Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
โลกที่เต็มไปด้วยความเหงา
•
ติดตาม
8 ธ.ค. 2021 เวลา 00:01 • สุขภาพ
ไม่ใช่แค่ร่างกายเท่านั้นที่ต้องการวัคซีน แต่จิตใจก็เช่นกัน เมื่อโควิด-19 ส่งผลให้ความสัมพันธ์ต้องเปลี่ยนแปลงไป
.
“เพราะมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาให้อยู่คนเดียว” ผศ.ดร.ไชยันต์ สกุลศรีประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับทีมงานระหว่างการพูดคุยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนั้น ความสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ด้านครอบครัว หรือเพื่อนฝูง
.
และสิ่งที่มีผลต่อความรู้สึกของเราอย่างมากคือ “ความรัก” ไม่ว่าใครก็อยากจะมีความรักที่ดี แต่ปัจจัยมากมายนั้นต่างก็มีผลต่อความรัก การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ก็เช่นกัน มนุษย์จึงต้องการวัคซีนไม่ใช่แค่ร่างกาย แต่เป็นจิตใจด้วยเช่นกัน
ภาวะสมดุลที่เปลี่ยนแปลงไป
.
ในสถานการณ์ปกติ ความสัมพันธ์ของแต่ละคู่ต่างก็มีสิ่งที่เรียกว่า “ภาวะสมดุล” ของตัวเอง เป็นภาวะที่ทำให้ทั้งคู่ต่างประคับประคองให้ผ่านไปได้ แม้จะมีเรื่องราวให้ทะเลาะกันบ้าง ร้องไห้กันบ้าง มีทั้งทุกข์และสุขในความสัมพันธ์แต่ทั้งคู่ก็ยังคงอยู่ในภาวะสมดุลและก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกัน
.
บางคู่อาจเจอกันในช่วงเย็นของทุก ๆ วันเพื่อรับประทานอาหารด้วยกัน หรือบางคู่อาจเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกันทุกเดือน ทั้งหมดนี้เรียกว่า “ภาวะสมดุล” ที่ทั้งคู่ได้ตกลงกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้ความรักนั้นงอกงามอยู่เสมอ
แต่ด้วยการอุบัติของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของภาวะสมดุลที่ทั้งคู่มีอยู่ เช่น จากเดิมที่เคยได้รับประทานอาหารเย็นด้วยกันทุกวันหลังเลิกงาน มาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ทำให้ทั้งคู่ไม่สามารถนั่งรับประทานอาหารที่ร้านด้วยกันได้ และกลายเป็นว่าต่างคนต่างซื้ออาหารกลับไปทานที่บ้านของตนเอง เพียงแค่การไม่ได้นั่งทานอาหารด้วยกันทุกเย็นอีกแล้ว อาจทำให้ทั้งคู่รู้สึกห่างเหินกันมากขึ้น
Photo by Anna Shvets from Pexels
ในทางตรงกันข้าม โควิด-19 ก็อาจทำให้คู่รักต้องใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น ซึ่งสามารถส่งผลให้ภาวะสมดุลเสียไป เช่น ในสถานการณ์ปกติ คู่รักบางคู่ต่างออกจากบ้านตอนเช้าและกลับมาเจอกันตอนเย็นหลังเลิกงาน ในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้ต้องเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน หรือ work from home ด้วยกันทั้งคู่และอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง ภาวะสมดุลที่เคยมีก็เปลี่ยนไป นิสัยหรือการกระทำบางอย่างที่พอจะทนได้ในสถานการณ์ปกติ แต่เมื้อต้องเจอนิสัยดังกล่าวตลอดเวลาก็อาจจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ทั้งคู่ย่ำแย่ลงไป
นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 อาจก่อให้ภาวะสมดุลเปลี่ยนไปทางอ้อมเช่น ความเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องปิดตัวในช่วงโควิด-19 หรือความกังวลที่จะต้องติดโรคเมื่อคู่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังคงต้องออกไปทำงานนอกบ้าน สถานการณ์เหล่านี้ส่งผลให้แต่ละคู่ต้องประสบความเครียดและความกังวลมากขึ้นกว่าเดิม และส่งผลให้เกิดการกระทบกระทั่งหรือการทะเลาะเบาะแว้งกัน
.
อัตราการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นหลังจากสิ้นสุดมาตราการล็อกดาวน์ในประเทศจีนเป็นตัวอย่างที่สังเกตได้ ซึ่งจากรายงาน พบว่ามีอัตราหย่าร้างของชาวจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 โดยพวกเขากล่าวถึงสาเหตุการหย่าร้างว่า “ถึงแม้ว่าจะเป็นคู่รักกันก็ตาม แต่ทุกคนต่างก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัวว” การกักตัวและการทำงานจากที่บ้านส่งผลพื้นที่ส่วนตัวเหล่านั้นลดน้อยลงไป “ยิ่งพวกเขาใช้เวลาด้วยกันมากเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งเกลียดกันเท่านั้น” หนึ่งในคู่รักชาวจีนให้สัมภาษณ์กับสื่อของประเทศจีน
แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้าง?
Photo by Pavel Danilyuk from Pexels
ผศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันรวมทั้งการให้อภัยตัวเอง เมื่อต้องอยู่ด้วยกันและพบเจอกันตลอดทั้งวันทั้งคืน ไม่แปลกที่มนุษย์จะรู้สึกรำคาญ หงุดหงิด หรือไม่พอใจกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และไม่แปลกที่เราจะเบื่อ แม้สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เราจะรักมากเพียงใด ความสัมพันธ์ก็เช่นกัน
.
การเห็นอกเห็นใจกันหรือ Empathy จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เดินหน้าต่อไป เข้าใจสถานการณ์ เข้าใจภาวะที่ไม่ปกติที่น่าเบื่อ และเห็นใจที่คู่ของคุณที่ไม่สามารถออกไปสังสรรค์กับเพื่อนได้เหมือนกับช่วงเวลาปกติ
นอกจากนี้ การให้อภัยตัวเองก็สำคัญเช่นกัน ไม่ใช่ความผิดของคุณที่ร้านอาหารต้องปิดตัวลง ไม่ใช่ความผิดของคุณที่คุณทำอาหารไม่เป็น จึงต้องสังอาหารมารับประทานตลอด สถานการณ์โควิด-19 และผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้นไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น ให้อภัยตัวเองแทนการโทษตัวเองและกลับมาดูแลคนที่เป็นห่วงคุณนั่นคือตัวคุณเองและคนข้าง ๆ คุณ
.
แล้วสำหรับคนโสดล่ะ?
Photo by cottonbro from Pexels
จากที่เคยได้เจอผู้คนใหม่ ๆ บ้างจากการสังสรรค์ หรือท่องเที่ยว กลับกลายเป็นต้องอยู่กับตัวเองตลอดเวลา แน่นอนว่าการพบเพื่อนใหม่ ๆ ทางออนไลน์นั้นเป็นสิ่งที่เราทุกคนทำได้ง่ายแม้ในสถานการณ์ปกติ “อย่าไงรก็ตาม แม้ว่าผู้คนใช้เวลาพูดคุยบนโลกออนไลน์มากเท่าไร ก็ไม่อาจแทนที่การพบเจอหน้าตากันได้จริง ๆ” อาจารย์ไชยันต์กล่าว
.
แม้เราจะใช้เวลากับ Dating app มากเท่าไร สุดท้ายแล้วก็ต้องมาเจอกันและเห็นหน้ากันจริง ๆ แต่การออกเดตในช่วงเวลาเช่นนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่คนสองคน เมื่อมาตราการการกักตัวโดยรัฐบาลทำให้ตัวเลือกการออกเดตลดน้อยลง การเร่งฉีดวัคซีนจึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างเร่งด่วน ในสหรัฐอเมริกา ทำเนียบขาวได้ร่วมมือกับ Dating app ให้ผู้ใช้ที่ฉีดวัคซีนแล้วมีสัญลักษณ์แสดงบนบัญชีว่า พวกเขาได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งตามรายงานของแอปพลิเคชัน OkCupid พบว่ามีผู้สนใจคนที่มีสัญลักษณ์วัคซีเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 14
มาตรการเร่งให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติก่อนการระบาดใหญ่ และคนวัยหนุ่มสาวสามารถกลับมาออกเดตกันได้ ต่างส่งผลต่อความสุขโดยรวมของประเทศ ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือสภาพจิตใจ "ในสถานการณ์โควิด-19 ไม่อาจประเมินความเสี่ยงจากด้านสุขภาพเพียงมิติเดียว เพราะเราทุกคนมีแง่มุมมากมายในชีวิตไม่ว่าจะ ปากท้อง การงาน และความสัมพันธ์ทางสังคม ที่ต้องชั่งน้ำหนักกับความเสี่ยงทางสุขภาพ" ผศ.ดร.ไชยันต์ กล่าว เมื่อจิตใจดีเราต่างก็มีแรงกายแรงใจที่จะทำงาน และดูแลคนที่เรารักให้ดีขึ้น
วัคซีนสำหรับจิตใจ
.
“โควิดกระตุ้นความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว เบื่อ หรือถูกทิ้ง ความรู้สึกเหล่านี้บางครั้งก็น่ากลัวกว่าเรื่องสุขภาพ” ผศ.ดร.ไชยันต์ อธิบายและเสริมว่า ไม่ว่าจะเป็นคนโสดหรือคนมีคู่ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สิ่งที่เราทุกคนควรมีต่อกันในภาวะเช่นนี้คือ การเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน รวมถึงการให้อภัยตัวเอง และอ่อนโยนกับตัวเองด้วย ไม่ว่าอย่างไรก็ตามให้เราได้กลับมาดูแลตัวเราเองจริง ๆ และคนที่เรารัก
.
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ไชยันต์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “การเห็นอกเห็นใจกัน และการให้อภัยตัวเอง เป็นการแก้ปัญหาในระดับบุคคล แต่เราจะมองปัญหาโควิด-19 ในระดับบุคคลอย่างเดียวไม่ได้ การแก้ปัญหาในระยะยาวและยั่งยืน จะต้องแก้ไขที่ระดับโครงสร้างไปพร้อมกัน”
Photo by Kevin Malik from Pexels
หากปราศจากการช่วยเหลือจากภาครัฐที่เหมาะสม ไม่ว่าจะมาตราการดูแลเยียวยาหรือการเร่งฉีดวัคซีน สิ่งเหล่านี้ต่างเกี่ยวเนื่องกันและมีผลต่อจิตใจ หากทุกคนอดทนในการทำตามมาตราการกักตัวตามภาครัฐบาล แต่สุดท้ายต้องอดตายหรือไม่รู้สึกถึงความหวังที่จะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ในเร็ววัน เราคงไม่พ้นที่จะเจอปัญหาอีกมากมายตามมา เพราะความสุขของประชาชนในประเทศไม่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาลที่เหมาะสม
.
ข้อมูลจาก ผศ.ดร.ไชยันต์ สกุลศรีประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
.
บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง
ngthai.com
ซึ่งผู้เขียนคือผมเองครับที่เป็นเจ้าของบทความ(ป้องกันการกล่าวหาว่าคัดลอกบทความครับ : ) )
เราไม่รู้ว่าจะต้องพบกับโควิด-19 ไปอีกนานแค่ไหน แต่หากเรามั่นใจกับความรักครั้งนี้ว่าเขาหรือเธอคือคนที่ใช่ ขอให้ทุกคนรักษาความสัมพันธ์ไว้ได้อย่างราบรื่นและมั่นคง
.
ให้เพิ่มเติมความรักและอ่อนโยนกันอย่างสม่ำเสมอ และผมหวังว่าเมื่อผ่านโควิด-19 ทั้งคู่จะแข็งแรงพร้อมเดินไปข้างหน้าเพื่อสร้างความสุขด้วยกันตราบนานเท่านาน
Photo by cottonbro from Pexels
ความรัก
จิตวิทยา
วิทยาศาสตร์
3 บันทึก
1
4
3
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย