24 พ.ย. 2021 เวลา 08:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Coursera (NYSE: COUR) ผู้นำแพลตฟอร์มคอร์สเรียนออนไลน์ระดับ World class ที่ใหญ่ที่สุด (Massive Open Online Courses หรือ MOOC) โดยมีพาร์ทเนอร์เป็นมหาวิทยาลัย สถาบัน ชั้นนำทั่วโลก
.
ที่มาของ Coursera เริ่มมาจาก Professor Andrew Ng (แอนดรูว์ อัง) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จาก Stanford ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าพ่อวงการ AI และผู้ก่อตั้ง Google Brain ในปี 2011 ได้เปิดคอร์สสอนวิชา Machine learning แบบออนไลน์ คอร์สนี้ถือว่าเป็นคอร์สที่ประสบความสำเร็จมากโดยมีผู้ลงสมัครเรียนทั่วโลกเป็นหลักแสนคน
หลังจากนั้นไม่นาน Professor Andrew Ng จึงได้ชักชวนเพื่อนร่วมงาน Daphne Koller ศาสตราจารย์ด้าน AI จาก Stanford อีกคน ลาออกมาตั้งบริษัท ที่ชื่อว่า Coursera ในปี 2012 โดยมี mission ของบริษัทที่ ”จะสร้างโลกที่ทุกคนสามารถเปลี่ยนชีวิตด้วยการเข้าถึงประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุดในโลกได้”
.
#ตลาดงานในอนาคต
ด้วยการมาของ AI ที่จะมาช่วย automate งานที่มนุษย์ต้องทำซ้ำๆ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำให้งาน 85 ล้านตำแหน่งจะหายไปภายในปี 2025 และถูกแทนที่ด้วยตำแหน่งงานใหม่ๆจำนวนมาก ซึ่งงานใหม่นั้น require ทักษะใหม่ๆ ซึ่งทำให้คนต้องมีการ upskill และ reskill ไปตลอดชีวิต (Lifelong learning) หมดยุคที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยแล้วจะหยุดการเรียนรู้แล้ว ทันทีที่เราเรียนจบ ความรู้เราแทบจะ obsolete ทันที
นอกจากนั้น โควิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า The great resignation การลาออกครั้งใหญ่ ที่เป็นเทรนด์กันทั่วโลก ผู้คนอยากจะเปลี่ยนงานกันมากขึ้น ต้องการงานที่สามารถมอบอิสระให้กับชีวิตมากขึ้น และจะไม่ยอมตอกบัตรเข้างานทำงานกันในรูปแบบเดิมๆอีกต่อไป
ซึ่งทำให้เกิดเทรนด์การ work form anywhere คนไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อหางาน บริษัทต่างๆก็จะมีการจ้างงานจากส่วนต่างๆของโลก ขอเพียงแค่คนนั้นมีความสามารถอย่างที่ต้องการ และเราไม่จำเป็นจะต้องมีงานเพียงแค่อย่างเดียว ซึ่งทั้งหมดทำให้การเรียนรู้เพิ่มเติมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ ไม่สามารถตอบโจทย์พัฒนาคนให้ทันกับทักษะที่เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และในหลักสูตรการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมมักมีการ bundle วิชาที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาด้วย ทำให้ผู้เรียนเสียเวลาและเงินทองโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะในสหรัฐ ที่มีค่าใช้จ่ายในการเรียนสูงมาก เห็นได้จากหนี้ภาคครัวเรือนก้อนใหญ่เป็นอันดับสองในสหรัฐ ก็คือ เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา นั่นเอง
.
.
😁Coursera เกิดมาเพื่อแก้ปัญหานี้
 
Coursera แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพาร์ทเนอร์เป็นมหาวิทยาลัย สถาบัน ชั้นนำ 257 รายจาก ใน 54 ประเทศ มีหลักสูตร คอร์สเรียนออนไลน์ และปริญญาในหลากหลายสาขาวิชารวมกันให้เลือกถึง 8,214 คอร์ส ปัจจุบันมีผู้เรียนมากกว่า 92 ล้านคนทั่วโลก มีลูกค้ามากกว่า 100 รายที่เป็นบริษัทใน Fortune 500 และมากกว่า 6,000 แคมปัสทั่วโลก รวมถึงหน่วยงานของรัฐบาลที่เป็นลูกค้าด้วย
💎💎Coursera มี Products อะไรบ้าง
ใน Coursera จะมีคอร์สให้เลือกมากมายอยู่ใน 11 หมวดหมู่ ตั้งแต่ Business courses, Health, Arts and humanities, Personal development, Computer science, Social sciences, Math and logic, Data science, Language learning, Information technology และ Physical science and engineering
เมื่อเข้าไประบบจะให้เราสร้างโปรไฟล์และระบุ Career Goals ของเรา เพื่อที่ระบบจะได้ customized คอร์สให้ตรงกับความต้องการของเราได้ ซึ่งจะมีทั้งแบบ
 
1. Guided projects -- คอร์ส upskill สั้นๆที่เรียนจบได้ใน 2 ชั่วโมง อย่าง AWS S3 Basic, Building a Business Presence With Facebook Marketing, Introduction to Python ในส่วนนี้มีให้เลือกถึง 2,000+ คอร์ส
2. Courses -- คอร์สเรียนสั้นๆ จบใน 4-6 สัปดาห์ มี 5,000+ คอร์ส
3. Specializations -- คอร์สเรียนเน้นเนื้อหาลึกลงไปอีก จบใน 3-6 เดือน มี 600+ คอร์ส
4. คอร์สที่เรียนแล้วได้ Certificate -- ส่วนใหญ่จะใช้เวลาเรียนราว 3-9 เดือน ซึ่งมี 3 แบบ
⭐Professional Certificate ส่วนที่ทำร่วมกับบริษัทอย่าง Google, Facebook, IBM, Intuit, Salesforce มีให้เลือก ราว 90 คอร์ส เช่น Facebook Marketing Analytics, Google Data Analytics, IBM Cybersecurity Analyst เรียนจบได้ Professional Certificate เอาไปใช้สมัครงานต่อในสายงานโดยตรงได้เลย
⭐MasterTrack Certificates จะเป็นส่วนที่แยกเป็นรายวิชาของ Master's degree ออกมาเพื่อผู้สนใจเรียนเป็นบางวิชาที่ต้องการรู้จริงๆ มีให้เลือกราว 34 คอร์ส ในส่วนนี้ถ้าเราเป็นนักศึกษาที่ลงเรียนเป็น full time ในคอร์สนี้อยู่แล้ว สามารถเรียนออนไลน์นับหน่วยการเรียนได้
⭐University Certificates คอร์สรายวิชาของมหาวิทยาลัย มีวิชาที่น่าสนใจ อย่าง Blockchain Applications Certificate ของ Duke University
ทั้ง University และ MasterTrack Certificates คอร์สในส่วนนี้ยังมีไม่มาก และวิชาส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดหมู่ Data Science, Computer Science และ Business แต่ถือว่าเป็นการ unbundle การศึกษาแบบเก่าที่เราต้องลงเรียนกันเป็นหลักสูตรปริญญาหลายปีออกมาเพื่อให้เรียนแต่ส่วนสำคัญของหลักสูตรเท่านั้น
5. เรียนแล้วได้ Degree -- Coursera เป็นพาร์ทเนอร์กับมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายที่ มีทั้งหลักสูตรที่เป็น Bachelor, Master และ Postgraduate โดยค่าเรียนผ่าน Coursera ราคาถูกกว่ากันครึ่งนึงเทียบกับการเรียนในห้อง ซึ่งเนื้อหาต่างๆจัดทำโดยมหาวิทยาลัยเอง
Coursera ก็มีหลายคอร์สให้เราเรียนได้ฟรี และหลายคอร์สดีดีก็ให้เราลองนั่ง audit ได้ เพียงแต่เรียนจบเราก็จะไม่ได้ certificate ใดๆ แต่ถ้าเกิดเปลี่ยนใจอยากได้ใบเซอร์ก็สามารถทำได้ โดยต้องจ่ายเงิน ซึ่งราคาก็แตกต่างกันไปแล้วแต่คอร์ส
😄ตัวอย่างคอร์สดังๆใน Coursera ที่มีผู้ลงเรียนจำนวนมาก
Machine Learning ของ Stanford University -- ผู้เรียน 4.4 ล้านคน
The Science of Well-Being ของ Yale University -- ผู้เรียน 3.7 ล้านคน
Learning How to Learn: Powerful mental tools to help you master tough subjects ของ University of California San Diego -- ผู้เรียน 3 ล้านคน (คอร์สนี้แอดดูหลักสูตรแล้วน่าเรียนมาก)
Programming for Everybody (Getting Started with Python) ของ University of Michigan -- ผู้เรียน 2.4 ล้านคน
นอกจากนี้ Coursera ยังมีระบบติดตามผล ให้เราตั้งเป้าหมายการเรียนในแต่ละสัปดาห์ได้
✨มาดูส่วนของ #งบการเงิน
ปี 2019 – รายได้ 184 ล้านเหรียญ
ปี 2020 – รายได้ 294 ล้านเหรียญ โตขึ้น 59%
คาดการณ์รายได้ 2021 อยู่ที่ 412 ล้านเหรียญ คาดว่าจะโตขึ้น 40%
.
.
รายได้ของ Coursera แยกเป็น 3 ส่วน คือ
1. รายได้ส่วน Consumer -- คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 60% มี Gross margin 64%
 
2. รายได้ส่วน Enterprise -- สัดส่วนรายได้ 28% ลูกค้าเป็นองค์กร บริษัท แคมปัส รัฐบาล Gross margin 67%
โมเดลของ Coursera มีความคล้าย Netflix อยู่ คือ บริษัทผลิตวิดีโอเนื้อหาต้นฉบับเองแล้วสตรีมให้กับลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มตัวเอง โดยผู้เรียนสามารถเลือกที่จะจ่ายเป็นคอร์สไป หรือ สมัคร subscription ที่เรียกว่า Coursera Plus มีให้เลือกรายเดือน หรือ รายปี เพื่อให้เข้าถึงคอร์สต่างๆแบบ unlimited ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรายเดือน 59 เหรียญ หรือ รายปี 399 เหรียญ ที่ราคาคุ้มค่ากว่ามาก
3. รายได้ส่วน Degree -- คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 12% Gross margin 100%
บริษัทไม่มีต้นทุนการผลิตในส่วนนี้ ผู้เรียนจ่ายค่าเรียนโดยตรงกับมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยจ่ายค่าธรรมเนียมให้ Coursera ตามจำนวนค่าเล่าเรียน
✨ตัวเลขทางบัญชีขาดทุนอยู่
ปี 2019 – ขาดทุน 46 ล้านเหรียญ
ปี 2020 – ขาดทุน 67 ล้านเหรียญ
ค่าใช้จ่ายหลักๆมาจาก R&D และ Sales and General
✨Adjusted EBITDA ยังติดลบอยู่
ปี 2019 – ลบ 27 ล้านเหรียญ
ปี 2020 – ลบ 40 ล้านเหรียญ
คาดการณ์ Adjusted EBITDA 2021 อยู่ที่ ลบ 35.5 ล้านเหรียญ
✨3 ไตรมาสผ่านไปของปีนี้
รายได้รวม 300 ล้านเหรียญ โตขึ้น 43% YOY Gross profit 61.6%
โดยแบ่งเป็น
1.Consumer รายได้ 180 ล้านเหรียญ โตขึ้น 29% YOY
2.Enterprise 85 ล้านเหรียญ โตขึ้น 69% YOY
3.Degrees 35 ล้านเหรียญ โตขึ้น 72% YOY
✨Key Metrics ในไตรมาส 3 อื่นๆ
Learners 92 ล้านคน
จำนวนลูกค้า Paid enterprise customers ทั้งหมด 711 คน โตขึ้น 124% YOY
Net retention rate for paid enterprise customers 113%
จำนวนผู้เรียน Degree 16,068 คน โตขึ้น 40% YOY
Operating cash flow บวก 10.7 ล้านเหรียญ
Free cash flow 7.1 ล้านเหรียญ
Deferred revenue 95 ล้าน + Educator partners payable และเจ้าหนี้การค้าอื่น 56 ล้าน -- 2 รายการนี้คิดเป็น 76% ของหนี้สินทั้งหมด
มีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้น 816 ล้านเหรียญ คิดเป็น 85% ของสินทรัพย์ทั้งหมด
#CompetitiveAdvantage
Coursera มี Products คอร์สเรียนที่ดีเยี่ยมระดับ World-Class มี subscription model ที่เป็น recurring income ที่แม้ว่าจะมีสัดส่วนแค่ 25% ของรายได้ส่วน consumer แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
รวมถึงการมีพาร์ทเนอร์ที่เป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังชั้นนำ บริษัทเทคระดับแถวหน้าที่เรียนแล้วสามารถได้ certificate เอาไปใช้ต่อยอดในการทำงานได้
บริษัทมี Moat จากการมี network effects ที่การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้จะเป็นการเพิ่มคุณค่าให้แก่แพลตฟอร์มได้ ในที่นี้ เราเห็นแล้วว่า เมื่อจำนวนผู้เรียนในแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นการดึงดูดมหาวิทยาลัย หรือ บริษัทเทค ให้เข้ามาสร้างคอร์สเรียนหลากหลายมากขึ้น ซึ่งนั่นก็จะเป็นการดึงดูดผู้เรียนหน้าใหม่ให้เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มมากขึ้นไปอีก กลายเป็นวงจรหมุนไปไม่หยุด ซึ่งมีโอกาสที่จะนำไปสู่ธุรกิจที่เป็น winner take most ได้
รวมถึงการที่ในแพลตฟอร์มมี Top Instructors มีเรทติ้งในการสอนที่ดี บางคอร์สมีคนลงเรียนแล้วหลายล้านคน ก็เป็นการดึงดูดผู้เรียนให้เข้ามาในแพลตฟอร์มด้วย และพอมีผู้เรียนมากก็เป็นการดึงดูด Top Instructors ให้เข้ามามากขึ้นอีก ส่งผลให้คุณภาพของแพลตฟอร์มดีขึ้นไปอีก
ในตัวแพลตฟอร์มยังมีการใช้ data learning ที่บริษัทเก็บสะสมจากผู้เรียนเพื่อ customized คอร์สเรียนให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียนได้ และยังมีหลายภาษาให้เลือก ตั้งแต่ อังกฤษ เยอรมัน สเปน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลี โปรตุเกส รัสเซีย จีน ที่มาพร้อม transcript อีกด้วย
.
#คู่แข่งและความเสี่ยง
1. ในอุตสาหกรรม EdTech มีบริษัทเยอะมากๆที่ทำอยู่ เช่น Udacity, Udemy, LinkedIn Learning, EdX, Khan Academy
Udemy คอร์สเรียนสำหรับคนต้องการ upskill ในเวลาสั้นๆ สอนโดยคนที่มีความเชี่ยวชาญในสายงานนั้น คล้าย Skilllane ของไทย มีผู้เรียนราว 300 ล้านคน เพิ่ง IPO ไปเมื่อปลายตุลาที่ผ่านมา
LinkedIn Learning แพลตฟอร์มคอร์สเรียนของ LinkedIn สำหรับคนที่ต้องการ upskill ในการทำงาน
Khan Academy องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร มุ่งเน้นเนื้อหาฝั่งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
.
.
คู่แข่งรายใหญ่ที่ชนกันในเรื่องของกลุ่มผู้เรียน และคอร์สเรียนจริงๆของ Coursera ก็คือ Udacity และ EdX
Udacity ก่อตั้งขึ้นโดย 2 โปรเฟสเซอร์จาก Stanford มีผู้เรียนแล้ว 12 ล้านคนทั่วโลก คอร์สเรียนของ Udacity จะออกแนว tech skills, programming และ computer science
ซึ่ง Udacity ก็มีทั้งคอร์สที่ให้เรียนฟรี แล้วก็คอร์สที่เรียนแล้วได้ Nanodegrees certificates ของ Udacity เอง ซึ่งเอาไปใช้สมัครงานได้ ซึ่งค่าคอร์สของ Udacity ส่วนนี้จะมีราคาสูงอยู่ ราว 499 เหรียญ ในส่วนนี้ Coursera ก็มีคอร์สคล้ายกันที่จ่ายแค่ 40-80 เหรียญต่อเดือนเท่านั้น
edX เกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัย MIT และ Harvard ที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่จะให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่ทุกคนทั่วโลก โดยมุ่งเน้นเนื้อหาระดับมหาวิทยาลัย EdX เป็นพันธมิตรโดยตรงกับมหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วโลกกว่า 160 แห่ง อย่าง UC Berkeley, University of Texas, Caltech, Cornell, Australian National University, University of Tokyo, National University of Singapore, University of Cambridge ปัจจุบันมีหลักสูตรมากกว่า 3,000 หลักสูตร มีผู้ใช้ทั่วโลกประมาณ 24 ล้านคน
edX เป็นแพลตฟอร์มที่ดีมากๆ แรกเริ่มเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แต่ตอนนี้ถูกขายให้ 2U ไปแล้ว ถ้าเราอยากได้ edX เราก็ต้องไปซื้อหุ้น TWOU ซึ่งตอนนี้ราคาไหลมาก สอดคล้องไปกับผลประกอบการที่รายได้ของ 2U ในไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้บริษัทเริ่มไม่โต และมีแนวโน้มลดลงอีกด้วย
หากเทียบจำนวนผู้เรียน จำนวนคอร์สเรียน และความหลากหลายของคอร์สใน Coursera เทียบกับ Udacity และ edX ถือว่า Coursera มีจำนวนที่มากกว่าในทุกเมทริค
2. การที่ Coursera สร้างคอนเท้นต์เอง ทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายสูงตามไปด้วย ซึ่งมุมหนึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องดีที่ไม่มีแพลตฟอร์มไหนที่จะมีคอนเท้นต์เหมือน Coursera ได้ แต่อีกมุมหนึ่ง มหาวิทยาลัยต่างๆไม่ได้มีข้อตกลง exclusive ใดๆกับ Coursera ว่าจะไม่ทำคอร์สสอนแบบเดียวกันในแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งก็นับว่าเป็นความเสี่ยงหนึ่ง
3. ในส่วนของการเรียนแบบ degree ยังมีหลักสูตรไม่เยอะ ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆอาจอยากจะเลือกที่จะทำแพลตฟอร์มออนไลน์ของตัวเองขึ้นมาเองในอนาคต ไม่ต้องให้ Coursera มาคิดค่าคอมอีกต่อ
#โอกาสในการเติบโต
1. เติบโตไปกับ Total addressable market ในตลาด higher education 2 ล้านล้านเหรียญ
Global online degree market 74,000 ล้านเหรียญ
Organization training market 300,000 ล้านเหรียญ
และต้องมีคนจำนวน 1,300 ล้านคนเข้าสู่ตลาดแรงงานในอีก 10 ปี ซึ่งจะต้องมีการ Upskill reskill กันไปตลอดทั้งชีวิต
2. การมาของโควิด มาช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมในการเรียนรู้ของคนให้เข้าสู่โลกออนไลน์ให้เร็วขึ้น การจะย้อนกลับไปเรียนในห้องเรียนแบบเดิมๆน่าจะเป็นเรื่องยาก และ การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการจ้างงานในอนาคตที่จะเป็นแบบการทำงาน Remote Working น่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น
3. Coursera เพิ่งมี Market cap ราว 5 พันล้านเหรียญเท่านั้นและยังเพิ่งอยู่ใน early stage ของการเติบโตในอุตสาหกรรมที่ใหญ่และกำลังจะถูก disrupt โอกาสที่บริษัทจะเติบโตไปได้ runway น่าจะยังอีกไกล
.
สรุป Coursera หุ้นขนาดกลางที่มีศักยภาพในการเติบโต เป็นผู้นำที่อยู่ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่กำลังจะโดน disrupt แน่ๆไม่ช้าก็เร็ว กับราคาตอนนี้ที่ไหลลงต่ำ IPO สวนทางกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดย Morning Star ให้ Fair Value ไว้ที่ 38.98
ถ้าเราเชื่อว่าการปฏิวัติทางการศึกษาจะเกิดขึ้นจริง AI มาทดแทนแรงงานมนุษย์ มนุษย์ต้อง upskill reskill กันไปตลอดทั้งชีวิต เพื่อให้สอดคล้องไปกับความต้องการของตลาดที่ require ทักษะใหม่ๆในตลาดแรงงานที่เป็นเทรนด์เกิดขึ้นทั่วโลก Coursera ก็เป็นตัวเลือกที่ดีตัวหนึ่งในการลงทุนค่ะ
1
.
.
บทความนี้ไม่ได้เชียร์ให้ซื้อหุ้นแต่อย่างใด กรุณาศึกษาทำความเข้าใจด้วยตัวเองก่อนตัดสินใจลงทุนนะคะ
.
.
ชอบกดlike กดshare ให้แอดด้วยนะคะ
ติดตามบทความได้ทุกวันเสาร์ที่ 1 และ 3 ของทุกเดือน เวลา 9.00 เช้านะคะ
ช่องทางติดตาม
.
.
--Stock Surge—
เล่าเรื่องหุ้นนอกรายตัว แบบเข้าใจง่าย อ่านจบได้ใน 5 นาที
.
References:
1. S-1 COURSERA, INC.
2.Coursera Reports Third Quarter Fiscal 2021 Financial Results
3.Q3 Fiscal Year 2021 Investor Presentation
5. Wikipedia Coursera
6.Wikipedia edX
7.Morningstar
8.Seeking Alpha
9.‘Khan Academy VS edX’ ฟังสองเจ้าพ่อห้องเรียนออนไลน์คุยถึงประชาธิปไตยการเรียนรู้
10.Coursera: Biggest Global MOOC Platform with Millions of Learners Worldwide
11.Udacity vs Coursera: Let’s Battle It Out For A Winner
12.edX vs Coursera
13.Coursera Review
โฆษณา