5 ธ.ค. 2021 เวลา 06:28 • ไลฟ์สไตล์
“ท่านครับ ระหว่าง “ลูกน้องที่เก่ง” และ “ลูกน้องที่ขยัน” คนเป็นหัวหน้าชอบลูกน้องประเภทไหนมากกว่ากันครับ”
เมื่อราว ๆ 3 ปีก่อน ในช่วงที่ผมจะทำผลงานขึ้นชำนาญการ ผมมีโอกาสได้พบปะและพูดคุยกับที่ปรึกษาในการตรวจผลงานของผมซึ่งมีระดับเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในงานสัมมนาหนึ่งซึ่งกรมฯ เป็นผู้จัด (หากไม่มีงานสัมมนานี้ผมคงลำบากนิดหน่อยเพราะปกติท่านจะไม่ค่อยว่างสักเท่าไร) โดยท่านได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลรวมถึงชี้แจงและบอกถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขที่เกิดขึ้นในรายงานของผม
หลังจากที่ผมได้ข้อมูลมา คืนนั้นผมจึงดำเนินแก้ไขให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ท่านได้ตรวจสอบและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มเติม คืนนั้นผมทำจนถึงประมาณตี 2 สุดท้ายก็ทนกับสังขารและความอ่อนเพลียไม่ไหวจึงต้องพักจากรายงานและไปพักผ่อน
วันต่อมาผมได้นำข้อมูลที่ผมแก้ไข (ประมาณ 80% จากที่คุยกันในวันก่อนหน้า) ไปให้ท่านตรวจ ท่านรู้สึกประหลาดใจและได้ถามกลับมาว่าแก้มาขนาดนี้ได้พักผ่อนหรือเปล่า ซึ่งผมก็ตอบท่านไปตามความจริง ท่านก็ให้ความเห็นกลับมาว่า คราวหน้าอย่าฝืนมากจนเกินไป เวลายังพอมี แต่ที่สังเกตจากอวัจนะภาษาได้คือ ท่านดูมีความสุขกับสิ่งที่ผมทำ
ผมจึงถามท่านไปว่า “ท่านครับ ระหว่าง “ลูกน้องที่เก่ง” และ “ลูกน้องที่ขยัน” คนเป็นหัวหน้าชอบลูกน้องประเภทไหนมากกว่ากันครับ”
ท่านฟังแล้วเงียบไปพักหนึ่งก่อนหันมาตอบกับผมว่า คนเป็นหัวหน้าชอบลูกน้อง “ที่มีความรับผิดชอบ” มากที่สุด
1
คำพูดนั้นแม้ผ่านมาหลายปีแล้ว แต่เสียงยังคงดังก้องอยู่ในโสตประสาทของผมเรื่อยมา
บางคนเป็นคนเก่ง บางคนเป็นคนขยัน แต่ถ้าขาดซึ่ง “ความรับผิดชอบ” แล้ว ก็คงจะทำงานด้วยได้ยาก
กับคนเก่งบางคนมี “อีโก้สูง” ทำงานด้วยยาก ดูเผิน ๆ เหมือนชอบทำงานยาก ท้าทาย แต่ถึงเวลาด้วยความที่ยากเกินหรืออย่างไรไม่ทราบได้ “ผลงานไม่ออก” หรือออกมา “ไม่ตรงกับที่ตกลงกันไว้”
ในขณะที่คนขยันบางคนก็ “ขยันในเรื่องที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เกี่ยวกับงาน” แบบนี้ก็กลายเป็นบางครั้งต้องมาเริ่มนับ 1 กันใหม่เลยก็มี
กลับกัน หากเป็นลูกน้องที่ไม่ถึงกับเก่งหรือขยันมากมาย แต่มีความรับผิดชอบ สามารถมีผลงานได้ตรงตามที่ตกลงกันไว้ (ดังนั้นการเจรจาหรือตกลงกันก่อนรับงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ)
สิ่งที่ส่งผลทางตรงจากการมีความรับผิดชอบ คือ จะก่อให้เกิด “ความไว้วางใจ” หรือ “Trust” ต่อหัวหน้าของคุณ ซึ่งหากคุณสามารถทำให้หัวหน้าเกิด “Trust” ได้เมื่อไร หลังจากนั้นการทำงานหรือแม้แต่ความสัมพันธ์กับหัวหน้าของคุณ จะเป็นไปอย่างสวยงามแน่นอน
สำหรับวิธีการสร้างความรับผิดชอบอาจเริ่มจากการพยามยามส่งงานให้ตรงเวลาก่อนก็ได้ครับ งานอาจจะไม่ถึงกับสมบูรณ์แบบแต่ต้องอยู่ในระดับที่เห็นภาพว่ามีความเปลี่ยนแปลงหรือสามารถนำไปใช้งานอย่างไรได้บ้าง (ถ้าอยู่ในขั้นแค่ร่างภาพอันนี้หนักครับ) หรือถ้าหากทำ ๆ อยู่แล้วเจอปัญหา หรือมีสิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนกันระหว่างทางก็ควรปรึกษากับหัวหน้าหรือทีมงานในทันทีครับ การเก็บความกลัวไว้มีแต่จะทำให้งานล่าช้าไปเรื่อย ๆ แล้วสุดท้ายก็เข้าสู่ภาวะไฟลนก้น จะทำต่อก็ลำบาก จะกลับตัวก็ไม่ทันครับ
ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ ก่อนที่ผมจะจบไป ก็อยากถามคำถามกลับไปยังผู้อ่านครับ
ถ้าคุณเป็นหัวหน้า “ลูกน้องแบบไหนที่คุณอยากร่วมงานด้วยมากที่สุด”
โฆษณา