24 พ.ย. 2021 เวลา 09:09 • ข่าวรอบโลก
จับตา สงครามราคาน้ำมัน หลังสหรัฐฯ จับมือมหาอำนาจปล่อยน้ำมันสำรองจากกคลัง
ราคาน้ำมันในตลาดโลกทุกวันนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่จำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันไปทั่วโลก เนื่องจากราคาของน้ำมันดิบในเวลานี้พุ่งสูงขึ้นกว่าปี 2020 มากกว่าเท่าตัวแล้ว โดยราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2014 ซึ่งกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC+) ก็ยังไม่ยอมเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันแม้ว่านานาประเทศจะร้องขอเพื่อให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง
ล่าสุดรัฐบาลสหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหลายประเทศ ถึงขั้นจับมือกันปล่อยน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ในคลังของประเทศตนเองออกมาเพื่อกดดันราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยสหรัฐฯ ระบุว่าจะมีการปล่อยน้ำมันสำรองของประเทศออกมาประมาณ 50 ล้านบาร์เรลเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันลง เนื่องจากชาวอเมริกัน และธุรกิจของชาวอเมริกันกำลังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณน้ำมันที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
Cr. Metro
ด้านรัฐบาลอังกฤษเองก็เตรียมปล่อยน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ออกมาไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านบาร์เรล รัฐบาลอินเดียประกาศปล่อยน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ออกมาประมาณ 5 ล้านบาร์เรล ในขณะที่จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เองก็เตรียมปล่อยน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ออกสู่ตลาดเช่นกัน แต่ยังไม่ได้ระบุปริมาณที่แน่นอน
ท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ถือว่าไม่ธรรมดาเพราะเป็นการแสดงท่าทีกดดันราคาน้ำมันอย่างตรงไปตรงมา และดูจะได้ผลเสียด้วย เพราะขนาดยังไม่ได้มีการปล่อยน้ำมันสำรองออกสู่ตลาด ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกก็ลดลงถึง 10 เหรียญฯ ต่อ บาร์เรลเกือบจะทันที แถมการกดดันครั้งนี้ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ แต่มาเป็นกลุ่มร่วมกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอีกหลายประเทศ
แน่นอนว่าท่าทีของสหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ ย่อมไม่เป็นที่ถูกใจกับกลุ่มประเทศ OPEC+ เพราะถือเป็นการกดดันราคาน้ำมันซึ่งเป็นรายได้หลักของกลุ่มประเทศ OPEC+ จนทำให้กลุ่ม OPEC+ ต้องประกาศประชุมทบทวนแผนการผลิตน้ำมันใหม่อีกครั้งในสัปดาห์หน้า โดยกลุ่ม OPEC+ ในปัจจุบันมีแผนที่จะผลิตน้ำมันดิบ 400,000 บาร์เรลต่อวัน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงธันวาคม 2021
โดยก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2020 ตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงกลางปี ราคาน้ำมันดิบนั้นมีการปรับตัวลดลงมากกว่า 70% เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้อัตราการบริโภคน้ำมันและเชื้อเพลิงลดลงเป็นอย่างมาก ก่อนที่จะปรับตัวสูงขึ้นหลังประเทศต่างๆ เริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
การที่กลุ่ม OPEC+ ยังไม่มีท่าทีจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ จะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ช้าลง อีกทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ก็ยิ่งทำให้ประเทศต่างๆ ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
การออกตัวกดดันราคาน้ำมันด้วยการประกาศปล่อยน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ออกสู่ตลาดของสหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจต่างๆ อาจจะทำให้กลุ่ม OPEC+ ดำเนินการตอบโต้ เนื่องจากกลุ่ม OPEC+ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน เป็นผู้คุมราคาตลาดน้ำมัน ย่อมไม่มีทางยอมให้ประเทศอื่นมากดดันเรื่องผลประโยชน์เช่นนี้แน่นอน และการเผชิญหน้าเชิงนโยบายจะนำไปสู่ “สงครามน้ำมัน” รอบใหม่ ที่ยังไม่รู้ว่าจะสร้างผลกระทบมากแค่ไหน
สำหรับประเทศไทยเองก็กำลังมีปัญหาเรื่องราคาน้ำมันเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลยังไม่มีทีท่าที่จะลดอัตราภาษีและเงินกองทุนน้ำมัน โดยอ้างว่าต้องรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน
ปัจจุบันประเทศไทยเก็บภาษีน้ำมันที่อัตราประมาณ 30-40% และเงินกองทุนน้ำมันประมาณ 5-20% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง แต่รัฐบาลไทยเลือกจะใช้วิธีขยายกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันจาก 20,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมัน และพร้อมพิจารณาขยายกรอบเพดานเงินกู้ได้อีก
อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ความตึงเครียดด้านราคาน้ำมันระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรอื่นๆ กับกลุ่ม OPEC+ ลุกลามจนกลายเป็น “สงครามราคาน้ำมัน” ประเทศไทยเองอาจจะต้องขยายเพดานเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันอีกหลายครั้งก็เป็นไปได้ หรืออาจตรึงราคาน้ำมันไม่ไหว จนจำเป็นต้องขึ้นราคาน้ำมันไปตามตลาดโลกซึ่งภาระก็จะตกอยู่กับประชาชน
โฟกัสทุกความเคลื่อนไหว ที่น่าสนใจและอัดแน่นไปด้วยสาระ 
ที่ TopNewsFocus เลือกสรรมาให้คุณเติมอาหารสมองกันได้ทุกวัน
ติดตาม Topnewsfocus ได้ทุกช่องทางที่
โฆษณา