5 ธ.ค. 2021 เวลา 12:55 • สุขภาพ
บิดาแห่งวงการรังสีวินิจฉัย
สวัสดีวันพ่อค่ะ วันนี้จะมาเล่าให้ฟังถึงพ่อคนนึง และแน่นอนต้องเป็นพ่อ ที่เกี่ยวกับ รังสีด้วย
คนนั้นคือ วิลเฮล์ม คอนราด เรินต์เกน (Wilhelm Conrad Röntgen) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน เกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2388 ผู้ค้นพบรังสีเอกซ์ (x-ray)
โดยรังสีเอกซ์มีความยาวคลื่นตั้งแต่ 0.1-10 นาโนเมตร รังสีเอกซ์มีคุณสมบัติในการทะลุทะลวงผ่านวัตถุต่าง ๆ รวมถึงเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในร่างกายได้ มนุษย์จึงใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติดังกล่าวในงานด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการแพทย์ และด้านอุตสาหกรรม
โดยเรินต์เกน ค้นพบรังสีเอกซ์โดยความบังเอิญในปีค.ศ. 1895 ขณะทำการศึกษาทดลองเกี่ยวกับรังสีแคโทด โดยเขาสังเกตเห็นว่ามีการเรืองแสงเกิดขึ้นบนผนังของหลอดแคโทดในขณะที่มีการปล่อยลำแสงอิเล็กตรอน ซึ่งเมื่อพันรอบหลอดแคโทดด้วยกระดาษแข็งสีดำเพื่อปิดกั้นลำแสงไม่ให้หลุดลอดออกมา
กลับพบว่า แสงสามารถทะลุผ่านกระดาษกั้นและเรืองแสงบนจอภาพได้ เขาจึงได้สันนิษฐานว่า มีรังสีที่มองไม่เห็นซึ่งสามารถทะลุผ่านกระดาษแข็งและเกิดเป็นแสงเรืองบนจอภาพได้ เป็นรังสีชนิดหนึ่งที่ยังไม่มีผู้ใดค้นพบก่อน จึงเรียกว่า รังสีเอกซ์ (X-ray)
หลังจากนั้นเรินต์เกนได้การทดลองนำวัตถุต่างๆ มาวางกั้นระหว่างหลอดแคโทดกับจอภาพเรืองแสง รวมทั้งมือของเขาด้วย ซึ่งในทันที่ที่วางมือลงหน้าหลอดแคโทด เขาก็ได้พบว่า มีภาพของเงากระดูกนิ้วมือปรากฏขึ้นบนจอภาพ การค้นพบครั้งนี้ไม่เพียงแค่เป็นการค้นพบรังสีเอกซ์ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ แต่ยังเป็นหนึ่งในการค้นพบที่ยอดเยี่ยมสำหรับความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์
ภาพเอกซเรย์แรกของมนุษย์ มือที่สวมแหวนแต่งงานของภรรยาเรินต์เกน
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเรินต์เกน
  • 1.
    เรินต์เกนเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ (พ.ศ. 2444) จากผลงานการค้นพบรังสีเอกซ์
2. เรินต์เกนตั้งชื่อว่า “รังสีเอกซ์ ( x-ray)” เนื่องจากขณะที่ทำการทดลองนั้นยังไม่ทราบว่าเป็นรังสีชนิดใด จึงใช้ “X” แทนเช่นเดียวกับตัวแปรที่ยังไม่ทราบค่าทางคณิตศาสตร์
3. รังสีเอกซ์ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “รังสีเรินต์เกน” แต่เขาปฏิเสธที่จะใช้ชื่อของเขาเรียกแทนรังสีเอกซ์ที่เขาค้นพบด้วยเหตุผลทางจริยธรรม
4. เรินต์เกนได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งรังสีวินิจฉัย” (father of diagnostic radiography) เป็นสาขาที่ใช้รังสีเอกซ์วินิจฉัยโรคทางการแพทย์
หากเป็นประโยชน์ ฝากติดตาม ให้กำลังใจด้วยนะคะ
โฆษณา