Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
•
ติดตาม
30 พ.ย. 2021 เวลา 03:32 • ประวัติศาสตร์
#ราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงษ์ ปกครองเมืองน่าน
ใน “ราชวงษปกรณ์พงศาวดารเมืองน่าน” ระบุถึง “หลวงติ๋นมหาวงษ์” ว่า “นักปราชญ์เจ้าทั้งหลายเรียกว่าเป็นปฐมต้นแรก” ของราชวงศ์ใหม่ที่จะปกครองน่านสืบต่อไปอย่างยาวนาน น่าเสียดายว่าพงศาวดารเรื่องนี้ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปของหลวงติ๋นมากนัก นอกจากกล่าวเพียงว่ามาเป็น “เจ้า” และมาจากเมืองเชียงใหม่ในจุลศักราช 1088 (พ.ศ. 2269) โดยการแต่งตั้งของราชสำนักพม่าซึ่งปกครองล้านนาอยู่ในช่วงเวลานั้น “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” และ “พื้นเมืองเชียงรายเชียงแสน” กล่าวในลักษณะทำนองเดียวกันว่าหลวงติ๋นมีเชื้อเจ้าและได้รับการแต่งตั้งให้ไปกินเมืองน่าน
คำว่า “เจ้า” ที่เอกสารประวัติศาสตร์กล่าวถึงนั้นอาจหมายถึงการมีเชื้อสายตระกูลขุนนางเก่าแก่ในเชียงใหม่ และเป็นไปได้มากว่า การมีเชื้อสายเก่าแก่ทำให้หลวงติ๋นคงจะได้รับความนับถือและมีสายสัมพันธ์อยู่ในเชียงใหม่ภายใต้การปกครองของพม่า จึงได้รับความไว้วางใจให้มาปกครองน่าน ซึ่งเป็นหัวเมืองใหญ่และเป็นแดนต่อแดนกับหลวงพระบางและอยุธยา นอกจากนี้ บุตรชายคนโตของหลวงติ๋นที่ชื่อ “เจ้าอริยวงษ์” ก็ถูกออกชื่อในพงศาวดารน่านว่า “เจ้าอริยวงษ์หวั่นท๊อก” ซึ่งสร้อยนาม “หวั่นต๊อก” (Wundauk) นี้ สันนิษฐานว่า หมายถึงตำแหน่งขุนนางพม่า แสดงให้เห็นว่าหลวงติ๋นคงมีสถานะขุนนางอยู่ในเมืองเชียงใหม่ที่พม่าปกครองอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว
การมีเครือข่ายและสถานะอยู่ในเชียงใหม่นี้คงเป็นเหตุผลที่ทำให้หลวงติ๋นไม่ได้ปรารถนาที่จะปกครองน่านมากนัก พงศาวดารน่านระบุว่า เมื่อหลวงติ๋นมายังเมืองน่านนั้นนำข้ารับใช้มาเพียงไม่กี่คน ไม่ได้นำภรรยาและบุตรของตนมาด้วย ทั้งนี้ คงเนื่องจากระบบการแต่งตั้งขุนนางกินเมืองของราชสำนักพม่าในช่วงเวลาดังกล่าวมักโยกย้ายขุนนางที่ออกไปประจำหัวเมืองต่างๆ เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสั่งสมอำนาจเกิดขึ้น
แต่กรณีหลวงติ๋น การณ์กลับไม่เป็นไปดังนั้น หลังหลวงติ๋นไปกินเมืองน่านราว 1 ปี เมืองเชียงใหม่ก็เกิดจลาจลเทพสิงห์ กองทหารพม่าในเชียงใหม่ไม่สามารถรักษาความสงบไว้ได้และถูกเทพสิงห์ยึดเมืองไว้ ก่อนจะออกประกาศไล่จับ “ลูกม่านลูกเม็ง จักใส่คอกไฟเผาเสีย” การกระทำดังกล่าวส่งผลให้ฐานอำนาจของพม่าถูกกวาดล้างลง และเป็นไปได้ว่ากลุ่มขุนนางท้องถิ่นที่ฝักใฝ่พม่าคงโดนหางเลขไปด้วย ตระกูลหลวงติ๋นเองคงเป็นกลุ่มหนึ่งที่ถูกเพ่งเล็ง ดังปรากฏว่าเจ้าอริยวงษ์นำครอบครัวย้ายหนีออกจากเชียงใหม่มายังเมืองน่านที่บิดาของตนปกครองอยู่ ตระกูลของหลวงติ๋นจึงหมดบทบาทในเชียงใหม่ไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม การย้ายหนีออกจากเชียงใหม่นี้เองได้เปิดทางไปสู่การลงหลักปักฐานและสถาปนาอำนาจใหม่ที่เมืองน่าน และที่เมืองน่านนี้เอง เชื้อสายตระกูลหลวงติ๋นจะสถาปนาการเป็นผู้ปกครองสืบทอดต่อมาอีกอย่างยาวนานจวบจนถึง พ.ศ. 2442 อันเป็นยุคสุดท้ายของน่านในฐานะรัฐอิสระ
การเป็น “ขุนนางกินเมือง” ในล้านนาภายใต้การปกครองของพม่าช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 ไม่ได้แปลว่าเจ้าเมืองจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในพื้นที่ใต้การปกครอง ราชสำนักพม่าไม่สู้ไว้ใจให้เจ้าเมืองมีอำนาจในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานานและระวังไม่ให้เกิดการสืบทอดอำนาจในตระกูลเจ้าเมืองนั้นๆ เมืองน่านเองก็มีประวัติไม่ค่อยดีนักในเรื่องนี้ ปรากฏว่าเคยมีเจ้าเมืองอย่างน้อยสองตระกูลที่ประสบความสำเร็จในการสืบทอดอำนาจในตระกูลของตัวเองและก่อการกบฏต่อราชสำนักพม่า คือใน พ.ศ. 2140 และ พ.ศ. 2167 โดยเชื้อสายของ “เจ้าหน่อคำเสถียรไชยสงคราม” และอีกครั้งใน พ.ศ. 2232 โดยเชื้อสาย “พระยาเชียงของสามพี่น้อง” ดังนั้น ขุนนางที่ราชสำนักพม่าเลือกส่งไปปกครองน่านจึงมักไม่มีอำนาจอยู่ในน่านมาก่อน หรืออาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับน่านด้วยซ้ำ ทำให้อำนาจที่แท้จริงในการปกครองน่านตกอยู่ในมือของกลุ่มขุนนางท้องถิ่นมากกว่า
ในช่วง พ.ศ. 2269 ที่เจ้าหลวงติ๋นได้รับการแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าเมืองน่าน ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในเมืองน่านคือ “น้อยอินท์” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “พระนาขวา” ของเมืองน่าน และเป็นขุนนางในตำแหน่งผู้ช่วยที่ปรึกษาของเจ้าเมืองน่าน พระนาขวาผู้นี้มีอิทธิพลมากเพราะกินตำแหน่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2250 ผ่านเจ้าเมืองน่านมาแล้วถึง 2 คน และช่วงเวลาที่เมืองน่านว่างเว้นเจ้าเมืองในปี พ.ศ. 2259 - พ.ศ. 2269 พระนาขวาก็เป็นผู้ดูแลกิจการแทนอยู่ก่อน ภายหลังเมื่อหลวงติ๋นถูกส่งมาเป็นเจ้าเมืองน่านจึงพบว่า เมืองน่านอยู่ภายใต้อิทธิพลของพระนาขวา และตัวหลวงติ๋นเองแม้จะเป็นเจ้าเมือง แต่ก็อยู่ภายใต้คำแนะนำของพระนาขวาคนดังกล่าว การที่หลวงติ๋นและคนในตระกูลของหลวงติ๋นจะ กลายมาเป็นผู้มีอำนาจในน่านได้จึงย่อมต้องคัดง้างอิทธิพลกันกับเครือข่ายอำนาจของพระนาขวา
ความขัดแย้งเพื่อกุมอำนาจในเมืองน่านระหว่างหลวงติ๋นและนาขวาปรากฏในพงศาวดารน่านที่บันทึกว่า หลังหลวงติ๋นมาเป็นเจ้าเมืองน่านไม่นาน นาขวารู้สึกไม่พอใจและวางแผนล้มอำนาจหลวงติ๋นลง แต่หลวงติ๋นทราบข่าวเสียก่อนจึงเรียกนาขวามาพบแล้วตัดพ้อว่าหากนาขวาไม่พอใจก็ขอให้บอก ตนเองพร้อมจะยกเมืองน่านให้แล้วกลับไปเชียงใหม่ นาขวาได้ยินก็รู้สึกเกรงเดชานุภาพของหลวงติ๋น เมื่อกลับไปบ้านแล้วก็เอาปืนกรอกปากฆ่าตัวตายเสีย หลวงติ๋นจึงกลายมาเป็นผู้มีอำนาจหนึ่งเดียวในเมืองน่าน
เรื่องเล่าดังกล่าวค่อนข้างยกย่องหลวงติ๋น ยากจะเชื่อได้ว่านาขวาซึ่งมีอำนาจและเครือข่ายในเมืองน่านมานานจะยอมจำนนเพียงเพราะคำพูดของเจ้าเมืองคนใหม่ที่ไม่มีฐานอำนาจใดในเมืองน่าน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาว่า ช่วงเวลาหลังหลวงติ๋นครองเมืองน่านไม่นานได้เกิดการจลาจลขึ้นที่เชียงใหม่ซึ่งทำให้เจ้าอริยวงษ์บุตรชายของหลวงติ๋นย้ายครอบครัวหนีลงมาที่น่าน อาจสันนิษฐานได้ว่า การย้ายหนีมาน่านของเจ้าอริยวงษ์ ซึ่งคงมาพร้อมกับคนของตนและอาจรวมถึงกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่หนีการไล่ล่าของกลุ่มอำนาจใหม่ในเชียงใหม่ น่าจะทำให้หลวงติ๋นมีคนในบังคับของตนเพิ่มมากขึ้น และมีอำนาจมากพอที่จะขจัดอิทธิพลของนาขวาลงได้ในที่สุด
การสิ้นสุดอิทธิพลและจบชีวิตลงของพระนาขวา (น้อยอินท์) หมายถึงการที่หลวงติ๋นและเครือข่ายตระกูลของตนเป็นกลุ่มเดียวที่สามารถครองอำนาจในน่านได้ การมีฐานอำนาจใหม่ที่เข้มแข็งในน่านนี้เองที่จะปูทางไปสู่การสืบทอดอำนาจและอิทธิพลอย่างเข้มข้นในน่าน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปให้เชื้อสายตระกูลหลวงติ๋นกลายเป็นผู้นำเพียงหนึ่งเดียวของน่านไปตลอดจวบจนสิ้นสุดยุคสมัยของการเป็นรัฐเอกเทศ
ล้านนาหลังการจลาจลเทพสิงห์ในเชียงใหม่เข้าสู่ยุคที่ “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” เรียกว่าเป็นช่วง “บ้านไผเมืองมัน ชิงกันเปนเจ้าเปนใหญ่” กล่าวคือล้านนาเข้าสู่สภาวะสุญญากาศทางอำนาจ ผู้ปกครองเมืองแต่ละเมืองชิงดีชิงเด่นกัน มีการตีเมืองระหว่างกันและกัน ขณะที่พม่าเองก็ไม่สามารถให้ความคุ้มครองเมืองที่ยังคงภักดีกับตนได้ ทำให้จำเป็นต้องพึ่งพาเจ้าเมืองท้องที่ต่าง ๆ ในการดูแลเขตปกครองแต่ละเมือง ซึ่งส่งผลให้เจ้าเมืองต่าง ๆ สร้างสมอำนาจภายในเขตปกครองของตนเองไปในตัว และเมื่อพม่ายุคหลังพยายามกลับเข้ามามีอิทธิพลในล้านนาอีกครั้งก็พบว่าบรรดาเจ้าเมืองเหล่านั้นกลายมาเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องที่จนขุนนางพม่าต้องโอนอ่อนเพื่อขอความร่วมมือในการปกครองล้านนาไปแทน
ภายใต้ภาวะความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในล้านนานี้เองที่ทำให้มีเพียงตระกูลหลวงติ๋นเท่านั้นที่สามารถกุมอำนาจทางการเมืองภายในได้ อำนาจจากพม่าไม่อาจแผ่ขยายเข้ามาถึงเมืองน่านได้อีก มีเพียงคนในตระกูลหลวงติ๋นเท่านั้นที่สามารถให้ความคุ้มครองแก่พลเมืองในน่านได้ภายใต้สภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายในล้านนา
เราจึงพบว่า เมื่อพม่ายุคราชวงศ์คองบองขยายอิทธิพลเข้ามาในพื้นที่ต่าง ๆ ของอดีตอาณาจักรล้านนาและสร้างอำนาจนำภายในพื้นที่ใหม่อีกครั้ง คนในตระกูลหลวงติ๋นก็ยังคงสามารถดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองและส่งต่อตำแหน่งให้กับคนในตระกูลได้ต่อไปแม้นโยบายของพม่าแต่เดิมจะไม่นิยมให้เจ้าเมืองคนใดคนหนึ่งอยู่สั่งสมอำนาจภายในพื้นที่เป็นระยะเวลานานก็ตาม ทั้งนี้ เพราะตระกูลหลวงติ๋นกลายเป็นผู้มีอิทธิพลที่ลงหลักปักฐานและสร้างเครือข่ายในโครงสร้างทางการเมืองของน่านได้โดยเรียบร้อยแล้ว พม่าจำเป็นต้องประนีประนอมกับขุนนางท้องถิ่นเพื่อสร้างเสถียรภาพในการปกครองล้านนาหรือที่พม่าเรียกว่าหริภุญไชยเทศะ
สภาพของสุญญากาศทางอำนาจนี้เอื้อให้ผู้ปกครองท้องถิ่นมีอิทธิพลสูงและกลายเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จของหลวงติ๋นที่สามารถสั่งสมและส่งต่ออำนาจให้กับบุตรชายของตนได้สำเร็จ และความสำเร็จดังกล่าวนี้เองที่ทำให้เชื้อสายของหลวงติ๋นเป็นที่เคารพยำเกรงในฐานะผู้ปกครองน่าน และกลายเป็นรากฐานที่จะทำให้เชื้อสายของหลวงติ๋นกลายเป็นผู้ปกครองน่านสืบทอดต่อเนื่องกันโดยไม่มีใครอื่นแทรกกลาง
ลำดับเชื้อสายเจ้าผู้ครองนครน่าน แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
#ลำดับสายผู้ปกครองน่านตระกูล/ราชวงศ์หลวงติ๋น โดยคุณบริพัตร อินปาต๊ะ
หมายเหตุ: เรียบเรียงข้อมูลโดยคุณบริพัตร อินปาต๊ะ
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย