Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BrandThink
•
ติดตาม
7 ธ.ค. 2021 เวลา 09:22 • ข่าว
NEWS: สรุปเหตุผลที่คนออกมา #saveจะนะ ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากการลงทุน?
ประมาณ 1 ปีที่แล้ว รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยให้คำมั่นสัญญากับตัวแทนชาวบ้าน ‘จะนะ’ ในจังหวัดสงขลาที่ไม่เห็นด้วยกับแผนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ว่าจะตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการดำเนินงานโครงการดังกล่าว รวมถึงประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมใหม่
เวลาผ่านไปยังไม่มีอะไรคืบหน้า ชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงเดินทางจากสงขลามากรุงเทพมหานครเพื่อปักหลักชุมนุมใกล้ทำเนียบรัฐบาล หวังจะทวงสัญญาจากพลเอกประยุทธ์และคณะ แต่ช่วงค่ำ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา กลับถูกสลายการชุมนุมในข้อหา ‘ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’
ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กประมาณ 36 คน ขึ้นรถไปยังสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต ทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์และสื่อโซเชียลอื่นๆ ในไทยจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นการทำเกินกว่าเหตุ เพราะผู้ชุมนุมเพียงมาติดตามความคืบหน้าในสิ่งที่รัฐบาลเคยรับปากไว้เท่านั้น
【ชาวบ้าน-นักวิจัย มีคำถามถึงความโปร่งใสและผู้ได้รับประโยชน์ของโครงการ】
1. มหากาพย์นิคมอุตสาหกรรมของคนในอำเภอจะนะ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ปีที่ผ่านมา แต่เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว นับตั้งแต่อดีตรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนำโดยพลเอกประยุทธ์อีกเช่นกัน มีคำสั่งริเริ่มโครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนใต้เมื่อปี 2557 และทำให้คนในพื้นที่เสียงแตกออกเป็นสองฝ่าย ระหว่างผู้เห็นด้วยกับผู้ที่ต่อต้าน
2. ‘เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น’ เป็นหนึ่งในกลุ่มคนในพื้นที่ซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่พวกเขายืนยันว่าไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่คิดว่านิคมอุตสาหกรรมในสงขลาที่มีอยู่ 3 แห่งนั้นน่าจะเพียงพอแล้ว แต่เมื่อโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะถูกวางไว้ให้เป็นเมืองต้นแบบแห่งที่ 4 ก็เกรงจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเพิ่มเติม จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนโครงการและศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนก่อน โดยให้เหตุผลว่า การจัดทำเวทีสำรวจความคิดเห็นประชาชนถูกจัดขึ้นในช่วงที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชาวบ้านจำนวนมากจึงถูกกีดกันหรือไม่ก็ตกหล่นจากการจัดเวทีของภาครัฐ และปีที่แล้ว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับเครือข่ายชาวบ้านว่าจะทบทวนแผนดังกล่าว แต่กลับไม่มีความคืบหน้า แม้เวลาจะผ่านไปหนึ่งปีแล้ว
3. ความกังวลเรื่องความคุ้มค่าของการลงทุนและคำถามว่าใครกันแน่ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ไม่ได้มีแค่ในกลุ่มคนจะนะ แต่รวมถึงบทความตั้งคำถามของ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งชี้ว่ารายงานศึกษากรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาอำเภอจะนะในฐานะเมืองต้นแบบ “ปราศจากข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์” หลายเรื่อง
ประเด็นแรก คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีผลการศึกษาต้นทุนและผลประโยชน์ของโครงการต่อส่วนรวมที่ชัดเจน และมีเพียง ‘คำกล่าวลอยๆ ’ ว่าโครงการจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ไม่ได้พิจารณาประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่และผลกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมประมงพื้นบ้าน
ประเด็นที่ 2 ที่รายงานของรัฐบาลระบุว่านิคมอุตสาหกรรมจะสร้างงานให้คนในพื้นที่นับแสนตำแหน่ง แต่ในโครงการดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเข้มข้น (capital intensive) ที่ไม่ได้ต้องการแรงงานจำนวนมาก และสงขลาก็มีนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่งแล้ว คือ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา (ปี 2527) นิคมอุตสาหกรรมยางพารา Rubber City (ปี 2558) และนิคมอุตสาหกรรมสงขลา (ปี 2562) การเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเมืองต้นแบบแห่งที่ 4 อาจทำให้เกิดภาวะ ‘อุปทานส่วนเกิน’ (oversupply) และจะยิ่งเป็นการแย่งนักลงทุนกันเองในยุคเศรษฐกิจชะลอตัวเพราะโควิด-19 แพร่ระบาด
5. บทความของ ดร.เสาวรัจ ยังเตือนด้วยว่าการดำเนินโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ผ่านมาของภาครัฐ “มักเป็นการกำหนดหรือวางแผนจากส่วนกลาง โดยไม่ได้ยึดโยงกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น” ทำให้โครงการจำนวนมากไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเศรษฐกิจท้องถิ่นและไม่ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง อีกทั้งบางกรณีก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่งคั่งหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง จนสร้างผลกระทบทางลบแก่ท้องถิ่น
6. ทั้งนี้ โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะมีแผนจะใช้พื้นที่รวม 10,500 ไร่ โดยบริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่งที่ยื่นเรื่องขอลงทุนในโครงการนี้ คือ บริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจเมื่อเดือนเมษายนว่า บริษัทมีแผนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดและก๊าซธรรมชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐเต็มที่ มีการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเท่าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และมีภาษีนำเข้าใกล้เคียงสิงคโปร์และฮ่องกง เพื่อดึงต่างชาติตั้งสำนักงานการค้าในไทย
ที่สำคัญพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะนะอยู่ในการดูแลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ออกกฎระเบียบได้ยืดหยุ่นจึงออกกฎระเบียบอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนได้ทันที
7. อย่างไรก็ดี การที่ ศอ.บต.เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ คือประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นกังวลสงสัย เพราะวัตถุประสงค์แต่เดิมของ ศอ.บต.มีขึ้นเพื่อดูแลรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ เมื่อจะต้องดูแลโครงการเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งมีความหลากหลายทั้งด้านธุรกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม จึงเกิดคำถามว่า ศอ.บต.ที่ยึดโยงกับกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานที่มีความเหมาะสมเพียงพอจริงหรือ
อ้างอิง: TDRI. 5 คำถามต่อเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ. จะนะ จ. สงขลา.
https://bit.ly/3outGrD
กรุงเทพธุรกิจ. “ทีพีไอ”ดันอุตฯแห่งอนาคต ต่างชาติสนลงทุนโปรเจค “จะนะ”.
https://bit.ly/3pz9bt5
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้. ศอ.บต. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนใต้ “จะนะ” เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต.
https://bit.ly/3GphNtb
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้. ผู้เห็นด้วยกับ “เมืองต้นแบบ” อ.จะนะ ยังต้องการความมั่นใจจากรัฐ ศอ.บต. และ เจ้าของโครงการ ต้องเร่งสร้างความ เชื่อมั่น ให้เกิดขึ้น.
https://bit.ly/304yb2K
#Saveจะนะ #นิคมอุตสาหกรรมจะนะ #BrandThink
#พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
#CreateaBetterTomorrow
3 บันทึก
3
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย