8 ธ.ค. 2021 เวลา 05:00 • ข่าวรอบโลก
การศึกษากลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กเผย โอไมครอนสามารถลดระดับภูมิคุ้มกันในผู้ที่ฉีด Pfizer ได้อย่างมีนัยสำคัญ
วานนี้ (7 ธันวาคม) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเกี่ยวกับการศึกษากลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก โดย ศ.ดร.อเล็กซ์ ไซกัล นักวิทยาศาสตร์แอฟริกัน ประจำสถาบันวิจัยด้านสาธารณสุขแห่งแอฟริกา ที่พบว่า เชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน สามารถลดระดับภูมิคุ้มกันโควิดในผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีน Pfizer ได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อและเข้ารับการฉีดวัคซีน Pfizer เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น ยังมีแนวโน้มที่จะสามารถเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันจากโควิดได้
โดย ศ.ดร.ไซกัล ทำการเก็บและตรวจสอบตัวอย่างเลือดของผู้ที่เข้ารับวัคซีน Pfizer จำนวน 12 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ 6 ราย เคยเป็นผู้ป่วยติดโควิดมาก่อน เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการสร้างระดับภูมิคุ้มกันว่าจะเป็นอย่างไร หากต้องเผชิญหน้ากับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์อย่างโอไมครอน
ศ.ดร.ไซกัลและทีมศึกษาพบว่า ระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนเมื่อเจอโอไมครอนลดลง 41 เท่า เมื่อเทียบกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม และมีระดับภูมิคุ้มกันลดลง 3 เท่า เมื่อเทียบกับเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เบตา ที่เคยแพร่ระบาดเป็นเชื้อสายพันธุ์หลักในแอฟริกาใต้ บ่งชี้ว่าสายพันธ์ุโอไมครอนมีความสามารถในการหลบหลีกและหาช่องโหว่ของเกราะป้องกันได้ดีมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ทางทีมศึกษายังชี้ว่า การศึกษากลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กเบื้องต้นยังไม่มีการตรวจสอบ Peer-Reviewed อีกทั้งยังจำเป็นต้องทำความเข้าใจเชื้อกลายพันธุ์นี้อีกสักระยะ
ทางด้าน ดร.พอล ออฟฟิต อาจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ ประจำโรงพยาบาลเด็กในฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วอาจมีความเสี่ยงติดเชื้อโอไมครอนและมีอาการป่วยเล็กน้อยสูงกว่าเชื้อกลายพันธุ์ที่ผ่านๆ มา แต่กระนั้น การเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีน หรือการสร้างภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือทั้งสองอย่าง ก็มีส่วนช่วยป้องกันอาการรุนแรงภายหลังการติดเชื้อได้ทั้งสิ้น
1
ขณะที่ อัลเบิร์ต เบอร์ลา CEO ของ Pfizer คาดการณ์ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer 2 เข็ม มีแนวโน้มที่จะลดลงเมื่อเจอเชื้อโอไมครอน พร้อมเผยว่า ทางทีมผู้ผลิตและพัฒนาวัคซีนของ Pfizer จะสามารถผลิตวัคซีนที่ใช้รับมือกับเชื้อโอไมครอนได้โดยเฉพาะ ภายในเดือนมีนาคม 2022 นี้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ โดยเบื้องต้นทางทีมต้องศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ในขณะนี้ก่อนว่าสามารถรับมือกับเชื้อโอไมครอนได้มากน้อยเพียงใด
ภาพ: Orpheus FX / Shutterstock
อ้างอิง:
เรื่อง: ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ
โฆษณา