30 พ.ย. 2021 เวลา 10:40 • ข่าวรอบโลก
เหตุผลแท้จริงที่สหรัฐฯ ต้องย้ายโรงงานกลับประเทศ
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
7
ก่อนหน้านี้ เราเคยเข้าใจกันว่า การที่สหรัฐฯ พยายามสนับสนุนให้ธุรกิจย้ายโรงงานในจีนและที่อื่นๆ กลับสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่า Reshoring เป็นเพราะสหรัฐฯ ต้องการหันมาสร้างงานให้คนของตน และกังวลเรื่องความมั่นคงของซัพพลายเชน
5
แต่จริงๆ แล้ว มีเหตุผลสำคัญที่ใหญ่กว่านี้ซ่อนอยู่เบื้องหลังครับ
เพราะถ้าเหตุผลเป็นเพียงสองอย่างแรก การย้ายโรงงานกลับดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ เพราะโรงงานที่ย้ายกลับมาส่วนใหญ่ใช้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรแทนคน จึงไม่ได้ช่วยในการสร้างงานใหม่
4
ส่วนหากกังวลเรื่องความมั่นคงของซัพพลายเชน เช่น กลัวจะถูกจีนตัดแข้งตัดขา หากโรงงานอยู่ที่จีนหรือต้องพึ่งชิ้นส่วนจากจีน ก็ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นย้ายกลับประเทศ (Reshoring) ขอเพียงแค่สร้างห่วงโซ่การผลิตให้อยู่ในกลุ่มพันธมิตรของสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า Friendshoring ก็พอ
1
Friendshoring เป็นแนวทางที่สหรัฐฯ พยายามทำอยู่เช่นกัน แต่หากเป็นไปได้ สหรัฐฯ ก็อยากให้โรงงานย้ายกลับมาสหรัฐฯ เท่าที่จะมากได้ หรือเลือกสหรัฐฯ เป็นฐานการผลิตให้มากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นข้อต่อสำคัญในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์
6
ตัวอย่างเช่นในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ สหรัฐฯ ไม่ได้พอใจเพียงว่าบริษัทสำคัญในห่วงโซ่คือ TSMC ของไต้หวันกับซัมซุงของเกาหลีใต้ ล้วนเป็นเครือข่ายพันธมิตรของสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ ยังพยายามกดดันให้บริษัทเหล่านี้ย้ายมาลงทุนสร้างห่วงโซ่เซมิคอนดักเตอร์ชั้นสูงในสหรัฐฯ และยังส่งเสริมให้บริษัทสหรัฐฯ ลงทุนด้านการผลิตเองด้วย
6
เหตุผลเบื้องหลังจริงๆ ของนโยบาย Reshoring ของสหรัฐฯ ก็คือ ความคิดแพร่หลายในกลุ่มนักเทคโนโลยีสหรัฐฯ ในตอนนี้ว่า ยากมากที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไป หากไม่สามารถควบคุมซัพพลายเชนทั้งหมดได้
11
กรณีศึกษาที่โด่งดังในวงเทคโนโลยีก็คือ การแข่งขันระหว่างบริษัทผลิตโดรนอย่าง DJI ของจีนกับ 3D Robotic ของสหรัฐฯ โดยในช่วงปี ค.ศ. 2015 ทั้งสองบริษัทดูมีอนาคตสดใสและกำลังแข่งขันชิงความเป็นเจ้ายุทธจักรอย่างดุเดือด
 
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เลือกแทงข้าง 3D Robotic ของสหรัฐฯ เพราะมีทีม R&D ชั้นหนึ่ง แต่อนิจจา ไม่ถึงสองปี 3D Robotic ก็พ่ายแพ้ออกจากสนามแข่ง ปล่อยให้ DJI เป็นผู้นำนวัตกรรมโดรนมาจนปัจจุบัน
9
สาเหตุสำคัญเป็นเพราะ DJI สามารถควบคุมซัพพลายเชนของตนได้ และส่วนใหญ่ซัพพลายเชนชิ้นส่วนทั้งหมดอยู่ในพื้นที่เดียวกันคือเสินเจิ้น ขณะที่ 3D Robotic เน้นเป็นคนคิดค้น แล้วต้องไปจ้างคนอื่นผลิต เมื่อคิดโมเดลใหม่เสร็จ จึงค่อยไปถามซัพพลายเชนที่ต่างๆ ว่าพอทำได้ไหม ถ้าติดขัดทางเทคนิค ก็ต้องกลับมาคิดใหม่ และถามกลับไปกลับมา
12
ตรงกันข้าม DJI สามารถเรียกซัพพลายเชนทั้งหมดที่เสินเจิ้นมานั่งประชุมระดมหัวคิดด้วยกันได้เลย เวลาที่คิดโมเดลการผลิตรุ่นใหม่ ก็ทำได้เร็ว ส่งผลให้การพัฒนารุดหน้าเปลี่ยนรุ่นได้เร็วมาก
7
เรามักพูดกันมาตลอดว่า สหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งในเรื่องเทคโนโลยีรากฐาน (Foundational Research) ขณะที่จีนมีความแข็งแกร่งในเรื่องเทคโนโลยีประยุกต์ (Applied Research) แต่วันนี้เริ่มพบว่าจริงๆ แล้วกระบวนการคิดค้นนวัตกรรมเป็นวงจรที่ต้องเชื่อมกัน คือการประยุกต์ก็จะกลับไปเสริมการปรับรากฐานนวัตกรรมใหม่ด้วย
11
สุนทรพจน์สำคัญของ Katherine Tai ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ที่กล่าวที่ Center for Strategic and International Studies เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็ได้พูดประเด็นนี้อย่างชัดเจน โดยกล่าวย้ำตอนหนึ่งว่า การวิจัยและพัฒนา (R&D) จะแยกจากกระบวนการผลิตไม่ได้
6
ปัญหาของบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ที่ผ่านมาคือคิดว่าสามารถแยกได้ โดยคิดในห้องแล็บที่สหรัฐฯ แล้วส่งออร์เดอร์ไปให้โรงงานที่จีนผลิต แต่เมื่อสหรัฐฯ ขาดความสามารถในการผลิต ก็ขาดความสามารถที่จะเรียนรู้ข้อจำกัดและปัญหา ซึ่งจะช่วยให้กลับมาพัฒนานวัตกรรมได้ดีขึ้น
9
ในวันนี้ ทฤษฎีการค้าจึงไม่ใช่เรื่องของความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (ใครถนัดชิ้นส่วนอะไร ก็ผลิตชิ้นส่วนนั้น) อีกต่อไป แต่กลายเป็นเรื่องความมั่นคงของซัพพลายเชน และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นไปอีก คือเรื่องนโยบายการพัฒนานวัตกรรม ด้วยความเชื่อใหม่ที่ว่า ถ้าฐานการผลิตไม่ได้อยู่ที่สหรัฐฯ ก็จะกลายมาเป็นคอขวดในการผลักดันนวัตกรรมใหม่ของสหรัฐฯ ในอนาคต
10
ในอุตสาหกรรมสำคัญอย่างเซมิคอนดักเตอร์ ปัจจุบันทั้งจีนและสหรัฐฯ ไม่สามารถควบคุมห่วงโซ่ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ดี ตอนนี้ทั้งสองฝั่งต่างพยายามสร้างห่วงโซ่ของตน พร้อมกับพยายาม Reshoring ข้อต่อสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้อยู่ภายในประเทศตน
7
หากให้สรุป กลยุทธ์ของสหรัฐฯ ในโลกยุคใหม่จึงเปลี่ยนจากการย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่ผลิตได้ถูก (Offshoring) มาเป็นการสร้างห่วงโซ่การผลิตในกลุ่มพันธมิตร (Friendshoring) และหากเป็นไปได้ ก็ต้องพยายามย้ายฐานการผลิตในข้อต่อสำคัญกลับประเทศ (Reshoring) การกลับมาผลิตในสหรัฐฯ ไม่ใช่เพื่อการจ้างงาน ไม่ใช่เพื่อความมั่นคง แต่เพื่อจะได้ครองความเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไป
12
เพราะหากไม่มีการผลิตภายในประเทศ ก็อาจกลายเป็นคอขวดสำหรับการคิดค้นใหม่ๆ โดยเฉพาะในยุคที่การประยุกต์และอัปเดตโมเดลเทคโนโลยี ไม่ว่าจะในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ EV หรือแบตเตอรี่ยุคใหม่ ต้องอาศัยการลองผิดลองถูกจากกระบวนการผลิต และต้องแข่งกันเปลี่ยนรุ่นเทคโนโลยีด้วยสปีดที่เร็วกว่าเดิมแบบทบทวีคูณ
4
โฆษณา