30 พ.ย. 2021 เวลา 13:03 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รู้จักกับ 22 “เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” ที่จะเกิดขึ้นจริงในปี 2022
ตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 หลายคนรู้สึกเหมือนโลก ‘หยุดเดิน’ เพราะเราต้องอยู่แต่บ้าน ไม่ได้เดินทางไปไหน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เพราะข้อจำกัดเหล่านี้ต่างหาก โลกจึงถูกบีบให้ ‘ก้าวหน้า’ อย่างรวดเร็วในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน!
2
โดยเฉพาะในด้านของ “เทคโนโลยี”
2
เพราะทุกธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด นวัตกรรมใหม่ๆ มากมายจึงถูกเร่งสร้างมาเพื่อช่วยให้โลกขับเคลื่อนต่อไปได้ ทั้งด้านของเศรษฐกิจ การศึกษา การแพทย์ ไปจนถึงการออกแบบ หนึ่งเหตุการณ์สำคัญคือการพัฒนาวัคซีน mRNA จนใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะมีการศึกษามากว่าทศวรรษแล้ว แต่ขั้นตอนการพัฒนา การทดลอง ไปจนถึงการอนุญาตใช้จริงยังเร็วกว่าวัคซีนในอดีตหลายเท่า
แต่ว่านอกจาก mRNA นี้ ยังมีอีกหลายเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ตั้งแต่แท็กซี่บินได้ เทคโนโลยีการนอน ไปจนถึงควอนตัมคอมพิวเตอร์ มาดูกันดีกว่าว่า ในปี 2022 มีอะไรหน้าจับตามองบ้าง
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society
1) กางร่มให้โลกด้วยเทคโนโลยี Solar Geoengineering
ในปี 1991 ภูเขาไฟปีนาตูโบในฟิลิปปินส์เกิดการปะทุขึ้น สร้างความเสียหายจำนวนมาก หลายครัวเรือนต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยและต้องตกงาน แต่ในเรื่องเลวร้ายก็ยังมีเรื่องดีอยู่บ้าง เพราะเถ้าภูเขาไฟและฝุ่นที่ลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศนั้นส่งผลให้โลกเย็นลงถึง 0.5 องศาเซลเซียสนานกว่า 4 ปี
ด้วยเหตุนี้เองจึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Solar Geoengineering” หรือการกางร่มให้โลกแบบเดียวกับที่ภูเขาไฟทำโดยบังเอิญ แต่วิศวกรจะทำโดยตั้งใจ อย่างไรก็ตาม มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานว่าวิธีนี้จะได้ผลจริงหรือเปล่า จะกระทบสภาพอากาศของโลกไหม หรือถ้าทำสำเร็จ มันจะทำให้คนเลิกรักษ์โลกหรือเปล่า ข้อกังขามากมายทำให้เทคโนโลยีนี้ยังไม่ถูกสนับสนุนและพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ
2
ถึงกระนั้น ในปี 2022 นี้ กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะลองปล่อยบอลลูนขึ้นไปในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ และปล่อยวัสดุบางอย่างที่มีการทำงานคล้ายกับเถ้าภูเขาไฟ (อย่างแคลเซียมคาร์บอเนต) จำนวน 2 กิโลกรัม เพื่อวัดผลดูว่าจะกระจายวงกว้างแค่ไหนและมีผลกระทบอย่างไรบ้าง
1
ผู้ที่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีนี้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องเข้าใจเรื่องนี้ เพราะหากเราลดการปล่อยก๊าซไม่ได้และต้องการซื้อเวลาเพื่ออยู่ต่อบนโลกนี้จริงๆ เทคโนโลยี Solar Geoengineering นี่แหละอาจเป็นคำตอบ
2) เครื่องปั๊มความร้อน
อากาศร้อนเลยต้องเปิดแอร์กันเยอะก็เป็นปัญหาแล้ว แต่อากาศหนาวที่ต้องใช้เครื่องทำความร้อนก็เป็นปัญหาไม่แพ้กัน การให้ความอบอุ่นแก่บ้านและอาคารต่างๆ ในหน้าหนาวนั้นปล่อย ‘มลพิษ’ มากถึง 1 ใน 4 จากการปล่อยมลพิษทั้งหมดทั่วโลก การสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า พลังงานที่ใช้ในเครื่องทำความร้อนกว่าครึ่งมาจากแก๊สธรรมชาติ นอกเหนือจากนั้นก็เป็นแก๊สโพรเพน ถ่าน น้ำมัน และไฟฟ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป
ทางเลือกทดแทนที่น่าสนใจที่สุดในตอนนี้คือ การใช้ “เครื่องปั๊มความร้อน” (Heat Pumps)
เครื่องปั๊มความร้อนทำงานอย่างไร แม้ในชื่อจะมีคำว่า ‘ความร้อน’ อยู่ แต่เทคโนโลยีนี้ทำงานได้สองแบบ คือ 1) ปั๊มความร้อนจากภายนอกเข้ามาในบ้าน โดยไฟฟ้าทุกๆ 1 กิโลวัตต์จะสามารถสร้างความร้อนได้ถึง 3 กิโลวัตต์ ทำให้ถูกกว่าการใช้ฮีตเตอร์เสียอีก 2) ปั๊มความร้อนออกและให้ความเย็นแก่พื้นที่ เพียงเท่านี้บ้านเราก็จะเย็นราวกับเปิดแอร์
แม้เครื่องปั๊มความร้อนจะมีใช้มานานแล้ว แต่มักจะถูกมองข้ามและไม่มีการสนับสนุนให้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ในปี 2022 บริษัท Gradient จากซานฟรานซิสโก หนึ่งในหลายบริษัทที่พัฒนาเครื่องปั๊มอากาศที่ให้ทั้งความร้อนและความเย็น มีแผนว่าจะจัดจำหน่ายเครื่องปั๊มอากาศดีไซน์เรียบง่ายภายในปีหน้า
1
3) เครื่องบินพลังงานไฮโดรเจน
ทางออกของการลดมลภาวะบนท้องถนนคือรถยนต์ไฟฟ้า แต่สำหรับเครื่องบินที่ขนาดใหญ่กว่าและเดินทางไกลกว่า ไฟฟ้าอาจไม่ใช่ทางออก แต่เป็น “เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน” ต่างหาก
เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนมีข้อดีคือ เชื้อเพลิงที่นำไปใช้แล้วจะไม่สูญหายหรือสร้างมลภาวะ เพราะมันจะกลายเป็นน้ำบริสุทธิ์ (H2O) แทน ในปี 2022 มหาวิทยาลัยและบริษัทต่างๆ วางแผนจะทดลองเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจนเป็นครั้งแรก และบางบริษัทมีแผนจะประกาศใช้จริงภายในปีหน้า
5
4) นวัตกรรมดักจับ CO2 ออกจากอากาศ
1
‘ถ้าคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทำร้ายโลกนัก ทำไมไม่ดูดมันออกจากอากาศเลยล่ะ’ แนวคิดนี้เองทำให้สตาร์ตอัปหลายเจ้าหันมาพัฒนา “นวัตกรรมดักจับ CO2” (Direct Air Capture) เช่น บริษัท Carbon Engineering จากแคนาดา พวกเขาวางแผนว่าในปี 2022 จะสร้างเครื่องจับ CO2 ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเครื่องนี้จะสามารถจับ CO2 ได้มากถึง 1 ล้านตันต่อปีเลยทีเดียว ส่วนบริษัทที่ดำเนินการไปแล้วก็มีเช่นกัน อย่างปีนี้ บริษัท ClimeWorks ก็เปิดใช้งานเครื่องดักจับ CO2 ในไอซ์แลนด์ โดยเครื่องดังกล่าวดักจับ CO2 ในฟอร์มของแข็งได้มากถึง 4,000 ตันต่อปี
1
5) ฟาร์มแนวตั้ง
ฟาร์มแนวตั้งกำลังเป็นที่นิยมในหลายๆ ประเทศ เพราะฟาร์มประเภทนี้ต้องทำในพื้นที่ปิดและควบคุมได้ จึงทำให้ใช้น้ำน้อยกว่า ควบคุมแมลงได้ดีกว่า ไม่จำเป็นต้องพึ่งยาฆ่าแมลง และยังสามารถตั้งอยู่ในเมือง ใกล้กับผู้บริโภคได้อีกด้วย ค่าขนส่งและมลภาวะจากการขนส่งจึงลดลงตามมา อย่างไรก็ตาม การทำฟาร์มประเภทนี้ยังมีภาระค่าไฟที่สูงอยู่เพราะต้องใช้ไฟ LED จำนวนไม่น้อยเลย
2
6) เรือใบคอนเทนเนอร์
การขนส่งและคมนาคมทางน้ำปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 3% จากก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด เท่านั้นยังไม่พอ ตะกอน ของเสีย และน้ำมันจากเรือยังทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ ซึ่งอาจนำไปสู่ฝนกรดอีกด้วย แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาเลยในอดีตที่มนุษย์ยังแล่นเรือใบ
ด้วยเหตุนี้เอง “เรือใบ” จึงได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง ในรูปแบบที่เหนือชั้นกว่าเดิม!
1
ในปี 2022 บริษัท Michelin จะติดเรือใบแบบพับเก็บได้ให้กับเรือบรรทุกสินค้าของบริษัท โดยหวังว่าจะลดการใช้เชื้อเพลิงถึง 20% และบริษัทอื่นๆ ในญี่ปุ่นและอิตาลีก็มีแผนเช่นกัน สมาคมเรือยนต์นานาชาติรายงานว่า ภายในปี 2022 เรือบรรทุกสินค้าใหญ่ๆ จะเริ่มติดใบเรือกันมากขึ้นถึงสี่เท่า
1
7) ออกกำลังกายกับ VR
สาเหตุที่หลายคนไม่ชอบออกกำลังกายเพราะมัน ‘ไม่สนุก’ บางคนพอออกในบ้านซ้ำๆ ก็เริ่ม ‘เบื่อ’ แต่ก็ออกไปไหนไม่ได้เพราะสถานการณ์โรคระบาด การพัฒนาเกมออกกำลังกายแบบสวมแว่นจำลองภาพเสมือนจริง (VR) เลยเป็นสิ่งที่หลายบริษัทให้ความสนใจในปีที่ผ่านมา คาดการณ์กันว่าในปี 2022 จะมีทั้งแว่น VR รุ่นใหม่ๆ และเกมออกกำลังกายหลายเกม จับตาดูกันไว้ได้เลยเพราะในอนาคต การออกกำลังกายจะกลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ไม่จำเจอีกต่อไป
8) วัคซีนสำหรับโรคมาลาเรียและ HIV
ความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีน mRNA ถือเป็นยุคทองของการพัฒนาวัคซีนเลยก็ว่าได้ แต่การพัฒนาทางการแพทย์ยังไม่หยุดแค่นั้น ปัจจุบันบริษัท Moderna กำลังพัฒนาวัคซีนสำหรับโรค HIV โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกับการพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 มีการเริ่มวิจัยในคนแล้วในปีนี้และคาดว่าจะทราบผลกันในปีหน้า ส่วน BioNTech ก็กำลังศึกษาและพัฒนาวัคซีน mRNA สำหรับโรคมาลาเรียเช่นกัน ทางบริษัทวางแผนจะเริ่มวิจัยในคนในปี 2022 ส่วนวัคซีนสำหรับทั้ง HIV และมาลาเรียที่ไม่ใช่ชนิด mRNA ซึ่งศึกษาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้น ก็มีการพัฒนาไปในทางที่ดี
9) ปลูกถ่ายกระดูกที่ทำจากเครื่องพิมพ์ 3D
หลายปีที่ผ่านมา นักวิจัยได้พยายามค้นคว้าการผลิตอวัยวะเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3D โดยการนำเซลล์จำนวนหนึ่งจากผู้ป่วย และสร้างอวัยวะเทียมที่ใช้งานได้เหมือนจริงเพื่อนำไปใช้ในการปลูกถ่าย
ด้วยความซับซ้อนของอวัยวะต่างๆ ความฝันนี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาอีกนาน แต่ถ้าพูดถึงในเรื่องของ “กระดูก” ล่ะก็ มีข่าวดีรอเราอยู่ในปี 2022 เพราะการปลูกถ่ายกระดูกเทียมก็เริ่มเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น
บริษัทสตาร์ตอัปสองเจ้าชื่อ Particle3d และ adam ได้พัฒนากระดูกจากเครื่องพิมพ์ 3D สักระยะหนึ่งแล้ว และหวังว่าจะใช้งานได้จริงในปี 2022 โดยทั้งสองเจ้านี้ได้ใช้แร่ธาตุที่มีส่วนผสมของแคลเซียมในการพิมพ์กระดูกเทียมขึ้นมา ผลการทดลองขั้นต้นในสัตว์พบว่าใช้งานได้สมจริง มีการเติบโตของไขกระดูกและเส้นเลือดตามปกติภายใน 8 สัปดาห์
2
10) แท็กซี่บินได้
เมื่อพูดถึงเมืองแห่งอนาคต ภาพฝันของเรามักจะมีรถบินได้เสมอ แต่สิ่งนี้ใกล้เข้าสู่ความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว หลายบริษัททั่วโลกจะมีการทดลองใช้จริงในปี 2022 และขอสิทธิบัตรในการใช้เชิงพาณิชย์ในขั้นตอนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Joby Aviation, eHang, Lilium, Vertical Aerospace, และ Volocopter ของเยอรมนีที่ประกาศว่าจะให้บริการแท็กซี่บินได้ในงานโอลิมปิกปี 2024 ณ กรุงปารีส
1
11) ทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์
ทั้ง 3 บริษัทดังอย่าง Virgin Galactic ของเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน, Blue Origin ของเจฟ เบโซส์ และ SpaceX ของอีลอน มัสก์ ต่างเตรียมพร้อมที่จะเพิ่มเที่ยวทัวร์อวกาศในปี 2022 ซึ่งหากเป็นไปได้จริง จะเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ที่มีคนไปอวกาศในฐานะ ‘ลูกค้า’ มากกว่า ‘เจ้าหน้าที่’
1
12) โดรนส่งของ
แม้จะมีการใช้โดรนมาสักระยะแล้ว แต่เราเพิ่งจะเห็นการใช้โดรนเพื่อส่งของ (เช่น ยา อาหาร หรือสิ่งของจำเป็น) กันในช่วงการระบาดโควิด-19 เรียกได้ว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การขนส่งโดยโดรนพัฒนาและเป็นที่นิยมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองคือเมื่อโลกกลับมาเป็นปกติในปี 2022 การใช้โดรนจะแพร่หลายขึ้นจนมาแทนบุรุษไปรษณีย์หรือพนักงานส่งอาหารเลยไหม หรือจะกลับไปใช้น้อยลงเหมือนในอดีต
1
13) เครื่องบินความเร็วเหนือเสียงแบบเงียบ
กว่าครึ่งศตวรรษที่นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่า หากเราเปลี่ยนรูปร่างของเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง เสียงโซนิกบูม (Sonic Boom) นั้นจะเบาลงไหม เมื่อไม่นานมานี้เอง ความล้ำหน้าของเทคโนโลยีได้สร้างสถานการณ์จำลองและเปลี่ยนทฤษฎีดังกล่าวให้ใกล้สู่ความเป็นจริง โดยในปี 2022 นี้ X-59 QueSST เครื่องบินความเร็วเหนือเสียงแบบเงียบของ NASA จะทดลองบินเป็นครั้งแรกที่ฐานทัพอากาศในแคลิฟอร์เนีย
14) การสร้างบ้านด้วยเครื่องพิมพ์ 3D
การใช้เครื่องพิมพ์ 3D ในการสร้างโมเดลเป็นที่นิยมในหมู่สถาปนิกอยู่แล้ว แต่ถ้าหากเทคโนโลยีนี้มีประสิทธิภาพและขนาดที่ใหญ่ขึ้นจนสร้างบ้านจริงๆ ได้ อุตสาหกรรมก่อสร้างคงเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด
ในปี 2022 บริษัท Mighty Buildings ในแคลิฟอร์เนียจะสร้างบ้าน 15 หลังที่สร้างจากเครื่องพิมพ์ 3D ให้เสร็จ ส่วนบริษัท icon ในเท็กซัสได้วางแผนสร้างบ้าน 100 หลังจากเครื่องพิมพ์ 3D ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส
15) เทคโนโลยี “การนอน”
แต่ก่อนหลายคนมุ่งตามหาวิธีใช้เวลาให้ ‘คุ้มค่า’ และ ‘มีประสิทธิภาพ’ มากที่สุด แต่เท่านั้นคงไม่เพียงพอ ถ้าเกิดในช่วงกลางคืน เราดันนอนไม่หลับขึ้นมา ต่อให้เช้าวันต่อไป เราอยากทำให้เต็มที่แค่ไหนก็อาจจะเต็มร้อยไม่ได้เพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ!
ปัจจุบันเลยมีคนหันมาสนใจสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ หาวิธีที่จะช่วยให้เราหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นแหวน สายคาดศีรษะ นาฬิกาปลุกอัจฉริยะ และเตียงที่ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับร่างกายเรา ไม่แน่ว่าในปี 2022 หรือในอนาคตไม่ไกล เราอาจจะหลับได้ตามใจสั่งและปัญหานอนไม่หลับอาจหมดไปเลยก็ได้
2
16) อาหารเฉพาะบุคคล
3
การศึกษาหลายงานพบแล้วว่า ระบบเมแทบอลิซึมของคนเราต่างกัน ดังนั้น ‘อาหาร’ ที่เรารับประทานต้องต่างกันด้วย ในอนาคตหลายบริษัทจึงหวังจะผลิตแอปฯ ที่บอกเราว่าควร ‘ทานอะไร’ และ ‘ทานเมื่อไร’ พร้อมศึกษาร่างกาย ไลฟ์สไตล์ ไปจนถึงน้ำตาลในเลือดของเราเพื่อคัดสรรอาหารที่เหมาะกับเราที่สุด หากนวัตกรรมนี้เกิดขึ้นจริง มนุษย์เราคงมีแนวโน้มที่จะสุขภาพดีขึ้นกันถ้วนหน้า
2
17) อุปกรณ์เก็บข้อมูลสุขภาพแบบพกพา
ปัจจุบันการปรึกษาแพทย์ผ่านโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่เห็นได้บ่อย และเทคโนโลยีเก็บข้อมูลสุขภาพ (อย่าง Fitbit หรือ Apple Watch) อาจถูกนำไปใช้ในการให้ข้อมูลทางการแพทย์มากขึ้น ก่อนหน้านี้อุปกรณ์เหล่านี้มักจะใช้เก็บข้อมูลด้านการออกกำลังกาย เช่น จำนวนก้าวที่เดิน ความเร็วขณะวิ่งหรือว่ายน้ำ และอัตราการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกาย เป็นต้น แต่ยิ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมา เราจะเห็นว่าอุปกรณ์พวกนี้ล้ำหน้าขึ้นเรื่อยๆ
ตอนนี้ Smart Watch หลายรุ่นสามารถวัดระดับออกซิเจนในเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจหาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติได้ หลายคนคาดการณ์ว่า Apple Watch รุ่นใหม่ในปี 2022 จะสามารถวัดความดันเลือด อุณหภูมิร่างกาย ระดับน้ำตาลในเลือด และระดับแอลกอฮอลล์ในเลือดได้
คงจะดีไม่น้อยหากในอนาคตเราสามารถกดส่งข้อมูลสุขภาพเหล่านี้จากนาฬิกาบนข้อมือ จากนั้นก็กด Video Call หาคุณหมอเพื่อปรึกษาได้เลย
1
18) Metaverse
หนึ่งเรื่องที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงท้ายของปี 2021 คือ Metaverse โลกเสมือนจริงที่จะทำให้ประสบการณ์บนโลกออนไลน์ของเราสนุก สมจริง และเชื่อมต่อกับคนอื่นได้มากขึ้น แม้ Metaverse ของ Meta (อดีต Facebook) กว่าจะปล่อยออกมาเต็มตัวนั้นต้องใช้เวลาอีกนาน แต่คงมีการอัปเดตที่น่าสนใจจากค่ายอื่นๆ แน่นอนในปีต่อไป
1
19) ควอนตัมคอมพิวเตอร์
ไอเดียของควอนตัมคอมพิวเตอร์มีมาตั้งแต่ช่วงปี 1990 แล้ว แต่เทคโนโลยีสุดล้ำนี้จะมาเยือนโลกความเป็นจริงเมื่อไหร่กันนะ จะเป็นปี 2022 หรือเปล่า!?
ปัจจุบันควอนตัมคอมพิวเตอร์มีการพัฒนาอย่างมาก ทีมจากประเทศจีนได้ผลิตคอมพิวเตอร์ที่มีจำนวนคิวบิต (หน่วยที่เล็กที่สุดของข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์เชิงควอนตัม) อยู่ที่ 66 คิวบิต ทำให้คอมพิวเตอร์ดังกล่าวถูกขนานนามว่าเป็นคอมพิวเตอร์ที่ “เร็ว” ที่สุดในโลก ความสำเร็จนี้กระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ เร่งพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ของตนบ้าง อย่างบริษัทหนึ่งในอเมริกาก็วางแผนจะสร้างคอมพิวเตอร์ขนาด 433 คิวบิตให้สำเร็จในปี 2022 เช่นกัน
20) อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง
อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง (Virtual Influencer) กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพราะมีข้อดีมากมาย เช่น สวมชุดใดก็ได้ ทำผมทรงไหนก็ได้ ไปถ่ายทำที่ไหนก็ได้ ไม่มาทำงานสาย และไม่แก่ตามกาลเวลา ในต่างประเทศอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงเริ่มเป็นที่นิยมกันมาสักระยะแล้ว อย่าง “Lil Miquela” อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงสัญชาติอเมริกัน-บราซิล นั้นมีผู้ติดตามใน Instagram กว่า 3 ล้านคน ส่วนในไทยก็มี “กะทิ” อินฟลูเอนเซอร์สัญชาติไทยที่กำลังเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย
1
21) การสื่อสารระหว่างสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์
จะเป็นอย่างไรถ้าเราควบคุมเกมได้โดยใช้ ‘ความคิด’ ไม่ต้องใช้มืออีกต่อไป นิวรัลลิงก์ (Neuralink) บริษัทสตาร์ตอัปของ อีลอน มัสก์ ได้พัฒนาไมโครชิปที่สามารถฝังไว้ในสมอง ช่วยให้คนควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยความรู้สึกนึกคิด แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย แต่หากนวัตกรรมนี้ทำสำเร็จคงจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ป่วยอัมพาต หรือผู้ป่วยที่สูญเสียการควบคุมร่างกาย
1
22) เนื้อจากห้องแล็บ
วินสตัน เชอร์ชิล เคยพูดขำๆ ว่า “การเลี้ยงไก่ทั้งตัวเพื่อกินแค่อกกับปีกนี่มันไม่สมเหตุสมผลเลย” แต่ในปัจจุบันหรือเกือบทศวรรษต่อมา มีกว่า 70 บริษัทที่กำลังพยายามปลูกเนื้อในห้องแล็บ โดยใช้เซลล์จากสัตว์และเลี้ยงเซลล์นั้นด้วยโปรตีน น้ำตาล ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ ในปี 2020 บริษัท Just Eat เป็นสตาร์ตอัปรายแรกที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเนื้อที่เลี้ยงในห้องแล็บได้ในสิงคโปร์
1
ส่วนในปี 2022 มีบริษัทอีกมากมายที่อยู่ในขั้นตอนพัฒนาไปจนถึงขั้นตอนรออนุมัติการขาย หากเนื้อในห้องแล็บเป็นที่ยอมรับแพร่หลายและราคาจับต้องได้เมื่อไร มลภาวะต่างๆ ที่เกิดจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์คงลดลงอย่างมาก ช่วยยื้อเวลาให้เราอยู่บนโลกนี้ได้อีกนานเลย
1
โฆษณา