8 ก.พ. 2022 เวลา 06:32 • การศึกษา
อยู่กับปัจจุบันธรรม
พระธรรมกาย เป็นกายตรัสรู้ธรรมของมนุษย์ทุก ๆ คน เราจะรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งหลายทั้งปวง ก็ต้องอาศัยธรรมกายนี้ เพราะว่าเป็นกายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสติปัญญา และมีอานุภาพไม่มีประมาณ คำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐พระธรรมขันธ์ประชุมลงในธรรมกายทั้งสิ้น ธรรมกายนี้เป็นกายที่ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ งามกว่ามนุษย์ เทวดา พรหมและอรูปพรหม สิงสถิตอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดของพวกเราทุกคน สมบูรณ์ทั้งวิชชาและจรณะ จะเข้าถึงธรรมกายได้ ต้องอาศัยใจที่หยุดนิ่งอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น หยุดจึงเป็นตัวสำเร็จที่จะทำให้เข้าถึงพระธรรมกาย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ภัทเทกรัตตสูตร ว่า…
"บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไป สิ่งใดที่ยังมาไม่ถึง สิ่งนั้นก็เป็นอันยังมาไม่ถึง"
อดีตเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้ายก็ตาม สิ่งที่ได้ทำลงไปแล้วทั้งทางกาย วาจา ใจ เราไม่สามารถย้อนอดีตให้กลับคืนมาได้ สิ่งที่ล่วงไปก็ต้องผ่านเลยไป เหมือนสายน้ำไหลไปไม่มีวันย้อนกลับ หรือเหมือนชีวิตที่ย่างก้าวไปสู่ความเสื่อมสลายทุกอนุวินาที กระทั่งอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เราก็ไม่ควรไปมุ่งหวังมากเกินไปว่าจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ดังใจปรารถนา การประกอบคุณงามความดี สั่งสมบุญ อยู่เป็นนิตย์เท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเราจะมีอนาคตอันสดใส ชีวิตจะก้าวไปสู่ความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์พร้อมยิ่งขึ้น พระบรมศาสดาจึงตรัสสอนให้เรามีชีวิตอยู่กับปัจจุบันธรรมเท่านั้น
การมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันให้สมบูรณ์ที่สุด พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราดำเนินชีวิต อยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่ปล่อยใจเลื่อนลอย ไปกับอดีตที่ผ่านพ้น ไม่ให้คำนึง หรือกังวลถึงอนาคต แม้ดูเหมือนว่าจะสดใส แต่ทรงให้ทำปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุด ด้วยการสร้างบารมี หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งจนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย จะได้มีที่พึ่งที่ระลึกภายใน ชีวิตของเราก็จะปลอดภัย เพราะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่แท้จริง งานฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะนี้ เป็นภารกิจหลักของมนุษย์ทุกคน หน้าที่ที่แท้จริงของเราจะสมบูรณ์ที่สุด ต่อเมื่อเรานำใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรมอรหัตเป็นพระอรหันต์ผู้ไม่มีอาลัยในอดีต ไม่มีความกังวลกับอนาคตอย่างแท้จริง
เหมือนในสมัยปัจฉิมโพธิกาล เมื่อพระบรมศาสดา ปลงอายุสังขาร คือ ประกาศให้เหล่าสาวกสาวิกาได้รับทราบว่า อีก ๔ เดือนต่อจากนี้ไป พระพุทธองค์จะดับขันธปรินิพพาน ใครที่ยังปฏิบัติเข้าไม่ถึงธรรมกาย ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็ให้เร่งรีบทำความเพียร อย่าประมาท แต่ยังมีพระภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชนจำนวนไม่น้อยที่มัวเที่ยวติดตามพระพุทธองค์ไปทุกหนทุกแห่ง เพียงเพื่อจะดูพระองค์ โดยไม่ได้ทำความเพียร เพราะการได้พบเห็นพระพุทธองค์ถือเป็นทัสสนานุตตริยะ ส่วนพระอรหันตขีณาสพต่างก็บังเกิดธรรมสังเวชว่า แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ สุดท้ายก็ต้องถูกความเสื่อมครอบงำ นำไปสู่ชราและมรณะ
มีภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ ธรรมาราม ท่านได้ฟังโอวาทของพระบรมศาสดาแล้ว รู้ตัวว่ายังเป็นผู้มีกิเลสอยู่ จึงไม่ประมาทในชีวิต มุ่งทำความเพียรทั้งวันทั้งคืน เพื่อจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้ชื่นชมอนุโมทนา ก่อนที่จะไม่ได้พบเห็นพระพุทธองค์อีกต่อไป ท่านจึงปลีกวิเวกไปปฏิบัติธรรม ตามลำพัง ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ แม้จะอยู่ห่างไกลจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ได้เห็นพระพุทธองค์ด้วยตาเนื้อ แต่ใจของท่านเจริญพุทธานุสติ มีพระพุทธเจ้า เป็นอารมณ์อยู่ตลอดเวลา ธรรมอันใดที่พระพุทธองค์ได้แนะนำสั่งสอนไว้ ท่านก็หมั่นพิจารณาธรรมนั้น แล้วน้อมนำไปปฏิบัติ
การกระทำของท่าน เป็นที่ยกย่องของเหล่าอริยสาวกยิ่งนัก ส่วนผู้ไม่รู้ก็นึกว่าท่านไม่มีความเยื่อใยในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่โศกเศร้าอาลัยอาวรณ์ในพระพุทธองค์เลย จึงพากันกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทราบ ตามปกติแล้ว พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพุทธญาณว่า ลูกของเรานี้ พระพุทธองค์จะทรงเรียกผู้ตั้งใจปฏิบัติธรรมได้เข้าถึงธรรมกายว่า ลูกของเรา พระธรรมารามรูปนี้มีความเคารพรักในพระพุทธองค์อย่างแรงกล้า แต่กำลังทำความเพียรเพื่อเป็นของขวัญอันล้ำค่าแด่พระพุทธองค์ จึงไม่ยอมคลุกคลีกับหมู่คณะ
พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพุทธประสงค์ จะให้ภิกษุสงฆ์ได้อนุโมทนาในคุณความดีของพระธรรมาราม จึงรับสั่งให้เข้าเฝ้า แล้วตรัสถามว่า "ทำไมเธอถึงไม่ได้มีความอาลัยอาวรณ์กับการที่เราตถาคตจะปรินิพพานเล่า"
พระเถระกราบทูลว่า "ข้าพระองค์ รู้สึกมีความโศกเศร้ายิ่งนักที่พระบรมศาสดาจะต้องจากไป เมื่อมาพิจารณาดูตนเองแล้ว พบว่าตนยังเป็นผู้มากไปด้วยราคะ โทสะ โมหะอยู่ การจะทำให้พระพุทธองค์ทรงยินดีได้ ก็ต้องตั้งใจปฏิบัติให้บรรลุธรรมกายอรหัต แม้กายอยู่ห่างแต่ใจของข้าพระองค์นั้น ไม่เคยห่างเหินจากพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย คิดอย่างเดียวว่าทำอย่างไรจะได้บรรลุธรรมตามที่พระองค์ได้สั่งสอนไว้"
พระบรมศาสดาทรงให้อนุโมทนาสาธุการกับท่านว่า ท่านได้ประพฤติดีแล้ว ภิกษุรูปอื่น ๆ ควรเอาพระธรรมารามนี้เป็นต้นแบบของการปฏิบัติ เพราะผู้มีความรักในพระพุทธองค์ หากมัวโศกเศร้าเสียใจในเรื่องที่ยังไม่มาถึง หรือบูชาด้วยระเบียบของหอม กราบไหว้นอบน้อมเป็นประจำ ก็ยังไม่ชื่อว่ามีความเคารพในพระตถาคตอย่างแท้จริง ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ได้บรรลุธรรมกายอรหัต จึงจะได้ชื่อว่าบูชาพระตถาคต โดยแท้
พระพุทธองค์ทรงสอนให้พวกเรา มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันธรรม คือ ทำปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุด แล้วไม่ต้องไปคำนึงถึงอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร คิดอย่างเดียวว่าทำอย่างไรจึงจะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงพระธรรมกาย หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก แล้วการที่จะบรรลุธรรมกายได้นั้น เราจะต้องรู้จักปลดปล่อยวาง ในเรื่องราวทั้งที่เป็นอดีตและอนาคต เอาใจมาจดจ่อ หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายอย่างเดียว แล้วพิจารณาให้เห็นกายต่าง ๆ เหล่านี้ ให้ซาบซึ้งว่าเป็นก้อนทุกข์ ทั้งก้อน ตั้งแต่กายมนุษย์ กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม ล้วนแต่มีทุกข์ แต่ว่าหยาบหรือละเอียดกว่ากัน แล้วเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ คือ ความอยาก ความอยากเป็นเหตุที่ให้วนเวียนอยู่ในภพทั้งสาม
ต้องพิจารณาให้เห็นตามหลักอริยสัจสี่กันจริง ๆ จึงจะตัดความยินดีในกายต่าง ๆ เหล่านี้ได้ แล้วแสวงหาทางที่จะนำไปสู่กายที่เป็นอมตะ ไม่เจือปนด้วยทุกข์ คือ หนทางของพระอริยเจ้าที่เรียกว่า อริยมรรค หนทางของพระอริยเจ้าจะเกิดขึ้นนั้น จะต้องปล่อยวางสิ่งทั้งหลายทั้งมวลในภพทั้งสามนี้ ใจจะได้เบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายความกำหนัดความยึดมั่นถือมั่น
1
เมื่อคลายความยึดมั่นถือมั่น ใจก็หลุดพ้นจากความนึกคิดเหล่านั้น จากสิ่งที่เป็นเครื่องพันธนาการของชีวิต เมื่อหลุดพ้นก็จะตกศูนย์ เข้าไปสู่ภายในกึ่งกลางกายฐานที่เจ็ด ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเรียกว่า ดวงปฐมมรรค หนทางเบื้องต้นของพระอริยเจ้า
1
พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสสอนตามหลักสติปัฏฐานสี่ ต่อไปว่า ให้ตามเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อย ๆ กายไหนที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์ก็ปล่อยละวางไป กายไหนที่พ้นจากไตรลักษณ์ก็ให้ยึดไว้ กายที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ มีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แล้วเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ตั้งแต่กายมนุษย์หยาบที่เราอาศัยอยู่นี้ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม ล้วนตกอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งสิ้น เป็นกายที่อยู่ในภพสาม เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมและก็แตกสลาย
เมื่อใจหยุดนิ่งเข้าไปถึงธรรมกายแล้ว เราจะเปรียบเทียบได้ เห็นชัดด้วยตนเองว่า กายธรรมนี้เป็นขันธวิมุตติที่หลุดพ้นจากขันธ์ห้า เป็นกายที่พ้นจากไตรลักษณ์ ออกนอกภพสาม เป็นธรรมขันธ์ คือ ทั้งก้อนกายมีแต่ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ เป็นธาตุล้วน ๆ ธรรมล้วน ๆ ควรยึดไว้เป็นที่พึ่งที่ระลึก เมื่อเราพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของสังขาร ปล่อยวางกายต่าง ๆ ที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มุ่งเอากายที่เป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา
เพราะฉะนั้น การมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันธรรม ด้วยการดำเนินจิตเข้าสู่กลางของกลางภายใน แล้วพิจารณาปล่อยวางให้เห็นความจริงที่เกิดขึ้นในกายต่าง ๆ เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม กันเข้าไปอย่างนี้ จึงจะเป็นความเห็นที่ถูกต้อง พิจารณาเห็นโทษของการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ไม่ว่าจะเป็นกายที่ตกอยู่ในกามภพ รูปภพ หรืออรูปภพก็ดี สุดท้ายก็ต้องเสื่อมสลายไป มีแต่กายธรรมเท่านั้นที่เที่ยงแท้ถาวร เป็นที่พึ่งที่ระลึกได้อย่างแท้จริง ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะเข้าถึงหนทางสายกลาง ของพระอริยเจ้า จะรู้จักแผนผังของชีวิตของตัวว่ามี ๑๘ กาย แล้วก็จะมุ่งไปเอากายธรรมที่ละเอียดที่สุดภายใน
ดังนั้น ควรให้โอกาสอันสำคัญกับชีวิตของเรา ด้วยการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเป็นประจำสม่ำเสมอ แล้วเราจะมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า และมีความหมาย คือ ได้เข้าถึงพระธรรมกาย มีที่พึ่งที่ระลึกภายในกันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๒๐๘ – ๒๑๘
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ธรรมารามเถระ เล่ม ๔๓ หน้า ๓๕๗
โฆษณา