6 ธ.ค. 2021 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
ส่องกลยุทธ์ ทำแบรนด์ไทย ให้ต่างประเทศรู้จัก ของคาราบาวแดง
รู้ไหมว่า คาราบาวแดง ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2544 หรือรวมอายุกว่า 20 ปีแล้ว
โดยปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทหลัก “แสนล้านบาท”
และเป็นแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลัง ที่ครองสัดส่วนเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย
ด้วยกลยุทธ์ในการรุกตีตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบันคาราบาวแดงสามารถกลายมาเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในอาเซียนได้ในที่สุด
เรื่องนี้สะท้อนไปยังรายได้ในปี 2020
โดยบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CBG) ทำรายได้จากเครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่มเกลือแร่ไปทั้งหมด 12,881 ล้านบาท
โดยรายได้จากต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนถึง 55%
แบ่งเป็น รายได้จากกลุ่ม CLMV 5,901 ล้านบาท
ประเทศจีน 494 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 633 ล้านบาท
จะเห็นว่า รายได้เกินกว่าครึ่งของคาราบาวแดง มาจากตลาดต่างประเทศ และตลาดสำคัญ คือกลุ่ม CLMV
แล้ว CBG มีกลยุทธ์อย่างไร ให้แบรนด์เครื่องดื่มจากไทยแบรนด์นี้ สามารถกินส่วนแบ่งในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนได้
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
ต้องบอกก่อนว่าในการตีตลาดต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องยอมรับว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คาราบาวแดงประสบความสำเร็จในไทยก็คือ ภาพลักษณ์ของ คุณแอ๊ด คาราบาว ที่หลาย ๆ คนคุ้นเคย ทำให้ตีตลาดและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในประเทศได้เร็ว
แต่สำหรับในต่างประเทศนั้นถือเป็นเรื่องยาก เพราะเหมือนกับต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด และสิ่งที่จะพาให้แบรนด์เติบโตได้นั้นก็คือ ตัวผลิตภัณฑ์ และ “ภาพลักษณ์ของแบรนด์”
เราลองมาดูกลยุทธ์ที่น่าสนใจของคาราบาวกรุ๊ปกัน
1. การตลาดแบบสปอร์ตมาร์เก็ตติง
อย่างที่หลาย ๆ คนทราบว่าคาราบาวแดงนั้น ได้เข้าไปตีตลาดในประเทศอังกฤษ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยกลยุทธ์ที่ทางคาราบาวกรุ๊ปให้ความสำคัญมาตลอด คือเรื่องของการเข้าไปสนับสนุนทีมฟุตบอลต่าง ๆ
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า กีฬาฟุตบอลนั้นถือเป็นหัวใจของคนในประเทศอังกฤษเลยทีเดียว ซึ่งการเข้าไปสนับสนุนทีมเหล่านั้น ก็จะยิ่งทำให้ชาวอังกฤษนั้นเกิดการรับรู้แบรนด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งยังมีการลงพื้นที่เพื่อแจกจ่ายเครื่องดื่มฟรีให้กับแฟน ๆ
เพราะในการแข่งขันย่อมต้องมีการขึ้นป้ายสัญลักษณ์ของแบรนด์ให้ได้เห็นตลอดทั้งฤดูกาล
โดยปัจจุบันทางคาราบาวกรุ๊ปเองก็เป็นสปอนเซอร์ให้กับทีม Chelsea และยังเป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับทาง อิงลิชฟุตบอลลีก (EFL) โดยมีการใช้ชื่อ คาราบาวคัพ พร้อมเสื้อนักกีฬาที่มีโลโกของคาราบาว ตลอดระยะสัญญา
2. ปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับแต่ละประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแต่ละประเทศนั้น มีช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคที่แตกต่างกันออกไป
บางประเทศอย่างประเทศจีนนั้น หากเราเข้าไปเดี่ยว ๆ ก็คงยากที่จะสามารถเข้าใจความต้องการและวัฒนธรรมได้ จึงต้องร่วมจับมือกับคู่ค้าที่มีศักยภาพในประเทศ ที่สามารถทำความเข้าใจความต้องการได้ดี
หรือการเข้าไปตีตลาดในแอฟริกา ก็เน้นกระจายสินค้าผ่านตัวแทนที่ถูกคัดเลือกมา พร้อมมีการซัปพอร์ตในด้านค่าใช้จ่ายด้านการตลาดต่าง ๆ
หรืออย่างในประเทศกลุ่มอาเซียน อย่างเช่น กัมพูชา ก็อาจเลือกใช้วิธีที่คล้าย ๆ กับประเทศไทย เช่น การเข้าไปสนับสนุนการแข่งขันมวย หรือการจัดคอนเสิร์ตสัญจรจากวงคาราบาว พร้อมถ่ายทอดคอนเสิร์ตดังกล่าวออกโทรทัศน์
3. พยายามหาโอกาสใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ถึงแม้ว่าจะประสบความสำเร็จในประเทศอยู่ระดับหนึ่งแล้ว
แต่หากเราต้องการเติบโตขึ้นเราก็ควรที่จะมองหาโอกาสใหม่ ๆ ด้วย ซึ่งโอกาสที่คาราบาวกรุ๊ปมองเห็นก็คือ การตีตลาดต่างประเทศ
รู้ไหมว่า ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่ใหญ่ที่สุดในโลก 5 อันดับ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, อังกฤษ และบราซิล
1
ซึ่งทางคาราบาวกรุ๊ปมองว่าประเทศที่บริษัทพอมีศักยภาพ และมีโอกาสก็คือประเทศจีน เนื่องจากฐานจำนวนประชากรที่ใหญ่และมีการบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังในอัตราที่ก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง
จึงได้เริ่มเข้าไปตีตลาด ซึ่งผลตอบรับที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นไปด้วยดี โดยในปี 2020 บริษัทมียอดขายในประเทศจีนรวมกว่า 494 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้ก็เป็นตัวอย่างการเดินกลยุทธ์ของคาราบาวกรุ๊ป จนกลายเป็นเครื่องดื่มชูกำลังสัญชาติไทย ที่สามารถเข้าไปตีตลาดต่างประเทศได้สำเร็จ
References
โฆษณา