26 พ.ย. 2021 เวลา 13:20 • สุขภาพ
อีสุกอีใส​ ไข้สุกใส (Chickenpox)​
เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบบ่อยในช่วงหน้าหนาว​ เกิดจากเชื้อไวรัส varicella-zoster ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด ติดต่อโดยการหายใจ ไอ จามรดกัน หรือการสัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใสหรืองูสวัด หรือสัมผัสถูกของใช้ เช่น ที่นอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่เปื้อนตุ่มแผลของผู้ป่วย​ การระบาดมักพบในช่วงต้นปีตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน
😷อาการ
1. ระยะไข้ ประมาณ 1-2 วัน ไม่ว่าจะเป็นไข้สูงหรือต่ำ มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวและปวดกล้ามเนื้อ
2. ระยะผื่นขึ้น จะขึ้นเป็นผื่นแดงเม็ดเล็ก ๆ ต่อมากลายเป็นเม็ดใส และเพิ่มปริมาณมากขึ้นภายใน 3 - 5 วัน พบผื่นบริเวณลำตัวก่อนลามไปคอ ใบหน้า ศีรษะ แขน ขา ทั่วลำตัว เนื้อเยื่อในช่องปาก และลำคอ ตุ่มอาจเป็นหนองเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย
3. ระยะตกสะเก็ด สะเก็ดแผลจะค่อย ๆ ลอก และจางหายไปประมาณ 2 สัปดาห์
ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใส​ พบว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคงูสวัด เพราะโรคงูสวัดคือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ที่ยังคงอยู่ในเซลล์ประสาท ถึงแม้ว่าการติดเชื้อที่ผิวหนังจะหายดีแล้ว แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอ.ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงสามารถเกิดเป็นโรคงูสวัดได้
😷อีสุกอีใสสามารถรักษาตามอาการ
1. ถ้ามีอาการปวด มีไข้ ให้ยาแก้ปวด
2. ถ้ามีอาการคัน ให้รับประทานยาแก้แพ้
3. ถ้ามีอาการปากเปื่อยลิ้นเปื่อยใช้น้ำเกลือกลั้วปาก
4. อีสุกอีใสสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน​ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยแนะนำให้รับวัคซีนเข็มแรกเมื่ออายุ 12 – 18 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 4-6 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่พบติดเชื้อได้บ่อยที่สุด แต่หากมีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น เกิดการระบาด หรือเพิ่งรับเชื้อ ให้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ทันที แต่ต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
👾อีสุกอีใสส่วนใหญ่เกิดกับเด็กเล็ก วัยรุ่น แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่แล้วมักจะมีอาการรุนแรงและมีโรคแทรกซ้อนมากกว่าในเด็ก​ ที่พบบ่อยคือ เกิดตุ่มหนองจากเชื้อแบคทีเรียพุพอง ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้ อาจเกิดปอดอักเสบแทรกซ้อน สมองอักเสบ แต่พบได้น้อยมาก ซึ่งภาวะแทรกซ้อนรุนแรง มักเกิดในคนที่ใช้ยาที่ลดภูมิต้านทานโรค เช่น สเตียรอยด์ หรือยารักษามะเร็ง (เช่น เด็กที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว) หรือผู้ป่วยเอดส์
🤖ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้แต่ค่อนข้างน้อยมาก ก็คือ หญิงตั้งครรภ์ในระยะไตรมาสแรกหรือไตรมาสที่ 2 ที่ติดเชื้ออีสุกอีใส อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ (เช่น แขนพิการ สมองพิการ ตาเป็นต้อกระจก เป็นต้น) นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นอีสุกอีใสในระยะก่อนคลอด 5 วันหรือหลังคลอด 2 วัน ทารกที่เกิดมาอาจเป็นอีสุกอีใสชนิดรุนแรงได้ ทารกกลุ่มนี้ควรได้รับการฉีดสารอิมมูนโกลบูลิน (เช่น Varicella-zoster immune globulin) ป้องกันทันที
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง และหายได้เอง โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไข้อาจ มีอยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดหลุดหายใน 1-3 สัปดาห์ ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้ อาจเป็นนาน และมีความรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยเด็ก
2. โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว มักมีภูมิต้านทานไปจนตลอดชีวิต จะไม่เป็นซ้ำอีก แต่อาจมีโอกาสเป็นงูสวัดในภายหลังได้
3. ไม่ควรใช้ยาที่เข้าสเตียรอยด์ทั้งยากิน (เช่น ยาชุด) และยาทา เพราะอาจทำให้โรคลุกลามได้
4. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก ระยะแพร่เชื้อติดต่อให้คนอื่นได้ คือ ตั้งแต่ระยะ 24 ชั่วโมงก่อนมีผื่นขึ้น
🤓หมายเหตุ​ การให้ยาต้านไวรัส แพทย์จะพิจารณาให้ยานี้เฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรง เช่น ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรังทางปอดหรือโรคผิวหนัง ผู้ที่ได้รับยาแอสไพรินหรือสเตียรอยด์อยู่เป็นประจำ ส่วนในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี และมีสุขภาพแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้
🔖
🔖
POSTED 2021.11.26
โฆษณา