6 ธ.ค. 2021 เวลา 06:08 • ไลฟ์สไตล์
คน "ขี้ขลาด" ก็สามารถสร้าง "โอกาส" ในวิกฤติได้นะ
ผมเชื่อเหลือเกินว่าผู้อ่านของผมทุกคนย่อมต้องเคยเจอเหตุการณ์ที่รู้สึกอึดอัดใจ เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ที่เหมือนทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากต้องทำตามกฎ หรือกติกาที่อีกฝ่ายเป็นผู้ตั้งให้ (ไม่ว่าจะด้วยสถานภาพ หรือความจำเป็นอื่นใดก็ตาม) และแน่นอนว่าทุกคนไม่ชอบเรื่องอะไรแบบนี้
ผมเองก็เหมือนกันครับ ผมก็ไม่ชอบเหตุการณ์อะไรแบบนี้ ดังนั้นจึงมีหลายครั้งที่ผมเอาตัวเองออกมาจากจุดนั้นโดยใช้ “ความขี้ขลาด” ของตัวเอง
เหตุการณ์นี้ผมคงต้องขอย้อนไปนานหน่อยครับ ราว ๆ สิบกว่าปีก่อน สมัยที่ผมยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 โดยเหตุเกิดในการสอบสนทนาวิชา Fundamental English หรือภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐาน
ผมเองก็เหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ ครับ ที่ไม่ได้ชอบภาษาอังกฤษมากนัก คือให้เรียนก็เรียนได้ แต่ถ้าจะให้เป็นตัวแทนหรือทำอะไรประกวดเป็นภาษาอังกฤษคงไม่เอาแน่ ๆ ดังนั้นการสอบภาษาอังกฤษโดยเฉพาะการพูด การสนทนา ก็เป็นอะไรที่ผมกลัวมาก ๆ
ในวันสอบ อาจารย์จะให้นักศึกษานั่งอยู่ในห้อง และจัดโซนสอบอยู่มุมหนึ่งของห้องเพื่อไม่ให้นักศึกษาคนอื่นได้ยินคำถามบทสนทนา และเมื่อนักศึกษาคนไหนสอบเสร็จก็ทำได้เพียงกลับมาเก็บของที่โต๊ะของตนและต้องออกจากห้องสอบไปเลย ไม่สามารถอยู่รอเพื่อนคนอื่นได้ เพื่อเป็นการป้องกันการโดนเก็บข้อมูล ดังนั้นด้วยเวลาเพียงเท่านั้น สิ่งที่พวกเราจะทำได้คือถามว่าเพื่อนได้คะแนนสอบเท่าไร (อาจารย์จะบอกคะแนนทันทีหลังสอบเสร็จ)
ในการสอบนั้น อาจารย์จะเรียกตามลำดับรหัสนักศึกษา ซึ่งตัวผมเองอยู่ในลำดับกลาง ๆ ไม่ต้น ไม่ท้าย ก็เรียกว่ามีเวลาให้พอได้เตรียมใจอยู่บ้าง แต่แน่นอน คนที่กลัวยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งวิตกจริตครับ แล้วยิ่งพอรู้ว่าเพื่อนคนที่เรามองว่าเขาเก่งกลับมาพร้อมด้วยคำตอบว่าได้ 7 หรือ 8 คะแนน (ยังไม่มีใครได้เต็ม 10 เลย) ก็ยิ่งให้กลัวขึ้นไปอีกว่าตัวเองจะทำได้เท่าไรกันเนี่ย
และแล้วเวลาของผมก็มาถึง อาจารย์เรียกให้ผมนั่งแล้วยิงคำถามตามแพทเทิร์น “แนะนำตัวเอง” ทันที ซึ่งอันนี้ยังไงทุกคนก็ต้องรู้อยู่แล้วว่าต้องโดนจึงตอบได้ไม่มีปัญหาสักเท่าไร แต่ “ของจริง” มันจะอยู่หลังจากนี้ต่างหากล่ะ
แต่เป็นโชคดีของผมเล็ก ๆ ที่ผมโดนสอบเป็นคนกลาง ๆ จึงทำให้เหมือนอาจารย์น่าจะคิดคำถามว่าจะถามอะไรดี (เข้าใจว่าคงอยากถามแต่ละคนให้แตกต่างกัน) ทำให้เกิดช่องว่างแห่งความเงียบขึ้นสักพักหนึ่ง และในระหว่างนั้นเองที่ผมมีความคิดหนึ่งโผล่ขึ้นมาในหัว
เรากำลังกลัวเพราะ “เราไม่รู้ว่าอาจารย์จะถามอะไรกับเรา” ผมจึงลองคิดกลับกัน “แล้วถ้าเราเป็นคนถามคำถามกับอาจารย์ล่ะ จะได้ไหม? เราจะกลัวน้อยลงไหม?”
คือในความคิดของผม ผมมองว่าการเป็นคนถามมันง่ายกว่าเป็นคนตอบครับ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เวลาเราจะถามใครสักคน (ในภาษาอังกฤษ) เราจะมีแพทเทิร์นคำถามที่คุ้นเคยอยู่ในหัวบ้างอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะถามคำถามแบบไหน (What Where When Why Who หรือ How) และที่สำคัญ เราถามเฉพาะเรื่องที่เรารู้คำศัพท์ได้ แล้วที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของผู้ตอบที่จะต้องตอบให้ตรงคำถาม
กลับกันถ้าเราเป็นคนโดนถามคำถามนอกจากเราต้องทำความเข้าใจกับคำถามแล้ว สิ่งที่เราต้องทำตามมาคือ หาคำศัพท์ คิดไวยากรณ์ ที่จะทำให้การสนทนานั้นมันถูกต้อง ชั่งน้ำหนักกันแล้ว ยังไงเป็นคนถามก็ง่ายกว่าเยอะครับ
เมื่อคิดได้ดังนั้น ผมจึงอาศัยช่วงเวลาที่อาจารย์ยังเงียบอยู่ ยิงคำถามกลับไป “คุณมาอยู่ที่ประเทศไทยนานหรือยังครับ?” อาจารย์ทำหน้างงนิดหน่อย แต่ก็ตอบคำถามผมแต่โดยดี โดยที่ผมนั่งฟังคำตอบอาจารย์ไปด้วย
“แล้วที่ไหนที่คุณเคยไปแล้วรู้สึกประทับใจมากที่สุด” ผมถามอาจารย์ต่อทันทีหลังอาจารย์ตอบคำถามแรกของผมเสร็จเพื่อไม่ให้อาจารย์ถามอะไรผมกลับ
ถึงตอนนี้เหมือนอาจารย์เริ่มสนุกแล้ว อาจารย์ตอบคำถามที่ผมถามหลังจากนั้นไปเรื่อย ๆ ราว ๆ 4 -5 คำถาม แล้วจึงบอกให้ผมพอ พร้อมทั้งเอ่ยปากชมผมที่กล้าคุยกล้าถามท่าน และอาจารย์ให้คะแนนผมเต็ม 10
จะเห็นได้ว่าผมได้คะแนนเต็มสิบ มาจากความกลัวแท้ ๆ เลยครับ กลัวว่าจะตอบคำถามได้ไม่ดี กลัวว่าจะโดนอาจารย์ถามคำถามยาก ๆ กลัวว่าได้คะแนนไม่ดี แล้วต้องมาเสียเวลาสอบซ่อม แต่ในความกลัวผมเลือกที่จะพิจารณาโอกาสที่จะทำให้ผมได้เปรียบ และ “ลองทำมันดู”
แน่นอนครับ ถ้าอาจารย์ไม่เล่นด้วยกับผม ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะตรงกันข้ามเลยก็ได้ แต่ในเมื่อมันได้ผลก็แปลว่าการ “ลองทำมันดู” ของผมประสบความสำเร็จ
หากจะสรุปปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์แบบใหม่นี้ได้ ผมก็คิดว่ามันก็มีอยู่ 2 องค์ประกอบใหญ่ ๆ อย่างที่ผมได้ตั้งเป็นชื่อหัวข้อไว้นั่นแหละครับ คือ 1) ความขี้ขลาด ความกลัว หรือความอึดอัด เพราะเมื่อเรารู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ มันจะเป็นแรงขับให้เรารู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงครับ กลับกันหากผมเป็นคนพูดภาษาอังกฤษเก่ง ผมก็คงนั่งเฉย ๆ เพื่อรอฟังคำถามจากอาจารย์ไปแล้วแหละครับ และ 2) ความฉลาดหรือไหวพริบ ที่จะมองหาโอกาสที่ซ่อนอยู่ในเหตุการณ์ต่าง ๆ และสุดท้ายที่เป็นตัวช่วยที่พ่วงมาก็คือการกัดฟันลงมือทำ (ซึ่งหลายครั้งก็อาจจะต้องใช้ความพยายามที่มากกว่าปกติ)
หวังว่าบทความนี้จะเป็นหนึ่งในกำลังใจให้ผู้อ่านหลาย ๆ คน ที่รู้สึกต้องอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ได้ลองอาศัยความขี้ขลาด ความฉลาด และการกัดฟันลองทำดู เพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสให้กับตัวเองนะครับ
หากท่านใดชอบหรือไม่ชอบบทความของผมสามารถแสดงความเห็นได้ หรือหากมีเรื่องราวอยากจะมาแชร์กันยินดีนะครับ
โฆษณา