4 ธ.ค. 2021 เวลา 13:00 • การเกษตร
การทำแปลงปลูกพืชผักสวนครัวสามารถออกแบบได้หลายรูปแบบให้เหมาะกับพื้นที่และรูปแบบสวนโดยรวม วัสดุที่ใช้ทำขอบแปลงก็เช่นกันมีหลากหลายประเภท แต่การจะเลือกนำมาใช้นั้น นอกจากพิจารณาในแง่ความงามแล้ว ยังควรพิจารณาในแง่ความเหมาะสมในการใช้งานและงบประมาณประกอบกันด้วย เรามีไอเดียดีๆมาฝากกัน ดังนี้ ...
สวนครัว นอกจากเป็นพื้นที่สำหรับปลูกพืชอาหารแล้ว ยังใช้ประดับตกแต่งบ้านได้ในตัว สามารถเพิ่มไอเดียต่อยอดได้หลากหลาย การออกแบบสวนครัวให้สวย ไม่ควรใช้วัสดุหลายประเภทเกินไป และควรเลือกที่ดูกลมกลืนกัน อีกทั้งการทำแปลงหลายระดับ หรือเสริมองค์ประกอบ อย่างค้างหรือซุ้มผักเลื้อยบ้าง รวมถึงปลูกพรรณไม้สูงต่ำหลายระดับ ทั้งไม้ต้น ไม้พุ่ม ไว้ตามมุมสวนแต่ละมุม จะทำให้สวนเกิดมิติที่สวยงาม
สำหรับพืชผักที่มีระบบรากสั้น อย่างผักสลัด ผักบุ้งจีน คะน้า กวางตุ้ง ฯลฯ สามารถทำขอบแปลงสูง 15-20 ซม. ก็เพียงพอ แต่หากต้องการปลูกพืชผักกินหัว อย่างแครอท หัวไช้เท้า ควรทำขอบแปลงสูงมากกว่า 30 ซม. ในการปลูกพืชผักเชิงการค้า สำหรับฟาร์มเนื้อที่กว้างอาจไม่จำเป็นต้องก่อขอบแปลง แต่ใช้วิธีขุดดินแล้วยกขอบแปลงให้สูงมากพอสำหรับพืชชนิดนั้นๆ แต่บางพื้นที่ซึ่งมีปัญหาเรื่องดินแข็งหรือเสื่อมคุณภาพ ไม่มีแรงงานในการขุดดิน การทำขอบแปลงแล้วเติมดินผสมปุ๋ยหมักเข้าไปใหม่ ก็ช่วยแก้ปัญหานี้และเพิ่มความสะดวกได้ส่วนหนึ่ง
สวนครัวในบ้านนิยมทำขอบแปลงจากวัสดุต่างๆ เพื่อเพิ่มความงามให้กับสวน อีกทั้งวัสดุบางประเภทก็เป็นสิ่งของเหลือใช้ในบ้าน จึงช่วยประหยัดงบประมาณในกระเป๋าได้อีกด้วย ส่วนจะมีวัสดุใดบ้างนั้นไปชมกัน
อิฐมอญ เป็นวัสดุจากดินเหนียวผสมแกลบ ทรายและน้ำ เผาด้วยความร้อนสูง อิฐมอญที่ใช้กันทั่วไปมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ ชนิดทำมือซึ่งมีผิวไม่เรียบ ดูเป็นกันเองจึงนิยมใช้กับสวนครัว ทั้งยังมีหลายขนาด และอีกชนิดใช้เครื่องจึงมีผิวเรียบ เหมาะกับงานที่ต้องการความเนี้ยบกว่า
ข้อดี สวยงามและทนต่อสภาพอากาศภายนอก ทั้งยังช่วยเก็บความชื้นให้กับดิน สีสันดูคลาสสิกและกลมกลืนกับบรรยากาศสวน ทั้งสวนยุโรปชนบท และสวนธรรมชาติ
ข้อจำกัด อิฐมอญแต่ละก้อนมีขนาดเล็ก จึงใช้เวลาก่อสร้างค่อนข้างนาน และต้องยึดกันด้วยซีเมนต์เคลื่อนย้ายไม่ได้ จึงควรออกแบบตำแหน่งแปลงให้ลงตัวก่อน
งบประมาณ 300-500 บาท สำหรับอิฐทำมือขนาดเล็ก
หมายเหตุ แปลงขนาด 1 ตร.ม. ความสูง 15-20 ซม. ใช้อิฐมอญขนาดเล็ก 84 ก้อน ราคาอิฐมอญทำมือต่อก้อน 1-2 บาท
สำหรับพื้นที่ที่ดินอ่อนทรุดตัวง่าย หากต้องการลดปัญหาเรื่องแปลงแตกร้าว ควรขุดดินเป็นร่องแล้วเทคานรองรอบแปลงก่อนก่ออิฐ ซึ่งก็ต้องใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น
บล็อกประสาน ซึ่งผลิตจากดินต่างๆผสมกับปูนซีเมนต์และน้ำในสัดส่วนที่พอเหมาะ แล้วอัดด้วยเครื่องให้เป็นก้อน บางพื้นที่อาจประยุกต์ใช้วัสดุอื่นๆในท้องถิ่น เช่น ดินลูกรัง ดินเหนียว ผักตบชวาแห้ง ฯลฯ จุดเด่น คือ เป็นวัสดุก่อสร้างที่มีเดือยและรูบนตัวบล็อกสำหรับยึดกันไว้จึงสะดวกสำหรับนำมาก่อเป็นแปลง
ข้อดี ใช้งานง่าย สามารถติดตั้ง เคลื่อนย้าย หรือปรับเปลี่ยนได้ง่าย ตัวบล็อกมีทั้งแบบทรงเหลี่ยม และแบบโค้งสำหรับต่อเป็นแปลงวงกลม
ข้อจำกัด รูปแบบและขนาดยังไม่หลากหลายนัก
งบประมาณ 250-500 บาท
หมายเหตุ แปลงขนาด 1 ตร.ม. ความสูง 20 ซม. ใช้บล็อกจำนวน 32 ก้อน
ราคาต่อก้อน (ชนิด 2 ปุ่ม) มีตั้งแต่ก้อนละ 8-16 บาท ขึ้นกับวัสดุและความคงทน
อิฐบล็อก ผลิตจากปูนซีเมนต์และทราย อัดด้วยเครื่องเป็นก้อนตามขนาดมาตรฐาน นิยมใช้กับงานก่อสร้าง
ข้อดี ทนทาน ก่อสร้างได้เร็ว และราคาประหยัด
ข้อจำกัด น้ำหนักมาก เข้ากับบ้านสไตล์ลอฟท์
งบประมาณ 50-70 บาท
หมายเหตุ แปลงขนาด 1ตร.ม. ความสูง 20 ซม.ใช้ประมาณ 12 ก้อน ราคาก้อนละ 4-6 บาท
ไม้ลัง ไม้พาร์เล็ต ไม้สน เป็นวัสดุหาง่าย ราคาไม่แพง การนำมาทำเป็นขอบแปลง อาจยึดไม้แต่ละด้านเข้าด้วยกันเป็นกรอบสี่เหลี่ยม หรือในกรณีที่ใช้ไม้ด้านละสองแผ่นขึ้นไป ควรมีเสาไม้ทั้งสี่มุมเป็นหลักยึดเพื่อเพิ่มความแข็งแรง
ข้อดี ทำได้เร็ว ราคาประหยัด สามารถขัด ทาสี หรือตกแต่งได้หลากหลาย น้ำหนักเบา ยกเคลื่อนย้ายเปลี่ยนตำแหน่งได้ง่าย
ข้อจำกัด ไม่คงทน อาจต้องเปลี่ยนทุกปี หรือทาน้ำยารักษาเนื้อไม้เพื่อให้ทนต่อความชื้น
งบประมาณ 200-500 บาท
หมายเหตุ ราคาไม้พาร์เล็ตเก่า ชุดละ 40 บาท ใช้จำนวน 4 ชุด สำหรับแปลงขนาด 1 ตร.ม. สูง 15-20 ซม.
ไม้ไผ่ เป็นวัสดุท้องถิ่น ที่สามารถนำมาใช้กั้นขอบแปลง ให้บรรยากาศกลมกลืนกับสวนแนวชนบท และสวนแบบเอเชีย อย่างสวนญี่ปุ่น
ข้อดี สวยงาม น้ำหนักเบา ราคาประหยัด
ข้อจำกัด ไม่คงทน ผุและแตกได้ อาจต้องเปลี่ยนใหม่ทุกปี นอกเสียจากใช้ไม้ไผ่อายุหลายปีที่ผ่านกระบวนการกันมอดมาก่อน ซึ่งก็จะมีราคาสูงขึ้น
งบประมาณ 300-400 บาท (แปลงขนาด 1 ตร.ม. สูง 20 ซม.)
หมายเหตุ ไม้ไผ่อายุ 4 ปี ความยาว 2-6 เมตร ราคาลำละ 30-60 บาท ทั้งนี้ราคาไม้ไผ่ขึ้นกับแต่ละท้องถิ่น
ไม้สาน ไม้ที่มีความยืดหยุ่นสามารถนำมาสานหรือถักทอเป็นขอบแปลงได้ อย่าง เถาวัลย์ ฟากไม้ไผ่ กิ่งไผ่ กิ่งกระถิน ซึ่งแต่ละวัสดุก็มีความเหนียวและคงทน ต่างกัน ซึ่งราคาก็ผันแปรไปตามกันด้วย
ข้อดี สวยแปลกตา ดูเป็นงานหัตกรรม
ข้อจำกัด ใช้เวลา และความชำนาญในการทำ หากใช้วัสดุคงทนราคาก็จะสูงตาม
งบประมาณ แปลงฟากไม้ไผ่ขนาด 1 ตร.ม. ไม่เกิน 200 บาท
หมายเหตุ ฟากไม้ไผ่สาน ราคามัดละ 120 บาท ไม้รวก 1 มัด 80 บาท
แปลงกรวด-หิน ตกแต่งโดยใช้ตะแกรงลวดและหมุดยึดเป็นแนวผนังด้านละสองชิ้น จากนำกรวดใส่ระหว่างช่องว่างของตะแกรงทั้งสองแผ่น ตกแต่งลบคมให้สวยงาม
ข้อดี สวยแปลกตา ระบายน้ำง่าย
ข้อจำกัด ควรยึดหมุดให้ผนังขอบแปลงมั่นคงแข็งแรง อีกทั้งวิธีการทำค่อนข้างซับซ้อน
งบประมาณ 400-550 บาท
หมายเหตุ ตะแกรงลวดกรงไก่ ขนาดหน้ากว้าง 2 เมตร ความยาว 5 เมตร ราคา 90 บาท กรวดแม่น้ำเบอร์ 4 จำนวน 10-12 ถุงๆ ละ 35 บาท (ถุง 9 กก.)
แปลงจากท่อนไม้เก่า ต้นมะพร้าว หรือลำต้นของต้นไม้อื่นๆ นำมาเรียงต่อกันสำหรับกั้นขอบแปลง
แปลงจากยางรถยนต์เก่า ตกแต่งเพิ่มเติมด้วยถังเหล็กขึ้นสนิม และป้ายโลหะ เพื่อเพิ่มความงามสไตล์จังค์การ์เด้น
โครงท่อพีวีซี และแผ่นฟิวเจอร์บอร์ด เป็นวัสดุหาง่าย แต่เมื่อตากแดดตากฝน ก็ต้องขยันเปลี่ยนกันบ่อย
ติดตามเรื่องราวของสวนครัวและความรู้ต่างๆ ได้จาก หนังสือ "สวนสวยกินได้ Edible Garden" (คลิกสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ >> https://www.naiin.com/product/detail/238468) และหนังสือ "Garden & Farm Vol.9 : ผักสวนครัว รั้วกินได้" (คลิกสั่งซื้อออนไลน์ในรูปแบบอีบุ๊กได้ที่ >> https://www.naiin.com/product/detail/212487)
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา