30 พ.ย. 2021 เวลา 04:26 • ท่องเที่ยว
…คิดถึงอุทัยธานี..หลงรักสายน้ำแห่งชีวิต”สะแกกรัง”…
…..ผืนน้ำอันแสนกว้างใหญ่ภายในเมืองเล็กๆ อันเงียบสงบ กับภาพความงดงามบนเรือนแพริมแม่น้ำสะแกกรัง ในยามที่เราล่องแพ และทอดสายตามองออกไป เราจะพบกับความสวยงามของเมืองอู่ข้าวอู่น้ำจากสองฟากฝั่งแม่น้ำใหญ่ ทุ่งนาสีเขียวขจี ที่มีมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ย่านโบราณต่างๆ อันมีความเก่าแก่น่าสัมผัส และวิถีชีวิตที่ยังคงเลี้ยงชีพด้วยการประมงน้ำจืด ทั้งปลาสด ปลาตากแห้ง ฯลฯ จึงนับเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่มีเสน่ห์เย้ายวนใจนักท่องเที่ยว ที่มีหัวใจรัก ชื่นชอบ และรื่นรมย์ ในความงามของธรรมชาติอันสวยงดงาม
ฟ้าอันอึมครึมมืดสลัว พร้อมเมฆฝนที่เริ่มก่อตัวตั้งเค้าอยู่บนเหนือยอดเขาสะแกกรัง ย่อมบ่งบอกให้เราได้รู้ว่า ฤดูฝนได้คืบคลานเข้ามาเยี่ยมเยือนพวกเราเข้าให้แล้ว ทว่าบรรยกาศในตลาดเทศบาลกลางอำเภอเมืองอุทัยธานี ที่ตั้งขนานกับแม่น้ำสะแกกรังนั้น ยังเปี่ยมไปด้วยความคึกคัก ไม่เงียบเหงาเปล่าเปลี่ยว ละลานตาไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ปลาแม่น้ำ พืชผักจำนวนมากมาย สมกับสมญานาม “เมืองแห่งสายน้ำใหญ่นามอุทัยธานี”
การดั้นด้นเดินทางมาเยี่ยมเยือนชมความงดงามแม่น้ำสะแกกรังจากผู้คนจำนวนมาก ย่อมแสดงให้เห็นว่าสายน้ำเส้นนี้ช่างมีเสน่ห์มัดใจ บรรดานักแรมทางทั้งหลาย ให้เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสวย ที่มีแต่ความเงียบสงบ น่ารัก และไร้ซึ่งความวุ่นวายทั้งปวง เราเดินผ่านตลาด ที่เปี่ยมไปด้วยความคึกคักจากพ่อค้าแม่ขายทั้งหลาย เดินข้ามสะพานซีเมนต์เล็กๆ ไปยังฝั่งวัดอุโปสถาราม ซึ่งเป็นมณฑปแปดเหลี่ยมสไตล์ยุโรปทรงสวย ที่สะท้อนผิวน้ำเคล้าเล่นกับแสงแดดในยามบ่ายแก่ๆ บนพื้นผิวแม่น้ำสะแกกรัง ช่างเป็นช่วงเวลาที่อิ่มเอมใจเป็นที่สุด
“อ๊อดๆ แอ๊ดๆ” เสียงกระดานไม้เก่า ที่ขานรับกับน้ำหนักคนข้าม ไม่นานนักก็ถึงแพ ไกด์หนุ่มชาวอุทัยธานี ก็ร้องเรียกและกล่าวสวัสดี “มากี่ท่านครับ เดี๋ยวเชิญที่เรือเลยนะครับ” ไกด์หนุ่มผู้มีอัธยาศัยดีกล่าวเชื้อเชิญคณะเดินทาง เพื่อลงเรือพร้อมแนะนำให้คณะเดินทาง ได้รู้จักกับคนเรืออีก 2 ท่าน ที่จะรับหน้าที่พาล่องชมความงามของทิวทัศน์สองฟากฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง ว่ากันว่า แต่ก่อนนั้นตลาดแห่งนี้ มีความคึกคักมาก แพมีจำนวนมากกว่านี้ เรือสินค้าขึ้นล่องกันอย่างหนาตา รวมทั้งในสมัยโบราณอุทัยธานียังเป็นเมืองปิด
การเดินทางไปยังเมืองอื่นๆ เพื่อติดต่อธุระต่างๆ ไม่ทางบกก็ต้องใช้ทางน้ำ โดยแม่น้ำสะแกกรังจะไหลทอดยาวผ่านหน้าตลาดไปรวมกันกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปลายแหลมของเกาะเทโพ การเดินทางเมื่อครั้งโบราณ จึงต้องใช้ทางเรือเป็นหลัก ที่นี่จึงกลายมาเป็นศูนย์กลางหรือชุมทางการค้าขนาดย่อม จนทำให้หลายๆ คน ตัดสินใจมาตั้งรกรากปักหลัก ณ แม่น้ำสายนี้กันเป็นจำนวนมาก ส่วนเรือนแพต่างๆ นั้นถูกปลูกสร้างกันมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5
สายน้ำสะแกกรังในยามหน้าฝน จะมีสีขุ่นแดงอมน้ำตาล มีทั้งปลาสวาย ปลากดขนาดใหญ่ ปลาแรดตัวโตๆ ที่สามารถมองเห็นได้ในกระชัง ชาวบ้านหลายๆ ครัวเรือน โดยเฉพาะชาวแพนั้น มีชีวิตอยู่ได้ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำสะแกกรัง ทั้งการเลี้ยงปลาในกระชัง หรือออกไปล่องเรือหาปลาในยามเช้าตรู่อีกด้วย กลิ่นย่างปลาหอมกรุ่นไปทั่วบริเวณท้ายแพ ปลาของที่นี่ จึงขึ้นชื่อลือชาในเรื่องของรสชาติความอร่อย นับเป็นของดี ที่น่าซื้อหานำไปฝากญาติสนิทมิตรสหายได้เป็นอย่างดีกันเลยทีเดียว
บรรดาห้องแถวเก่าๆ ที่สร้างขึ้นจากไม้ และปูน ที่มีอายุประมาณ 70-80 ปี ตั้งอยู่เรียงรายรอบถนนสะแกกรัง และถนนศรีอุทัย ซึ่งบ่งบอกได้ถึงการเป็นย่านการค้า และการถ่ายทอดเรื่องราวของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี แม่น้ำสะแกกรัง ยังเป็นการผสมผสานกันระหว่างผู้คนที่หลากหลายเชื้อชาติ เช่น ชาวจีนที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งถิ่นฐาน จากรุ่นสู่รุ่นตราบเท่าทุกวันนี้
จากแม่น้ำสะแกกรัง เราเดินเข้าข้ามสะพานไปยัง “วัดอุโปสถาราม”(วัดโบสถ์ มโนรมย์) เพื่อกราบสักการะบูชาหลวงพ่อพระประทาน ชาวบ้านมักเรียกกันจนติดปากว่า “วัดโบสถ์” นับเป็นวัดที่มีความเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง บนเกาะเทโพ เขตเทศบาลเมือง จากตลาดสดเทศบาล จะมีสะพานข้ามแม่น้ำไปยังวัด ซึ่งความโดดเด่นที่น่าสนใจของวัดนี้อยู่ที่จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ และวิหาร เราจะได้ชื่นชมกับภาพเขียนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภาพเขียนพุทธประวัติ โดยเริ่มตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพาน ที่มีฝีมือประณีตมาก ภาพเขียนพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเทพยดาบนสวรรค์ และภาพปลงสังขาร ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น เสมาหินสีแดงหน้าโบสถ์ ตู้พระธรรม ตู้ใส่ของที่เขียนเป็นลายกนกเถาลายดอกไม้ บาตรประดับมุกที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ฝีมือช่างสิบหมู่ เป็นต้น
ทั้งนี้ยังมีอาคารสถาปัตยกรรม ที่มีความเก่าแก่น่าสนใจ เช่น มณฑปแปดเหลี่ยม ซึ่งมีลักษณะเป็นการผสมผสานระหว่างทางด้านสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก และแบบตะวันออกได้อย่างลงตัว มีลายปูนปั้นคล้ายไม้เลื้อยที่กรอบหน้าต่าง มีพระพุทธรูปปูนสลักนูนสูงอยู่ด้านนอก อาคาร “เจดีย์หกเหลี่ยม” ซึ่งเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองทรงรัตนโกสินทร์ หอประชุมอุทัยพุทธสภา ที่เป็นศาลาทรงไทย ใช้เป็นหอสำหรับสวดมนต์ หน้าบันสลับลวดลายปูนปั้นอันงดงาม
“แพโบสถ์น้ำ” ตั้งอยู่หน้าวัด โดยได้สร้างขึ้น เพื่อรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือในปี พ.ศ.2449 เดิมเป็นแพแฝด 2 หลัง มีช่อฟ้า ใบระกาเหมือนอุโบสถทั่วไป หน้าบันมีป้ายวงกลมจารึกภาษาบาลีไว้ว่า “สุ อาคต เต มหาราช” ซึ่งแปลได้ว่า มหาราชเสด็จฯ มาดี ถัดมาในปี พ.ศ.2519 ได้ทำการซ่อมแซมบูรณะขึ้นมาใหม่ โดยเป็นหลังเดียวยกพื้น 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา และย้ายป้ายวงกลมมาไว้หน้าจั่วตรงกลาง แพโบสถ์นี้ ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา เช่น งานแต่งงาน บวชนาค งานศพ และงานบุญต่างๆ
วัดจันทาราม หรือ วัดท่าซุง ซึ่งตั้งอยู่ หมู่ 2 ตำบล น้ำซึม ชาวบ้านมักเรียกกันจนติดปากว่า วัดท่าซุง เดิมทีวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีโบสถ์ขนาดเล็ก ด้านในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นพุทธประวัติฝีมือช่างพื้นบ้าน ที่สร้างขึ้นในตอนหลัง ถัดจากนั้นเป็น ธรรมาสน์ของหลวงพ่อใหญ่ ที่ท่านได้ทำการสร้างขึ้น ที่วิหารมีพระปูนปั้น มีลวดลายไม้จำหลักขอบหน้าบันเหลืออยู่ 2-3 แห่ง ตรงข้ามกับวัดเป็น วิหารแก้ว ซึ่งเป็นปูชนียสถาน ที่ได้ทำการสร้างขึ้นใหม่ มีความโอ่โถง พระราชพมหมยาน (หลวงพ่อฤาษี ลิงดำ) พระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง ท่านได้สร้างอาคารต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมากมาย เช่น พระอุโบสถใหม่ ภายในประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ฯลฯ
ทั้งนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยทรงเสด็จพระราชดำเนินมาตัดลูกนิมิตที่พระอุโบสถแห่งนี้ บริเวณโดยรอบเป็นกำแพงแก้ว มีรูปหล่อขนาดใหญ่ของ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อใหญ่ อยู่บริเวณมุมกำแพง ด้านหน้ามณฑป และวิหารแก้ว ประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธชินราช และมีรูปปั้นพระอรหันต์ 7 องค์ มีรูปหล่อของหลวงพ่อลักษณะยืนถือไม้เท้า เพดานมีช่อไประย้าทั้งเล็ก และใหญ่ รวมทั้งสิ้น 119 ช่อ และบุษบกตั้งสังขาร ที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ พระเกจิอาจารย์ ที่มีเมตตาธรรม และเก่งกาจทางด้านพุทธาคมเป็นเลิศ วิหารแก้ว ในวัดท่าซุงเปิดให้บริการแด่ญาติโยม โดยมีเวลาเปิด-ปิด 2 ช่วง คือ ในช่วงเช้าจะเปิด 09.00 – 11.45 น. บ่าย: เปิด 14.00 – 16.00 น.
ปราสาททองคำ (กาญจนาภิเษก) ก่อสร้างด้วยการก่ออิฐฉาบปูน ประดับลวดลายไทยปิดทองคำเปลวติดกระจก ใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ญาติโยมถวาย รอบนอกปราสาทใช้ทองคำเปลวปิดรอบปราสาท ซึ่งภายในบริเวณใก้ลเคียงนี้ยังมี พิพิธภัณฑ์ “สมบัติพ่อให้” อยู่ตรงข้ามกับ ปราสาททองคำ ภายในปราสาททองคำมี 3 ชั้น ชั้นแรก เป็นพิพิธภัณฑ์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ โดยจะนำสิ่งของต่างๆ ที่ท่านเคยใช้ หรือของส่วนตัวท่านมาประดิษฐานไว้ หรือสร้างจำลองสถานที่พัก ที่ท่านเคยอยู่อาศัย ชั้นที่ 2 และ 3 เป็นสถานที่เก็บพระพุทธรูปขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่างๆ ที่ญาติโยมนำมาถวายให้แก่วัด
จากวัดท่าซุง เราแวะเที่ยวกันที่ “ถนนคนเดินตรอกโรงยา” ซึ่งเป็นแหล่งรวมสินค้านานาชนิด ทั้งเสื้อผ้าอาภรณ์ ของกินของใช้ ไปจนถึงของเก่าของโบราณ และพระเครื่อง ฯลฯ มีระยะทางเพียง 150 เมตร สองข้างทาง เราจะพบกับบ้านไม้โบราณ ที่มีความเก่าแก่ แต่ยังคงช่วยกันอนุรักษ์ดูแล สำหรับอาหารการกิน และขนมนมเนย ที่ขึ้นชื่อภายในถนนคนเดินนั้น เช่น ขนมถังแตกเจ้าแรกของอุทัยธานี ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมเบื้องญวน ลูกชิ้นปลากราย หมูสะเต๊ะ ปลาแหนม ฯลฯ ถนนคนเดินตรอกโรงยานี้ จะเปิดให้บริการทุกวันเสาร์ ในเวลา 16.00-20.00 น.
จากถนนคนเดินตรอกโรงยา เราซิ่งล้อหมุนไปยัง “หุบป่าตาด” ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลทุ่งนางงาม ห่างจากอำเถอไปประมาณ 50 กิโลเมตร เข้าทางเดียวกันกับเขาปลาร้า แต่อยู่ก่อนถึงเขาปลาร้าประมาณ 1 กิโลเมตร ถ้ำนี้ค้นพบโดย หลวงพ่อทองหยด เจ้าอาวาสวัดถ้ำทอง เมื่อปี พ.ศ.2522 โดยท่านได้ปืนลงไปในหุบเขานี้ จึงพบว่ามีต้นตาดขึ้นเต็มไปหมด (ไม้ตระกูลโบราณ เช่นเดียวกันกับปาล์ม) จึงได้ทำการเจาะถ้ำ เพื่อเข้าไปสำรวจ ในปี พ.ศ.2527 ต่อมากรมป่าไม้ ได้ประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เนื่องจากมีสภาพภูมิศาสตร์ที่แปลกประหลาด และยังมีพันธุ์ไม้หายากจำนวนมากมาย เช่น เต่าร้าง นกเขาเปล้า ค้างคาวเล็ก และขนุนดิน ฯลฯ
หุบป่าตาด อยู่ในความดูแลของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน ทางเดินเข้าภายในถ้ำนั้น มีความมืดมิดอย่างสนิท ต้องใช้ไฟฉายส่อง ป่าตาดเป็นป่าดึกดำบรรพ์ ลักษณะคล้ายป่าดงดิบ มีความชุ่มชื้นสูง มีเขาหินปูนรายล้อม จึงมีความร่มรื่น เหมาะแก่การเดินชมธรรมชาติ ระยะทางเดินไปและกลับ ประมาณ 700 เมตร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน โทร 084 819-7855
ปิดท้ายทริปการเยือนอุทัยธานี ด้วยการชมและสัมผัส การทอผ้าลาวแบบโบราณ ที่หาชมได้ยากยิ่ง ณ “พิพิธภัณฑ์เรือนผ้าย่ายาย” กับไอเดียเก๋ “ใจสั่งลาย หัวใจสั่งทอ”
ฝีมือการทอผ้าของ “คุณป้าจำปี” ธรรมศิริ ศิลปินทางด้านการทอผ้าตัวกลั่น กับรางวัลการันตรีความสามารถของเธอ “ASEAN Select 2016” เธอได้สานต่อปณิธาน และได้เผยแพร่วิถีชีวิตที่น่าสนใจของชาวลาวครั่ง โดยนำภูมิความรู้อันเป็นมรดกทางปัญญา และวัฒนธรรม ที่ถูกถ่ายทอดมาจากคนรุ่นย่ารุ่นยาย คุณป้าจำปีได้สั่งสมวิชาไว้ และได้ถักทอผ้าซิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ชาวลาวครั่งออกมาได้อย่างงดงาม จนมีหลายๆ คน ยกย่องคุณป้าว่า เป็นสุดยอดผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทอผ้าตัวจริง
ด้วยเหตุผลที่หลายๆ คนยกย่องคุณป้า เป็นเพราะคุณป้าจำปี ได้หมายมั่นปั้นมือ ทุ่มเททั้งแรงกาย และแรงใจ ในการทอผ้าด้วยใจรัก และออกแบบลวดลายตามจินตนาการ จนมีวลีเด็ดที่หลายๆ คนได้กล่าวถึงคุณป้าไว้ว่า “สมองสั่งลาย หัวใจสั่งทอ” นั่นเอง คุณป้าเล่าว่า “ป้ามีความตั้งใจอยากให้ผ้าทอยังคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ให้คนรุ่นหลังรู้จัก ได้ชื่นชมผ้าทอลาวโบราณ ซึ่งนับวันจะเหลือน้อยลงไปทุกทีๆ คนรุ่นหลังๆ แทบจะไม่รู้จักแล้ว ป้าอยากจะทอต่อไป แต่ไม่ได้หวังว่าจะต้องขายให้ได้กำไรอะไรมากมาย ป้าแค่อยากทำ เพราะป้ารักในการทอผ้า” คุณป้าจำปีเธอก็มักจะกล่าวเช่นนี้กับทุกคน ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจน ที่อยากให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก ซึมซับ และมองเห็นคุณค่าของผ้าทอลาวครั่ง อันเป็นผ้าทอในสไตล์ลาวโบราณ ที่หาชมได้อย่างยากยิ่งในปัจจุบัน
คุณป้ายังใจดี ถ่ายทอดวิชาทอผ้าให้กับเด็กๆ หลายต่อหลายคน จนปัจจุบันคุณป้าจำปียังเปิดบ้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีนามว่า “เรือนผ้าย่ายาย” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เรื่องผ้าทอ รวมถึงเยี่ยมชมผ้าซิ่นชาวลาวครั่ง มรดกทางภูมิปัญญาของคนรุ่นย่ารุ่นยาย อันเป็นแรงผลักดันของเธอมาโดยตลอด พิพิธภัณฑ์เรือนผ้าย่ายายเปิดเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ ในแต่ละวันจะมีทั้งนักท่องเที่ยว และผู้คนที่สนใจเดินทางมาเยี่ยมเยียน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่เป็นประจำ
สำหรับผู้ที่สนใจหรือต้องการเรียนรู้เรื่องผ้าทอลาวครั่ง หรือผ้าทอลาวโบราณ สามารถเดินทางไปเยี่ยมชมยังพิพิธภัณฑ์เรือนผ้าย่ายายได้ที่ บ้านนาตาโพ ต.บ้านไร่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ได้ทุกวัน
ขอบคุณ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกรุงเทพฯ , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจังหวัดอุทัยธานี
…………………………
Story/Photo : Piyoros Uthumdhewa
โฆษณา