Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธรรมชาติ ธรรมดา
•
ติดตาม
29 พ.ย. 2021 เวลา 00:00 • ปรัชญา
ปฏิจจสมุปบาท - เหตุเวียนว่ายตายเกิดเรื่อยไป (แบบที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้โดยง่าย)
3
ว่ากันว่าหากใครเข้าใจความจริงเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทโดยการเห็นแจ่มแจ้งด้วยจิตแล้วก็จะเป็นผู้อยู่เหนือโลก เหนือสมมุติทั้งปวง
2
เพราะเห็นเหตุผล ที่มาที่ไปของชีวิตในภพภูมิต่างๆ รวมทั้งความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของจักรวาลโดยรวม อันเป็นเรื่องลุ่มลึกพิสดารยิ่ง
ที่สุดของความเข้าใจแจ่มแจ้งในปฏิจจสมุปปบาท จะช่วยให้จิตถอนจากความหลงผิดเสียได้
กล่าวคือ เห็นสภาวะต่างๆที่ปรากฏ ทั้งที่ปรากฏสภาพเป็นมนุษย์ เดรัจฉาน เปรต เทวดา อินทร์ พรหม ล้วนเป็นเรื่องหลอกเล่นชั่วคราว เหลวไหลไร้แก่นสารพอ ๆ กับความฝัน หาใช่จะมีภาวะใดภาวะหนึ่งตั้งมั่นให้ยึดเกาะเป็นแหล่งพักพิงถาวรได้
พระพุทธเจ้าเคยตรัสแสดงเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทอันปรากฎในทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตันตปิฎก เล่มที่ 2 ซึ่งถือเป็นการแสดงธรรมเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่พระองค์แสดงไว้อย่างละเอียดลออ เห็นภาพชัดที่สุด ชนิดที่คนทั่วไปฟังแล้วเข้าใจได้ทันที
ครั้งนั้น พระองค์ท่าน ตรัสโดยเฉพาะกับพระอานนท์ โดยเริ่มเกริ่นว่า ปฏิจจสมุปบาทนี้ ลึกซึ้งสุดประมาณและปรากฏเป็นของลึก
ดูกรอานนท์ เพราะไม่รู้จริง เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งธรรมอันนี้ หมู่สัตว์นี้ จึงเกิดเป็นผู้ยุ่งประดุจด้ายของช่างหูก เกิดเป็นปมประหนึ่งกระจุกด้าย
ความหมายคือทุกชีวิตมีความซับซ้อน แม้กระทั่งมดปลวกที่เราเห็นเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กน้อยก็มีเงากรรมที่ยุ่งเหยิงติดพันตัวมาอย่างไม่อาจคาดเดาได้ถูก
พระพุทธเจ้ามีพระญานประการหนึ่งเป็นการเฉพาะ ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ แปลง่าย ๆ ว่า ไม่มีอะไรที่ไม่รู้ โดยเฉพาะต้นเหตุของผลลัพธ์ทั้งหลาย
และเมื่อรู้ถึงที่สุดของทุก ๆ ความลับในห้วงจักรวาลแล้ว พระองค์ท่านก็มาประกาศความจริง คือไม่มีเทพเจ้าที่สร้างชีวิต แล้วชีวิตก็ไม่ได้เกิดจากอำนาจของความบังเอิญ บันดาลขึ้นด้วย
โดยที่แท้ การจะเกิดมีเกิดเป็นอะไรได้ ต้องมีต้นเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ซึ่งรวมเป็นคำสรุปง่าย ๆ ได้ว่า...
'เพราะสิ่งหนึ่งมี อีกสิ่งหนึ่งจึงมี'
เรียงตามลำดับเหตุผลให้ได้ดังนี้
🔸เพราะชาติมี ชรามรณะจึงมีขึ้นมาได้🔸
หากชาติไม่ได้มีแก่ใคร ๆ เลยในภพต่าง ๆ ความชราและมรณะก็ไม่พึงปรากฏได้
*ชาติ คือ ภาวะมีชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสัตว์ เป็นคน เป็นเทวดา เริ่มนับความเป็นชาติจากการเกิด แล้วสิ้นสุดลงที่การตาย
🔸เพราะภพมี ชาติจึงมีขึ้นมาได้🔸
หากภพไม่ได้มีแก่ใคร ๆ โดยความเป็นกามภพ รูปภพ อรูปภพ เช่นนั้น ชาติก็ไม่พึงปรากฏได้
*ภพ คือภาวะความเป็นโลก อย่างใดอย่างหนึ่ง มีอยู่ในธรรมชาติ พร้อมจะให้เป็นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตตามวาสนาในแต่ละชาติ
กามภพ คือโลกสำหรับเหล่าสัตว์ที่มีเพศชาย หญิง นับแต่นรก เดรัจฉาน เปรต มนุษย์ขึ้นไปถึงเทวดา
รูปภพ คือโลกสำหรับเหล่าสัตว์ที่ปราศจากเพศ แต่มีรูปพรรณสัณฐานภายนอกแบบบุรุษ ได้แก่ เหล่าพรหมที่มีรูปร่างหน้าตา
1
อรูปภพ คือโลกสำหรับเหล่าสัตว์ที่ปราศจากเพศและรูปร่างหน้าตา ได้แก่เหล่าพรหมที่มีแต่จิต
🔸เพราะอุปาทานมี ภพจึงมีขึ้นมาได้🔸
หากอุปาทานไม่ได้มีแก่ใคร ๆ โดยอาการหลงผูกติดอยู่กับความเชื่อผิด ๆ การปฏิบัติตนผิด ๆ ความรู้สึกว่ามีตัวตน เช่นนั้นภพก็ไม่พึงปรากฏได้
*อุปาทาน คืออาการที่จิตยึดมั่น ไม่ปล่อย เปรียบเหมือนมีพันธนาการผูกหมู่สัตว์ไว้กับภพที่น่าปรารถนา นับแต่แรงดึงดูดทางกาย และสายใยผูกทางใจแบบมนุษย์ ตลอดจนความยึดติดอยู่กับความรู้สึกในตัวตนที่ยิ่งใหญ่แบบพรหม
🔸เพราะตัณหามี อุปาทานจึงมีขึ้นมาได้🔸
หากตัณหาไม่ได้มีแก่ใคร ๆ โดยความเป็นอาการทะยานอยากเห็นรูปที่ชอบ ได้ยินเสียงที่ชอบ ได้กลิ่น ลิ้มรส รับสัมผัส เสพภาวะทางใจที่ชอบ เช่นนั้น อาการหลงผูกติดทั้งหลายก็ไม่พึงปรากฏได้
*ตัณหา คืออาการทะยานของจิตที่พุ่งเข้าสู่สัมผัสอันน่าชอบใจที่เป็นเป้าหมาย เปรียบเหมือนแรงบีบลูกธนูออกจากแล่งอย่างแรง ยากที่จะหยุดได้ไล่ทัน หรือหยุดยั้งลูกธนูให้หยุดกลางคัน ยิ่งแรงส่งมากเท่าไร การปักติดของลูกธนู หรืออีกนัยยะคือการเกิดอุปาทานก็ยิ่งแรงขึ้นเท่านั้น
🔸เพราะเวทนามี ตัณหาจึงมีขึ้นมาได้🔸
หากเวทนาไม่ได้มีแก่ใคร ๆ โดยการเป็นความรู้สึกสุขทุกข์ที่เกิดจากตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัส มโนสัมผัส เช่นนั้น ความอยากทางกามคุณ ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ และความไม่อยากเป็นนี่เป็นนั่น ก็ไม่พึงปรากฏได้
*เวทนาคือความรู้สึก ซึ่งมีทั้งสุขสบายและอึดอัดเป็นทุกข์ อาจจะเนื่องด้วยความรู้สึกอันเป็นไปในทางกาย หรือทางใจ
🔸เพราะผัสสะมี เวทนาจึงมีขึ้นมาได้🔸
1
หากผัสสะไม่ได้มีแก่ใคร ๆ โดยความเป็นการสัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (สฬายตนะ) เช่นนั้น เวทนาก็ไม่พึงปรากฏได้
1
*ผัสสะ คือการกระทบกันระหว่างตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับการแตะต้อง ใจกับนามธรรมทั้งปวง
🔸เพราะนามรูปมี ผัสสะจึงมีขึ้นมาได้🔸
หากนามรูป อันมีทั้งรูปกาย กับทั้งความรู้สึกนึกคิด ประกอบรวมอยู่ด้วยกัน ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ แล้ว การสัมผัสกระทบทางกายก็ไม่พึงปรากฏได้ การที่จะสัมผัสรู้จักชื่อเสียงของสิ่งหนึ่ง ๆ ก็ไม่พึงปรากฏได้ การที่จะสัมผัสรู้ชื่อเรียกของสิ่งหนึ่ง ๆ ก็ไม่พึงปรากฏได้
*นามรูป คือภาวะทางธรรมชาติแห่งการรวมตัวกันระหว่างรูปธรรมกับนามธรรม รูปธรรมได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดูก เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ส่วนนามธรรม ได้แก่ ธรรมชาติแห่งการรู้สึกได้ นึกคิดได้
🔸เพราะวิญญาณมี นามรูป จึงมีขึ้นมาได้🔸
หากวิญญาณไม่อาจหยั่งลงในครรภ์ของมารดา นามรูปในครรภ์แห่งมารดา ก็ไม่อาจสืบต่อก่อร่างเป็นมนุษย์ในครรภ์
2
หรือถ้าวิญญาณหยั่งลงในครรภ์มารดาแล้วล่วงเลยไป จะมีนามรูปบังเกิดขึ้นโดยเป็นมนุษย์เต็มตัวเช่นนี้ก็หาได้ไม่
วิญญาณของทารกชาย หรือทารกหญิงก็ดี วิญญาณของเด็กน้อยในวัยเยาว์ก็ดี ถ้าไม่อาจสืบต่อได้แล้ว นามรูปจะเจริญเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มเป็นสาวก็หาได้ไม่
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องกล่าวว่า ถ้าวิญญาณไม่มี นามรูปก็ไม่พึงปรากฏได้ และในทางกลับกัน ถ้าวิญญาณจะไม่ได้นามรูปเป็นที่อาศัยเสียแล้ว ความเกิดขึ้นแห่งชาติ ชรา มรณะ และกองทุกข์ก็ไม่พึงปรากฏด้วย
*วิญญาณคือธาตุรู้ แต่เพื่อจะรู้อะไร ๆ ในโลกมนุษย์ ก็ต้องอาศัยหูตาของมนุษย์ ส่วนกายมนุษย์ จะเกิดและโตได้ก็ต้องอาศัยวิญญาณมาประกอบ ฉะนั้น ทั้งนามรูปและวิญญาณจึงได้ชื่อว่าอาศัยซึ่งกันและกันในการเกิด
1
🔸เพราะสังขารมี วิญญาณจึงมีขึ้นมาได้🔸
การสั่งสมกรรม อันเป็นบุญบ้าง บาปบ้าง เป็นสมาธิฌานตั้งมั่นไม่หวั่นไหวบ้าง ตกแต่งให้เกิดภูมิแห่งวิญญาณต่าง ๆ
ผลของกรรมอันพิสดารของเหล่าสัตว์ ทำให้บางภูมิแห่งวิญญาณมีรูปกายต่างกัน และมีความรู้สึกรู้สาในภาวะแห่งตนต่างกัน เช่น เหล่ามนุษย์ เหล่าเทพบางพวก เหล่าสัตว์ต้องโทษบางจำพวก
ความต่างแห่งวิญญาณต่าง ๆ บันดาลขึ้นโดยวิบากแห่งกรรม หากปราศจากการสั่งสมบุญบาป หรือปราศจากการสั่งสมสมาธิ เพื่อความตั้งมั่นไม่หวั่นไหวแล้ว ความต่างแห่งวิญญาณในภูมิต่าง ๆ ก็ไม่พึงปรากฏได้
*สังขารคือการปรุงแต่งทางจิต ให้เป็นดีเป็นร้าย เป็นสว่างเป็นมืด เป็นสมาธิเป็นฟุ้งซ่าน แล้วแต่ละแบบก็มีความเข้มข้นต่างกัน จึงก่อให้เกิดที่ตั้งที่อยู่ของวิญญาณแต่ละจำพวกอันพิสดารหลากหลาย
🔸เพราะอวิชชามี สังขารจึงมีขึ้นมาได้🔸
เพราะการไม่รู้โทษแห่งการที่วิญญาณต้องดับสลายแล้วกลายเป็นอื่น และเพราะความไม่รู้ทางออกจากภูมิแห่งวิญญาณทั้งปวง
สัตว์ทั้งหลายจึงมัวเมาเพลิดเพลินในภูมิแห่งวิญญาณของตน และหลงสั่งสมบุญ หลงสั่งสมบาป หรือหลงสั่งสมสมาธิเพื่อความตั้งมั่นไม่หวั่นไหวกันอยู่
ต่อเมื่อรู้แจ้งต่อภูมิในความเป็นวิญญาณหนึ่ง ๆ รู้แจ้งในการเกิด รู้แจ้งในการดับ รู้คุณและโทษในความเป็นภูมิแห่งวิญญาณหนึ่ง ๆ ตลอดจนรู้ทางออกจากภูมิแห่งวิญญาณ ก็ย่อมหมดความเพลิดเพลินยินดี แล้วพ้นจากภูมิแห่งวิญญาณทั้งปวงเสียได้
*อวิชชาคือความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร สำคัญผิด คิดว่ามีตัวของตนอยู่แน่ ๆ ไม่เฉลียวคิดเลยว่า ภาวะคิดนึกรู้สึกได้มีจิตรู้เห็นได้อย่างนี้ เป็นเพียงวิญญาณในภูมิหนึ่ง ซึ่งวันหนึ่งจะต้องแปลเป็นอื่นตามกรรม กับทั้งไม่รู้เลยว่าถ้าจะออกจากความไม่แน่นอนนี้ ต้องทำกันอย่างไร
ความยากของปฏิจจสมุปบาทไม่ได้อยู่ที่การทำความเข้าใจความเกี่ยวเนื่องกันของแต่ละสิ่งเหล่านี้
แต่เพราะด้วยการมองเห็นของมนุษย์นั้น ไม่สามารถทำให้เห็นถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาได้เลย
เรารู้ว่าการเกิดมี การชรา มรณะมี แต่ไม่สามารถมองเห็นไปถึงสิ่งอันเป็นนามธรรม เช่น วิญญาณ เวทนา เป็นต้น จึงยากแก่การเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง
อีกทั้งยังไม่สามารถเห็นได้ถึงสภาวะแห่งการหลุดพ้นจากภูมิแห่งวิญญาณนั้นเป็นอย่างไร การพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดเป็นอย่างไร
เมื่อเรามองไม่เห็น และแม้จะจินตนาการก็ยากแก่การเข้าถึง จึงทำให้ยังไม่สามารถรู้แจ้งแทงตลอดในปฏิจจสมุปบาทได้อย่างแท้จริง
มีครั้งหนึ่งพระอานนท์ได้ถามกับพระพุทธเจ้าว่า
“เมื่อปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นสิ่งลึกซึ้งสุดประมาณ และปรากฏเป็นของลึก แต่เหตุใดจึงปรากฏแก่ข้าพระองค์ เหมือนเป็นของตื้นนัก”
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า “เธออย่าพูดอย่างนั้น อานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้ ลึกซึ้งสุดประมาณและปรากฏเป็นของลึก”
นั่นหมายถึง เราสามารถทำความเข้าใจโดยตื้นเขินได้ถึงความเกี่ยวพันกันของสิ่งต่าง ๆ ในปฏิจจสมุปบาท หรือท่องจนจดจำได้ขึ้นใจ
แต่หากจะทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเพื่อความรู้แจ้งและหลุดพ้นที่แท้จริงนั้น ต้องอาศัยการรู้ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติเพื่อไปสู่ความหลุดพ้นประกอบกันไปด้วย จึงจะเรียกได้ว่าเข้าใจแจ่มแจ้งด้วยจิต
เมื่อเข้าใจแล้ว รู้แล้ว เห็นอย่างลึกซึ้งแล้ว ก็จะไม่พึงใจ ไม่เพลิดเพลินต่อการวนเวียนเกิดอีก ถือเป็นการตัดวงจรของปฏิจจสมุปบาท และเมื่อสิ่งหนึ่งดับ สิ่งอื่น ๆ ก็จะดับเช่นกัน
และเมื่อดับสิ้น ก็หลุดพ้นจากวนเวียนแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้นั่นเอง
.
ข้อมูลจากหนังสือ เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน ฉบับเกิดใหม่ในสวรรค์
ธรรมะ
พระธรรมคำสอน
พุทธศาสนา
19 บันทึก
25
14
14
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สาระธรรม
19
25
14
14
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย