2 ธ.ค. 2021 เวลา 14:26 • หนังสือ
==========================
“สัปดาห์ละบทสองบท” || วันพฤหัสบดี
==========================

🕊• MAKOTO MARKETING
✍🏻• ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ เขียน
🔖• 03 || “สร้างประโยชน์อะไร เพื่อใคร” คำถามที่ต้องตอบก่อนคำถาม “ขายอะไร”

📝• บันทึกใจความแบบดิบ ๆ ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป พร้อม บันทึกการอ่านของ อิคิ ∙ 生き
1
[ MAKOTO MARKETING ]
=======================
03
“สร้างประโยชน์อะไร เพื่อใคร”
คำถามที่ต้องตอบก่อนคำถาม
“ขายอะไร”
- - - - - - -
ร้านอาหารวันละ 1 เมนู
=======================
เวลาอาจารย์เกตุไปบรรยายตามงามสัมนาต่าง ๆ คำถามที่มักจะได้รับอยู่เสมอคือ . . .
“อาจารย์คิดว่าช่วงนี้ทำธุรกิจอะไรดีคะ”
ซึ่งหลาย ๆ คนมักจะมองหาธุรกิจที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน
ตัวอย่างเช่น พี่ต้อม รุ่นพี่ของอาจารย์สมัยเรียนที่ญี่ปุ่น
พี่ต้อมพูดคุยกับอาจารย์ว่า อยากเปิดร้านกาแฟ ที่ไม่ต้องดูแลอะไรเยอะ จ้างเด็กสักสองคนเฝ้าร้าน น่าจะเป็นแหล่งรายได้ได้อีกทาง
พี่ต้อมอยากขอคำแนะนำในการทำการตลาดจากอาจารย์ ว่าเขาความเสริฟขนมในร้านหรือไม่ แต่งร้านแบบไหนคนจะได้ถ่ายรูปลงโซเซียลมีเดียกัน หรือ จะต้องจ้าง Influencer ไหม
อาจารย์จึงเล่าเรื่องร้านอาหารเล็ก ๆ ให้พี่ต้อมฟังค่ะ
[ MAKOTO MARKETING ]
============
Mirai Shokudo
============
Mirai Shokudo [ มิไร-โฉะคุโด ] แปลว่า ร้านอาหารแห่งอนาคต
โคบายาชิ เซไก ก่อตั้งร้านอาหาร มิไร-โฉะคุโด ขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่ที่ต้อนรับและเหมาะสำหรับทุกคน เหตุเป็นเพราะ . . .
สมัย ม.6 เธอจากบ้านที่โอซาก้ามาโตเกียวคนเดียว เพื่อเรียนต่อ ในวันที่เธอกำลังสับสนในชีวิตและนั่งอยู่กลางสถานีรถไฟในกรุงโตเกียวที่มีคนพลุกพล่าน แต่ในใจของเธอนั้นกลับรู้สึกเดียวดายอย่างบอกไม่ถูก
ไม่กี่วันต่อมา โคบายาชิ ได้งานพิเศษ และวันหนึ่งทุกคนที่ทำงานสั่งข้าวกล่องมากินด้วยกันตอนเย็น เมื่อได้ข้าวกล่อง ทุกคนพูดพร้อมกันว่า “อิตาดาคิมัส” ก่อนเปิดกล่องกินกันอย่างเอร็ดอร่อย
ตอนนั้น โคบายาชิ รูสึกว่า การที่คนกับคนได้สื่อสารกัน ได้นั่งกินข้าวพร้อม ๆ กัน มันเป็นเรื่องพิเศษมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่จากบ้านมาไกลอย่างเธอ
ในที่สุด โคบายาชิ การจบทางด้านวิศวกรรม และทำงานเป็นวิศวกร IT ที่บริษัท Cookpad (เว็บไซต์รวมสูตรอาหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น) การทำงานที่นี่ทำให้เธอได้สัมผัสถึงความหมายของการกินข้าวด้วยกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เพราะว่าที่ Cookpad มีห้องครัวขนาดใหญ่ที่อนุญาตให้พนักงานสามารถนำวัตถุดิบในตู้เย็นไปทำอาหารได้
โคบายาชิสังเกตว่ามีเพื่อนหลายคนที่งานยุ่งไม่มีเวลาทำอาหาร ดังนั้นเธอจึงมาทำงานเช้าขึ้น เพื่อที่จะได้ทำอาหารเผื่อไว้ให้เพื่อน ๆ ได้ทาน และเขียนกระดานไว้ว่า อะไรคือเมนูที่เธอทำและใครจะตักกินก็ได้
แรก ๆ ก็มีคนกินกันไม่กี่คน แต่พอเวลาผ่านไป พนักงานกว่าครึ่งชั้นก็มารวมตัวกันในห้องครัวแห่งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสทำให้คนที่ไม่เคยเจอกัน ไม่เคยได้คุยกัน ได้รู้จักพูดคุยกัน
โคบายาชิจึงได้เรียนรู้ว่า . . . แม้รสชาติอาหารจะสำคัญ แต่ก็ไม่ได้สำคัญไปกว่าการได้ทานอาหารกับใครสักคน
สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้โคบายาชิอยากสร้างสถานที่ที่ทำให้ผู้คนมารวมตัวกัน โดยใช้อาหารเป็นจุดเชื่อมโยงพวกเขาไว้
หลังจากนั้นโคบายาชิจึงลาออกจาก Coodpad ไปทำงานพิเศษตามร้านอาหารที่มีสาขา เช่น โอโตยะ เพื่อสั่งสมประสบการณ์ ระหว่างนั้นก็จึงเกิดคำถามว่า
“ทำไมร้านอาหารต้องมีเมนู” แม้การมีเมนูจะมีตัวเลือกอาหารที่ให้ลูกค้าได้เลือกอย่างหลากหลาย แต่ก็ทำให้ต้องสำรองวัตถุดิบมากขึ้น หากใช้ไม่หมดก็ต้องทิ้ง เธอจึงรู้สึกเสียดาย
ดังนั้นเมื่อทำร้านอาหาร ในช่วงแรกเธอจึงตัดสินใจทำอาหาร หนึ่งวัน หนึ่งเมนู 7 วันไม่ซ้ำกัน โดยหน้าร้านจะติดเมนูของแต่ละวันไว้ ถ้าลูกค้าถูกใจเมนูวันนี้ก็เดินเข้ามาทาน ถ้าไม่ชอบก็ค่อยกลับมาใหม่ในวันที่มีเมนูถูกใจก็ได้
สิ่งนี้ทำให้ โคบายาชิ จัดเตรียมวัตถุดิบน้อยลง
นอกจากนั้นแล้วเธอก็ยังคำนึงว่า รส ‘อร่อย’ ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน เธอจึงสามารถให้ลูกค้าบอกได้เต็มที่ว่าอยากให้เธอจัดเตรียมอาหารเมนูนั้นอย่างไร เช่น ต้องการข้าวมากหรือน้อย ใส่ซอสมากแค่ไหน ไม่อยากให้ใส่อะไรบ้าง
โดยเธอจะเขียนวัตถุดิบที่มีอยู่ในวันนั้นให้ลูกค้าทราบ เช่น แคร์รอต เนื้อหมู ไข่ไก่ โดยลูกค้าสามารถสั่งเมนูที่นอกเหนือเมนูประจำวันที่ใช้วัตถุดิบเหล่านี้แทนได้ วิธีนี้ทำให้ลูกค้าได้สร้างเมนูอาหารด้วยตัวเอง ในขณะที่เธอก็ไม่ต้องห่วงว่าวัตถุดิบจะเหลือ
บางวันลูกค้าก็อาจบอกเธอว่า “วันนี้รู้สึกไม่ค่อยสบาย ทำอะไรอุ่น ๆ ให้กินหน่อยนะครับ”
สิ่งนี้ทำให้เกิดการสื่อสารกันระหว่างโคบายาชิกับลูกค้ากลายเป็นบทสนทนาเล็ก ๆ ภายในร้าน ยิ่งไปกว่านั้นลูกค้าก็รู้สึกว่าอาหารที่พวกเขาทาน ถูกปรุงเป็นพิเศษเพื่อพวกเขา
หลาย ๆ ครั้งโคบายาชิมักถามลูกค้าว่า อยากลองทานอะไร และนำความคิดเห็นเหล่านั้นไปจัดทำเมนูสัปดาห์ถัดไป อีกทั้งวัตถุดิบที่เธอจัดเตรียมไว้ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละวัน ดังนั้นลูกค้าก็จะได้รับประทานอาหารที่ไม่ซ้ำเดิมอีกด้วย
โคบายาชิยังออกแบบที่นั่งในร้านเป็นเคาน์เตอร์บาร์รูปตัวยู โดยมีเก้าอี้สำหรับลูกค้า 12 ตัว ส่วนตัวเธอจะยืนอยู่หลังเคาน์เตอร์ สิ่งนี้ทำให้ผู้คนเห็นหน้ากันและกันจึงพูดคุยกันได้ง่าย รวมถึงตัวเธอเองก็สามารถพูดคุยกับลูกค้าได้ง่ายเช่นเดียวกัน
อีกทั้งโคบายาชิก็อนุญาตให้ลูกค้านำขนมหรือเครื่องดื่มมาทานในร้านได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องแบ่งคนอื่น ๆ ในร้านทานด้วย เพื่อจะได้สร้างบรรยากาศให้แขกอยากพูดคุยกันเองได้มากยิ่งขึ้น เราจะเห็นภาพแขกในร้านที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนพูดคุยกัน รินเครื่องดื่มให้กัน อย่างเป็นปกติ
นอกจากนั้น หากลูกค้าเชิญชวนเพื่อนมาทานอาหารที่ร้าน โคบายาชิ ยังแจกบัตรลดมูลค่า 100 เยน ที่ใช้ได้ตลอดชีวิตให้กับลูกค้าอีกด้วย โดยเธอมองว่าคูปองใบเล็ก ๆ เหล่านี้จะเป็นสื่อกลางที่ทำให้ผู้คนชวนกันมาที่นี่
ในที่สุด มิไร-โฉะคุโด จึงกลายเป็นร้านอาหารที่อบอุ่น ผู้คนได้ทานอาหารในแบบที่ชอบ ได้พบปะผู้คนใหม่ ๆ ได้หัวเราะ ได้ดื่มด่ำไปกับบทสนทนา มีเสียงพูดคุยระหว่างคนที่ทานอาหารด้วยกันเอง มีการสนทนาระหว่างลูกค้าและแม่ครัว ท้ายที่สุด มิไร-โฉะคุโด จึงเป็นสถานที่ที่ลูกค้าอยากกลับมาอีก ที่นี่เป็นพื้นที่เล็ก ๆ แต่อบอุ่นสำหรับทุก ๆ คน
[ MAKOTO MARKETING ]
===============
แลกเปลี่ยนความเห็น
===============
เมื่อเล่าจบ อาจารย์เกตุ ก็ถามพี่ต้อมว่า “ตอนแรกพี่อยากรู้ว่าพี่จะตกแต่งร้านอย่างไร ขายขนมดีไหม จะจ้าง Influencer คนไหนดี ในตอนแรกที่คุณโคยาชิจะทำร้านอาหาร เขาคงไม่ได้คิดสิ่งเหล่านี้ พี่ต้อมว่าไอเดียเก๋ ๆ ของเขามาได้อย่างไร”
พี่ต้อมตอบ “เขาคิดตลอดเลยว่า ทำอย่างไรร้านของเขาจึงเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเมนู การตกแต่งร้าน การแจกคูปอง มันทำให้ไอเดียของเขาไม่ซ้ำใครเลย”
อาจารย์กล่าวว่า วิธีตั้งคำถามแบบพี่ต้อมแตกต่างจากคุณโคบายาชิมาก พี่ต้อมตั้งคำถามจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น “ทำอย่างไรร้านถึงจะฮิตแบบร้านที่ขายดีตอนนี้ได้” มันเหมือนพยายามแกะสูตรสำเร็จจากร้านที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว การถามเช่นนี้ จะทำให้เราทำสิ่งที่คล้าย ๆ กับธุรกิจที่มีอยู่ก่อนแล้ว
ดังนั้นก่อนจะถามว่าเราควรขายอะไร ทำการตลาดแบบไหน เราควรตอบคำถามสำคัญให้ได้ก่อน นั่นคือ
==================
เราจะสร้างประโยชน์อะไร
ให้กับใครและอย่างไร
==================
คุณโคบายาชิต้องการทำร้านนี้ให้เป็นพื้นที่สร้างบทสนทนาและทำให้คนรู้สึกไม่โดดเดี่ยว เพราะเธอเคยรู้สึกโดดเดี่ยวเวลาต้องกินข้าวคนเดียวเงียบ ๆ นั่นเอง
[ MAKOTO MARKETING ]
========
แบบฝึกหัด
========
ลองปรับเสียงของลูกค้าต่อไปนี้ ให้กลายเป็นปัญหาและประโยชน์ที่บริษัทน่าจะสร้างได้ ดูนะคะ
1. ทำกับข้าวกินเองทุกวันอยู่คอนโดฯ ครัวเล็กมาก วางอุปกรณ์ไม่ค่อยพอเลย (T-T)
2. เหนื่อยกับงาน กลับมานอนที่ห้องแล้วอยากนอนนิ่ง ๆ สักพัก ตัวเองจัดการงานได้ยังไม่ค่อยดี งานก็เยอะ เหนื่อยจนอยากใช้แรงขว้างปาอะไรสักอย่างคลายเครียด เล่นกับแมวก็แล้ว กวาดบ้านก็แล้ว หลับไม่สนินเลย เวลาเหนื่อย ๆ ไม่รู้จะเยียวยาจิตใจตัวเองอย่างไร
3. เวลาผมไปกินข้าวกับแฟน ผมต้องนั่งรอเธอแต่งหน้าเขียวคิ้วข้างละครึ่งชั่วโมง เขียนแล้วลบ ๆ รวมสองข้างอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ถ้าวันไหนผมหิวแล้วไปเร่งเธอ เธอก็จะอารมณ์ไม่ดี แล้วไปกินข้าวกันแบบอารมณ์บูด ๆ
โดยแต่ละข้อให้ตอบปัญหาเหล่านี้ค่ะ
• ปัญหาที่ลูกค้ามี
• ปรโยชน์ที่แบรนด์สร้างได้
• เหมาะสำหรับใคร
[ MAKOTO MARKETING ]
====
เฉลย
====
หากเราสังเกตุดี ๆ เสียงของลูกค้ามีอยู่รอบตัว ปัญหาก็มีอยู่ทั่วไปขึ้นอยู่กับว่า เราสังเกต และพบทางแก้ไขได้หรือไม่
[ อิคิ ∙ 生き จะแนบเฉลยของอาจารย์ไว้ตามภาพด้านล่างนะคะ ]
[ MAKOTO MARKETING ]
======
เคล็บลับ
======
1. ประโยชน์ที่เราสร้างได้ มักจะไม่ได้เป็นสินค้า หรือ อุปกรณ์ แต่เราควรเขียนประโยชน์ หรือ คุณค่า ที่เป็นผลลัพธ์ที่อยากจะให้เกิดขึ้นดีกว่า การทำเช่นนี้จะเป็นการขยายความคิดสร้างสรรค์ของเราได้มากขึ้น
2. ส่วนที่ว่าเหมาะกับใคร ให้ลองเขียนให้ละเอียด เห็นภาพ มองลูกค้าให้ลึกซึ้งขึ้น อย่าเขียนแค่กว้าง ๆ ตัวอย่างเช่น แทนที่เราจะเขียนแค่ ‘พนักงานออฟฟิศ’ เราควรจินตนาการให้ละเอียดขึ้น เป็น ‘พนักงานที่ขยัน มีความรับผิดชอบดี แต่งานหนัก มีความเครียดสูง’ สิ่งนี้จะทำให้เราภาพลูกค้าที่อยากช่วยเหลือได้ง่ายยิ่งขึ้น
[ อิคิ ∙ 生き's Memo ]
เมื่ออ่านถึงบทนี้ ก็ทำให้ อิคิ ∙ 生き นึกถึง รายการเจาะใจที่สัมภาษณ์ ดร.วีรณัฐ โรจนประภา เรื่อง “3 ห่วงเปลี่ยนชีวิต” ที่ อิคิ ∙ 生き ได้กล่าวถึงเล็กน้อยในบทความเมื่อคืนเช่นกันค่ะ ดังนั้นวันนี้อยากจะเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังอย่างละเอียดขึ้นอีกนิดนึงนะคะ
ดร.วีรณัฐ มีโอกาสพบเจอคนจำนวนมากที่ขาดแรงบันดาลใจ ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม และ ไม่รู้เป้าหมายชีวิต ดร.วีรณัฐ จึงสรุปเป็นคำแนะนำที่เรียกว่า “3 ห่วงเปลี่ยนชีวิต” ให้กับคนที่มีปัญหาเหล่านี้ ซึ่ง “3 ห่วงเปลี่ยนชีวิต” จะประกอบด้วย . . .
• สิ่งที่ฉันรัก
• สิ่งที่ฉันทำได้ดี
• สิ่งที่เป็นปัญหาสังคม (ที่เรารู้สึกอินและเห็นความสำคัญของสิ่งนั้นอย่างแท้จริง)
โดย ดร.วีรณัฐ แนะนำให้เรา List รายการว่าอะไรคือสิ่งที่เรารัก อะไรคือสิ่งที่เราทำได้ดี และ อะไรที่เป็นปัญหาสังคม ออกมาหัวข้อละ 3 อย่าง ถ้าหัวข้อใดที่สามารถผนวกทั้ง 3 อย่างเข้าด้วยกันได้ กล่าวคือ สิ่งที่เรารัก นั้นเป็นสิ่งที่เราทำได้อีกและยังแก้ปัญหาสังคมได้อีกด้วย นั่นถือว่าเราเกิดมาเพื่อสิ่งนั้น
ซึ่งจริง ๆ แล้ว “3 ห่วงเปลี่ยนชีวิต” จะคล้าย ๆ หลักการของ “อิคิไก” แต่ อิคิไก นอกจากจะมี สิ่งที่รัก สิ่งที่ทำได้ดี สิ่งโลกต้องการ สิ่งนั้นยังต้องเลี้ยงชีพเราได้อีกด้วย
ซึ่งดร.วีรณัฐกล่าวว่า สิ่งนี้ทำให้คนบางคนไปผูกติดว่าทำแล้วต้องได้เงินด้วย จริง ๆ แล้ว ดร.วีรณัฐ ไม่ได้ปฏิเสธเงิน เพียงแต่กังวลว่า ถ้าเราไปผูกติดกับเรื่องนี้มากเกินไปอาจส่งผลให้แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตจะผิดเพี้ยนได้ง่าย
ดร.วีรณัฐ มองว่าแม้เราอาจจะไม่สนใจห่วงสร้างรายได้เลยในตอนแรก แต่ถ้าเราทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และทำได้ดี สุดท้ายรายได้จะมาเอง
อีกทั้ง สิ่งที่เป็นปัญหาสังคมของ “3 ห่วงเปลี่ยนชีวิต” กับ สิ่งที่โลกต้องการของ “อิคิไก” มีความแตกต่างกันตรงที่ ส่ิงที่โลกต้องการมีความหมายที่กว้าง ซึ่งอาจหมายรวมไปถึง สิ่งใด ๆ ก็ตามที่อาจจะเป็นสิ่งไม่ดี แต่โลกก็ยังต้องการ เช่น อบายมุกต่าง ๆ ในขณะที่ สิ่งที่เป็นปัญหาสังคม เราต้องคิดว่าปัญหานั้นคืออะไร และ จะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งปัญหาเหล่านี้มันคือความต้องการแท้
ความต้องการแท้คือช่องว่างระหว่างสิ่งที่ลูกค้าเป็นกับสิ่งที่ลูกค้าต้องเป็น ส่วนความต้องการเทียมจะเป็นช่องว่างระหว่างสิ่งที่ลูกค้าเป็นกับสิ่งที่ลูกค้าอยากจะเป็น (ซึ่งจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้)
2
ดังนั้นหากเราให้ความสำคัญกับห่วงของการสร้างรายได้ แม้เราจะรู้ว่าสิ่งที่เรารักและทำได้ดีสามารถแก้ปัญหาให้กับผู้คนได้คืออะไร แต่ถ้ามันยังไม่สร้างรายได้ในตอนแรก เราอาจปล่อยสิ่งนั้นให้หลุดลอยไป
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ดร.วีรณัฐ เชื่อว่า หากเราพาผู้คนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้ แก้ปัญหาให้พวกเขาได้ ท้ายที่สุดเงินก็จะมา
ปัญหาคือ โดยปกติห่วง 3 ห่วงนั้น จะไม่ผนวกกัน กล่าวคือ ฉันรักอย่างนึง ฉันทำได้ดีอีกอย่างนึง ส่วนปัญหาสังคมก็เป็นเรื่องนึง ดังนั้นถ้าเราตัดตัวแปรออกไปสองตัวออกเพื่อให้เหลือสิ่งที่เราต้อง Focus เพียงสิ่งเดียว ก็จะทำให้เรื่องต่าง ๆ ง่ายขึ้น
คำถามก็คือ เราจะตัดตัวแปรไหนออกไป ระหว่าง สิ่งทีรัก สิ่งที่ทำได้ดี และ สิ่งที่เป็นปัญหาสังคม
ปกติคนส่วนใหญ่มักเลือกตัดปัญหาสังคมออกไปก่อน และ มา Focus กับสิ่งที่เรารักหรือทำได้ดี ส่ิงนี้ฟังดูย้อนแย้งกับส่ิงที่เราถูกสอนมาตลอด นั่นคือ ให้ทำในสิ่งที่รักก่อน เพราะถ้าเราทำสิ่งที่รัก เราจะทำได้ดีเอง
แต่จริง ๆ แล้วความรักอย่างเดียวนั้นไม่ยังยืน วันนี้รัก พรุ่งนี้ไม่รักแล้ว ก็เป็นได้ ซ้ำร้ายบางคนยังไม่รู้เลยว่าเรารักอะไร อีกทั้งถ้าเราเอาความรักเป็นตัวกำหนด เราอาจปิดกั้นโอกาสต่าง ๆ มากมาย
แต่เมื่อไรที่เราทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งนั้นจะมีความหมาย สะท้อนกลับมาเป็น คุณค่า และ ความภูมิใจในตัวเราเอง ส่งผลให้เกิดฉันทะ หรือ ความพอใจที่จะสร้างเหตุโดยไม่หวังผล ซึ่งตรงกันข้ามกับตัณหา คือ ความพอใจที่จะรับผลโดยไม่ต้องสนใจเหตุ
เราจะทำสิ่งใดได้ดีต้องเริ่มด้วยฉันทะค่ะ แต่ถ้าเรานำเงินเป็นตัวตั้งนั่นคือตัณหา อิคิ ∙ 生き ขอย้ำอีกครั้งนะคะว่า เราไม่ได้ปฏิเสธเงิน แต่ถ้าเราเริ่มต้นด้วยการจดจ่อในสิ่งที่ถูก อิคิ ∙ 生き เชื่อเช่นกันว่า ทรัพย์จะเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างแน่นอนค่ะ อิคิ ∙ 生きคิดว่ามันรับประกันไม่ได้ว่าจะมามากหรือน้อย แต่อย่างน้อยจะมามากพอที่จะทำให้เราทำสิ่งนั้นต่อไปได้
ดังนั้น หากเราจะเริ่มต้นจากอะไรซักอย่าง เราควรต้องเริ่มจากการสังเกตุเสียงของลูกค้าที่อยู่รอบตัวก่อน ว่าพวกเขามีปัญหาใดที่เราสามารถช่วยให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
เพราะสิ่งที่เรารักในวันนี้ เราอาจไม่รักมันในวันข้างหน้า ส่วนสิ่งที่เราอาจรักในวันข้างหน้า อาจไม่ได้เริ่มจากความรักในวันนี้ อิคิ ∙ 生き คิดว่าเราไม่สามารถบอกได้ค่ะว่าเรารักหรือไม่รักในสิ่งไหน จนกว่าเราจะทุ่มเททำมันให้ได้ดี
เพราะการทุ่มเททำให้ดีคือกระบวนการที่เปิดโอกาสให้เราค่อย ๆ ได้เรียนรู้ ลงมือทำในสิ่งนั้นอย่างลึกซึ้ง เราจะได้ภูมิใจที่เห็นพัฒนาการของตัวเอง ยิ่งถ้าสิ่งที่เราทำนั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้ผู้คน จะทำให้เราได้สัมผัสถึงคุณค่าในการมีอยู่ของชีวิต สิ่งนี้จะทำให้เราตกหลุมรักในสิ่งที่ทำอยู่จนถอนตัวไม่ได้เลยค่ะ
สิ่งที่ดร.วีรณัฐได้กล่าวไว้ ได้สะท้อนถึงเรื่องของคุณโคบายาชิที่อาจารย์เกตุเล่าให้ฟังได้เป็นอย่างดีค่ะ ว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณโคบายาชิ เปิดร้านอาหาร ก็เพื่อให้เป็นสถานที่ที่สร้างความสุขและเหมาะสำหรับทุกคน
สุดท้ายนี้ก่อนจากกัน อิคิ ∙ 生き หวังว่าบันทึกการอ่านของวันนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลาย ๆ คนได้นะคะ สำหรับค่ำคืนนี้ อิคิ ∙ 生き ขอลาไปก่อนแล้วพบกันใหม่กับ Makoto Marketing ในวันพฤหัสบดีหน้านะคะ ราตรีสวัสดิ์ค่ะ 🙏🏻😊
หมายเหตุ : หากเพื่อน ๆ ท่านในสนใจเรื่องราวจาก Makoto Marketing จนอดใจรอให้ อิคิ ∙ 生き สรุปทีละสัปดาห์ไม่ไหวก็สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ Link ด้านล่างนะคะ 
https://www.readthecloud.store/product/makoto-marketing/
#สัปดาห์ละบทสองบท #makotomarketing
เจาะใจ : ดร.วีรณัฐ โรจนประภา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านอารีย์กับหลักการใช้ชีวิตเพื่อความสุข [5 มิ.ย. 64] [ https://www.youtube.com/watch?v=bDfB8ViRytw&t=6s ]

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา