5 ธ.ค. 2021 เวลา 02:07 • สิ่งแวดล้อม
Editor’s Pick: ‘มลพิษหรือเศรษฐกิจ’ สิ่งที่อินเดียต้องแลก หากเลิกใช้ถ่านหิน เพื่อเดินสู่เป้าหมายประเทศสีเขียว
◾◾◾
🔴 เมืองแห่งฝุ่นควัน
ฝุ่นควันหนาสีเทาล่องลอยอยู่ในอากาศ และเซาะเข้าไปในร่องลึกของพื้นดิน ณ ศูนย์กลางถ่านหินของอินเดียเขต 'ซิงเราลี' ที่เครื่องจักรขนาดใหญ่กำลังตักเชื้อเพลิงสกปรก เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดมลภาวะที่เลวร้าย
เหมืองเปิดในเขตซิงเราลี เป็นตัวอย่างที่ดีของเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมที่กำลังตกที่นั่งลำบาก ซึ่งประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 กำลังเผชิญปัญหาอยู่ในขณะนี้ จนนำไปสู่การต่อต้านการลดใช้ถ่านหินในการประชุม COP26 ที่กลาสโกว์
การต่อต้านของอินเดียในประเด็นนี้ เกิดจากความต้องการกระจายผลประโยชน์ของการพัฒนาให้กว้างมากขึ้น ในหมู่ประชากรจำนวนมากกว่า 1.3 พันล้านคน โดยที่บางบ้านยังไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ แต่ทว่าทุกสิ่งอย่างย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย
เขตซิงเราลี เป็นที่ตั้งของเหมืองและสถานีพลังงานถ่านหินมากกว่า 10 แห่ง ฝุ่นเขม่าดำลอยปกคลุมต้นไม้, บ้าน, รถ รวมไปถึงวัวด้วย
“อากาศ, น้ำ และสิ่งแวดล้อมทั้งหมดเป็นมลพิษอย่างหนัก แม้แต่วัวยังดูเหมือนควายเลย เราต้องคุยกันสักทีว่า เราจะหยุดเรื่องนี้ได้อย่างไร แต่การปิดเหมืองไม่ใช่ทางออก ทางแก้ปัญหาเรื่องมลพิษนี้ คือต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยลดมลพิษ​” สัญชัย นามเดฟ นักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงาน กล่าว
ภาพฝุ่นควันที่ปกคลุมไปทั่ว เป็นฉากที่ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์แนวดิสโทเปีย โคลนเหนียวเหนอะตามเส้นสายถนนที่รถบรรทุก, รถไฟ และรถโดยสาร ที่ขนถ่านหินและฝุ่นดำคอยหกใส่ผู้สัญจรไปมา
“คุณไม่สามารถเลิกใช้ถ่านหินในประเทศอย่างอินเดียได้ ผู้คนหลายล้านคนมีชีวิตขึ้นอยู่กับถ่านหิน เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในราคาถูก และผมไม่เห็นหนทางที่จะหยุดมันได้” สัญชัย บอกกับ AFP
◾◾◾
🔴 คาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2070
ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย ความหิวโหยถ่านหินกำลังเพิ่มมากขึ้น จากความต้องการของคนชนชั้นกลาง ที่ต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อใช้งานกับเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นของพวกเขา
การบริโภคถ่านหินในอินเดียเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในรอบ 10 ปี และพลังงานเชื้อเพลิง 70% ล้วนเป็นโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ​
ขณะที่ นานาชาติต่างกดดันมากขึ้น นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่า อินเดียมุ่งหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2070 ตามหลังเป้าหมาย 10 ปีของจีน และ 20 ปีของประเทศอื่นที่ปล่อยมลพิษเป็นอันดับต้น ๆ ทั่วโลก
ทั้งนี้ รัฐบาลโต้เถียงว่า แม้อินเดียจะเป็นประเทศที่ปล่อยมลพิษเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่ค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซต่อหัวถือว่าน้อยกว่าสหรัฐฯ มาก
“อินเดียพูดในการประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ว่า กลุ่มประเทศร่ำรวยจะต้องบริจาคเงินหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถรับผิดชอบต่อวิกฤตโลกร้อนอย่างที่เราเผชิญตอนนี้ได้"
"มันคือการปล่อยมลพิษในอดีตจากกลุ่มประเทศร่ำรวยที่ทำให้เกิดวิกฤตนี้ และถ้าเราต้องการให้ประเทศกำลังพัฒนาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และทนต่อสภาพอากาศได้มากขึ้น ประเทศร่ำรวยต้องก้าวขึ้นมา มันเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่ต้องช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา” ฮาจีต สิงห์ ที่ปรึกษาอาวุโสองค์กร Climate Action Network International กล่าว
◾◾◾
🔴 ชาวบ้านหวั่นไม่มีที่ทำกิน
ชาวบ้านในเขตซิงเราลีประมาณ 3 หมื่นคน ล้วนเป็นคนงานในเหมือง และมากกว่าพันคนเป็นแค่ลูกจ้างชั่วคราว พวกเขากลัวว่าจะไม่มีหนทางทำมาหากินอื่นอีก หากไม่มีเหมืองในอนาคต ถึงแม้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยจะทำให้พวกเขาต้องเผชิญอากาศที่ร้อนขึ้นและรับมือกับฝนตกหนักผิดปกติ
“คุณเห็นว่าสถานการณ์มลพิษที่นี่มันแย่แค่ไหน ผมรู้ว่ามันแย่ต่อสุขภาพของผม และผมจะทำอะไรได้ ถ้าเหมืองปิดตัวลง ลูกผมจะเอาอะไรกิน” วิโนช คูมาร์ คนงานเหมือง วัย 31 ปี กล่าว
“เราไม่ใช่พนักงานออฟฟิส เราเป็นผู้ใช้แรงงาน และเรายังต้องดื่มน้ำสกปรกจากบ่อน้ำด้วย”
“แค่มองไปที่ถนน ดูสิว่ามันมีฝุ่นมากขนาดไหน เราอาศัยอยู่ที่นี่ ร้านค้าของเราอยู่ที่นี่ บนถนนแห่งนี้ แต่เราร้องเรียนไม่ได้ ไม่งั้นมันจะเป็นปัญหา มันจะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น ถ้าพูดออกไป” เขา กล่าว
Northern Coalfields บริษัทเหมืองที่ดำเนินการโดยรัฐ และเป็นผู้ถือครองสินทัรพย์ถ่านหินมากกว่า 80% ในเขตซิงเราลี ผลิตเชื้อเพลิงได้มากกว่า 130 ล้านตันต่อปี กล่าวว่า บริษัทกำลังพยายามลดการสร้างมลพิษให้น้อยลงที่สุด
“เราต้องการทำให้การขนส่งถ่านหินเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์” ราม วิชัย สิงห์ โฆษกบริษัท Northern Coalfields กล่าว
“เราต้องหยุดพักแคมป์คนงานทุก ๆ ปี เพื่อตรวจปัญหาสุขภาพของคนในท้องถิ่น” เขา กล่าว
อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหว บอกว่า มาตรการทีละน้อยดังกล่าว ไม่ใช่จุดประสงค์ที่แท้จริง
“เรามีเครื่องมือและเทคนิคมากมาย ที่สามารถลดมลพิษได้ แต่หลายบริษัทไม่จริงจังกับปัญหาเหล่านี้” สัญชัย กล่าว
“มีแนวทางการปฏิบัติลดมลพิษมากมาย แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกมองข้าม พวกกลุ่มบริษัทกังวลแค่จะทำกำไรให้เร็วที่สุดได้อย่างไร” เขา กล่าว
◾◾◾
🔴 คนรวยมีเงิน คนจนมีมลพิษ
ฮาจีต สิงห์ กล่าวว่า ประชาชนมากกว่า 13 ล้านคนทั่วอินเดีย ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างในเหมืองถ่านหิน และมีความเกี่ยวข้องกับภาคส่วนนี้
“การเลิกใช้ถ่านหินอย่างกะทันหันในอินเดีย อาจนำไปสู่การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ มีชีวิตขึ้นอยู่กับถ่านหิน ซึ่งเป็นรายได้หลักและผลิตพลังงานให้พวกเขา เราต้องรับประกันความยุติธรรมทางสังคมที่จะก้าวสู่อนาคต โดยปราศจากพลังงานสิ้นเปลือง” สิงห์ กล่าว
ทั้งนี้ ชาวบ้านบางคนในเขตซิงเลารี มองว่าการร้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดของพวกเขาคือ พวกเขาจะไม่มีรายได้จากการทำลายสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเขา
อุมา เทวี วัย 50 ปี ลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกลั่นสุรานอกเวลา อาศัยอยู่ในบ้านดินบนริมเหมืองถ่านหินที่ Reliance เป็นเจ้าของ เธอไม่สามารถจ่ายค่าแก๊ส 900 รูปี หรือราว 405 บาทได้ ฉะนั้นทุก ๆ วัน เธอจะทำอาหารให้ครอบครัวทานด้วยกองไฟที่ทำจากถ่านหิน
“เราไม่มีน้ำดื่มสะอาดเลย ไม่มีแก๊สไว้ทำอาหาร และไม่มีไฟฟ้าใช้ เรายังต้องทำอาหารจากเตาถ่าน เราจะหาไม้จากไหน เราได้รับน้ำ 10 ถัง ทุก ๆ 8 วัน หากน้ำเราหมด เราก็ต้องไปเอาน้ำเสียที่ไหลอยู่ใกล้ ๆ แทน” เทวี กล่าว
“เราเคยร้องขอให้พวกเขาจ้างงานพวกเราเป็นเวลา 2 ปี แต่พวกเขาไม่ฟังเราเลย” เธอ กล่าว “พวกเขานำคนอื่นจากข้างนอกมาทำงานให้พวกเขา”
“การระเบิดแต่ละครั้ง ทำให้แก้วหูเราแตกเป็นเสี่ยง ๆ รัฐบาลมัวมุ่งหาแต่เงิน แต่พวกเราไม่ได้รับอะไรกลับมาเลยนอกจากมลพิษ” เธอ กล่าว
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ภาพ: MONEY SHARMA / AFP
#TNNWorldNews #EditorsPick #อินเดีย #ถ่านหิน #เจาะลึกรอบโลก
โฆษณา