11 ธ.ค. 2021 เวลา 02:00 • หนังสือ
จีน-เมริกา 3D, อาร์ม ตั้งนิรันดร
ภาคต่อจีน-เมริกา รอบนี้เป็นศึกขิงกันระหว่างไบเดนกับสีแทนที่จะเป็นสีกับทรัมป์ อาจารย์อาร์มยังคงเขียนสนุก เข้าใจง่ายเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือสถานการณ์ที่อัพเดตสุดๆ
หลายคนบอกว่าศึกจีน-อเมริการอบนี้คือ cold war 2.0 แต่เอาเข้าจริงมันมีความต่าง มีรายละเอียดที่ซับซ้อนกว่าช่วงที่อเมริกาตีกับโซเวียตเยอะ ด้วยความที่จีนและอเมริกาผูกพันด้านเศรษฐกิจ การค้ามากๆ การจะทุบให้อีกฝ่ายเละจึงแทบจะไม่มีความเป็นไปได้เลยในระยะเวลาอันใกล้นี้ ภาพที่เราเห็นจึงเหมือนผัวเมียทะเลาะกัน เดี๋ยวตบกัน เดี๋ยวจูบปากกันสลับไปมาอยู่เป็นระยะๆ
ดังนั้นสิ่งที่อเมริกาและจีนพยายามทำคือ de-coupling หรือการแยกห่วงโซ่เศรษฐกิจออกจากกันให้มากที่สุด โดยมีธีมหลักที่จะสู้กันในรอบนี้คือเรื่อง digitalization และ decarbonization อันเป็นที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้
digitalization จะมีโฟกัสหลักเกี่ยวกับเทคฯ ต่างๆ โดยเฉพาะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ data อย่างที่ใครๆ ก็บอกว่า data is the new oil เพราะ data นอกจากจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจแล้วยังมีความสำคัญในแง่ของความมั่นคงอีกด้วย
decarbonization เนื่องจากเป็นวาระสากลที่ถูกเน้นอย่างมากใน COP26 (หลังจากที่น้องเกรต้าออกมาบอกว่าบลา บลา บลา) ทำให้ทั้งจีน และอเมริกาเบอร์ 1 และ 2 ที่มีส่วนในการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกต้องหันมารับผิดชอบ และเดินหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียวนี้อย่างเต็มที่
อุตสาหกรรมที่น่าจะเป็นตลาดสำคัญสำหรับทั้งจีนและอเมริกาคงหนีไม่พ้น EV เพราะตอบโจทย์ทั้งในแง่ digitalization และ decarbonization รวมถึงยังเป็นอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิด supply chain ที่ตามมาอย่างมาก ส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ซึ่งเราก็จะเริ่มเห็นผู้เล่นเจ้าใหญ่ๆ ผันตัวเข้ามาในตลาดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น Apple และ Amazon ของฝั่งอเมริกา Huawei และ Xiaomi จากฝั่งจีน
กลยุทธ์หลักที่ทั้งจีน และอเมริกาใช้ในการแย่งพื้นที่ความเป็นมหาอำนาจของโลก แบ่งได้เป็นสองมิติหลักๆ คือ
มิติแรกสร้างความร่วมมือ หาพันธมิตรทางการค้าสร้างระบบนิเวศน์ทางการค้าใหม่ รวมถึงสร้างแรงกดดันให้อีกฝ่ายทั้งในแง่การค้าและความมั่นคง สำหรับจีนยุทธศาสตร์สำคัญคือเส้นทางสายไหม หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ที่เปลือกนอกดูดี (ช่วยลงทุนในการพัฒนาระบบขนส่งทางราง และทางถนน) แต่ไส้ในคือการล่าอาณานิคมยุคใหม่ (ผ่านสัญญาเงินกู้ที่ทำกับประเทศคู่สัญญา)
ส่วนในฝั่งอเมริกาหลังจากที่ประธานาธิบดีสุดฮิปอย่างทรัมป์เลือกที่จะถอนตัวจากองค์การนานาชาติต่างๆ แบบไม่แคร์สื่อ ไบเดนเลยต้องรีบรีเทิร์นหารักเก่าอย่าง G7 และ QUAD รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือใหม่อย่าง AUKUS ที่เป็นความร่วมมือระหว่างอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย ภายใต้สโลแกน Build Back Better World (B3W) ที่ดูสวยหรูแต่ดูก็ยังไม่เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนอกจากหาเรื่องจีน
ถ้าจะมองภาพง่ายๆ ยุทธศาสตร์ของสีเหมือนไฟป่าที่กำลังลามทุ่งออกไปเรื่อยๆ ส่วนยุทธศาสตร์ของไบเดนคือนักผจญเพลิงที่พยายามจะจำกัดวงเพลิงนั้น ซึ่งในมิตินี้จีนดูมีอะไรมากกว่าอเมริกา
มิติที่สองพยายามพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด สร้างห่วงโซ่อุปทานที่ตนเองสามารถควบคุมได้ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ซึ่ง ณ ปัจจุบันทั้งจีนและอเมริกาต่างประสบปัญหากันคนละแบบ อเมริกาเก่งด้านนวัตกรรม แต่ทำของถูกไม่ค่อยเป็น (ปัญหาภาคการผลิต) ส่วนจีนถึงของจะถูกและดี แต่ก็ไม่เคยทำของ original ที่มี impact จริงๆ ได้เลย (ปัญหาองค์ความรู้)
ภาพที่เกิดขึ้นคืออเมริกาอาจจะมีของเจ๋งๆ คูลๆ เยอะ แต่ส่วนจำนวนหนึ่งจะไม่สามารถ roll out ในภาพกว้างได้ (ต้นทุนสูง) ส่วนจีนเองแม้จะมีความสามารถในการส่งออกเทคโนโลยีราคาถูก แต่ก็อาจจะเจออเมริกาพลิกเกมเมื่อไหร่ก็ได้ถ้าพื้นฐานด้านนวัตกรรมยังสู้อเมริกาไม่ได้ (วัคซีน mRNA เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้)
อย่างไรก็ตามในมิติที่สองนี้ ระยะยาวจีนก็ดูจะมีความได้เปรียบมากกว่าอเมริกาในหลายแง่อีกเช่นกัน เพราะ
1. จีนมีทรัพยากรในประเทศเหลือเฟือ โดยเฉพาะแร่แรร์เอิร์ธที่เป็นแร่หลักในอุตสาหกรรมสำคัญอันได้แก่ แบตเตอรี่ และชิป
2. จีนมีขนาดของตลาดภายในประเทศที่ใหญ่มากจนอาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศมากนัก (นโยบายปิดประเทศ zero covid ของจีนเองน่าจะเป็นความตั้งใจของลุงสีเพื่อทดสอบ threshold ว่าจีนจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ดีแค่ไหน)
3. ความเป็นรัฐรวมศูนย์ทำให้จีนมีแนวโน้มที่จะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ได้ดีกว่า เพราะสามารถกระตุ้นได้ทั้งขา supply และ demand โดยไม่มีการขัดขวางจากการเมืองขั้วตรงข้าม (แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 1.2 ล้านล้านดอลล่าร์ของไบเดนที่ผ่านสภาคองเกรสไปแบบ last minute deal เป็นตัวบ่งชี้ว่าเรื่องแบบนี้ไม่ง่ายเลยสำหรับอเมริกา)
4. แม้จะยังตามหลังอเมริกาในด้านนวัตกรรมแต่เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมหลัก ณ เวลานี้ของจีนก็ไม่ได้ห่างชั้นจากอเมริกามาก (ยกเว้นเทคโนโลยีการทำชิป) และด้วยการโฟกัสของภาครัฐ+จำนวนประชากรมาก ก็น่าจะทำให้จีนมีโอกาสที่จะพัฒนาด้านนวัตกรรมขึ้นมาเทียบเท่าอเมริกาได้ไม่ยากนัก
เหตุผลทั้งหมดก่อนหน้าทำให้จีนมีโอกาสที่จะสร้างเทคโนโลยีคุณภาพดี ราคาถูกได้ก่อนสหรัฐ ซึ่งทำให้เทคฯ จีนอาจจะ dominate พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกได้ และเมื่อเศรษฐกิจโลกผูกพันอย่างลึกซึ้งกับเศรษฐกิจจีน ย่อมหมายถึงอำนาจต่อรองอย่างมหาศาลที่จีนจะได้รับตามมา
สิ่งที่อาจจะทำให้จีนไม่ได้ไปถึงฝันนั่นคือความเป็นประเทศเผด็จการของจีนที่จะไม่ได้รับการยอมรับในหมู่ประเทศเสรีนิยมที่มีอเมริกาเป็นแกนนำ ซึ่งข้อเท็จจริงที่มีอยู่นี้ดูจะมีน้ำหนักเหลือไม่มากนักเพราะปัจจุบันประเทศพันธมิตรของอเมริกาหลายประเทศก็มีการค้าขายกับจีนอย่างหนักหน่วง เช่น ออสเตรเลีย เป็นต้น (ความสัมพันธ์นี้ดูจะแย่ลงหลังจากการเกิดขึ้นมาของ AUKUS)
นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่อนโยบายภาครัฐก็อาจจะส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมในประเทศ เพราะทุกอย่างสามารถพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ในชั่วข้ามคืน ดังที่บริษัทเทคฯ ทั้งหลายเคยโดนมาไม่ว่าจะ อาลีบาบา เทนเซ็น เหม่ยถวน ตีตี้ ล่าสุดนี่ก็ลามไปถึงภาคอสังหาฯ จนเกิดวิกฤตกับเอเวอร์แกรนด์ในขณะนี้
ทั้งนี้ถ้าจีนเพียงแค่รักษาเสถียรภาพในประเทศ และเดินตามแผนที่ตั้งไว้ได้ มีการคาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจจีนจะสามารถแซงอเมริกาได้ในปี 2035
อย่างไรก็ตามสุดท้ายในอนาคตเราอาจจะไม่เห็นทั้งจีนและอเมริกาได้ผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าโลกเดี่ยว แต่โลกจะเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจคู่ขนานนั่นคือห่วงโซ่อเมริกาเชื่อมโลก และห่วงโซ่จีนเชื่อมโลกแทน อันนี้ก็คงต้องดูกันต่อไปยาวๆ
สรุป เหมาะกับคนชอบเรื่องเศรษฐกิจมหภาค จีน อเมริกา และเทรนด์โลก
โฆษณา