26 พ.ย. 2021 เวลา 00:41 • ข่าว
ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนเบอร์ 1 ของโลก และมีประเทศจีนที่เป็นผู้นำเข้าทุเรียนของประเทศไทยมากที่สุด
โดยตัวเลขการนำเข้าทุเรียนของประเทศจีนจากประเทศไทย ในปี 2019 ประเทศไทยส่งออกทุเรียน 518,424 ตันเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.27 มูลค่าการส่งออกถึง 983 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.98 เมื่อเทียบกับปี 2018 ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2020 ไทยจะส่งออกทุเรียนมากขึ้นเป็น 637,272 ตัน หรือมีมูลค่า 1,424 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
และจากข้อมูลปริมาณการส่งออกทุเรียนต่อวันของประเทศไทยไปยังประเทศจีนในเดือนเมษายน 2564 จาก ด่านตรวจพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร มีรายงานการส่งออกทุเรียนเฉลี่ยวันละกว่า 600 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเทียบในเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่ส่งออกทุเรียนเฉลี่ยวันละ 400 ตู้คอนเทนเนอร์ และคาดการณ์ว่าในฤดูปี 2565 จะมีปริมาณตู้ทุเรียนส่งออกมากกว่า 700 ตู้ต่อวัน
หลายๆคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าดีใจเพราะประเทศไทยส่งออกทุเรียนมากขึ้น แต่มีหนึ่งปัญหาที่ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนของไทยต้องเจอกันทุกๆปีนั่นคือปัญหา " ด่านส่งออก " เพราะอย่างที่ทุกคนรู้ว่าประเทศไทยไม่มีพรมแดนติดกับประเทศจีน การส่งออกทุเรียนจึงต้องผ่านประเทศที่สามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เราต้องเจอปัญหาหน้าด่านต้องแก้กันทุกปี และโดยเฉพาะ 1-2 ปีมานี้มีปัญหาการระบาดของโควิด - 19 เจ้าหน้าที่ตามด่านติดโควิด-19 จนทำให้ต้องมีการปิดด่านกันเป็นระยะๆ ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกต้องเชคข่าวกันตลอดเวลา ล่าสุดด่านโหยวอี้กวน ก็เพิ่งมีคำสั่งปิดด่านชั่วคราวเพราะมีคนติดโควิด-19
เรามาดูกันว่าปัจจุบันประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปทางไหนบ้าง
ทุเรียนไทยส่งออกไปประเทศจีนทางไหนมากที่สุด
อันดับ 1 ทางบกโดยรถคอนเทนเนอร์ 🚛🚛🚛
การขนส่งทางบก ปัจจุบันส่งไปยัง 2 เส้นทางหลักคือ
1. ถนนหมายเลข 9 หรือ R9 จากมุกดาหาร ผ่านดานัง เข้าพักที่ฮานอย แล้วสู่ปักกิ่ง เป็นศูนย์กลางการกระจายผลไม้ไทยไปยังภาคเหนือของจีน โดยมีตลาดซินฟาดี้ ซึ่งเป็นตลาดผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงปักกิ่ง โดยใช้เวลาเพียง 36 ชั่วโมง
2. ถนนสาย R 3A จากเชียงของ จ.เชียงราย ผ่าน ส.ป.ป.ลาว สู่ทางใต้ของจีนผ่านเมืองสิบสองปันนา คุนหมิง ไปพักที่มณฑลเสฉวน กระจายผลไม้ไทยสู่ภาคใต้ และชายแดนทิเบต หรือ จะเข้ามาสู่ปักกิ่งก็ได้
ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งจัดทำพิธีสารเปิดเส้นทางการขนส่งใหม่เพิ่มอีก 2 เส้นทาง คือ R12 จาก จ.นครพนม และผ่านด่านตงซิง หลังผู้ประกอบการส่งประสบปัญหาการล้าช้า (กรณีด่านโหย่วอี้กวนแออัด) สร้างความเสียหายให้ทุเรียนไทยจำนวนมาก ที่เกิดจากระเบียบใหม่ของจีน รวมถึงการจัดการโลจิสติกส์ และการจัดพื้นที่การเดินรถในด่านโหย่วอี้กวน ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำและหารือรายละเอียดของพิธีสารก่อนลงนามต่อไป แต่อย่างที่หลายท่านทราบปัจจุบันผลไม้ไทยยังไม่สามารถเข้าด่านตงชิงได้ ต้องไปพักที่เวียดนามก่อน ให้คู่ค้าเวียดนามขนข้ามไป
เส้นทาง R 12 ผ่าน เริ่มจาก จ.นครพนม-ด่านท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว-จังหวัด Quang Binh จ. Lang Son ของเวียดนามเข้าสู่จีน โดย ผ่านด่านผิงเสียง มณฑลกว่างซี ซึ่งเมืองผิงเสียงมี “ตลาดผลไม้เมืองผิงเสียง” (Pingxiang City) ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของจีน เป็นตลาดที่สามารถใช้เป็นประตูให้กับผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้ มีความสะดวกสบาย มีการบริหารจัดระบบโลจิสติกส์ดี และผ่านพิธีการศุลกากรได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผลไม้ ไม่เน่าเสีย
ทั้งนี้ เมืองผิงเสียง เป็นอำเภอระดับเมืองที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเมืองฉงจั่ว มณฑลกว่างซี เป็นเมืองชายแดนที่มีแนวพรมแดนติดกับ 3 อำเภอในจังหวัด Lang Son ประเทศเวียดนาม และสามารถเดินทางต่อไปถึง สปป.ลาว และไทย ตามเส้นทาง R 8 บึงกาฬ หนองคาย รวมถึงถนนสาย R9 มุกดาหาร และ R12 นครพนม ถือเป็นระยะทางสั้นที่สุดและสะดวกที่สุดของจีนที่ใช้เชื่อมต่อกับอาเซียน และยังเป็นข้อต่อสำคัญในยุทธศาสตร์ “มุ่งลงใต้” จากจีนไปยังสิงคโปร์
ส่วน “ด่านตงซิง” เป็นด่านการค้าผลไม้ แห่งใหม่ของเขตกว่างซีจ้วง และได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว ด่านแห่งนี้ส่วนใหญ่นิยมผ่านตามถนนเส้นทาง R 8 มีจุดเริ่มต้นที่ จ. บึงกาฬ เข้าเขตปากซันของ สปป.ลาว ผ่านเมืองวิงห์ มุ่งสู่ กรุงฮานอยของเวียดนาม และไปสิ้นสุดที่กว่างซีเช่นกัน
อันดับ 2 ทางเรือ 🛳🛳🛳
ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกทุเรียนทางเรืออยู่ 2 เส้นทางหลักคือ
1.ทางเรือจากแหลมฉบัง สู่ท่าเรือกวางโจว
2.ทางเรือจากแหลมฉบัง สู่ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ที่เป็นศูนย์กลางกระจายผลไม้ไทยไปฝากฝั่งทะเลจีน
การส่งออกทางเรือต้องผ่านหลายขั้นตอน อาทิ ทางเรือจากแหลมฉบังผ่านเวียดนาม ฮ่องกง กว่าจะถึงมณฑลกวางโจ หรือเซี่ยงไฮ้ของจีน ใช้เวลาเกือบ 2 อาทิตย์ (เฉลี่ย 12-13 วัน)
อันดับ 3 ทางเครื่องบิน ✈️✈️✈️
ช่องทางการส่งออกล่าสุดของทุเรียนไทย คือ ช่องทางเครื่องบิน เป็นการเช่าเหมาลำโดยผู้ประกอบการส่งออก โดยทุเรียนที่ส่งทางเครื่องบิน จะเป็นทุเรียนที่แก่จัด ส่งถึงมือผู้บริโภคทางจีนได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาเพียง 1-3 วัน
โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2564 ชาวสวนสมาชิกสหกรณ์เมืองขลุง จ.จันทบุรี ส่งออกทุเรียนไปจีนโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำของสายการบิน เซินเจิ้น แอร์ไลน์ จากสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์แบบสั่งซื้อล่วงหน้า หรือ Pre-Order ที่ลูกค้าจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์มาเรียบร้อยแล้ว 20 ตัน
นายเจียวหลิง ฟาน กรรมการผู้จัดการบริษัท รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า การสั่งซื้อทุเรียนของไทยผ่านระบบ Pre-Order ได้รับกระแสการตอบรับที่ดีมาก และทางบริษัทและสหกรณ์เมืองขลุง ได้มีการรับรองคุณภาพด้วย หากว่าทุเรียนที่ส่งถึงมือลูกค้าไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ ทางบริษัทยินดีรับเคลมและจัดส่งทุเรียนให้กับลูกค้าใหม่
ซึ่งในอนาคตการส่งออกทุเรียนทางเครื่องบินจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนไทยได้เป็นอย่างดี
ซึ่งหากเราดูตามข้อมูลนี้แล้ว เราหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องด่านทางบอกมากที่สุดเพราะเป็นเส้นทางที่ผู้ประกอบการส่งออกเลือกใช้มากที่สุด บางปีมีรถเข้าคิวติดด่านมากกว่า 2,000 คันสร้างความเสียหายให้กับทุเรียนที่ส่งไปยังประเทศจีนไม่น้อยเลยทีเดียวในแต่ละปี
การแก้ปัญหาของทางไทยก็ทำได้แก้กันไปปีต่อปี หน่วยงานต่างๆไม่ได้มีแผนในการแก้ปัญหาระยะยาว และโดยเฉพาะด่านที่ต้องผ่านประเทศเวียดนาม คู่แข่งทุเรียนของไทยที่มีการตั้งเป้าหมายจะส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนให้ได้ในอนาคต ไม่อยากจะคิดเลยว่าถ้าเวียดนามได้รับอนุญาตให้ส่งทุเรียนเข้าไปยังประเทศจีนได้ แล้วบางช่วงฤดูทุเรียนเวียดนามออกมาชนกับของเรา
ไม่อยากจะคิดสภาพเลยจะหนักหนาสาหัสกันแค่ไหน.........
หน้าด่านวิ่งกันหัวหมุนแน่นอน และส่งผลกระทบกับราคาทุเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ไม่รู้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มองปัญหานี้เพื่อเตรียมตัวแก้ไขไว้บ้างหรือยัง หรือคิดแค่ว่ามีปัญหามาก็แก้ผ้าเอาหน้ารอดไปเหมือนทุกๆปีที่ผ่านมา........
เขียนโดย เด็กท้ายสวน
ติดตามข่าวสารในวงการทุเรียนต้อง The Durian
Facebook : The Durian
Blockdit : The Durian
IG : thedurian2021
Youtube : The Durian Official
#thedurian #duriannews #ครบทุกเรื่องข่าวสารวงการทุเรียน
โฆษณา