่า 17 ปี ตั้งแต่สมัยคุม ปอร์โต้ มาจนถึง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เคยตัดสินใจก้าวออกมากุมบังเหียนเองบ้างในปี 2019 โดยเซ็นสัญญากับ อัล ดูฮาอิล (Al-Duhail) สโมสรชื่อดังในลีกกาตาร์
แม้กุนซือชาวโปรตุกีสจะเคยสรรเสริญผู้ช่วยของเขาไว้ว่า "ถ้าเขาต้องการจะเป็นผู้จัดการทีมในวันพรุ่งนี้ เขาก็พร้อมที่จะรับงานในระดับสูงสุดได้เลยด้วยซ้ำ" แต่ผลงานของ ฟาเรีย ที่กาตาร์กลับไม่ได้ราบรื่นมากนัก แม้จะมีถ้วยแชมป์ อีเมียร์ คัพ (Qatar Emir Cup) มาประดับตู้โชว์ แต่เมื่อเจ้าตัวไม่อาจพาทีมไปสู่ตำแหน่งแชมป์ แถมยังพ่ายให้กับเพื่อนร่วมลีกอย่าง อัล ซาดด์ ของ ชาบี ถึง 0-4 ก็ทำให้ ฟาเรีย ตัดสินใจลงจากตำแหน่ง ยุติเส้นทางเฮดโค้ชครั้งแรกลงเพียง 1 ปีให้หลัง
รายอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาไม่ต่างกันนัก ได้แก่ ปาโก้ อาเยสตาราน อดีตมือขวาของ ราฟาเอล เบนิเตซ ผู้แยกตัวไปเป็นกุนซือตั้งแต่ปี 2013 แต่ก็ต้องระหกระเหินไปคุมถึง 7 สโมสร ด้วยอายุงานเฉลี่ยไม่ถึง 1 ปี และอัตราชนะเพียงแค่ 37% เท่านั้น หรือ ไบรอัน คิดด์ ผู้ช่วยคนเก่าของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่เคยพา แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ตกชั้นลงสู่ดิวิชั่น1 (แชมเปี้ยนชิพในปัจจุบัน) แถมยังรั้งตำแหน่งแถวท้ายตาราง ก่อนจะโดนปลดไปตามระเบียบ
ในเมื่องานของผู้ช่วยก็คือการทำสิ่งที่เฮดโค้ชไม่ได้ทำ และเป็นส่วนที่ดูแล้วไม่ได้มีความแตกต่างมากนัก แล้วทำไมโอกาสเติบโตของอดีตมือขวาเหล่านี้ถึงได้ยากเย็นเสียเหลือเกิน
ก้าวกระโดดที่ใหญ่เกินไป
คริส ฮิวจ์ตัน อดีตกุนซือของ ไบร์ทตัน คุ้นชินกับตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทีมเป็นอย่างดี หลังจากผ่านช่วงเวลาหลายสิบปีในจุดนั้นมาแล้ว ซึ่งเจ้าตัวทราบดีว่าแม้ชื่อเรียกตำแหน่งจะต่างกันแค่คำว่า "ผู้ช่วย" แต่เบื้องลึกเบื้องหลังของตัวงาน กลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
"คุณต้องเปลี่ยนชุดความคิดจากโค้ชมาเป็นผู้จัดการทีม ในฐานะผู้ช่วยคุณสามารถใกล้ชิดกับผู้เล่นได้มากกว่า หยอกล้อและกวนตีนพวกเขาได้ในทุกวัน แต่เมื่อเป็นกุนซือแล้วคุณจะต้องถอยออกมาจากจุดนั้น"
"แม้จะต้องการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เล่น แต่ผู้จัดการทีมส่วนใหญ่ต้องการระยะห่าง เพื่อให้สามารถทำการตัดสินใจสำคัญต่าง ๆ ในทุกวัน" และเจ้าตัวยังเสริมด้วยว่า "สำหรับบางคนแล้ว นี่คือการกระโดดที่ใหญ่เกินไป"
สิ่งหนึ่งที่ผู้ช่วยแทบไม่เคยต้องสัมผัสมาก่อนคือการตัดสินใจเรื่องใหญ่หรือสิ่งที่อาจมีผลกระทบตามมา เช่นการเลือกดรอปตัวผู้เล่น จัดแทคติกมาสู้กับคู่แข่ง "ในฐานะมือขวา คุณย่อมมีส่วนร่วมตัดสินใจอยู่แล้ว แต่คุณจะไม่ใช่คนที่ให้คำขาด และเหล่าผู้เล่นจะมองว่าผู้จัดการทีมคือคนที่ตัดสินใจทั้งหมดอยู่ดี"
จากคนที่มีประสบการณ์ตรงด้านนี้ ฮิวจ์ตันทราบดีว่าการให้ผู้ช่วยมีส่วนร่วมระหว่างฝึกซ้อมมีความสำคัญมากเพียงใด "ผู้ช่วยต่างต้องการทำงานให้ลุล่วง ซึ่งยิ่งคุณมีส่วนร่วมมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรู้สึกว่างานนั้นสำเร็จมากไปเท่านั้น ดังนั้นผมจึงให้ผู้ช่วยและเฮดโค้ชเข้ามานำการฝึกซ้อมในแต่ละเซสชั่น และผมจะนำซ้อมเองในบางช่วงเท่านั้น"
ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ตำแหน่งของผู้ช่วยที่เข้ามาเติมเต็มผู้จัดการทีมก็ย่อมถูกปรับตามความต้องการของกุนซือแต่ละคน ทั้งช่วยนำทีมซ้อม งานซื้อขาย เป็นกันชนคอยประสานกับผู้เล่น ซึ่งคงไม่มีใครตั้งคำถามถึงความสามารถของบุคลากรเหล่านี้ผู้มีส่วนสำคัญในการทำให้งานของบิ๊กบอสทั้งหลายง่ายลงได้
แต่การจะก้าวกระโดดขึ้นมา นอกจากจะต้องบ่มเพาะประสบการณ์ เก็บเกี่ยวทักษะความรู้แล้ว บางครั้งก็อาจจะต้องมีบารมี ออร่า ความกล้า และช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อเปลี่ยนสถานะจากเบอร์สองขึ้นไปเป็นหมายเลขหนึ่งแห่งสโมสรได้
ถ้าจะนิยามการทำงานของสองตำแหน่งให้ชัด คงต้องลองนึกภาพว่าเหล่าผู้จัดการทีมเป็นคนเล่นกีตาร์ไลน์โซโล่ที่บรรเลงทำนองเพลงติดหูให้เรารู้จักเพลง และจะมีผู้ช่วยคอยคุมไลน์ริทึมไปให้จนจบบทเพลง แน่นอนว่าแต่ละคนเล่นโน้ตที่แตกต่างกัน แต่เมื่อนำมารวมกันแล้วก็กลายเป็นเสียงเพลงอันแสนไพเราะได้
ฟุตบอลก็เช่นกัน แค่เปลี่ยนจากโน้ตดนตรีมาเป็นจังหวะลวดลายบนผืนหญ้านี่แหละ
บทความโดย กรทอง วิริยะเศวตกุล
แหล่งอ้างอิง:
โฆษณา