25 พ.ย. 2021 เวลา 00:57 • หุ้น & เศรษฐกิจ
40 ปีที่ไม่มี “ของใหม่” ….แพ้เวียดนามหลุดลุ่ยในทุกด้าน
3
ถึงเวลาต้องสร้าง Growth Story (ตอนใหม่) หรือยัง ….
1
บทบาทของผู้ว่าแบงก์ชาติในสถานการณ์โควิด ไม่เพียงแต่การเร่งมาตรการที่จะแก้ปัญหา “หนี้” ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนหรือหนี้ธุรกิจที่เป็นผลพวงจากการแพร่ระบาด (และเป็นปัญหาที่เราสะสมมานาน) อีกบทบาทหนึ่งคือการนำเสนอแนวทางการหลุดออกจากกับดักที่ประเทศไทยติดกับดักนี้มากว่า 40 ปี
2
เรามีภาพในอดีตที่หลอกเราว่าชาติไทยเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะหากเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยแล้ว บางเรื่องเราคือที่หนึ่ง บางเรื่องก็เป็นที่สองหรือสาม เมื่อเปรียบเทียบกัน 40 ปีที่เรายังอยู่กับความภาคภูมิใจ ทำให้เราเดินช้าลงๆ จนบางช่วงบางเวลาที่เราประสบปัญหาการเมืองบ้าง ภัยธรรมขาติ “เราหยุดอยู่กับที่”
8
วันนี้เราแพ้เวียดนามในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่เรื่องการส่งออก การดึงนักลงทุนจากต่างประเทศ(FDI) ไปจนถึงเรื่องฟุตบอล ที่วันนี้ไทยไม่ได้เป็นเจ้าอาเซียนอีกต่อไปแล้ว
2
ปาฐกถาพิเศษ “Looking Beyond COVID-19 โจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด-19” ของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อ 18 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า เมื่อวิกฤติโควิดผ่านพ้นไป ประเทศไทยมีโจทย์ท้าทายอย่างมาก ที่ต้องหา growth story เพื่อสร้างการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไปมากด้วยบทสรุปว่า “หลังโควิด-19 เศรษฐกิจไทยโตได้แค่ปีละ 3% หากเราไม่มี growth storyใหม่ขึ้นมา แทนการพึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ มาตลอด40 ปี เราจะตามคู่แข่งเราไม่ทัน อย่างเวียดนามวันนี้แซงหน้าเราไปแล้ว”
5
ดร.เศรษฐพุฒิ ย้อนกลับไปว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เป็นยุคทองของเศรษฐกิจไทย สามารถขยายตัวได้ปีละมากกว่า 10% ขณะนั้น growth story ค่อนข้างชัด มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) ที่เข้ามาผลิตเพื่อส่งออก มีการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ที่ส่งผลให้ FDI โตมากกว่า 100% ต่อปี มีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าเวียดนามถึง 500 เท่า ด้านส่งออกก็มีมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญต่อปี มากกว่าเวียดนาม 10 เท่า
9
ประกอบกับญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาไทย เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน จากค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นมาก ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของไทย และตอนวิกฤติปี 2540 ที่เงินบาทอ่อนค่ามากก็ทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยวกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของไทย
7
“40 ปีผ่านมาไป โครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็ยังคล้าย ๆ เดิม ยังพึ่งพาการส่งออกในภาคเศรษฐกิจเดิม ๆ คือ ยานยนต์ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว ขณะที่บริบทของโลกกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะไม่แข็งแรงเหมือนเดิม” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว
4
เวียดนามแซงหน้าไทยแล้ว
ดร.เศรษฐพุฒิ ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันการส่งออกเวียดนามแซงไทยไปแล้ว โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวสูงกว่าไทย 6 เท่า ขณะที่การส่งออกของไทย 60% ยังอยู่ในอุตสาหกรรมโลกเก่า นอกจากนี้ ในอนาคตสินค้าไทยที่ไม่ “eco-friendly” อาจไม่เป็นที่ต้องการของตลาดที่เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
4
ดร.เศรษฐพุฒิ ยกตัวอย่างเรื่องรถยนต์สันดาปที่ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ที่จะถูกกระทบจากกระแสการลด carbon ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของการส่งออกรวมของไทย ที่แม้จะยังไม่เกิดขึ้นขณะนี้แต่สัญญาณการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้นแล้ว
2
ขณะที่ในเรื่อง FDI เวียดนามก็แซงหน้าไทยไปแล้วเช่นกันตั้งแต่ปี 2557 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา FDI ของเวียดนามสูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า โดย FDI ของไทยที่ลดลงนี้เป็นผลจากความน่าสนใจของไทยที่น้อยกว่าคู่แข่งในภูมิภาค ทั้งด้านต้นทุนและคุณภาพแรงงาน โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางการค้า
2
แม้แต่ในด้านตลาดทุน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ปรมาจารย์ท่านหนึ่งในเรื่องการลงทุนประเภท VI (Value Investor) ได้เคยนำเสนอบทความเรื่องพัฒนาการของตลาดหุ้นเวียดนามว่า เริ่มต้นด้วยการมองว่าตลาดหุ้นเวียดนามตามหลังไทยอย่างน้อยเป็น 10 ปี แต่วันนี้พัฒนาการไปเร็วมาก เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ดัชนีตลาดยังอยู่ที่ 600 จุด วันนี้อยู่ที่ 1,390 จุด ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยแทบไม่ไปไหนเลย (CEOBlog: กรุงเทพธุรกิจ,29 มิ.ย. 2564)
3
ท่องเที่ยวแบบเดิมเริ่มไม่ตอบโจทย์
1
ภาคการท่องเที่ยวที่เคยภูมิใจว่าเป็นภาคบริการที่ดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและจำนวนเงินมหาศาลเข้าประเทศนั้น หลังจากเกิดโควิด-19 ทำให้การเดินทางทั้งโลกหยุดชะงัก และต้องใช้เวลานานที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับไปเท่ากับช่วงก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังโควิดจะเน้นเรื่องสุขภาพและสุขอนามัย ทำให้นิยมเที่ยวกลุ่มเล็ก รวมทั้งจะใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น
5
ดังนั้น การจะหวังพึ่งรายได้การท่องเที่ยวที่มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงย่อมเป็นไปได้ยาก อีกทั้งยังจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่อง over-tourism ซึ่งล่าสุด จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในภาคการท่องเที่ยวของ World Economic Forum ด้านสิ่งแวดล้อม ไทยอยู่ในอันดับที่ 130 จาก 140 ซึ่งสะท้อนผลกระทบที่ชัดเจนจากรูปแบบการท่องเที่ยวเดิม ๆ ในช่วงที่ผ่านมา
3
ศักยภาพเศรษฐกิจไทยส่อตกต่ำเหลือโตได้ 3% ต่อปี
“ดังนั้น หากไม่เร่งยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เราอาจเห็นเศรษฐกิจไทยโตในอัตราที่ชะลอลง โดยถ้าเราดูอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะมาจากอัตราการเติบโตของแรงงานที่เรามีบวกกับอัตราการเติบโตของผลผลิตของแรงงานนั้น หรือที่เรียกกันว่า labor productivity ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา labor productivity โตปีละประมาณ 4% แต่ถ้ามองไปใน 10-20 ปีข้างหน้า จำนวนแรงงานของไทยจะลดลงมาเป็นปีละ -1% หากเราไม่ปรับในเรื่องของประสิทธิภาพแรงงานให้เพิ่มขึ้น ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเหลือเพียงปีละ 3%” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว
2
ชู “growth story” แบบไทย-ต่อยอดจุดแข็งที่มี
2
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า growth story ของไทยคงต้องเน้นโตแบบไทย คงไปโตแบบเวียดนาม หรือเกาหลีใต้คงไม่ได้ เพราะเวียดนามค่าแรงขั้นต่ำยังอยู่ที่ราว 200 บาทต่อวัน ของไทย 300 บาท และประชากรอายุเฉลี่ยแค่ 30 ปี ส่วนไทยเกือบ 40 ปี รวมถึงเวียดนามยังมีความเชื่อมโยงทางการค้า ผ่านการมี FTAs กับเกือบทุกคู่ค้าสำคัญ ส่วนเกาหลีใต้ที่เน้นเติบโตด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และ creative economy ไทยก็ยังขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ได้ไม่เร็ว
4
ดังนั้น ต้องเน้นโตในด้านที่ไทยมีศักยภาพในการต่อยอด นำสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์มาเป็นจุดแข็ง อย่างความพร้อมทางด้านทุนวัฒนธรรมที่สะสมอยู่มากและมีความหลากหลายสูง ทั้งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และศิลปหัตถกรรม ซึ่งสามารถนำมาต่อยอด เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
3
“ในระยะข้างหน้า จะมีอย่างน้อย 2 กระแสที่เข้ามากระทบการวาง growth story ของเรา อย่างแรก คือ กระแสดิจิทัลที่จะเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิง ส่วนอีกกระแสหนึ่ง คือ sustainability โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลเร็วและแรงกว่าคาด ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ภัยธรรมชาติเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ ของประเทศพัฒนาแล้วในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว
4
ผู้ว่าการ ธปท.ขอยกตัวอย่างการต่อยอดเพื่อสร้าง growth story อาทิ ภาคเกษตรและอาหาร ที่ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญและถูกยกให้เป็นครัวของโลก ซึ่งถือเป็น “ทุน” ที่ดีในการต่อยอด แต่การส่งออกในหมวดนี้ เป็นสินค้าเกษตรพื้นฐาน หรือสินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก ทำให้ครัวเรือนภาคเกษตรมีรายได้ตํ่ามาโดยตลอด รวมถึงภาคเกษตรยังใช้ทรัพยากรสูงและมีการใช้สารเคมี ทำให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม
3
“growth story ของไทยด้านนี้ จึงต้องเน้นยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้เป็นสินค้า premium ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยเพิ่ม productivity และความสามารถในการแข่งขัน ตั้งแต่การทำเกษตรแม่นยำ (precision agriculture) เพื่อช่วยลดต้นทุน การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์และการใช้ biopesticides จนถึงการมีแพลตฟอร์ม e-commerce เชื่อมเกษตรกรกับผู้ขายและผู้บริโภคโดยตรง และใช้ digital marketing ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ตลอดจนการผลิต future food ที่ใช้นวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม”
6
อีกตัวอย่าง คือ ภาคท่องเที่ยว ที่รายได้เติบโตจากปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นหลัก รวมทั้งมีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวจากบางประเทศ บางช่วงเวลา และบางจุดหมาย โดยเกือบ 80% ของนักท่องเที่ยวเดินทางไปเพียง 5 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก จนกลายเป็นปัญหา over-tourism ไทยจึงต้องปรับโมเดลให้มีภูมิคุ้มกันในระยะยาว
1
โดยเพิ่มรายได้ต่อหัวเพื่อชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะลดลง ในการเพิ่มรายได้นี้ ไทยควรต่อยอดจากจุดแข็งด้านธรรมชาติ culture และ hospitality ให้รวมไปถึงการสร้าง high value man-made attraction และ experience ต่าง ๆ ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง เช่น กลุ่ม health and wellness ที่มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงถึง 80,000-120,000 บาท
1
“นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เช่น กลุ่ม green หรือ community-based tourism ที่เน้นดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น จะช่วย “สร้างและกระจาย” รายได้ สูงกว่าการท่องเที่ยวแบบเดิม จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างและเพิ่มการลงทุนเพื่อรองรับโมเดลใหม่นี้ อาทิ การปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว การลงทุนในระบบคมนาคมเพื่อเชื่อมเมืองรอง การลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์กระแส contactless รวมถึงการยกระดับแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์และต่อยอดให้ภาคท่องเที่ยวทั้ง value chain อย่างเช่น แพลตฟอร์ม TagThai ที่กำลังดำเนินการอยู่” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
1
จี้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน
2
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวด้วยว่า ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย โดยภาครัฐจะต้องปรับสู่โหมด facilitator ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเองมากขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศหรือ ecosystem ที่สนับสนุนและผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัว และเศรษฐกิจโตอย่างเข้มแข็ง โดยตั้งธงหรือวางทิศทางนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ภาคธุรกิจเห็นภาพเดียวกันและวางแผนปรับตัวได้ และมีกลไกสนับสนุน โดยเฉพาะการปรับตัวเข้าสู่กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่อาจต้องเพิ่มแรงจูงใจให้เร่งทำ
2
นอกจากนี้ ต้องเร่งวางรากฐานเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและประชาชน เช่น การปรับกฎระเบียบต่าง ๆ (regulatory guillotine) การเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ ระบบคมนาคม digital infrastructure และระบบการศึกษา ให้สอดรับกับการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงเร่งขยายนโยบายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น FTA เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของไทยให้กับบริษัทข้ามชาติ (MNCs) และสามารถขยายตลาดส่งออกได้
สำหรับภาคธุรกิจที่จะตัดสินใจยกระดับธุรกิจ ปรับรูปแบบกิจการ หรือวางแผนลงทุนใหม่ โดยต้องให้น้ำหนักกับทั้งกระแสดิจิทัลที่ทำให้ธุรกิจต้องแข่งกันมากขึ้น และการปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานต่าง ๆ อย่างจริงจังและทันท่วงที เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพและความปลอดภัย
1
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์และตลาดทุนก็มีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน ให้สนับสนุนการปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสในอนาคต ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อหรือเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ เพื่อนำเทคโนโลโลยีดิจิทัลมาใช้ปรับธุรกิจ หรือมุ่งสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการผนวกเรื่อง ESG ในกระบวนการให้สินเชื่อ และมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างเคร่งครัด
“ส่วน ธปท.เองในฐานะผู้กำกับดูแลระบบการเงินก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทในการเป็น facilitator และลดความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงช่วยเอื้อให้ทุกภาคส่วน ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่กำลังจะมาถึง” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
สิ่งที่ผู้ว่าฯไม่สะดวกที่จะพูด
การขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ มี 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.การยอมรับในภาวะผู้นำที่คนในสังคมยอมรับเชื่อถือและเดินตามได้อย่างไม่สงสัยหรือขัดแย้ง 2.ปัจจัยสำคัญอีกประการ คือ ระยะเวลาที่ดำเนินการต้องมีความต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรก็ตาม
2
หรือแม้แต่ในกลุ่มก้อนการเมืองที่มีบทบาทในด้านนิติบัญญัติและการบริหารประเทศ จะมองเห็นจุดอ่อนจุดด้อยของประเทศที่เหมือนกันและร่วมกันผลักดันให้เกิดการต่อเนื่องได้หรือไม่ หากมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจการบริหาร จะยังหยิบยกมาดำเนินการต่อ หรือเมื่อเป็นรัฐบาลใหม่ก็ต้องทำโครงการใหม่
2
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
Instagram:
LINE TODAY: TheStoryThailand
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
2
โฆษณา