2 ธ.ค. 2021 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา เบี้ยประกันถูก อาจไม่มั่นคง
ในช่วงวิกฤติโควิด 19 เราคงได้ยินข่าวกรมธรรม์ประเภท “เจอ จ่าย จบ”
ที่ท้ายที่สุดแล้ว กลายเป็นตัวบริษัทประกันเองต้องแบกรับผลขาดทุน
จากสถานการณ์โรคระบาด ที่อยู่กับเรายาวนานกว่าที่คาดการณ์กันไว้
แน่นอนว่าหากสถานการณ์โรคระบาดยังคงไม่จบเร็ว ๆ นี้
ผลกระทบก็จะยิ่งทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งมีสถานะทางการเงินที่แย่ลง
ซึ่งก็อาจจะลากยาวไปถึงตัวผู้ทำประกันกับบริษัทเหล่านี้
ก็อาจจะเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์
1
แล้วหากเราต้องเลือกทำประกัน
เราควรต้องดูอะไรอีกบ้าง นอกจากค่าเบี้ยประกันและความคุ้มครอง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเลย เราต้องมาทำความเข้าใจลักษณะของบริษัทประกันภัย กันก่อน
สำหรับธุรกิจประกันภัย บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้
จะรับประกันวินาศภัยประเภทต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี
ก็เช่น การประกันภัยรถยนต์ การประกันอัคคีภัย ไปจนถึงการประกันโรคระบาด
โดยบริษัทจะมีรายได้หลักเป็นค่าเบี้ยประกัน
ในขณะที่ค่าใช้จ่ายก็จะเป็นค่าสินไหมทดแทน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
แล้วเราเคยสงสัยกันไหมว่าเบี้ยประกันหลักร้อย คุ้มครองหลักแสน
บริษัทประกันไปเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้เรา ?
1
คำตอบก็คือ ค่าเบี้ยประกันที่เราจ่ายสำหรับแต่ละกรมธรรม์นั้น
ได้ถูกคำนวณไว้แล้วว่าบริษัทจะมีกำไร โดยที่ค่าเบี้ยที่เราจ่ายกันก็จะถูกสำรองเอาไว้เป็นทุนสำหรับจ่ายค่าสินไหมของผู้ทำประกัน
1
ในขณะที่บางส่วน ก็จะถูกนำไปลงทุนเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอต่อภาระผูกพันที่มีต่อผู้ทำประกัน
โดยการลงทุนของธุรกิจประกันก็จะเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นหลัก
เช่น พันธบัตรรัฐบาล การซื้อตั๋วเงินคลัง หรือหุ้นกู้ นั่นเอง
ทีนี้ เรามาดูกันว่าต้องดูที่อะไร ถึงเรียกได้ว่า “บริษัทประกันภัยมีความมั่นคง”
ตรงนี้เราอาจจะเริ่มจากดูว่าบริษัทประกันภัยไหน มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในประเทศไทย
ถ้าเรามาดูข้อมูลของทางสมาคมประกันวินาศภัยไทย จะพบว่า
อันดับที่ 1 วิริยะประกันภัย 15%
อันดับที่ 2 ทิพยประกันภัย 9%
อันดับที่ 3 กรุงเทพประกันภัย 9%
อันดับที่ 4 คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย 7%
อันดับที่ 5 เมืองไทยประกันภัย 6%
อันดับที่ 6 อาคเนย์ประกันภัย 4%
อันดับที่ 7 ชับบ์สามัคคีประกันภัย 4%
อันดับที่ 8 สินมั่นคงประกันภัย 4%
อันดับที่ 9 ธนชาตประกันภัย 3%
อันดับที่ 10 แอลเอ็มจีประกันภัย 3%
2
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดเป็นเพียงข้อมูล ที่บอกเราเพียงแค่ว่าบริษัทไหนได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งหากเรามาดูให้ลึกลงไปอีก เราก็ต้องมาดูที่ “อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน” หรือ Capital Adequacy Ratio หรือเรียกสั้น ๆ ว่า CAR
สำหรับ CAR นั้น บอกกับเราว่าบริษัทประกันภัยแห่งนั้นมีเงินกองทุนที่มากพอ ต่อการจ่ายค่าสินไหมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ได้ดีหรือไม่
หาก CAR สูง ก็จะหมายถึงบริษัทมีความมั่นคงสูง
หาก CAR ต่ำ ก็จะหมายถึงบริษัทมีความมั่นคงต่ำ
ซึ่งตามกฎหมายประเทศไทย ก็ได้มีการกำหนดให้สัดส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนต้องดำรงตามกฎหมาย ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 120 โดยที่เกณฑ์นี้จะถูกปรับขึ้นเป็น 140 ในปีหน้าที่จะถึงนี้
โดยที่ทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยเอง ก็ได้มีการรายงาน CAR ของทั้ง 63 บริษัทประกันภัยเป็นประจำทุกไตรมาส สำหรับการรายงานล่าสุดเป็นของไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ซึ่งถ้าเรามาดูบริษัทที่มี CAR ในระดับที่สูง ก็เช่น
- บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 1,313
- บริษัท ไทยประกันสุขภาพ จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 1,136
- บริษัท นิวอินเดียแอสชัวรันซ์ จำกัด ร้อยละ 1,128
- บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด ร้อยละ 1,061
- บริษัท เอไอเอ จำกัด (ประกันวินาศภัย) สาขาประเทศไทย ร้อยละ 1,031
ในขณะที่ ค่าเฉลี่ยของบริษัทประกันภัยทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ร้อยละ 438
ถ้าอ้างอิงจากตัวอย่างที่ยกมา
ก็จะแปลง่าย ๆ ว่า ธนชาตประกันภัย มี CAR ที่สูงกว่ากฎหมาย 10 เท่า และสูงเป็น 3 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจประกันภัยทั้งประเทศ ซึ่งก็แปลว่า ธนชาตประกันภัยมีความมั่นคงที่จะจ่ายค่าสินไหมได้สูงมากนั่นเอง
ส่วนบริษัทประกันภัยไหนมี CAR ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หรือคาบเส้น ก็อาจแปลได้ว่าบริษัทนั้นมีความเสี่ยงที่จะจ่ายค่าสินไหมได้ไม่ครบ หากเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เหมือนกับที่เกิดขึ้นมาแล้วกับบางบริษัทประกันภัย ในเหตุการณ์โรคระบาดโควิด 19
แล้วเราควรต้องรู้อะไรอีกบ้าง ?
นอกเหนือจาก CAR นั้น เราก็ยังสามารถติดตามการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัท รวมไปถึงกลยุทธ์การออกกรมธรรม์หรือแคมเปญต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เราสามารถนำมาดูร่วมกับตัวเลขทางการเงินของบริษัทประกันได้
 
และยังรวมไปถึงการสอบถามจากตัวแทนประกันภัย ผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน แม้แต่เพื่อนหรือลูกค้าของบริษัทประกันภัยนั้น ๆ ว่าการให้บริการภายหลังการทำกรมธรรม์และการติดต่อประสานงานในเวลาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ผู้ให้ประกันเหล่านั้นตอบสนองต่อลูกค้าคนสำคัญของพวกเขาอย่างไร
ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็นับเป็นสิ่งที่ผู้ทำประกันทุกคนควรให้ความสนใจ เพราะจริงอยู่ว่าค่าเบี้ยประกันที่มีราคาถูก หรือการโฆษณาว่าให้ความคุ้มครองที่มาก จะเป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้เรารู้สึกว่าการทำประกันนั้นคุ้มค่า
สรุปแล้ว การเลือกบริษัทประกันภัยที่ดี ให้ปลอดภัย ไม่ใช่ว่าจะเลือกจากที่ราคาถูกหรือเลือกเฉพาะแค่บริษัทใหญ่ที่เป็นที่นิยม มีเบี้ยถูก หรือมีแคมเปญความคุ้มครองที่น่าดึงดูดเท่านั้น
เพราะเรายังต้องดูให้ละเอียดขึ้นอีก อย่างในกรณีนี้ก็คือ CAR ที่จะบอกเราได้ดีกว่า
ว่าประกันที่คุ้มค่าและมั่นคงกับเรานั้น คือประกันของบริษัทอะไร..
References
โฆษณา