Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Coffee Talk
•
ติดตาม
4 ธ.ค. 2021 เวลา 15:08 • สิ่งแวดล้อม
5 ธันวาคม เป็น วันดินโลก (World Soil Day) ปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Halt soil salinization, boost soil productivity : พิชิตดินเค็ม เติมเต็มผลผลิต สร้างชีวิตเกษตรกร”
วันดินโลก หรือ World Soil Day (WDS) จัดขึ้น ในวันที่ 5 ธันวาคม เป็นประจำทุกปี เพื่อมุ่งเน้นให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของดิน เพื่อสนับสนุนการจัดการดินอย่างยั่งยืน โดยเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2545 ภายใต้การนำของประเทศไทยของเราและภายใต้กรอบของ Global Soil Partnership ในงานประชุมวิทยาศาสตร์ทางดินของโลก ครั้งที่ 17 ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งในงานครั้งนั้นมีนักปฐพีวิทยาทั่วโลกมาร่วมประชุมอย่างคับคั่ง โดยเหตุผลที่ทางการไทยและ Global Soil Partnership ได้เสนอวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์ ในการบริหารจัดการดินอย่างต่อเนื่อง
การเกิดขึ้นของ "วันดินโลก (World Soil Day)" มีความเกี่ยวข้องกับกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Science : IUSS) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) จึงควรบันทึกจุดเริ่มต้นและความเป็นมาของ "วันดินโลก" เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับทราบอย่างถูกต้อง
แนวความคิดของการจัดตั้งวันดินโลก
เริ่มต้นจากที่มีการประชุมวิทยาศาสตร์ทางดินของโลก ครั้งที่ 17 ณ กรุงเทพมหานคร ในปี 2545 มีนักวิทยาศาสตร์ทางดินจากทั่วโลกมาร่วมประชุม ภายในงานมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรดิน รวมถึงการจัดตั้งโครงการพระราชดำริในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ
ซึ่งนิทรรศการดังกล่าว ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมประจักษ์ถึงพระวิสัยทัศน์ในการบริหารทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน โดยทรงให้ความสำคัญกับทรัพยากรดิน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระราชหฤทัยในวิทยาศาสตร์ทางดิน และผลสำเร็จจากการบริหารจัดการดินอย่างต่อเนื่องของพระองค์ เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ
ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือเรื่องการจัดตั้ง "วันดินโลก" โดยที่ประชุมคณะกรรมการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ มีมติให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นวันดินโลก เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์ โดยใช้วันนี้เป็นวันรณรงค์ให้ชาวโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินที่มีต่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติและสภาพแวดล้อม และความจำเป็นต้องมีการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน
การขอพระบรมราชานุญาต ให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก
1
เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 คณะผู้บริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพรบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรมแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมกราบบังคมทูลเชิญให้ดำรงตำแหน่ง A life membership และยังได้กราบทูลขอพระบรมราชานุญาต ให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป้นวันดินโลก
1
การประกาศรับรองวันดินโลก โดยสหประชาชาติ
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประกาศสนับสนุนให้มีการจัดตั้งวันดินโลก โดยนำข้อเสนอเข้าบรรจุในวาระการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ประจำปี 2556 ซึ่งสหประชาชาติได้ประกาศรับรองอย่างเป้นทางการให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันดินโลก และปี 2558 เป็น "ปีดินสากล (International Year of Soils 2015)" ในวันที่ 20 ธันวาคม 2556
ดังนั้น ในวันที่ 5 ธันวาคม 2557 นอกจากเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้วนั้น ยังถือว่าเป็นวันดินโลกอย่างเป็นทางการในระดับสากลครั้งแรกอีกด้วย ประเทศไทย โดยกรมพัฒนาที่ดินจึงมีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่พร้อมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก
แนวทางการจัดงานและงบประมาณสำหรับการจัดงาน “วันดินโลก” ปี 2564
โครงสร้างงาน "วันดินโลก" ประจำปี 2564
กรมพัฒนาที่ดิน เตรียมจัดงาน "วันดินโลก” ปี 2564 ยิ่งใหญ่ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Halt soil salinization, boost soil productivity : พิชิตดินเค็ม เติมเต็มผลผลิต สร้างชีวิตเกษตรกร” ในระหว่างวันที่ 2-5 ธันวาคม 2564 ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ด จะมีรูปแบบการจัดงานทั้งแบบ On Site และ ออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน “วันดินโลก ปี 2564”
ในวันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 15.56 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน “วันดินโลก ปี 2564” ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดินจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ สถานีพัฒนาที่ดินร้อยเอ็ด อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ภายใต้หัวข้อ “Halt soil salinization, boost soil productivity : พิชิตดินเค็ม เติมเต็มผลผลิต สร้างชีวิตเกษตรกร” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (Humanitarian Soil Scientist Award)
โดยมีเป้าหมายหลักที่ต้องการผลักดันให้เกิดข้อสรุปหรือผลกระทบเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลก เนื่องจากในปัจจุบันทั่วโลกมีพื้นที่มากกว่า 5.2 ล้านไร่ ที่ประสบปัญหาดินเค็ม จึงมีความจำเป็นต้องจัดการกับความเค็มของดิน โดยการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับดินและการจัดการดินเค็มอย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมให้รัฐบาล องค์กร ชุมชน และประชากรโลก มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงดินเค็มในเชิง
รุกเพื่อพื้นที่ในการเพาะปลูกพืชและสร้างแหล่งผลิตอาหารให้มากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นความสำคัญของการร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาของดิน ซึ่งจะส่งผลถึงความมั่นคงและความปลอดภัยทางด้านอาหาร เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
1
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่ต้องการขจัดความอดอยากหิวโหย หรือ Zero Hunger ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมขององค์กรและบุคคลในรูปแบบของการร่วมมือและสร้างเครือข่ายผ่านนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินและการรักษาระบบนิเวศให้สมบูรณ์ เพื่อเพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารและช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์
งานวันดินโลก2564 ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ สถานีพัฒนาที่ดินร้อยเอ็ด
cr:
https://th.wikipedia.org/wiki/วันดินโลก
https://www.un.org/en/observances/world-soil-day
https://www.facebook.com/WorldSoilDayThailand/
https://www.komchadluek.net/news/493759
https://www.facebook.com/ldd.go.th/photos/pcb.4322405324554239/4322395987888506/
วันดินโลก
ในหลวงรัชกาลที่9
เกษตร
บันทึก
3
1
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เพิ่งรู้นะนี่
3
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย