7 ธ.ค. 2021 เวลา 01:55 • สุขภาพ
การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Percutaneous Coronary Intervention; PCI) คืออะไร ? และต้องปฏิบัติตัวอย่างไรหลังทำ
การสวนหลอดเลือดหัวใจเป็น 1 ในวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบหรือตัน โดยส่วนมากแล้วผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการ
  • เจ็บแน่นหน้าอก หรือมีอาการปวดร้าวไปที่แขนหรือไหล่
  • หอบเหนื่อย
  • อ่อนแรง
  • ปวดหัวเบาๆ
  • คลื่นไส้ (ไม่สบายท้อง)
  • หรือตัวเย็นเหงื่อออก
การสวนหลอดเลือดหัวใจทำอย่างไร ?
การสวนหลอดเลือดหัวใจทำโดยใช้เครื่องมือพิเศษ สอดผ่านทางหลอดเลือดที่
แขน ซึ่งมักจะเป็นข้อมือ หรือขา ซึ่งมักจะเป็บบริเวณขาหนีบ ภายในสายสวนหลอดเลือดจะมีบอลลูนและขดลวดบรรจุอยู่ เพื่อนำไปขยายเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
หลังสวนหลอดเลือดหัวใจแล้ว ผู้ป่วยมักจะนอนโรงพยาบาลแค่คืนเดียว วันรุ่งขึ้นสามารถกลับบ้านได้ หากไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วม แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาดูอาการ 1-2 อาทิตย์แรกหลังออกจากโรงพยาบาลขึ้นอยู่กับการพิจารณา
แล้วเราจะปฏิบติตัวอย่างไร หลังออกจากโรงพยาบาล
การดูแลแผลที่ใช้สวนหลอดหลอดเลือด
หลีกเลี่ยงการยกของหรือทำกิจกรรมหนักๆ อย่างน้อย 48 ชั่วโมง เนื่องจากอาจไปเพิ่มความดันบริเวณแผลทำให้เลือดไหล
ไม่ขยับ งอ พับ ข้อมือข้างที่มีแผลอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมงแรก
ไม่ยกของหนักที่มีน้ำหนักเกิน 2.2 กิโลกรัม (เช่น น้ำ หรือนมขนาดไม่เกิน 2 ลิตร) ในช่วง 1 สัปดาห์แรก
หลังการสวนหลอดเลือดหัวใจ แนะนำให้ผู้ป่วยหมั่นสังเกตแผลและรอบๆแผล หากมีอาการปวด บวม แดง ร้อนหรือเลือดไหลมากขึ้นให้รีบแจ้งโรงพยาบาล
การขับรถ
หลังการสวนเส้นเลือดหัวใจ ผู้ป่วยไม่ควรขับรถกลับบ้านเอง ควรมีผู้ดูแล ญาติ เพื่อนเป็นผู้ขับให้ หรือใช้ขนส่งสาธารณะ และหยุดขับรถในช่วง 1-4 อาทิตย์แรกหลังทำการสวนหลอดเลือดหัวใจ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเมื่อต้องการเริ่มขับรถ
Sexual activities
แนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หลังทำการสวนเส้นเลือดหัวใจ อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์
โดยปกติหากผู้ป่วยต้องการกลับมามีเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยควรสามารถเดินขึ้นบันไดได้ 1-2 ชั้นโดยไม่หยุดพัก ไม่มีหายใจเหนื่อยหอบ หรือเจ็บหน้าอก
การออกกำลังกาย
หลังการสวนหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมหรืออกกำลังกายได้ตามปกติ
การออกกำลังกายจะช่วยลดโอกาสการกลับมาตีบใหม่ หรือตีบซ้ำของเส้นเลือดหัวใจ
หยุดออกกำลังกายทันที เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
  • เจ็บแน่นหน้าอก
  • หายใจหอบเหนื่อยมาก
  • หน้ามืด วิงเวียน ใจสั่น
  • เล็บเขียวหรือหน้าซีดมากขึ้น
  • เจ็บตามข้อต่อ
อาการผิดปกติที่ต้องรีบมาโรงพยาบาล
  • มีอาการเจ็บหน้าอก หรืออาการเจ็บหน้าอกนั้นปวดร้าวไปยัง คอ กราม แขน
  • มีอาการเจ็บหน้าอกคล้ายกับอาการเจ็บที่เคยเป็นมาก่อนได้รับการสวนเส้นเลือดหัวใจ
  • อาเจียนหรือมีเหงื่อออกมาก
  • หายใจหอบเหนื่อย แรง
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ปวดหัวหรือหน้ามืด
  • เป็นลม
  • อาการไม่สบายอื่นๆที่รู้สึกได้ว่าผิดปกติไปจากเดิม หรือไม่สบายใจ
โฆษณา