2 ธ.ค. 2021 เวลา 12:29 • ประวัติศาสตร์
“เจดีย์นักเลง” หรือ เจดีย์วัดสามปลื้ม
วงเวียนเจดีย์โบราณหนึ่งเดียว Landmark ก่อนวิ่งเข้าเกาะเมืองอยุธยา
รูปถ่ายโดย Right SaRa บนเส้นถนนโรจนะ ฝั่งที่จะวิ่งเข้าเกาะเมืองอยุธยา
ใครที่แวะผ่านมาเที่ยวหรือไหว้พระที่อยุธยา ต้องเคยผ่านหรือเห็นเจดีย์โบราณแห่งนี้ตั้งตระหง่านกลางถนนกันบ้างนะครับ
แต่ก่อนวงเวียนนี้เค้ามีเปิดให้รถวิ่งได้รอบเป็นวงกลม แต่ด้วยที่รถวิ่งมากขึ้นทั้งคนในจังหวัดและนักท่องเที่ยวจากที่อื่นทำให้รถติดมาก ทางจังหวัดเลยกั้นไม่ให้รถใหญ่วิ่งวนรอบได้ ผ่านได้เฉพาะรถเล็กอย่างมอเตอร์ไซค์ในปัจจุบัน คนที่วิ่งมาจากทางวัดใหญ่จะไปทางอโยธยาต้องไปกลับรถที่ใต้สะพานปรีดีแล้วอ้อมกลับมาครับ
1
รูปถ่ายโดย Right SaRa
บริเวณนี้แต่ก่อนที่จะมีการเริ่มตัดถนนโรจนะในช่วงปี พ.ศ.2480 เพื่อวิ่งข้ามแม่น้ำป่าสักเข้าไปตัวเกาะเมืองอยุธยาเป็นวัดโบราณที่ชื่อวัดสามปลื้มมาก่อน ซึ่งมีทั้งโบสถ์และพระเจดีย์ประธานเหมือนวัดโบราณอื่นๆแต่ก็ผุพังไปจนเหลือเจดีย์ตั้งตระหง่านในปัจจุบัน
2
รูปถ่ายเจดีย์วัดสามปลื้มในสมัยก่อนที่ผ่านการบูรณะ ช่วงที่มีการตัดถนนแล้ว <ไม่ทราบเจ้าของรูป>
ส่วนประวัติของวัดสามปลื้มนี้ไม่มีข้อมูลสรุปที่แน่นอนว่าสร้างขึ้นเมื่อไหร่ บ้างก็เชื่อว่าถูกสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าแม่วัดดุสิต พระนมชั้นเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อฉลองชัยชนะให้กับพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และพระยาโกษาธิบดี (ปาน) บุตรเจ้าแม่วัดดุสิตที่รบชนะข้าศึกกลับมา
1
แต่กรมศิลปากรได้สันนิษฐานจากรูปแบบของเจดีย์ทรงลังกาแล้ว สันนิษฐานว่าเจดีย์วัดสามปลื้มน่าจะสร้างขึ้นช่วงปี พ.ศ. 1900 หรือเก่าแก่กว่านั้น จึงเป็นไปได้ว่าเจดีย์ถูกสร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา
1
[สันนิษฐานที่มาของชื่อเรียก เจดีย์นักเลง จากหลายแหล่งและคำบอกเล่า:]
• เนื่องด้วยกรมศิลปากรประกาศเมื่อ พ.ศ.2484 ให้ขึ้นบัญชีเจดีย์นี้เป็นโบราณสถาน ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่สามารถทุบเพื่อตัดถนนผ่านไปได้ จึงเหลือตั้งไว้ตรงกลางถนนแล้วทำเป็นวงเวียน เปรียบเหมือนนักเลงคุมถนน
2
>> ข้อนี้อาจเป็นไปได้ แต่จะขอให้อ่านคำบอกเล่าสุดท้ายด้านล่าง ซึ่งผมว่ามันช่วยเสริมความเป็นไปได้ของข้อนี้ครับ
• อีกเรื่องเล่าคือเมื่อมีการตัดถนนผ่านตัวเมืองแรกๆ มีความต้องการตัดผ่านตัวเจดีย์ จึงจำเป็นต้องรื้อถอนเจดีย์นี้ออก และสร้างถนนทับ แต่ว่ามีกลุ่มนักเลงไม่ยอมและคัดค้านการรื้อถอนของเจดีย์นี้ สุดท้ายการก่อสร้างจึงจำเป็นต้องตัดถนนอ้อมตัวเจดีย์ ชาวบ้านบางส่วนจึงขนานกันว่า “เจดีย์นักเลง”
>> ส่วนตัวผมคิดว่าข้อนี้ไม่น่าใช่ เพราะนักเลงไม่น่ามีเหตุผลที่จะห้ามไม่ให้ทุบเจดีย์ และตัดถนนนำมาซึ่งความเจริญ น่าจะเป็นผลดีมากกว่า
• คำเล่าจากคนในพื้นที่ซึ่งอยู่มานาน คือ ช่วงตัดถนนบริเวณนี้ มีความตั้งใจจะรื้อทุบเจดีย์นี้อยู่แล้ว แต่เครื่องยนต์ดับและพัง รวมถึงคนงานทำถนนล้มป่วย แสดงถึงเจ้าที่แรง ดังนั้นจึงต้องออกแบบคงเจดีย์ไว้ และเลือกตัดถนนไว้สองเส้นคือเส้นนึงตัดเข้ามาทางคลองสระบัวกับอีกเส้นคือถนนโรจนะเพราะทางตรงกว่า
3
[อ้างอิง: คอมเม้นท์บัญชีชื่อ สุรเจตน์ บนเพจ อยุธยา-Ayutthaya Station]
อย่างไรก็ตามไม่ว่าด้วยเหตุผลประการใดทำให้เจดีย์นี้ถูกเรียกแบบนี้ ปัจจุบันเจดีย์นี้เป็น Landmark เชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัด และเป็นศูนย์กลางการเดินทางหรือเส้นทางคมนาคมทางถนนที่เป็นวงเวียนใหญ่อันนึงของจังหวัดครับ
ข้อมูล: เพจนิทรรศการพลังแผ่นดิน อัศจรรย์งานศิลป์แผ่นดินสยาม
เรียบเรียงโดย: Right SaRa
โฆษณา