3 ธ.ค. 2021 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
หนุ่มอินเดียอายุ 27 สร้างเชนโรงแรม 3 แสนล้าน ในเวลา 8 ปี
2
เวลาที่เราไปพักในโรงแรมต่างถิ่น แล้วเจอกับห้องพักที่น่าผิดหวัง เราทำอย่างไร ?
หลายคนเลือกที่จะช่างมัน และภาวนาว่าครั้งต่อไปจะเจอกับห้องพักที่ทำให้เราประทับใจ
1
แต่ไม่ใช่กับ ริเทช อการ์วาล ที่ได้เริ่มต้นทำธุรกิจเพราะผิดหวังกับห้องพักโรงแรมครั้งแล้วครั้งเล่า
จนทุกวันนี้ ธุรกิจของเขากำลังจะระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์และถูกคาดการณ์มูลค่าไว้ที่ 386,000 ล้านบาท
1
นั่นจึงทำให้ตัวอการ์วาลเอง ก็ได้ถูกประเมินว่ามีทรัพย์สินมากถึง 36,000 ล้านบาท
ทำให้เขากลายเป็น Billionaire หรือเศรษฐีที่มีทรัพย์สินเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือราว 33,000 ล้านบาท ในวัยเพียง 27 ปี
4
อการ์วาล เป็นใคร ?
แล้วเขาผิดหวังอะไรถึงได้ก่อตั้งธุรกิจแสนล้านขึ้นมา ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ริเทช อการ์วาล เกิดในเขตรายากาดา รัฐโอดิชา ที่ซึ่งผู้คนมากกว่าครึ่งชุมชนถูกจัดอยู่ในระดับยากจน ในประเทศอินเดีย
1
บ้านของเขาเปิดร้านขายของชำและเขาเป็นลูกคนสุดท้องจากพี่น้องทั้งหมด 4 คน
โดยพี่ ๆ ทั้งสามคนเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์และบริหารธุรกิจ
1
อการ์วาล สนใจคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็ก บ่อยครั้งที่เขาทำให้คอมพิวเตอร์มีปัญหาเพื่อที่จะได้หาวิธีแก้ไขด้วยตัวเอง เขายังหัดเขียนโปรแกรมตั้งแต่ 8 ขวบโดยอ่านจากหนังสือของพี่ชาย
3
พอเขาอายุได้ 15 ปี อการ์วาลตั้งใจว่าจะเอาดีทางด้านการเขียนโปรแกรมจึงตัดสินใจไปเรียนที่ IIIT สถาบันด้านไอทีในเมืองโกตา ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเกิดราว 1,500 กิโลเมตร
1
นอกจากเรื่องคอมพิวเตอร์แล้ว เขายังได้เขียนหนังสือชื่อ “Indian Engineering Colleges: A Complete Encyclopedia of Top 100 Engineering Colleges” เป็นเหมือนสารานุกรมเกี่ยวกับวิทยาลัยชั้นนำด้านวิศวกรรมศาสตร์ของอินเดีย
3
ซึ่งเมื่อเอาไปวางขายใน Flipkart เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของอินเดีย ก็ขายหมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็ว
2
ตอนอายุ 16 ปี อการ์วาลได้เป็น 1 ใน 240 คนที่ถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการของ Tata Institute of Fundamental Research (TIFR) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาความสามารถนักเรียนด้านวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย
3
สำหรับการเรียนที่ IIIT นั้น อการ์วาลมักจะศึกษาเองเป็นส่วนใหญ่ และใช้เวลาที่เหลือเดินทางไปที่ต่าง ๆ ทั่วอินเดีย เขาเดินทางไป “เดลี” บ่อยครั้ง เพื่อเข้าประชุมสัมมนาผู้ประกอบการ ซึ่งแม้ว่าเขาจะไม่มีเงินค่าลงทะเบียน แต่ก็มักจะแอบเข้าไปได้เสมอ
6
พอไปฟังสัมมนาบ่อยเข้า ก็ทำให้เขาเริ่มซึมซับถึงความเป็นผู้ประกอบการและเกิดแรงบันดาลใจ
3
พออายุได้ 17 ปี ระหว่างที่เขากำลังเตรียมตัวสอบหลักสูตร SAT เผื่อว่าจะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา
เขาก็มุ่งหน้าเข้าเดลี ตั้งใจว่าจะต้องสร้างธุรกิจอะไรบางอย่างให้ได้ โดยมีเงินเก็บพอประมาณที่สะสมระหว่างตอนเรียนเดือนละ 6,700 บาท
5
ช่วงนั้น อการ์วาลพยายามพูดคุยกับผู้ประกอบการ รวมถึงเหล่าสตาร์ตอัปและเอาจริงเอาจังกับการอ่านหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องของ Airbnb จนท้ายที่สุดนั้นจึงทำให้เขาก็ไม่ได้สอบ SAT และไม่ได้ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา
2
แต่การที่เขาเดินทางบ่อย ทำให้เขาเห็นว่าโรงแรมราคาประหยัดในอินเดียมักจะไม่มีอาหารเช้ารวมอยู่ด้วย
ส่วนโรงแรมไหนที่มี บางครั้งห้องก็ไม่ว่างหรือมีระบบการจองที่ยาก
6
ในปี 2012 เมื่ออายุได้ 18 ปี อการ์วาลจึงเริ่มธุรกิจแรกของเขา ชื่อว่า “Oravel.com
เป็นลักษณะเว็บไซต์ที่รวบรวมโรงแรมทั่วอินเดียที่มีบริการอาหารเช้ารวมอยู่ด้วย
5
พูดง่าย ๆ ก็คือพยายามจะเป็น Airbnb เวอร์ชันอินเดียนั่นเอง โดยมี “VentureNursery” บริษัทที่ลงทุนในสตาร์ตอัปสนับสนุนเงินทุนก้อนแรกประมาณ 130,000 บาท
4
เขายังได้เอาไอเดีย Oravel.com นี้ไปเสนอใน “Thiel Fellowship” ซึ่งเป็นเวทีประกวดสตาร์ตอัประดับโลกสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 20 ปี
2
Thiel Fellowship เป็นสมาคมของ Peter Thiel ผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal โดยมี Elon Musk และ Sean Parker อดีตประธาน Facebook มาร่วมเป็นที่ปรึกษาด้วย ซึ่งกองทุนนี้จะมอบทุนสนับสนุนเพียงพอให้เด็กสามารถพักการเรียนได้ 2 ปีเพื่อออกมาลองทำธุรกิจจริง
5
ในการประกวด อการ์วาลได้รับเลือกเป็น 1 ใน 10 ผู้ที่ได้รับเลือกและเขาได้รับเงินรางวัล
รวม 3,300,000 บาท โดยอการ์วาลก็ยังเป็น “ชาวอินเดียคนแรก” ที่ได้รับรางวัลนี้อีกด้วย
1
ระหว่างที่ทำ Oravel.com อการ์วาลตระเวนเข้าพักในโรงแรมราคาประหยัดมากกว่า 100 ที่
ทำให้เขาเข้าใจว่าธุรกิจโรงแรมยังมีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่าการหาห้องพักที่ว่าง
เขาพบว่าโรงแรมหลายแห่งค่อนข้างสกปรก มีจิ้งจก แมลงสาบ สีผนังลอก ประตูหน้าต่างปิดได้ไม่สนิท บางที่น้ำไหลเบาจนต้องเอาถังมารองเพื่ออาบน้ำ รวมถึงพนักงานก็บริการไม่ดี ซึ่งการที่ต้องพักในโรงแรมแย่ ๆ แบบนี้ อาจจะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวหมดสนุกไปเลย
2
เขาจึงเกิดความคิดว่าจะสร้าง “มาตรฐาน” ให้กับโรงแรมเหล่านั้น แล้วติดป้ายทำการตลาดในชื่อของเขาเอง
2
ในปี 2013 อการ์วาลเริ่มทดลองที่แรก โดยติดต่อไปที่โรงแรมในเมืองคุร์เคาน์และจัดการปรับปรุงโรงแรมแห่งนี้ใหม่หมด
2
เริ่มด้วยเปลี่ยนฟูกที่นอนเป็นแบบหนา พร้อมด้วยผ้าปูที่นอนเป็นเกรดเส้นด้ายอย่างดี เปลี่ยนหลอดไฟ ติดทีวีจอแบน และเครื่องทำน้ำอุ่นให้ ปรับโฉมเสร็จเรียบร้อยก็ถ่ายรูปให้สวย ๆ แล้วประกาศในอินเทอร์เน็ต
ผลลัพธ์ที่ได้คือ อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจาก 18% เป็น 90% ตั้งแต่เดือนแรก
3
อการ์วาลมองเห็นแล้วว่าธุรกิจนี้เป็นไปได้ เขาเริ่มปัดฝุ่น Oravel.com ใหม่อีกครั้ง เปลี่ยนชื่อเป็น ​ “Oyorooms.com” และหมายมั่นปั้นมือว่าจะทำให้ OYO กลายเป็นเครือโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
1
โดย OYO มาจากคำว่า “On Your Own” แปลว่า “ของคุณเอง”
ที่มาของคำนี้มาจากเหตุการณ์ในวัยเด็กที่ อการ์วาล มักจะไปนั่งดูการ์ตูนที่บ้านญาติ
แต่เขาก็ไม่มีสิทธิ์เลือกช่องเอง ทำให้หลายครั้งเขาต้องจำใจดูละครแทน
มาวันนี้เขาจึงอยากจะให้ผู้ที่เข้าพักได้รู้สึกว่า “ห้องนี้เป็นของคุณเอง” นั่นเอง
1
โมเดลธุรกิจในช่วงแรกของ OYO คือขอ “แบ่งเช่า” ห้องจำนวนหนึ่งจากโรงแรมในราคาไม่แพงเพื่อมาปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน และรวบรวมห้องเหล่านั้นมาทำการตลาดผ่านเว็บไซต์ Oyorooms.com โดย “กินส่วนต่างจากราคาปล่อยต่อ”
2
ปี 2014 OYO ได้รับเงินทุนจาก Lightspeed Venture Partners (LSVP) และ DSG Consumer Partners ประมาณ 17 ล้านบาท ทำให้ธุรกิจขยายอย่างรวดเร็วไปใน 20 เมืองทั่วอินเดีย มีห้องพักมากกว่า 4,000 ห้อง
1
ปี 2015 OYO เริ่มเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อ LSVP เจ้าเดิมลงทุนเพิ่มอีก 833 ล้านบาท รวมถึงได้รับความสนใจจาก SoftBank เจ้าพ่อวงการสตาร์ตอัปก็เข้ามาลงทุนด้วยจำนวนเงินถึง 3,300 ล้านบาท
2
แล้วอะไรคือ สิ่งที่ทำให้โมเดลธุรกิจของ OYO นั้นน่าสนใจจนได้รับเงินระดมทุนจากบรรดานักลงทุน ?
2
ปกติเครือโรงแรมระดับโลก เช่น Marriott, Hilton มักจะเข้าไปบริหารโรงแรมที่มีขนาดใหญ่และจำนวนห้องเยอะ แต่ในความจริงแล้วยังมีโรงแรมเล็ก ๆ ที่มีจำนวนห้องไม่ถึง 150 ห้องอยู่อีกมาก แต่ไม่มีใครสนใจเข้ามาจับจองเค้กก้อนนี้ เท่ากับว่าหาก OYO เข้ามาตีตลาดตรงนี้ จะมีพื้นที่ให้เติบโตได้อีกมาก
1
ซึ่งนอกจากโอกาสการเติบโตแล้ว บรรดานักลงทุนเชื่อว่าการนำเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจะทำให้ OYO เติบโตได้แบบก้าวกระโดด
2
หลังจากได้รับเงินทุนก้อนใหญ่เข้ามา OYO ก็ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน และมียอดดาวน์โหลดสูงถึง 160,000 ครั้ง พุ่งทะยานติด 1 ใน 3 แอปพลิเคชันที่ดีที่สุดในหมวด “การเดินทาง” ของ Google Play Store ทันที
ในแง่ของจำนวนห้องก็เติบโตจาก 4,000 ห้อง จนทะลุ 10,000 ห้องใน 100 เมืองทั่วอินเดีย
ทุกอย่างก็ดูจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่ในระหว่างนั้น อการ์วาลก็มองเห็นอะไรบางอย่าง
1
ด้วยความที่ OYO ยังเป็นแบรนด์น้องใหม่ ทำให้ในช่วงแรกต้องตั้งราคาให้ถูกกว่าโรงแรมตัวจริง เพื่อแย่งลูกค้า แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับกลายเป็นว่าโรงแรมตัวจริงมาเช่าห้องของ OYO เสียเอง แล้วไปปล่อยในราคาปกติ
3
พอเรื่องเป็นแบบนี้ อการ์วาลจึงเริ่มเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ จากที่เคยขอแบ่งเช่าแล้วรวบรวมมาปล่อยต่อ คราวนี้ อการ์วาลจะเป็นเจ้าของโรงแรมทั้งตึกเองโดยไม่ต้องเช่าแม้แต่ห้องเดียว
2
เขาทำได้อย่างไร ?
2
วิธีการก็คือ เปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็นแบบแฟรนไชส์ โดยเขาตกลงทำสัญญากับโรงแรมว่าจะปรับปรุงทุกอย่างให้เป็นไปตามมาตรฐาน OYO ทั้งสภาพห้องและการบริการ โดย OYO ทำการตลาดให้ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน แต่ OYO จะเก็บค่าคอมมิชชัน 22% จากรายได้ของโรงแรมแทน
2
ด้วยโมเดลธุรกิจแบบนี้ทำให้ OYO ได้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น แก้ปัญหาการตัดราคากับโรงแรมตัวจริง, เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของผู้ดูแลห้องเช่า จากเมื่อก่อน 1 คนอาจจะดูแลเพียง 10 ห้อง แต่ตอนนี้ดูแลทั้งตึกเลย
1
และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ต้องลงทุนเช่าห้องเองตั้งหลายห้อง ทำให้เหลือเงินทุนไปขยายสาขาได้มากขึ้น
3
ในปี 2018 ได้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ เมื่อ SoftBank ลงทุนเพิ่มอีก 33,000 ล้านบาท หรือ 10 เท่าจากที่เคยลงทุนครั้งแรก และยังมีนักลงทุนเจ้าอื่นตามมาอีกเพียบ เช่น Grab, Didi Chuxing รวมถึง Airbnb ไอดอลของเขาด้วย
1
ส่งผลให้ OYO ขึ้นชั้นเป็นยูนิคอร์นทันที โดยมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 166,000 ล้านบาท
ทั้งที่ 4 ปีที่แล้ว บริษัทยังมีมูลค่าเพียง 62 ล้านบาทอยู่เลย
9
เมื่อได้ทุนก้อนใหญ่เข้ามา OYO ก็เปลี่ยนจากบริษัทระดับประเทศมุ่งหน้าสู่ระดับโลกเต็มตัว
OYO บุกตลาดใหญ่อย่างจีน สหรัฐอเมริกา และยังขยายไปยุโรปผ่านการควบรวมบริษัท “@Leisure Group” ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าตลาดห้องพักในยุโรป ด้วยมูลค่าราว 13,000 ล้านบาท ทำให้ OYO ได้ห้องพักเพิ่มในมืออีกกว่า 300,000 ห้อง
ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและซอฟต์แวร์การบริหารจัดการโรงแรมที่ดี ทำให้ OYO มีอัตราการเข้าพักสูงถึง 75% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมอยู่ราว ๆ 65%
ขณะที่แอปพลิเคชัน OYO ก็มีคนดาวน์โหลดถึง 50 ล้านครั้งในปี 2020 และเป็น 100 ล้านครั้งในปี 2021
OYO ขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี 2019 โดยมีจำนวนห้องพักรวมมากกว่า 1.2 ล้านห้อง กระโดดขึ้นมาเป็นเครือโรงแรมที่มี “จำนวนห้องพัก” มากอันดับที่ 2 ของโลก
มากกว่าเครือโรงแรมชื่อดังอย่าง Hilton, Accor, Hyatt ด้วยซ้ำ และเป็นรองเพียง Marriott อันดับ 1 ที่มีเกือบ 1.4 ล้านห้อง
1
ขณะที่ อการ์วาลในวัย 27 ปี ได้รับการประเมินจาก Hurun Global Rich List 2020 ในปี 2020 ว่ามีความมั่งคั่ง 36,000 ล้านบาท กลายเป็น Billionaire หรือเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมูลค่าเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่สร้างธุรกิจด้วยตัวเอง
2
การขึ้นสู่จุดสูงสุดว่ายากแล้ว แต่การรักษาให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องนั้นยากกว่า
เมื่อในปี 2020 OYO เหมือนถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัด นอกจากต้องเจอกับวิกฤติโควิด 19 ซึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดนผลกระทบอย่างหนักแล้ว ยังตกเป็นข่าวพาดหัวถูกกล่าวหากรณีฉ้อโกงอีกหลายครั้ง
1
ตัวอย่างเช่น เจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งในบังคาลอร์ยื่นฟ้อง OYO ว่าเขาไม่ได้รับเงินค่าบำรุงที่ควรจะได้เดือนละประมาณ 300,000 บาท
2
หรืออีกกรณีที่เจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า OYO เก็บค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์เกิน 22% ที่ได้ตกลงกันไว้
1
ทำให้ในปี 2020 โรงแรมหลายแห่งถอนตัวจากการเป็นพันธมิตร จำนวนห้องพักในการบริหารลดลงไปกว่า 50% เหลือประมาณ 449,000 ห้อง จากจำนวน 20,000 โรงแรม ทำให้ร่วงจากอันดับที่ 2 ลงมาอยู่อันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า OYO จะสามารถมีห้องพักเพิ่มมากขึ้นกลับมาที่จุดเดิมได้หรือไม่
1
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานว่า OYO เตรียมตัวจะ IPO โดยมีการประเมินมูลค่าบริษัท ไว้สูงถึง 386,000 ล้านบาท
1
จากเรื่องราวทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ริเทช อการ์วาล เป็นหนึ่งในตัวอย่างของวัยรุ่นหมื่นล้านที่มีความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจ รวมถึงค้นพบช่องว่างในตลาดและคว้ามันไว้จนปั้นให้มันกลายมาเป็นธุรกิจได้สำเร็จ
1
ปิดท้ายด้วยตัวเลขมูลค่าบริษัทเครือโรงแรมที่น่าสนใจ
Marriott 1,700,000 ล้านบาท
Hilton 1,350,000 ล้านบาท
Hyatt 300,000 ล้านบาท
Accor 283,000 ล้านบาท
1
ซึ่ง OYO จะมีมูลค่ามากกว่า Hyatt และ Accor
1
ก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า OYO แพลตฟอร์มจองโรงแรม ที่ไม่ได้มีโรงแรมเป็นของตัวเองและได้ก่อตั้งขึ้นมาเพียง 8 ปี จะได้รับการประเมินมูลค่า ซึ่งมากกว่าเครือโรงแรมยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจมายาวนานเกินกว่า 50 ปี อย่าง Hyatt และ Accor ไปแล้ว..
2
References
โฆษณา