4 ก.พ. 2022 เวลา 06:25 • การศึกษา
มุ่งสู่โลกุตรธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีความบริสุทธิ์ หมดจดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง ได้เข้าถึงฝั่งแห่งนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ ที่ความทุกข์ใด ๆ ไม่อาจเข้าไปถึง จึงมีแต่ความสงบเย็น เป็นสุขล้วน ๆ ไม่มีทุกข์เจือปนเลย ดังที่พระองค์ได้กล่าวไว้ว่า "นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง"
แต่กว่าที่พระพุทธองค์จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดนี้ได้ ก็ต้องสั่งสมบุญบารมีมายาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน เราซึ่งเป็นชาวพุทธ ก็ต้องเจริญรอยตามพระพุทธองค์ ตั้งใจสั่งสมความดีให้เต็มที่ สร้างบุญบารมีกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อไปให้ถึงฝั่งแห่งนิพพาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ปาสราสิสูตร ว่า….
"การแสวงหามีอยู่สองอย่าง คือ การแสวงหาสิ่งที่ไม่ประเสริฐอย่างหนึ่ง การแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐอย่างหนึ่ง การแสวงหาสิ่งที่ไม่ประเสริฐ คือ สิ่งที่มีชาติ ชรา มรณะและความโศกเศร้า เป็นธรรมดา ส่วนผู้รู้ผู้มีปัญญาทั้งหลาย จะแสวงหาพระนิพพานอันเป็นอมตะ ที่ไม่มีการเกิด หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ อันเป็นแดนเกษมจากโยคะ ที่หาความโศกไม่ได้"
เราเกิดมาภพชาติหนึ่ง ก็เพื่อชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้หลุดพ้นจากความเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร มุ่งสั่งสมบุญบารมีเพื่อไปสู่อายตนนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น พระนิพพานเป็นโลกุตรธรรมที่อยู่นอกภพทั้งสาม เป็นสภาวธรรมที่มีแต่ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ เป็นสุขล้วน ๆ อยู่นอกเหนือกฎของไตรลักษณ์ เที่ยงแท้ถาวร ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป พระพุทธองค์มักใช้คำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นเอกันตบรมสุข ที่ไม่มีทุกข์เจือปนเลย
เราสร้างบารมีเพื่อแสวงหาที่พึ่ง ที่ระลึก ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นสุขได้ด้วยตนเองและเป็นตัวตนที่แท้จริง สิ่งที่เราต้องการนี้ รวมประชุมอยู่ในธรรมกายทั้งหมด ธรรมกาย คือ แก่นของชีวิต เป็นชีวิตในระดับลึกที่อยู่ในตัวของเรา ส่วนการแสวงหาสิ่งของนอกตัวนั้น เป็นเหตุให้ใจเหินห่างจากศูนย์กลางกาย ทำให้ต้องเวียนวนอยู่ในภพสามเรื่อยไป พระพุทธองค์ถึงได้ตรัสว่าเป็นการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ เพราะเป็นไปเพื่อการเกิด แก่ เจ็บ ตาย หาสาระแก่นสารในสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นไม่ได้
นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย ท่านเห็นคุณค่าของชีวิต เห็นทุกข์ เห็นโทษในการเกิดบ่อย ๆ ทุกครั้งที่เกิดมาก็มุ่งแสวงหาโมกขธรรม หาทางที่จะหลุดพ้นจากความมืด คือ อวิชชา เพื่อไปสู่ฝั่งพระนิพพาน ซึ่งเป็นอิสระจากกิเลสอาสวะ คงที่ ไม่แปรผันอีกต่อไป ดังเรื่องที่ยกมาว่า...
ในสมัยหนึ่ง พระบรมโพธิสัตว์บังเกิดเป็นลูกชายของปุโรหิต ในเมืองโกสัมพี ชื่อ จิตตกุมาร ส่วนพระโอรสของพระราชามีพระนามว่า สัมภูตกุมาร กุมารทั้งสองเป็นสหายสนิทและรักกันมาก ต่างก็ระลึกชาติได้ว่าเคยเกิดเป็นพี่น้องกันมาก่อน แต่จิตตบัณฑิตสามารถระลึกได้หลายชาติกว่า จึงเห็นโทษในการเกิดบ่อย ๆ ว่าเป็นทุกข์
ดังนั้น แม้พ่อแม่ของท่านจะเก็บสะสมทรัพย์สินเงินทองไว้ให้มากมายเพียงใด ก็ไม่ได้ยินดีในทรัพย์สมบัติเหล่านั้น ใจของท่านมุ่งมั่นว่า อยากจะออกบวชแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ พออายุได้ ๑๖ ปี ท่านจึงตัดสินใจเข้าไปในป่าหิมพานต์บวชเป็นฤๅษี ตั้งใจบำเพ็ญภาวนาจนได้ฌานอภิญญา
ฝ่ายสัมภูตราชกุมาร ได้เสวยราชสมบัติแทนพระบิดา พระองค์ทรงระลึกถึงจิตตบัณฑิต จึงทรงแต่งเพลงกฎแห่งกรรมให้ชาวเมืองขับร้อง ชาวเมืองพอทราบว่า เพลงนี้เป็นที่โปรดปรานของพระราชา จึงพากันขับร้องต่อ ๆ กันไปว่า "กรรมทุกอย่างที่นรชนสั่งสมไว้แล้ว ย่อมมีผลเสมอไป ขึ้นชื่อว่ากรรมแม้เล็กน้อย ที่จะไม่ให้ผลเป็นไม่มี เราได้เห็นตัวของเราผู้ชื่อว่า สัมภูตะ มีอานุภาพมาก อันบังเกิดขึ้นด้วยผลบุญของตนเอง มโนรถของเราสำเร็จแล้ว แต่มโนรถของจิตตบัณฑิต พระเชษฐาของเราสำเร็จแล้วหรือยังหนอ"
พระฤๅษีจิตตบัณฑิตมีความสุขในฌาน อยากจะให้น้องชายได้รับรสแห่งความสุขภายในบ้าง จึงเหาะมาลงที่พระราชอุทยาน ท่านได้แต่งเพลงแก้ให้หนูน้อยคนหนึ่ง เอาไปขับร้องให้พระราชาฟัง หนูน้อยก็รีบวิ่งไปเฝ้าพระราชา แล้วร้องเพลงถวายว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ กรรมทุกอย่างที่นรชนสั่งสมไว้แล้ว ย่อมมีผลเสมอไป ขึ้นชื่อว่ากรรมแม้จะเล็กน้อย ที่จะไม่ให้ผลเป็นอันไม่มี มโนรถของพระองค์สำเร็จแล้ว ฉันใด ขอพระองค์โปรดทราบเถิดว่า แม้มโนรถของจิตตบัณฑิตก็สำเร็จแล้ว ฉันนั้น เหมือนกัน"
พระราชาทรงสดับแล้ว ทรงชื่นชมโสมนัสมาก ได้มอบบ้านส่วยร้อยตำบลแก่เจ้าหนูน้อย แล้วตรัสถามถึงที่มาของเพลง ก็ทราบได้ทันทีว่า พี่ชายของเรามาเยี่ยมแล้ว จึงรีบเสด็จเข้าไปหาด้วยความปีติยินดี แล้วเชื้อเชิญพระฤๅษีให้มาครองราชสมบัติด้วยกัน พระองค์จะมอบราชสมบัติให้ครอบครองครึ่งหนึ่ง
จิตตบัณฑิตฟังพระดำรัสนั้นแล้ว แทนที่จะยินดีในราชสมบัติ ท่านกลับตอบปฏิเสธ แล้วแสดงธรรมเทศนาถวายว่า "ดูกรมหาบพิตร พระองค์ทรงเห็นผลบุญอย่างเดียว ส่วนอาตมภาพเห็นทั้งผลบุญและผลบาปที่สั่งสมไว้ จึงสำรวมระวัง อาตมภาพไม่ได้ปรารถนาราชสมบัติ หรือความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเลย เพราะชีวิตของเราในโลกนี้ มีกำหนดร้อยปีเป็นอย่างมาก แล้วก็ต้องละโลกนี้ไป เราจะมัวเพลิดเพลินในสมบัติอันเป็นของไม่เที่ยงอยู่ทำไม"
พระราชาตรัสตอบว่า "ถ้อยคำของพระคุณเจ้าเป็นคำจริง แต่ว่าข้าพเจ้ายังพอใจและยินดีในเบญจกามคุณอยู่ คงสละได้ยาก เหมือนช้างจมอยู่ในท่ามกลางหล่มยากที่จะถอนตนขึ้นจากหล่มได้ ข้าพเจ้ายังไม่สามารถปฏิบัติตนตามทางของนักบวชได้หรอก บุตรจะมีความสุขได้ด้วยวิธีใด มารดาบิดาพึงพร่ำสอนบุตรด้วยวิธีนั้น ขอให้พระคุณเจ้าแนะนำทางไปสู่สวรรค์ ที่จะทำให้มีความสุขในเบญจกามคุณที่ยิ่งขึ้นไปเถิด"
พระฤๅษีจึงแนะทางไปสู่สวรรค์ว่า "มหาบพิตร ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ถูกชรานำไปสู่ความตาย อายุของสัตว์เป็นของน้อย เมื่อนรชนถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย จะหาผู้ต้านทานไม่ได้ มหาบพิตรอย่าได้ทำกรรมที่มีทุกข์เป็นผล ซึ่งจะนำไปสู่นรก ถ้าพระองค์ไม่สามารถละสุขในเบญจกามคุณได้ ก็จงเริ่มทำความดี โดยให้ความชอบธรรมแก่อาณาประชาราษฎร์ในขอบขัณฑสีมา ทรงเป็นผู้มีกมลจิตอันผ่องใส ทำทานกับสมณพราหมณ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ และประพฤติธรรมให้สุจริตเถิด"
นอกจากนี้ ฤๅษียังเล่าถวายพระราชาถึงชาติก่อน ๆ ที่เคยเป็นคนจัณฑาลบ้าง เป็นสัตว์บ้าง ทำให้พระราชาเกิดความสังเวชพระทัยในความไม่เที่ยงของการเวียนว่ายตายเกิด จึงยกราชสมบัติให้พระโอรสองค์ใหญ่ แล้วเสด็จออกผนวชตามพระฤๅษีและตั้งใจเจริญสมาธิภาวนาจนได้สำเร็จอภิญญาสมาบัติ เมื่อละโลกไปแล้วทำให้ไปสู่สุคติ
จะเห็นว่า เส้นทางการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ท่านมุ่งจะไปสู่อายตนนิพพานอย่างเดียว แม้ในชาติที่ยังทำไม่สำเร็จ เกิดอีกชาติต่อมาก็ทำต่อไป แม้ความตายจะมาตัดภพตัดชาติไปก็ตาม ท่านจะไม่ลืมปณิธานที่ตั้งไว้ เพราะรู้ว่า การแสวงหาพระนิพพาน เป็นสุดยอดของการแสวงหา เป็นทางมาแห่งความสุขและความบริสุทธิ์ ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ภายนอกเทียบไม่ได้เลย
เราทุกคนก็เช่นเดียวกัน เกิดมาเพื่อแสวงหาสิ่งเดียว ที่ประชุมรวมอยู่ในกลางธรรมกายเท่านั้น ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงได้ หากฝึกใจให้หยุดนิ่ง เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว ชีวิตเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีความสุขเพิ่มขึ้น ชีวิตจะมีความมั่นคงปลอดภัยและมีชัยชนะ
เพราะฉะนั้น ควรใช้วันเวลาที่มีอยู่ ให้มีคุณค่าด้วยการประพฤติธรรม แสวงหาหนทางพ้นทุกข์ เพื่อไปสู่ฝั่งนิพพาน แล้วไปช่วยกันทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตรผู้นำบุญ ชักชวนกันปฏิบัติธรรมให้มาก ๆ ให้ทั้งโลกสว่างไสวด้วยแสงแห่งธรรมกาย
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๒๐๐ – ๒๐๗
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
จิตตสัมภูตชาดก เล่ม ๖๑ หน้า ๓๑
โฆษณา