8 ธ.ค. 2021 เวลา 06:03 • กีฬา
จาก 15 เป็น 25 นาที : ถ้าเวลาพักครึ่งฟุตบอลมีมากขึ้น จะส่งผลกับร่างกายนักเตะอย่างไร ? | MAIN STAND
1
พักครึ่ง 15 นาที อาจเป็นช่วงพักสายตาจากหน้าจอ เปลี่ยนช่องหนีโฆษณา หรือไปสะสางภาระอย่างอื่นของแฟนบอลชาวหน้าจอ และคงเป็นจังหวะพักเข้าห้องน้ำ ซื้ออาหารหรือน้ำสำหรับคนดูในสนาม
แต่กับเหล่านักเตะและผู้จัดการทีม นี่คือช่วงเวลาสำคัญในการแก้เกม พลิกสถานการณ์ของทีมตาม หรือวางกลยุทธ์เพื่อรักษาชัยให้ผู้นำ อันเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานการไล่ตีเสมอ 3-3 ในนัดชิง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 2005 ของ ลิเวอร์พูล จนพลิกกลับมาเป็นแชมป์ได้สำเร็จ และถูกนำมาเสนอเป็นหนังสั้นกึ่งล้อเลียนอย่าง "15 นาทีช็อกโลก" มาแล้ว
ทว่าเวลา 15 นาทีดังกล่าว กำลังถูกเสนอให้เพิ่มขึ้นเป็น 25 นาทีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลต่อร่างกายของนักเตะอย่างไรกันบ้าง ?
ร่วมหาคำตอบได้ในบทความนี้กับ Main Stand
ประวัติแห่งครึ่งเวลา
2
ย้อนเวลากลับไปในศตวรรษที่ 15 ฟุตบอลระดับโรงเรียนได้ถือกำเนิดขึ้น จากบรรดานักเรียน ศิษย์เก่า และอาจารย์ประจำวิทยาลัยต่าง ๆ จะมาลงประชันบนสนามหญ้าผืนเดียวกัน
แม้จะมีชื่อว่าฟุตบอลเหมือนในปัจจุบัน แต่การแข่งขันในยุคแรกเริ่มมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างออกไปอยู่พอสมควร เนื่องจากโรงเรียนต่าง ๆ มีกฎการเล่นไม่เหมือนกัน เหมือนในปัจจุบันเวลานักเรียนเตะบอลระหว่างพักกลางวัน ที่มีการประยุกต์และปรับเปลี่ยนกฎการเล่นให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ในขณะนั้น
สิ่งเดียวกันเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ จากโรงเรียนเอกชนเก่าแก่ของอังกฤษ (Public School) ไม่ว่าจะเป็นของวิทยาลัยอีตัน, อัลเดนแฮม, รักบี้, ฮาร์โรว์ ที่ต่างมีกฎเกณฑ์การเล่นเป็นของตนเอง ซึ่งหากนำมาปนกันแล้วอาจสร้างความสับสนหรือทำให้มีฝ่ายใดได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นมา
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเบรกพักครึ่งเวลา ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ทีมผู้เล่นจากสองโรงเรียน สามารถเล่นตามกฎที่ตนเองถนัดได้อย่างละครึ่ง เช่น ถ้านักเรียน อีตัน ลงแข่งพบกับทีมจาก รักบี้ คุณจะได้เห็นครึ่งหนึ่งที่ผู้เล่นลงแข่งฟุตบอล (คล้ายคลึงกับการเล่นของ อีตัน) กับอีกครึ่งที่เปลี่ยนมาเล่นรักบี้ (ตามกฎของ รักบี้ ที่ถูกตั้งชื่อให้เป็นเกียรติกับโรงเรียน)
เมื่อกฎการแข่งขันฉบับแรกได้ถูกร่างขึ้นโดยสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ FA ในปี 1863 ความจำเป็นของการหยุดพักครึ่งก็หายไปในทันที เนื่องจากมีกฎที่เหมือนกันแล้ว แถมยังไม่ถูกระบุไว้ในกฎการแข่งขันฉบับดังกล่าวด้วย ทว่าการหยุดพักครึ่งเป็นระยะเวลา 15 นาทีนั้นยังคงอยู่ต่อไป โดยใช้เพื่อเป็นช่วงเวลาสลับแดนแข่งขันเช่นเดียวกันกับในปัจจุบัน
ตามกฎข้อที่ 7.2 ของคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ IFAB ระบุว่า "นักเตะสามารถหยุดพักระหว่างครึ่งได้ไม่เกิน 15 นาที และมีการหยุดพักดื่มน้ำได้ไม่เกิน 1 นาที ระหว่างพักครึ่งในช่วงต่อเวลาพิเศษ โดยกฎการแข่งขันต้องระบุเวลาพักครึ่งไว้อย่างชัดเจน และจะสามารถปรับเปลี่ยนได้ก็ต่อเมื่อรับอนุญาตจากผู้ตัดสินแล้ว"
แม้จะเป็นสิ่งที่ถูกทำกันมานานแล้ว แต่ล่าสุดทาง IFAB กำลังพิจารณาคำขอจากสมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ หรือ CONMEBOL ซึ่งยื่นร้องขอต่อเวลาพักครึ่งเพิ่มอีก 10 นาที ให้รวมเป็น 25 นาที เพื่อให้พวกเขาจัดโชว์ระหว่างพักครึ่งได้ คล้ายคลึงกับกรณีของ ซูเปอร์โบวล์ เกมชิงแชมป์ประจำฤดูกาลของอเมริกันฟุตบอล NFL และยังมอบโอกาสให้นักเตะได้พักผ่อนและทำความเข้าใจแผนได้มากขึ้นอีกด้วย
แต่การพักที่นานขึ้นนั้น จะส่งผลต่อร่างกายของนักฟุตบอลอย่างไรกันบ้างล่ะ ?
แตะเบรกให้ร่างกาย
สังเกตหรือไม่ว่าขณะที่นักฟุตบอลกลับมาลงสนามหลังจากช่วงพักครึ่งใหม่ ๆ จะมีความเข้มข้นในการวิ่งไล่ล่าในสนามน้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนจบครึ่งแรก หรือหลังจากผ่านไปราว 10-15 นาทีของครึ่งหลังแล้ว
นั่นเป็นเพราะในช่วงก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้นช่วงครึ่งเวลาแรก นักฟุตบอลแต่ละทีมจะมีเวลาอบอุ่นร่างกายอยู่ประมาณ 30-40 นาที เพื่อเตรียมกล้ามเนื้อให้พร้อมสำหรับออกตัววิ่ง หรือเข้าประจำตำแหน่งต่าง ๆ ตามความเข้มข้นของแมตช์ที่กำลังตามมา แต่การกลับมาลงสนามในครึ่งหลังผู้เล่นเหล่านี้จะมีเวลาอยู่เพียงแค่ 15 นาทีเท่านั้น
อย่างไรก็ตามช่วงเวลาดังกล่าวได้ถูกใช้ไปกับการพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ อันแปลว่าจังหวะและความเข้มข้นทุกอย่างที่ถูกสร้างมาใน 45 นาทีแรก จะถูกแตะเบรกไว้ในช่วงนี้แบบทันที โดยมีเวลาเหลือเพียงแค่หยิบมือเท่านั้นเพื่อให้นักเตะกลับไปวอร์มอัพ หรือกระตุ้นอุณหภูมิของร่างกายกับกล้ามเนื้อให้เข้าไปสู่จุดที่พวกเขาเคยเป็น
นี่จึงเป็นจุดที่น่าเป็นกังวลสำหรับช่วงพักครึ่ง เพราะยิ่งมีการหยุดพักนานเท่าไหร่ โอกาสที่ผู้เล่นจะสูญเสียความพร้อมของร่างกายก็อาจเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งคงจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดีแน่ ๆ หากมีเวลาหยุดครึ่งแรกเพิ่มจาก 15 เป็น 25 นาที
ทาง Barca Innovation Hub ได้ศึกษาและวิเคราะห์ช่วงเวลาการพักครึ่ง เพื่อนำมาพัฒนาการจัดสรร 15 นาทีในห้องแต่งตัว ให้นักเตะสามารถฟื้นฟูร่างกาย ควบคู่ไปกับการรักษาความสดไว้ได้ โดยจัดแบ่งเวลาได้ดังต่อไปนี้
1-3 นาทีแรก นักเตะเดินกลับจากสนามเข้าสู่ห้องแต่งตัว
นาที 3-5 เป็นเวลาส่วนตัวของนักเตะ หรืออาจใช้รักษาอาการบาดเจ็บ
นาที 5-7 ช่วงที่โค้ชมาพูดคุยกับผู้เล่น กระตุ้น อธิบายแผนการเล่น
นาที 7-9 วิเคราะ์วิดีโอ จังหวะการเล่นต่าง ๆ และให้ความเห็นจากผู้จัดการทีม
นาที 9-11 เปลี่ยนชุด เตรียมอุปกรณ์
นาที 11-14 วอร์มอัพร่างกาย เตรียมความพร้อมก่อนลงสนาม
1
ทั้งนี้ช่วงเวลาดังกล่าวจะต้องมีการควบคุมอุณหภูมิของห้องแต่งตัว ไม่ให้มีความเย็นมากเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายนักเตะสูญเสียความเย็นมากเกินความจำเป็น รวมทั้งควรจัดให้มีการให้เคฟาอีนกับนักเตะ เป็นการกระตุ้นร่างกายนักเตะให้ตื่นตัว โฟกัส พร้อมกลับมาลงสนาม ควบคู่กับการกลั้วปากด้วยเครื่องดื่มผสมคาร์โบไฮเดรต อันเป็นหนึ่งในวิธีทำ Re-warm up สำหรับนักเตะไปในตัว
Re-warm up ถือเป็นขั้นตอนออกกำลังกายอย่างเข้มข้น ซึ่งมักเกิดขึ้นภายใน 5 นาทีสุดท้ายของช่วงพักครึ่ง เพื่อกระตุ้นให้นักเตะเรียกจังหวะของตัวเองกลับมา อาจทำได้ในห้องแต่งตัวหรือจะเป็นจังหวะออกมาซ้อมข้างสนามก่อนผู้ตัดสินเป่านกหวีดเรียกก็ได้เช่นกัน
1
การทำ Re-warm up ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เล่นและโค้ช โดยเฉพาะประสิทธิภาพที่แสดงออกระหว่างการแข่งขัน งานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่าอัตราการเต้นหัวใจและอุณหภูมิร่างกายของนักเตะลดลงไปน้อยกว่ารายที่ไม่ได้ทำ Re-warm up ซึ่งกลุ่มหลังนี้จะกลับเข้าสู่เกมได้ช้ากว่าอย่างเห็นได้ชัด
แม้ในปัจจุบันกระแสการพักครึ่ง 25 นาที อาจไม่ได้รับผลตอบรับที่ดีนัก และเช่นกันกับที่ข้อเสนอเมื่อปี 2009 ที่เคยถูกปัดตกจากความเห็นเชิงลบของแฟนบอล นี่ก็คงเป็นอีกรอบหนึ่งที่ข้อเสนอจาก CONMEBOL คงไปไม่ถึงฝั่งเช่นกัน
แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้ามีขั้นตอนการรีวอร์มอัพและเตรียมสภาพร่างกายที่เหมาะสม ช่วงเวลาพักครึ่ง 25 นาที ก็อาจกลายเป็นประโยชน์ต่อนักเตะขึ้นมาได้ จากการมีเวลาฟื้นฟูหรือเรียกจังหวะเพิ่มเติมที่ดีได้เช่นกัน
ทว่าในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้นี้ 15 นาที ก็ยังคงเป็นขีดจำกัดตามกฎอยู่เช่นเดิม
บทความโดย กรทอง วิริยะเศวตกุล
แหล่งอ้างอิง:
โฆษณา