29 พ.ย. 2021 เวลา 23:06 • ดนตรี เพลง
ประวัติเพลง : กลิ่นโคลนสาบควาย
เพลงแรกของเมืองไทยที่โดนแบน
เพลงแรกของเมืองไทยที่โดนแบน คือ เพลง กลิ่นโคลนสาบควาย ของ ชาญ เย็นแข ถูกห้ามเผยแพร่ ในสื่อ ต่าง ๆ ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม จากที่ถูกแบน ก็เลยทำให้ แผ่นเสียงเพลง เพลงนี้ ยอดขายสูงสุดในวงการแผ่นเสียงเมืองไทย ซึ่งขายได้ถึง 800 แผ่น ในสมัยนั้น ที่ถูกแบนเพราะว่า เนื้อหาเพลงเป็นการพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะฉะนั้น บรรดาศิลปิน เพลง หลาย ๆ กลุ่ม หรือแทบจะทุกกลุ่ม โดยเฉพาะ ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต เขาจะถือเอาเพลงนี้ เป็นเพลงครู
มีเรื่องเล่า และข้อสันนิษฐานกันมากมายหลายหลาก ว่าทำไมรัฐบาลในสมัยนั้นจึงห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่เพลงกลิ่นโคลนสาบควายทางวิทยุกระจายเสียง มีทั้งข้อสันนิษฐานว่า ตาสี คงเป็นชื่อของบิดาของผู้มีอำนาจในสมัยน้ั้น ความเห็นนี้เป็นของ ชาญ เย็นแข ที่พูดหยอกๆ ทีเล่นทีจริง แต่มีคนเอามายึดถึงเป็นจริงเป็นจัง
ข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าจะพอฟังได้คือ เพลงนี้เป็นเพลงที่กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ใช้เป็นเพลงนำรายการวิทยุกระจายเสียงของฝ่ายคอมมิวนิสต์มานาน ตั้งแต่ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยที่เพลงนี้ออกใหม่ๆ เพราะเป็นเพลงที่มีเนื้อหากินใจ ยิงตรงยัง target group ของกลุ่มกองทัพปลดแอกฯ
จนกระทั่งสหายปรีชา หรือ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้แต่งเพลงภูพานปฏิวัติให้ในปี พ.ศ. 2508 และใช้เป็นเพลงของกองทัพปลดแอกฯ ที่ภายหลังแปรสภาพมาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั่นแหละ เพลงกลิ่นโคลนสาบควายถึงได้พ้นโทษแบนในสมัยจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์
เพลงนี้เป็นเพลงที่มีเนื้อหาแบ่งแยกยกย่องชาวนา แฝงด้วยน้ำเสียงตำหนิผู้ที่มีฐานะทางสังคมดีกว่า ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในสังคม และเข้าทางฝ่ายคอมมิวนิสต์ ว่ากันในบริบทในสมัยนั้น ต่อให้เพลงนี้ไม่ถูกใช้เป็นเพลงนำรายการวิทยุฝ่ายซ้าย ก็ยังมีเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์การแบ่งชนชั้นทางสังคม มีแนวโน้มที่จะถูกเพ่งเล็งอยู่ดี
แต่ตามปกติธรรมดาว่าเวลารัฐบาลปัญญาอ่อนโยนใช้วิธีห้ามโน่นห้ามนี่ เราก็ยิ่งอยากทำ ห้ามเปิดเพลงไหน เราก็ยิ่งอยากหาเพลงนั้นมาฟัง เพราะนอกจากหาฟังที่อื่นไม่ได้แล้ว เราก็ยังอยากรู้ว่าทำไมถึงห้าม (วะ) ทำเอาแผ่นเสียงเพลงกลิ่นโคลนสาบควายขายดีชนิดพิมพ์แผ่นกันไม่ทันเลยทีเดียว ขึ้นราคาจาก 17 บาท ไปเป็น 30-40 บาท ก็ยังขายได้ เป็นเพลงที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคน ถือได้ว่าโชคดีที่ถูกแบน แผ่นเสียงเพลงนี้ขายได้ไม่ต่ำกว่า 6 พันแผ่น ใน 15 วัน ในยุคที่เพลงดังอย่างค่าน้ำนม ขายได้แค่ 800 แผ่นเอง พูดได้ว่าในยุคนั้นใครมีเครื่องเล่นแผ่นเสียง ก็ต้องมีแผ่นนี้อยู่ในครอบครองอย่างแน่นอน
เพลงกลิ่นโคลนสาบควายต้นฉบับ บันทึกเสียงในปี พ.ศ. 2496 โดยเสียงของ ชาญ เย็นแข เพลงนี้ยังไม่ต้องว่ากันถึงเนื้อเพลง หรือเรื่องราวของเพลงหรอกครับ แค่ชื่อเพลงก็เพราะแล้ว การเลือกคำที่เป็นชื่อเพลง นอกจากสื่อความหมายโดยการวาดภาพ (ประกอบกลิ่น) แล้ว ก็ยังใส่กลบท ของร้อยกรองกันตั้งแต่ชื่อเพลงเลยทีเดียว
ในเพลงนี้ สิ่งที่โดนใจคือการวาดภาพชีวิตของชาวนาออกมาในเพลงได้อย่างชัดเจน ทำให้คนฟังเหมือนเข้าไปอยู่ร่วมในเหตุการณ์ และไม่ใช่แค่ภาพเท่านั้น ยังมีการสะท้อนความคิด และอุดมการณ์ทางสังคมออกมาในเพลงด้วย นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เพลงนี้เป็นอมตะ เทคนิคในการเล่าเรื่อง และอุดมการณ์เบื้องหลัง ทำให้เพลงมีแก่นของเนื้อหาที่แข็งแรง เมื่อฟังทีไร ไม่ว่าจะในสมัยนั้น หรือเมื่อห้าสิบปีผ่านมา ก็ยังสะท้อนภาพที่จริงอยู่เสมอ ถึงแม้ในเพลงนี้จะไม่มีการใช้ภาษา ที่รุ่มรวยพิสดารเหมือนในเพลงอื่นๆ ของครูไพบูลย์ก็ตาม แต่ก็ยังมีลีลากวีที่งดงามไม่น้อยในการวาดภาพให้คนฟังได้เห็น
ภาพชีวิตชาวนาในเพลงนี้ ไม่ใช่ภาพชีวิตชาวนาจากมุมมองของชาวกรุงที่ไม่ได้มีความรู้อะไร ได้แต่เห็นชาวนาแล้วก็คิดเอาเองว่า “…ข้างขึ้นเดือนหงาย เราขี่ควายชมจันทร์...” หรือ “…ไขว่ห้างนั่งเฉย เอ้อระเหยลอยชาย เป่าขลุ่ยเพลงหนังบนหลังควาย ชื่นพระพายโชยมา...”
แต่ครูไพบูลย์ที่มาจากครอบครัวชาวนานั้นบอกให้เรารู้ว่าชาวนานั้น “…ชีวิตเอย ไม่เคยสบาย ฝ่าเปลวแดดแผดร้อนแทบตาย ไล่ควายไถนาป่าดอน เหงื่อรินหยดหลั่งลงรดแผ่นดินไทย จนผิวดำเกรียมไหม้ แดดเผามิได้อุทธรณ์...”
เมื่อสะท้อนจากปากคำของกวีชาวนา จึงไม่แปลกที่เพลงนี้จะสะท้อนชีวิตชาวนาได้ราวกับเป็นสารคดีเรื่องหนึ่ง
...อย่าดูหมิ่น ชาวนาเหมือนดั่งตาสี
เอาผืนนาเป็นที่ พำนักพักพิงร่างกาย
ชีวิตเอย ไม่เคยสบาย
ฝ่าเปลวแดดแผดร้อนแทบตาย
ไล่ควายไถนาป่าดอน
เหงื่อรินหยด หลั่งลงรดแผ่นดินไทย
จนผิวดำเกรียมไหม้ แดดเผามิได้อุทธรณ์
เพิงพักกายมีควายเคียงนอน
กลิ่นโคลนสาบ ควายเคล้าโชยอ่อน
ยามนอนหลับแล้วใฝ่ฝัน
กลิ่นโคลนสาบควายเคล้ากายหนุ่มสาว
แห่งชาวบ้านนา
ไม่ลอยเลิศฟ้าเหมือนชาวสวรรค์
หอมกลิ่นน้ำปรุงฟุ้งอยู่ทุกวัน
กลิ่นกระแจะจันทร์
หอมเอยผิวพรรณนั้นต่างชาวนา
อย่าดูถูก ชาวนาเห็นว่าอับเฉา
มือถือเคียวชันเข่า
เกี่ยวข้าวเลี้ยงเราผ่านมา
ชีวิตคนนั้นมีราคา ต่างกันแต่ชีวิตชาวนา
บูชากลิ่นโคลนสาบควาย
... เจาะเวลาหาอดีต
17/1/64
เอิงเอย เพลง กลิ่นโคลนสาบควาย
โฆษณา