6 ธ.ค. 2021 เวลา 00:55 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“สองเครื่องยนต์” บอด …. ดับฝัน “ท่องเที่ยวไทย” ฟื้น
ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศแรกของโลกและเป็น 1 ใน 2 ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ชูธง “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศทั่วโลกให้เข้ามาเที่ยวได้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นต้นมา ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด19 ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังพุ่งกระฉูด แต่ด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ ฟุบยาวมาเกือบ 2 ปี
ในห้วงเวลา 1 เดือนนับตั้งแต่เปิดประเทศ ต้องพบกับปัญหาอุปสรรคมากมายด้วยความไม่พร้อมหลาย ๆ อย่าง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาไม่เป็นไปตามเป้า สะท้อนจากรายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ระบุว่า 24 วันแรกของการเปิดเมือง คือ ตั้งแต่ 1-24 พฤศจิกายน 2564 มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ สะสมอยู่ที่ 68,658 คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 300,000 คน
สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ ในการแถลงข่าวของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อ 15 พ.ย. 2564 ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. ยอมรับว่ายอดจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 100,000 คน แต่ว่าผลที่เกิดขึ้นมีอยู่ประมาณ 40,000 คนเท่านั้น
1
แม้รัฐบาลจะยืนยันความพร้อมเพราะได้ประกาศล่วงหน้าถึง 120 วัน แต่ในทางปฏิบัติกลับมีปัญหาตามมามากมายจนเกิดวุ่นวาย ไม่ว่าจะเป็นระบบการลงทะเบียนของ Thailand Pass เช่น บัตรวัคซีน ใบตรวจโรคโควิด (RT-PCR) ฯลฯ ของกรมควบคุมโรคติดต่อที่ยังใช้ระบบตรวจด้วยมือ ยิ่งนานวันยิ่งมีปัญหาหนักขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผู้ปฏิบัติงานก็ยังแก้ปัญหาแบบลวก ๆ ด้วยการ ไม่ตรวจเอกสาร หรือเอกสารไม่ครบก็ออก QR code ให้เลย
รวมถึงปัญหาเรื่องไม่มีระบบ vaccine validate หรือ “ตรวจสอบวัคซีน” ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในการเปิดประเทศแบบปลอดภัย รวมถึงนักท่องเที่ยวที่จองโรงแรม ผ่าน Agoda ก็ไม่ได้จองการตรวจ RT-PCR พ่วงกับโรงแรมตามเงื่อนไข แต่ Thailand Pass ก็อนุมัติ QR code ให้เช่นเดียวกัน
ปัญหาต่าง ๆ แม้ดูอาจจะเป็นปัญหาเล็กน้อยแต่ก็สะท้อนถึงการไม่มีระบบตรวจสอบที่ได้มาตรฐานแถมยังแก้ปัญหาแบบหยวน ๆ แล้ว ยังสร้างความยุ่งยากให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวอีกด้วย
1
แต่ททท.ก็แก้ปัญหาโดยขอลดเงื่อนไขต่าง ๆ ลง ตั้งแต่ขอลดวันกักตัว รวมถึงผลักดันให้ยกเลิกการตรวจ RT-PCR แล้วใช้ตรวจ ATK แทน โดยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมศบค.ได้เห็นชอบยกเลิกการตรวจ RT-PCR และให้ตรวจแค่ ATKตามที่ททท.เสนอ ตั้งแต่ 16 ธันวาคม นี้เป็นต้นไป แต่ไม่กี่วันต่อมาก็มีข่าวการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธ์ุโอไมครอนในแถบประเทศแอฟริกาเสียก่อน มาตรการดังกล่าวจึงถูกยกเลิกไปไม่มีกำหนด
3
จะว่าไปแล้วความหละหลวมและการแก้ปัญหาแบบลวก ๆ เป็นปัญหาในทางปฏิบัติที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินเข้าประเทศไทยยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ปัญหาใหญ่จริง ๆ ที่ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่ำกว่าเป้าหมาย เพราะ “เครื่องยนต์ 2 เครื่อง” สำคัญที่เคยขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยวไทยในอดีตเติบโตขึ้นทุก ๆ ปี แต่มาวันนี้ไม่ทำงาน
1
เครื่องยนต์ตัวแรก คือ นักท่องเที่ยว “จีน” ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของธุรกิจท่องเที่ยวไทยตอนนี้ตัวเลขเป็น “ศูนย์” เนื่องจากรัฐบาลจีนมีนโยบาย “ปิดประเทศ” ไม่มีกำหนดไม่ยอมปล่อยให้คนจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศให้เที่ยวเฉพาะในประเทศเท่านั้น อย่าลืมว่านักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมีสัดส่วนถึง 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด
ในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากถึง 39.7 ล้านคน ใช้จ่ายเงินในประเทศเป็นสัดส่วนถึง 11% ของจีดีพีคิด หรือ 1.93 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจีนประเทศเดียว 10.99 ล้านคน สร้างรายได้ 5.43 แสนล้านบาท
เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากประเทศจีนที่เป็นลูกค้าหลัก ประเทศก็ขาดรายได้ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโรงแรม ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และการจ้างงานจำนวนมาก ซึ่งตัวเลขคนตกงานจริง ๆ มากกว่าตัวเลขทางการ แถลงเนื่องจากผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนี้อยู่ในภาคแรงงานที่ไม่เป็นทางการจำนวนมาก
นี่คืออุปสรรคใหญ่ของการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวของไทย
1
เครื่องยนต์เครื่องที่ 2 อาจจะไม่ถึงกับดับสนิทแต่ก็อยู่ในสภาพ “ไม่สมบูรณ์” เหมือนเก่า นั่น คือ “การบินไทย” อย่าลืมว่าในอดีตที่ผ่านมา การบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติทำหน้าที่ขนนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ดังนั้น การบินไทยจึงจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ จะเห็นได้จากจำนวนผู้โดยสารของการบินไทยในปี 2562 สูงกว่า 24 ล้านคนเลยทีเดียว
ฉะนั้นหากปล่อยให้การบินไทยอยู่ในสภาพพิการและอ่อนแอ ไม่เข้มแข็งเหมือนเดิม โอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของภูมิภาคตามรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น อีกทั้งผู้โดยสารชาวไทยก็ต้องไปอาศัยสายการบินอื่น ๆ ในการเดินทาง เท่ากับไปยืมจมูกคนอื่นหายใจ ซึ่งไม่มีประเทศไหนที่พึ่งพารายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวที่ไม่มีสายการบินแห่งชาติของตัวเอง
เรื่องนี้มีความสำคัญแต่ก็ไม่มีใครพูดถึง การแก้ปัญหาการท่องเที่ยวกับการแก้ปัญหาการบินไทยจึงต้องไปพร้อม ๆ กัน และไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบแยกส่วนดังเช่นทุกวันนี้ มิเช่นนั้นการท่องเที่ยวก็ฟื้นได้ไม่เต็มที่
2
ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
Instagram:
LINE TODAY: TheStoryThailand
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
โฆษณา