8 ธ.ค. 2021 เวลา 02:12 • ประวัติศาสตร์
“ยิตแซก กานอน (Yitzhak Ganon)” เหยื่อนาซีผู้ปฏิเสธการพบแพทย์กว่า 65 ปี
ค่ำคืนวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ.1944 (พ.ศ.2487) ครอบครัวชาวยิวที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ ทางเหนือของกรีก กำลังร่วมทานอาหารกันอย่างอบอุ่น
แต่แล้ว หน่วย SS ของนาซีและตำรวจกรีก ก็บุกเข้ามาถึงในห้อง และจับกุมทุกคน
“ยิตแซก กานอน (Yitzhak Ganon)” วัย 20 ปีและครอบครัว ถูกส่งตัวไปยัง “ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ (Auschwitz concentration camp)” ซึ่งตั้งอยู่ในโปแลนด์
ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ (Auschwitz concentration camp)
ระหว่างทางไปค่ายกักกัน พ่อของยิตแซกนั้นป่วยและเสียชีวิตระหว่างทาง และเมื่อมาถึงค่ายกักกัน ยิตแซกและครอบครัวของตนก็ต้องเข้าสู่กระบวนการ “คัดเลือก” ซึ่งกระทำโดยแพทย์ของหน่วย SS
นักโทษที่ร่างกายแข็งแรงจะถูกส่งไปใช้แรงงานในค่าย ส่วนนักโทษที่อ่อนแอ ก็จะถูกส่งไปห้องรมแก๊ส
แต่นอกเหนือจากสองกลุ่มข้างต้น แพทย์ของหน่วย SS ก็ยังมองหานักโทษกลุ่มที่สาม นั่นก็คือเพื่อที่จะคัดเลือกให้เป็น “หนูทดลอง” สำหรับการทดลองทางการแพทย์ผิดมนุษย์มนา
แม่ของยิตแซกและพี่น้องอีกห้าคนถูกส่งไปประหารยังห้องรมแก๊ส ส่วนยิตแซก ก็ถูกคัดเลือกให้เป็นหนูทดลอง
ในไม่ช้า ยิตแซกก็ได้พบกับ “โจเซฟ เมงเกเล (Josef Mengele)” นายแพทย์ของหน่วย SS ผู้มีฉายาว่า “เทวดาแห่งความตาย”
โจเซฟ เมงเกเล (Josef Mengele)
เมลเกเลนั้น นอกจากจะทำการทดลองต่อเหล่านักโทษแล้ว เขายังเป็นผู้เลือกแก๊สที่จะใช้ประหารนักโทษ และยังเป็นผู้คัดเลือกว่านักโทษคนไหนจะรอดหรือตาย
3
ในโรงพยาบาลค่าย เมลเกเลได้ผูกตัวยิตแซกไว้กับโต๊ะ และทำการผ่าตัด ย้ายไตของยิตแซกโดยไม่ใช้ยาชา
ยิตแซกกล่าวในภายหลังว่ายังจำความรู้สึกเจ็บปวดนั้นได้ดี
ภายหลังการผ่าตัด ยิตแซกก็ยังคงถูกใช้งานหนัก และต้องคอยทำความสะอาดห้องทดลองชองเมงเกเล
นอกจากนั้น ยิตแซกยังถูกใช้ในการทดลองโหดต่อไป โดยภายหลังจากที่เขาหายจากการผ่าตัด เขาก็ต้องแช่น้ำที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง โดยแช่ทั้งคืน เนื่องจากเมงเกเลต้องการจะทดสอบประสิทธิภาพปอดของเขา
หลังจากผ่านไปได้เจ็ดเดือน ยิตแซกก็หมดประโยชน์ เมงเกเลจึงส่งยิตแซกไปห้องรมแก๊ส แต่เขาก็รอดมาได้อย่างหวุดหวิด เนื่องจากห้องรมแก๊สนั้นจุคนได้ 200 คน แต่ยิตแซกเป็นคนที่ 201
มกราคม ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) นาซีได้ทำลายห้องรมแก๊สและรีบหนี เนื่องจากกองทัพแดงกำลังจะมาถึง
1
ยิตแซก เป็นหนึ่งในนักโทษ 7,000 คนที่ได้รับการปลดปล่อยในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488)
ภายหลังจากสงครามจบลง ยิตแซกก็ได้ย้ายไปอิสราเอล ก่อนจะแต่งงานและมีครอบครัวของตน
1
เวลาผ่านไป สมาชิกในครอบครัวก็สังเกตอะไรแปลกๆ ได้อย่างหนึ่ง นั่นคือไม่ว่าจะป่วยแค่ไหน แต่ยิตแซกก็ไม่ยอมไปพบแพทย์ โดยเขามักจะกล่าวว่าเขาแค่อ่อนเพลีย
แต่เหตุผลที่แท้จริงก็คือ เขายังหลอนไม่หายกับการทารุณของเมงเกเล และสาบานว่าจะไม่พบแพทย์เด็ดขาด
แต่แล้วในปีค.ศ.2009 (พ.ศ.2552) หลังจากที่ป่วยหนัก ลูกหลานของยิตแซกก็ได้พาเขาไปโรงพยาบาล โดยยิตแซกมีอาการหัวใจวาย หากแต่แพทย์ก็ได้ทำการผ่าตัด ช่วยชีวิตเขาไว้ได้สำเร็จ
นี่ก็เป็นเรื่องราวน่าเศร้าของเหยื่อนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หากแต่ก็สามารถรอดชีวิตมาได้
โฆษณา