3 ธ.ค. 2021 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Omicron โควิดสายพันธุ์ใหม่จะกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร?
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ประเด็นที่หลายคนจับตามอง คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน (Omicron) ซึ่งถูกตรวจพบครั้งแรกในทวีปแอฟริกาใต้ และแพร่กระจายไปในประเทศต่างๆ เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ฮ่องกง และในทวีปยุโรปหลายประเทศ
5
Omicron โควิดสายพันธุ์ใหม่จะกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร?
ไวรัสสายพันธุ์นี้ได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ในวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่มีความน่ากังวล (Variant of Concern) เหมือนกันกับสายพันธุ์เดลตา (Delta) ที่มีการแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นและสามารถหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนบางชนิดได้
โอมิครอนมีการกลายพันธุ์ (Mutation) กว่า 50 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะหากเทียบกับสายพันธุ์เดลตาที่มีการกลายพันธุ์เพียง 10 ตำแหน่งเท่านั้น นอกจากนั้นใน 50 ตำแหน่งยังพบว่า 30 ตำแหน่งเป็นการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นที่โปรตีนหนาม (Spike Protein) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ จึงทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลและตั้งข้อสังเกตว่าโอมิครอนอาจมีการแพร่เชื้อได้ไวกว่าสายพันธุ์อื่นและโลกอาจจะต้องกลับไปตั้งต้นสู้โควิดใหม่เหมือนอย่างช่วงปี 2563
เปรียบเทียบ โควิด-19 สายพันธุ์ Omicron กับสายพันธุ์อื่นๆ
ทางด้านประธานกรรมการบริหาร (CEO) ของบริษัท Moderna นาย Stéphane Bancel ออกมาให้ความเห็นว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของทางบริษัทมีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนี้ ส่วนทางด้านบริษัท Pfizer ก็กำลังพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ที่จะช่วยป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ได้ดีขึ้นกว่าวัคซีนตัวเก่า
มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในแต่ละประเทศ
📌 ญี่ปุ่น
1
ประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจปิดประเทศ โดยไม่อนุญาตให้นักเดินทางชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่มีสมาชิกครอบครัวเป็นชาวญี่ปุ่น บุคลากรทางการแพทย์และการทูต รวมถึงผู้ที่เดินทางเข้ามาเพื่อทำสาธารณประโยชน์
จากข้อมูลล่าสุดญี่ปุ่นได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนแล้วอย่างน้อย 1 ราย โดยเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศนามิเบียซึ่งเป็นประเทศจากทวีปแอฟริกาตอนใต้ การที่ญี่ปุ่นตัดสินใจมีมาตรการควบคุมการระบาดเช่นนี้ เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ เดลตาได้กระจายวงกว้างและทำให้ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมากถึง 25,000 ราย ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ในตอนนี้สามารถควบคุมให้ผู้ติดเชื้อรายวันทั่วประเทศลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 150 รายต่อวันแล้ว ญี่ปุ่นจึงไม่อยากเสี่ยงที่จะเปิดประเทศและออกมาตรการที่เข้มงวดจนกว่าจะมีข้อมูลการวิจัยออกมาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้
6
📌 สหราชอาณาจักร
ทางด้านสหราชอาณาจักรได้ประกาศเพิ่ม 10 ประเทศสีแดง (Red List) อาทิ เช่น อังโกลา บอตสวานา แอฟริกาใต้ และซิบบับเว โดยถ้าหากพลเมืองของสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ หรือผู้อยู่อาศัยถาวรมีความประสงค์ที่จะเดินทางกลับมาจากประเทศสีแดง จำเป็นที่จะต้องกักตัวในโรงแรมเป็นเวลา 10 วัน โดยไม่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ส่วนนักเดินทางจากประเทศอื่น ๆ จะไม่สามารถเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรได้ในตอนนี้
1
ปัจจุบันสหราชอาณาจักรตรวจพบโควิดสายพันธุ์โอมิครอนแล้วประมาณ 32 ราย นายกรัฐมนตรี นาย Boris Johnson จึงมีความเห็นว่าสหราชอาณาจักรควรเร่งการฉีดวัคซีน Booster dose ให้กับประชาชนให้เร็วขึ้น โดยอาจจะมีการเรียกทหารหรือเจ้าหน้าที่ด้านอื่น ๆ ที่มีความรู้มาช่วยฉีดเพิ่มภายใต้โครงการ Jabs Army
📌 ไทย
1
ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศเสี่ยงในทวีปแอฟริกาเดินทางเข้ามาในประเทศ ได้แก่ แอฟริกาใต้ บอตสวานา เลโซโท มาลาวี เอสวาตินี โมซัมบิก นามิเบีย และซิมบับเว ส่วนผู้ที่ได้รับการอนุญาตให้เดินทางก่อนหน้านี้จำเป็นที่จะต้องกักตัว 14 วัน
และคณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กลับไปใช้มาตรการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR กับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทยเช่นเดิม หลังจากที่ก่อนหน้านี้อนุญาตให้ใช้การตรวจแบบ ATK ได้ อย่างไรก็ตามในตอนนี้ประเทศไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แต่มีนักท่องเที่ยวชาวแอฟริกันที่เดินทางเข้ามาไทยกว่า 780 คนที่ต้องเฝ้าระวัง
2
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม
📌 ราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงแรงในช่วงไม่กี่วันมานี้ เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่อาจส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดิบลดลง
ราคาน้ำมันดิบ Brent ลดลงมาอยู่ที่ราว 71.5 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยถือว่าลดลงต่ำที่สุดในรอบกว่า 3 เดือน ส่วนราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ของสหรัฐฯ ก็ปรับตัวลดลงเช่นกันมาอยู่ที่ราว 68 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
นอกจากปัจจัยด้านการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากนโยบายของสหรัฐฯ ที่ต้องการที่จะปล่อยสต็อกน้ำมันดิบสำรองจาก Strategic Petroleum Reserve (SPR) ออกมาใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันพุ่งสูงในตลาดโลก ซึ่งมีผลต่อราคาผู้บริโภคและภาวะเงินเฟ้อ สำหรับผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่าง Organization of Petroleum Exporting Countries และพันธมิตร (OPEC+) นักวิเคราะห์มองว่า OPEC+ มีโอกาสที่จะลดปริมาณหรือยกเลิกแผนเดิมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน
1
ราคาน้ำมัน
📌 ราคาทอง
ราคาทองปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์ หลังจากมีข่าวโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงและสร้างความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Asset) จึงมีแรงซื้อเข้ามามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ราคาทองเริ่มปรับลดลงมาอยู่ที่ราว 1,780 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์ แล้วในช่วงนี้ เนื่องจากนาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ออกมาชี้แจงว่าอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงอาจจะไม่ได้อยู่เพียงชั่วคราวอย่างที่คิดไว้ในตอนแรก และส่งสัญญาณว่า Fed อาจพิจารณาเวลาสิ้นสุดการทำ QE Tapering ให้เร็วกว่าเดิม โดยการปรับลดวงเงิน QE ให้มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้เดิมที่ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ซึ่งมาตราการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาทองให้ลดต่ำลง
📌 ตลาดหุ้น
ทางด้านตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงหลังมีข่าวการแพร่ระบาดของโอมิครอน ในประเทศไทยดัชนี SET Index ปรับลดลงราว 1.17% อยู่ที่ 1591.84 จุด ณ วันที่ 2 ธันวาคม เทียบกับวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่มีข่าวโอมิครอนออกมา โดยเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) มีแรงขายสุทธิที่ราว 1.72 หมื่นล้านบาท หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหรือการเปิดประเทศปรับตัวลดลงมากที่สุดดังจะสังเกตได้จาก ดัชนี SET ในหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการปรับลดลง 1.46% ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
ดัชนี SET Tourism & Leisure
📌 ค่าเงิน
ค่าเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) อ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ดังจะเห็นได้จากดัชนีค่าเงิน EMCI ที่จัดทำโดยบริษัท J.P. Morgan เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มีเศรษฐกิจที่เปราะบางและมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดหากมีการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 อีกระลอกหนึ่ง ซึ่งเป็นเพราะว่ากลุ่มประเทศนี้มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่าถ้าหากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักร
แม้ว่าประเทศไทยจะมีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกอยู่ที่ราว 72% ซึ่งมากกว่าสหรัฐฯ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ประเทศไทยพึ่งพาอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก ถ้าหากมีการแพร่กระจายของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ประเทศไทยก็มีความเสี่ยงที่อาจจะต้องปิดประเทศและปิดเมืองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยในตอนนี้ค่าเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 33.72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นการอ่อนค่าลงมากกว่า 11% ตั้งแต่ต้นปีนี้ และเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่อ่อนค่าลงมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
1
ดัชนี J.P Morgan Emering Market Currency Index (EMCI)
ธุรกิจที่กำลังได้รับผลกระทบหนักและธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในประเทศไทย
📌 ธุรกิจด้านประกันภัย
บริษัทด้านประกันภัยในไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา จากข้อมูลของ Nikkei Asia ระบุว่ามีบริษัทด้านประกันภัยกว่า 16 บริษัทที่รายงานผลประกอบการออกมาขาดทุน และมี 10 บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ประกาศผลประกอบการออกมาขาดทุนรวมกันทั้งสิ้นกว่า 5,800 ล้านบาทในช่วงไตรมาสที่ 3
2
ในช่วงเดือนกันยายน จำนวนผู้ถือกรมธรรม์โควิดอยู่ที่ 39.8 ล้านคนจากจำนวนประชากรไทยทั้งสิ้น 69.8 ล้านคน เบี้ยประกันภัยสะสม 11,250 ล้านบาท และยอดสินไหมทดแทนสะสมมีมากถึง 9,400 ล้านบาท อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
โดยปัญหาเกิดจากการที่บริษัทเหล่านี้มีการขายประกันโควิด-19 ในรูปแบบ เจอจ่ายจบ ซึ่งจะคุ้มครองกรณีที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ก็จะสามารถนำใบรับรองแพทย์ไปเคลมรับเงินประกันแบบก้อนเดียวได้ ในระยะถัดไปหากมีการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย ก็คาดว่าจะสร้างความเสียหายต่อธุรกิจประกันภัยอีกครั้งหนึ่ง
1
📌 ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและการบริการ
1
ธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยต้องถูกกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกระลอก ซึ่งจะเกิดความเสี่ยงที่ต้องทำให้ปิดประเทศอีกครั้ง โดยนับตั้งแต่ประเทศไทยเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายน จนถึงตอนนี้ (2 ธันวาคม) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาราว 130,000 แสนคน ยังน้อยกว่ามากหากเทียบกับตัวเลขก่อนการระบาด
1
ความกังวลที่เกิดจากไวรัสสายพันธ์โอมิครอน ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความกังวลทั่วโลก ว่าวัคซีนที่ฉีดไปจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ และทำให้ความเชื่อมั่นในการเดินทางในช่วงปลายปีลดลงอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะมีรายงานว่าอาการของผู้ได้รับเชื้อไวรัสจะไม่รุนแรง แต่ ณ วันนี้ยังคงเร็วไปที่จะสรุปผลกระทบทั้งหมดได้ แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคงเป็นภาคที่เสียหายมากที่สุด
2
แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าประเทศไทยจะไม่ต้องกลับไปเผชิญกับการล็อกดาวน์อีก เพราะอัตราการฉีดวัคซีนของไทยที่เพิ่มขึ้นมามากจะเป็นปัจจัยสำคัญให้ประชาชนจะไม่มีการป่วยหนัก ถึงแม้ว่าจะได้รับเชื้อโควิด
1
#BBLSME #เศรษฐกิจไทย #Omicron #ราคาน้ำมันดิบ #ราคาทองคำ #ตลาดหุ้น
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
ติดตามบทความวิเคราะห์ประเด็นเศรษฐกิจ เพิ่มเติมได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา