27 ธ.ค. 2021 เวลา 11:20 • ครอบครัว & เด็ก
EP.57 ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของอีริค เอช อีริคสัน
(Erik H. Erikson’s Neo-Freudian Analysis)
*Erik H. Erikson คือนักจิตวิทยาพัฒนาการและนักจิตวิเคราะห์ที่รู้จักทฤษฎีเกี่ยวกับพัฒนาการทางจิตใจของมนุษย์*
สำหรับวันนี้ WELL KIDS จะมานำเสนอทฤษฎีของ Erik H. Erikson’s ที่ส่งผลถึงความเป็นตัวตนและอุปนิสัยของคนๆหนึ่งนะคะ โดยอ้างอิงจากพัฒนาการทางบุคลิกภาพของอีริคสัน (Psychosocial development) ที่แบ่งออกเป็น 8 ขั้น ซึ่งจะสืบเนื่องติดต่อกันไปตลอดชีวิต ดังนี้ค่ะ
ขั้นที่ 1 ช่วงอายุ 0-1 ปี วัยทารก
Trust vs. Mistrust
การพัฒนาความรู้สึกไว้ใจกับความรู้สึกไม่ไว้วางใจ
ขั้นที่ 2 ช่วงอายุ 1-3 ปี วัยเตาะแตะ
Autonomy vs. Shame and Doubt
ความเป็นตัวของตัวเองกับความไม่มั่นใจในตัวเอง
ขั้นที่ 3 ช่วงอายุ 3-6 ปี ช่วงก่อนวัยเรียน
Initiative vs. Guilt
ความคิดริเริ่มกับความรู้สึกผิด
ขั้นที่ 4 ช่วงอายุ 6-12 ปี เด็กวัยเรียนช่วงประถมศีกษา
Industry vs. Inferiority
ความขยันหมั่นเพียรกับความรู้สึกต่ำต้อย
ขั้นที่ 5 ช่วงอายุ 12-18 ปี วัยรุ่น
Ego identity vs. Role confusion
ความเป็นเอกลักษณ์กับความสับสนในบทบาท
ขั้นที่ 6 ช่วงอายุ 20-40 ปี วัยผู้ใหญ่ตอนต้น
Intimacy vs. Isolation
ความผูกพันเป็นมิตรกับความรู้สึกโดดเดี่ยว
ขั้นที่ 7 ช่วงอายุ 40-65 ปี วัยผู้ใหญ่ตอนกลาง/วัยกลางคน
Generativity vs. Stagnation
การทำประโยชน์ให้สังคมกับการคิดถึงแต่ตนเอง
ขั้นที่ 8 ช่วงอายุ > 65 ปี วัยสูงอายุ
Ego intergration vs. Despair
ความรู้สึกมั่นคงสมบูรณ์กับความรู้สึกสิ้นหวัง
ขั้นตอนของพัฒนาการตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิต-สังคม ในช่วงขวบปีแรกเป็นขั้นที่เด็กจะพัฒนาความไว้วางใจทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และสภาพแวดล้อม (Trust VS Mistrust) ถ้าในช่วงนี้เด็กได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ผลจากพัฒนาการที่ดีในวัยทารกจะพัฒนามาเป็นการมองโลกในแง่ดี มีความรู้สึกวางใจ รู้สึกปลอดภัย และรู้สึกมีความหวัง (Hope) แต่หากเด็กเกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจอาจเกิดความคับข้องใจได้
ระยะต่อมาเป็นระยะที่เด็กโตขึ้น เริ่มมีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง แต่อาจจะยังไม่แน่ใจในความสามารถของตนเอง จึงทำให้เด็กมีความขัดแย้งในตัวเอง (Autonomy vs. Shame) เด็กในวัยนี้ต้องการคำแนะนำจากผู้ปกครอง หากเด็กได้รับการส่งเสริม การสนับสนุน ได้รับกำลังใจ จะทำ ให้เด็กกล้าที่จะเรียนรู้และลองทำสิ่งต่างๆ (Will power) มีโอกาสที่จะพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง เด็กๆเกิดความรู้สึกดีต่อตัวเอง แต่หากผู้ปกครองไม่สนับสนุน หรือไม่ให้โอกาสเด็กๆได้เรียนรู้จะทำให้เด็กเกิดความเคลือบแคลงใจ สงสัยในความสามารถของตนเอง
4
ในช่วงก่อนวัยเรียนหรือช่วงอนุบาลเป็นช่วงที่เด็กมีจินตนาการ มีความคิดริเริ่มในการทำสิ่งต่างๆ (Initiative vs. Guilt) ถ้าเด็กได้รับอิสระในการคิดและการทำกิจกรรมต่างๆ หรือพ่อแม่มีเวลาให้เด็กรวมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของเด็กได้ ทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะศึกษาค้นคว้า สำรวจ หรือริเริ่มทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง (Purpose) แต่หากผู้ใหญ่เข้มงวด ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ถาม หรือตั้งข้อสงสัย จะทำให้เด็กรู้สึกขาดความเขื่อมั่น และพยายามยับยั้งตัวเองไม่ให้ทำสิ่งใหม่ๆ
ช่วงเด็กในวัยเรียน เป็นช่วงที่เด็กมีความเจริญเติบโตมาก เริ่มแสดงความคิดเห็นและแก้ไขปัญหาต่างๆได้ และเด็กพยายามเรียนรู้ในการทำสิ่งต่างๆให้สำเร็จและมักเปรียบเทียบกับเพื่อน (Industry vs. Inferiority) และถ้าเด็กทำสิ่งต่างๆตามที่ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การเขียน ในส่วนของการเรียน การทำงางน และการดำเนินชีวิตได้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ทำให้เกิดความมั่นใจในตัวเอง และเกิดเป็นความคิดเป็น ทำเป็น (Competence) แต่ถ้าเด็กไม่สามารถทำตามที่ตนเองตั้งใจได้อาจทำให้เด็กๆรู้สึกเป็นปมด้อย และรู้สึกว่าตัวเองไม่มีศักยภาพในการทำสิ่งต่างๆ
ในช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนจากวัยเด็กสู่วัยรุ่นนับว่าเป็นช่วงที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะบุคคลจะเริ่มมองไปที่อนาคตทั้งในด้านอาชีพ ความสัมพันธ์ ที่อยู่อาศัย เป็นต้น ในเด็กที่เติบโตมาจากครอบครัวที่อบอุ่น มีการตอบสนองอย่างเหมาะสม เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นจะทำให้บุคคลเข้าใจถึงความสามารถ ตลอดจนความขัดแย้งต่างๆของตนเอง (Ego identity vs. Role confusion) ในช่วงนี้เป็นช่วงที่บุคคลเรียนรู้บทบาทของตนเอง มีความสามารถในการตัดสินใจเรื่องบุคลิก แนวทางและอาชีพของตนเอง มีเอกลักษณ์ของตนเอง (Fidelity)
ในช่วงอายุประมาณ 20-40 ปี เป็นช่วงที่ผ่านมาแล้ว 5 ขั้นของพัฒนาการทางจิตสังคม ทำให้ในช่วงนี้บุคคลสามารถรับรู้ได้ถึงเอกลักษณ์ของตนเอง รับรู้ความต้องการของตนเอง รับรู้จุดมุ่งหมายในชีวิต ทำให้เกิดความรู้สึกต้องการเพื่อนที่จะรับรู้และแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ เกิดความรู้สึกผูกพันและก่อให้เกิดความรัก (Love) แต่ในทางตรงกันข้ามบางคนอาจจะไม่มีความรู้สึกสนิทสนมกับใคร และก่อให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว (Intimacy vs. Isolation)
1
วัยกลางคน ในช่วงนี้เป็นวัยที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม เมื่อบุคคลพัฒนาถึงขั้นนี้แล้ว เอกลักษณ์ของบุคคลจะเป็นที่ประจักษ์ในสังคม มีการสั่งสอนลูกหลานให้เป็นคนดีในสังคมต่อไป (Care) ความสำเร็จในการสร้างประโยชน์ต่อสังคมทำให้บุคคลรู้สึกเป็นประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันถ้าบุคคลที่อยู่ในขั้นนี้แล้วไม่สามารถผ่านอุปสรรคต่างๆได้ ก็จะเกิดความรู้สึกท้อถอย เบื่อหน่ายชีวิต คิดถึงแต่ตนเองตลอดเวลา เพราะไม่มีความมั่นใจในความสามารถของตนเอง (Generativity vs. Stagnation)
ช่วงวัยสูงอายุ เป็นพัฒนาการขั้นสุดท้ายของชีวิต ถ้าบุคคลสามารถผ่านขั้นตอนของพัฒนาการมาด้วยดี บุคคลจะมีประสบการณ์ชีวิต พึงพอใจชีวิตของตน รู้จักหาความสงบสุข พอใจกับวัยชรา ยอมรับสภาพความเป็นอยู่ตามความจริง เกิดความมั่นคงในจิตใจ (Wisdom) ในทางตรงข้ามจะรู้สึกผิดหวังกับชีวิตที่ผ่านมา โศกเศร้าว้าเหว่ (Ego intergration vs. Despair)
.
WELL KIDS มองว่าทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของอีริค เอช อีริคสัน เป็นทฤษฎีที่น่าสนใจและสามารถนำมาปรับใช้ในการเป็นแนวทางในการเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เพื่อให้เด็กมีการเติบโตในแนวทางที่ดีและให้เด็กเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข ความมั่นใจในตัวเอง และใช้ชีวิตได้อย่างดี หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการปรับใช้สำหรับผู้ที่สนใจได้นะคะ 🙂
WELL KIDS 👶🏻
แหล่งอ้างอิง
- นิตยา คชภักดี.ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กสำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป.พิมพ์ครั้งที่1.นนทบุรี:บ.บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด;2554.
- จิตวิทยากับชีวิตประจำวัน.เชียงใหม่.โรงพิมพ์มิ่งเมือง เชียงใหม่
3
โฆษณา