3 ธ.ค. 2021 เวลา 02:00 • กีฬา
" กุ๊ด-เบงค์ คู่หูแห่งเดอะ บริดจ์ "
วันก่อนหลังเกมเชลซีเสมอแมนฯ ยูไนเต็ด ไฮไลท์ไปตกอยู่ที่การถกเถียงกันอย่างดุเดือดถึงอารมณ์ของ รอย คีน และ เจมี่ คาร์ราเกอร์
หลายคนลืมไปเลยว่าในสตูดิโอ วันนั้นยังมีอีกหนึ่งคนที่นั่งอยู่ด้วย ไม่นับพิธีกร เดวิด โจนส์ นั่นก็คือ จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์
ในยุคหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ใช่ยุคอันธพาลครองเมือง แต่เป็นยุคที่ทีมชาติฮอลแลนด์ มีแต่กองหน้าตัวจบสกอร์ที่เก่งครบเครื่องหลากหลายจนไม่สามารถยัดลงไปในทีมได้หมด
พาทริค ไคลเวิร์ต, รุด ฟาน นิสเตลรอย, ปิแอร์ ฟาน ฮอยดองค์, รอย มาคาย และ จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์ นี่คือ 5 ตัวที่ได้รับการยกย่อง
น่าเสียดายสำหรับ ฮัสเซลเบงค์ ที่เขาได้โอกาสติดทีมชาติน้อยเกินไปเพียง 23 นัดเท่านั้น แต่อย่างที่บอก คนอื่นๆ ก็เก่งๆ กันหมด
หากจะพูดกันเรื่องกองหน้าตัวปิดบัญชี "เบงค์" แทบไม่เป็นรองใคร เขาไม่ได้มีรูปร่างสูงใหญ่ แต่เป็นคนแข็งแรง ไม่ได้ฝีเท้าเร็วจัด แต่ก็มีสปีดต้นในการพุ่งเข้าหาบอลที่ดี ไม่ได้เลี้ยงบอลคล่องแคล่ว แต่จังหวะการแต่งบอลดี ที่สำคัญ เขายิงบอลเข้าข้อโดยแทบไม่ต้องง้างเท่าไหร่เลย เป็นคนยิงบอลพุ่งแรงโดยธรรมชาติ แต่มันดันคมซะด้วย
มีกองหน้าลักษณะนี้ไม่เยอะนักที่มีทีเด็ดในเรื่องการสังหารฟรีคิก แต่ ฮัสเซลเบงค์ คือหนึ่งในนั้น เขายิงฟรีคิกได้ดี แอบปั่นก็ได้ หรือยิงแบบเต็มข้อก็ได้เช่นกัน
จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์ มาดังตอนอายุเยอะแล้ว คือตอนย้ายจากเบาวิสต้าในโปรตุเกสมาอยู่ลีดส์ ตอนปี 1997 ขณะที่อายุ 25 ปี
เขาย้ายไปอยู่กับ แอตเลติโก้ มาดริด ในอีก 2 ปีต่อมา แต่มันดันเป็นช่วงที่ตราหมีฟุบเฉย ปีนั้นทีมตกชั้น แต่ผลงานส่วนตัวของ เบงค์ ดีมากๆ กดไป 24 ประตูในลีก เป็นรองดาวยิงลา ลีกา ตามหลัง ซัลบา บาเยสต้า เพียง 3 ประตู
รวมแล้ว 43 นัดให้ทีมตราหมี เขากระทุ้งไปถึง 33 ประตู นั่นทำให้เขาเป็นที่สนใจของเชลซี ทันที
จบฤดูกาล 1999/2000 พอตราหมีตกชั้น จานลูก้า วิอัลลี่ ซึ่งเป็นกุนซือของเชลซี ในเวลานั้นก็ติดต่อไปหา จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์ ทันทีเพื่อดึงมาร่วมทีม
เชลซี ยอมจ่าย 15 ล้านปอนด์ เป็นสถิติสโมสร และสถิติแพงสุดเกาะอังกฤษเทียบเท่า อลัน เชียเรอร์ ตอนปี 1996 เพื่อลายเซ็นของหัวหอกดัตช์เชื้อสายสุรินาม คนนี้
เพียงแต่เขาไม่ใช่กองหน้าคนเดียวที่เดินเข้าสู่ชายคาสแตมฟอร์ด บริดจ์ ในซัมเมอร์ปี 2000
ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา จานลูก้า วิอัลลี่ ก็ติดต่อเพื่อดึงหนุ่มวัย 22 ปีจากโบลตัน วันเดอเรอร์ส มาอีกราย กองหน้าหนุ่มคนนั้นก็คือ ไอเดอร์ กุ๊ดยอห์นเซ่น
กุ๊ดยอห์นเซ่น ถือได้ว่าเป็นนักเตะไอซ์แลนด์ที่โด่งดังที่สุด เคยเล่นให้ พีเอสวี ตั้งแต่อายุ 17 เขาคือหนึ่งในคู่หูของ โรนัลโด้ เหยินใหญ่ ที่พีเอสวี
ไม่น่าเชื่อว่าแข้งพรสวรรค์ระดับนี้จะย้ายมาอยู่กับโบลตัน ตั้งแต่อายุ 20 ปี อยู่กับโบลตัน ซึ่งขณะนั้นอยู่ใน ดิวิชั่น 1 ( เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ในปัจจุบัน) ผลงานน่าพอใจจนเชลซี คว้ามาร่วมทีม
ขณะนั้นเชลซีเองก็มีกองหน้าตัวเก่ง ตัวเทพอยู่แล้วนั่นก็คือ จานฟรังโก้ โซล่า ที่สถาปนาตัวเองเป็นขวัญใจของแฟนบอลได้ตั้งแต่ย้ายมา
เมื่อ กุ๊ดยอห์นเซ่น กับ ฮัสเซลเบงค์ ย้ายมาได้ไม่กี่เดือน ฤดูกาล 2000/01 ผ่านไปได้แค่เดือนเศษ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น
1
จานลูก้า วิอัลลี่ โดนปลดออกจากตำแหน่ง และสโมสรแต่งตั้ง เคลาดิโอ รานิเอรี่ ขึ้นมารั้งบังเหียนแทน
สองกองหน้าใหม่ สนิทกันตั้งแต่แรก กุ๊ดยอห์นเซ่น รู้ดีว่าตัวเองโดนซื้อเข้ามาเป็นแค่กำลังเสริม ไม่ได้มาเป็นตัวหลัก แต่นั่นไม่ใช่ ฮัสเซลเบงค์ เปลี่ยนกุนซือแบบนี้ ไม่รู้จะส่งผลอะไรแค่ไหน
ทว่า รานิเอรี่ ก็มอบโอกาสให้กับทั้งคู่ตามสมควร ฮัสเซลเบงค์ ยิงไปถึง 24 ประตูในพรีเมียร์ ลีก ในปีแรกกับเชลซี ส่วน กุ๊ดยอห์นเซ่น แม้เป็นสำรองซะเยอะ แต่ก็ทำได้ถึง 10 ประตู
เมื่อทั้งคู่ได้โอกาสลงสนามด้วยกัน มันกลับเป็นการคลิก ที่ลงตัว แม้จะยังมี จานฟรังโก้ โซล่า อยู่ แต่ทั้งอยู่ชอบเล่นด้วยกันเป็นอย่างมาก
"จานฟรังโก้ เป็นนักฟุตบอลที่มหัศจรรย์มาก ด้านเทคนิค เขาโคตรเจ๋งเลย แต่การเชื่อมต่อกันมันไม่ได้ดีเหมือนกับเราสองคน" ฮัสเซลเบงค์ ยอมรับ
"ประเด็นคือ เราต่างก็อยากให้แต่ละคนทำผลงานได้ดี ถ้าเขายิงได้ ผมจะแฮปปี้กับเขา และเขาเองก็เป็นแบบเดียวกัน"
"ผมจะวิ่งเข้าช่อง เขาจะหาผมเจอ"
"อย่าเข้าใจเราผิดนะ เราออกไปดินเนอร์ด้วยกันบ่อย ทั้งเราสองคนและ จานฟรังโก้ เราสนิทกันหมด"
เพียงแต่เมื่อมาถึงเรื่องในสนาม นับวัน ความลงตัวของทั้งคู่ก็ยิ่งส่งผลต่อ จานฟรังโก้ โซล่า "เราจะกอดเขา เรารักเขา และเข้าใจว่าทำไมเขาอารมณ์เสีย เขาก็เข้าใจเรา เราอยากให้เราเป็นส่วนในเกมด้วย แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ การเชื่อมเกมกันมันไม่ได้ดีเหมือนเราสองคน"
แรกๆ โซล่า โดนจับเล่นกับ ฮัสเซลเบงค์ ก่อน แต่ไปๆ มาๆ คู่หู "กุ๊ด-เบงค์" กลายเป็นชื่อคู่กองหน้าตัวหลักของเชลซี
ฤดูกาล 2001/02 คือปีที่ทั้งคู่กลายเป็นตัวจริงตัวหลัก และผลงานก็สุดยอด ทั้งคู่ยิงรวมกันได้ถึง 52 ประตู
กุ๊ดยอห์นเซ่น ยิงไป 23 ประตูจาก 47 นัด ส่วน ฮัสเซลเบงค์ กด 29 ตุงจาก 48 นัด
1
อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงคือนิรันด์ร
ในหน้าร้อนปี 2003 เชลซี ถูกเทคโอเวอร์โดยหนุ่มวัย 37 ปีจากรัสเซีย หนุ่มคนนี้รวยสุดๆ และต้องการนำสโมสรสู่ความสำเร็จให้ได้ภายในทันที
ยุคที่ยังไม่มีกฏไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ โรมัน อับราโมวิช สามารถมอบอะไรให้กับเชลซีก็ได้ในเมื่อเขามีเงิน
1
ปีแรกภายใต้การมี เสี่ยหมี เป็นเจ้าของ ก็ส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วสโมสร แรงกดดันถูกโยนมายัง เคลาดิโอ รานิเอรี่ ทันที
ต้องบอกว่าปลายยุค 90s ถึงต้น 2000s เชลซี คือทีมที่ลุ้นบอลถ้วย แต่พวกเขาไม่เคยเข้าใกล้แชมป์ลีกจริงๆ จังๆ เลย
เชลซียุคนั้น คือทีมที่มักทุ่มเงินคว้าสตาร์ดังต่างชาติ ที่มักจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วมาร่วมทีม แต่ความลงตัวมันยังไม่มี มาตรฐานยังไม่มี ไร้ความสม่ำเสมอ
รานิเอรี่ ก็ไม่สามารถพาทีมประสบความสำเร็จได้ แต่ เสี่ยหมี เชื่อว่าเงิน จะเสกหลายสิ่งหลายอย่างได้รวมถึงแชมป์
"ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ โรมัน อับราโมวิช เลย รานิเอรี่ บอกกับผมว่าเขา (โรมัน) ต้องการเป็นแชมป์ เรื่องบ้าคลั่งกำลังจะเกิดขึ้น" เบงค์ กล่าว
ส่วน กุ๊ดยอห์นเซ่น บอกว่า "มันทำให้เรารู้ว่าเราอยู่ใต้ความกดดันในทุกเกมจากนั้นเป็นต้นมา เพราะเขาจะซื้อนักเตะทุกคนที่เขาซื้อได้ เขาซื้อแชมป์พรีเมียร์ ลีก ยังได้เลย"
ซัมเมอร์แรกภายใต้ โรมัน อับราโมวิช เชลซีซื้อกระจุย เอาแค่ตัวรุกก็มีทั้ง เดเมี่ยน ดัฟฟ์, โจ โคล, เอร์นาน เครสโป และ อาเดรียน มูตู
ก็พอดีกับที่ จานฟรังโก้ โซล่า วัย 37 ปี ต้องอำลาทีม กลับบ้านเกิดไปเล่นให้กายารี่
ทั้ง กุ๊ด และ เบงค์ โดนเรียกไปพบกับ รานิเอรี่ แต่ละคนโดนบอกความจริงว่าจะมีกองหน้าใหม่เข้ามา 2 คน แต่ทั้งคู่ไม่สน ยืนยันจะอยู่กับทีม เพื่อแย่งตำแหน่งต่อไป
เครสโป ยังปรับตัวไม่ค่อยได้ ส่วน มูตู ก็ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ สุดท้าย รานิเอรี่ ก็ต้องวนกลับมาใช้ กุ๊ด-เบงค์ เป็นหลัก และ ฮัสเซลเบงค์ จบลงด้วยการเป็นดาวซัลโวของสโมสรอีกครั้ง
เชลซี มีผลงานดีที่สุดในยุคของ รานิเอรี่ คือการได้รองแชมป์ แต่นั่นไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่เสี่ยหมีต้องการคือแชมป์สถานเดียว
ซัมเมอร์ 2004 ยิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงหนักขึ้นไปอีก รานิเอรี่ โดนปลด คนที่เข้ามาแทนคือผู้อหังการจากโปรตุเกส โชเซ่ มูรินโญ่ ที่เพิ่งนำปอร์โต้ คว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มาได้อย่างยิ่งใหญ่
เงินยังสะพัด นักเตะโดนดึงเข้ามาอีกด้วยงบประมาณมหาศาล ชนิดที่แม้แต่ แมนฯ ยูไนเต็ด, อาร์เซน่อล, ลิเวอร์พูล ได้แต่มองตาปริบๆ
แล้วกองหน้าล่ะ จะเอายังไง?
มูรินโญ่ คว้าเอาเป้าหมายของเขาคือ ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา เข้ามาเป็นคนแรก และ มาเตย่า เคซมัน ซึ่งยิงกระจุยอยู่ในลีกฮอลแลนด์กับ PSV ทีมเก่าของ กุ๊ดยอห์นเซ่น
1
หน้าร้อนนั้น นักเตะไปพักผ่อน หลังจบฤดูกาลขณะที่ มูรินโญ่ ได้รับการแต่งตั้ง
มูรินโญ่ โทรหา ไอเดอร์ กุ๊ดยอห์นเซ่น ทันที เขาพูดชัด
"นี่ผู้จัดการทีมคนใหม่ของนาย ข้อสงสัยที่นายมีเกี่ยวกับฤดูกาลใหม่ ฉันจะบอกนายตอนนี้เลยว่านายจะอยู่กับเชลซีในฤดูกาลใหม่ นายจะได้เล่น ฉันแค่ต้องการให้นายอยู่ในสภาพที่พร้อมสุดขีด"
แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะจุดไฟในตัวของ กุ๊ดยอห์นเซ่น ให้กระตือรือร้นกับฤดูกาลที่กำลังจะเปิด
ทว่ากับ ฮัสเซลเบงค์ มันตรงกันข้าม ไม่ได้มีสายมาจากมูรินโญ่ มีเพียงโทรศัพท์จาก ปีเตอร์ เคนย่อน ซีอีโอของสโมสร
"มันเป็นแบบนี้แหละในวงการฟุตบอล เมื่อสโมสรต้องการคุณ ผู้จัดการทีมจะโทรหาคุณ เมื่อสโมสรไม่ต้องการคุณ ซีอีโอจะโทรหาคุณแทน" ฮัสเซลเบงค์ ยอมรับ
"ผมไม่เคยได้คุยกับโชเซ่ ไม่เคยได้เจอเขาเลย"
จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์ ดาวซัลโวของทีมจากฤดูกาลที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ ไม่ได้อยู่ในแผนของ มูรินโญ่ เขาย้ายไปเซ็นกับ มิดเดิลสโบรช์แบบฟรีๆ ด้วยวัย 32 ปี
(ฮัสเซลเบงค์ ยิงให้โบโร่ ไป 13 ประตูจาก 36 นัด ในฤดูกาลแรก และ 9 ประตูจาก 22 นัดในปีที่สอง)
มันเป็นจุดจบของคู่หู กุ๊ด-เบงค์ คนหนึ่งคือไฟ อีกคนคือน้ำแข็งจากไอซ์แลนด์
คนหนึ่งเล่นด้วยความเฉียบขาดดุดัน อีกคนเต็มไปด้วยทักษะเซนส์ฟุตบอล และความเยือกเย็น
"ความเสียใจเดียวที่เรามีในช่วงที่เราเล่นด้วยกันที่เชลซีคือ เราไม่เคยชูถ้วยแชมป์ด้วยกันเลย" กุ๊ดยอห์นเซ่นกล่าว
จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์ คือเพชฌฆาตตัวจริงของเชลซี แต่เขาไม่เคยได้แชมป์ใดๆ กับทีม ยกเว้นเพียงถาดคอมมิวนิตี้ชิลด์ เพียงหนเดียว
ส่วน ไอเดอร์ กุ๊ดยอห์นเซ่น เล่นอยู่กับเชลซีต่ออีก 2 ปี นั่นทำให้เขาได้ แชมป์พรีเมียร์ ลีก 2 สมัย และลีก คัพ อีก 1 สมัยด้วย ก่อนจะอำลาไปอยู่กับบาร์เซโลน่า ที่นั่นทำให้เขากวาดทุกแชมป์ที่มี ในฤดูกาล 2008/09
*******************
กุ๊ด-เบงค์ เป็นยังไง ลีลาการประสานงานร่วมกันจะสะเด่าเร่าร้อนขนาดไหน ติดตามได้ในคลิปนี้เลยครับ : http://ow.ly/gpOZ30s2rIc
.
ทุกท่านสามารถติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ ..
.
และเพิ่มเพื่อนไลน์แอด "เพื่อเด้งเตือน" ให้คุณได้อ่านก่อนใคร กดที่ลิงค์นี้ครับ
ขอบคุณครับ
โฆษณา